‘เช็งเม้ง’ ครั้งประวัติศาสตร์ คนจีนนับล้านไว้อาลัย “โจวเอินไหล”

ผู้คน ร่วมไว้อาลัย โจวเอินไหล วัน เช็งเม้ง
ผู้คนนับล้านที่มาร่วมไว้อาลัยโจวเอินไหลในวัน เช็งเม้ง ปี 2519 (ภาพจาก nytimes.com)

“เช็งเม้ง” เป็นวันที่ชาวจีนจะมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยจะอยู่ในช่วงวันที่ 4-6 เดือนเมษายน แต่คงไม่มีครั้งใดยิ่งใหญ่เท่าวันเช็งเม้งในปี 2519 เพราะประชาชนจีนนับล้านๆ คนต่างมาร่วมไว้อาลัย โจวเอินไหล

โจวเอินไหล อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 มกราคม 2519

โจวเอินไหล
โจวเอินไหล อดีตนายกรัฐมนตรีของจีน

วันนั้นสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สั่ง “ลดธงครึ่งเสา” เพื่อไว้อาลัยแก่โจวเอินไหล (ซึ่งเป็นเรื่องหาดูได้ยากยิ่ง) นักการทูตหลายประเทศแสดงความไม่พอและมีการชุมนุมที่ลานหน้าที่ทำการสหประชาชาติพร้อมตั้งกระทู้ถามว่า

ทำไมเมื่อประมุขของประเทศเราถึงแก่อสัญกรรม เหตุใดสหประชาชาติไม่มีการลดธงครึ่งเสาให้บ้าง?

เคิร์ท วัลไฮม์ เลขาธิการสหประชาติขณะนั้น ออกมาแถลงการณ์ว่า

“การที่สหประชาชาติลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยโจวเอินไหลครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจของผม เหตุผลก็คือ ประการแรก จีนเป็นอาณาจักรเก่าแก่ทรัพย์สินเงินทองของอาณาจักรนี้มีมากมายก่ายกอง เงินหยวนที่คนในชาตินี้ใช้กันอยู่นั้นก็มีมากมายสุดคณานับ แต่นายกโจวเอินไหลกลับไม่มีเงินฝากธนาคารเลยแม้แต่หยวนเดียว

ประการต่อมา จีนมีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก แต่นายกโจวเอินไหลของพวกเขาไม่มีทายาทเลยแม้แต่คนเดียว

ประมุขแห่งชาติของพวกท่านขอให้ทำได้เพียงข้อหนึ่งข้อใดในสองข้อนี้ เมื่อถึงแก่อสัญกรรมสำนักงานใหญ่สหประชาชาติก็จะลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแด่ท่านผู้นั้น”

นั่นคือในเวทีนานาชาติ กลับมาดูในประเทศจีนกันบ้าง

ในประเทศจีน แก๊ง 4 คน พยายามขัดขวางมิให้ประชาชนประกอบกิจกรรมไว้อาลัย และไม่ให้ความสำคัญกับการจากไปของโจวเอินไหล

ประชาชน จีน ร่วมไว้อาลัย โจวเอินไหล ใน วัน เช็งเม้ง
ประชาชนนับล้านที่มาร่วมกิจกรรมไว้อาลัยโจวเอินไหล (ภาพจากarchive.is)

แล้วความกดดันของประชาชนก็ปรากฏแก่สายตาชาวโลก

เฉพาะที่กรุงปักปิ่ง ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมผู้คนหลั่งไหลมาจากทั่วประเทศไปชุมนุมกันที่จตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อวางพวงหรีด, กระเช้าดอกไม้, การติดแผ่นปลิว, ท่องกลอน แสดงปาฐกถาไว้อาลัยโจวเอินไหล และกล่าวโทษแก๊ง 4 คน

จำนวนประชาชนที่มาร่วมไว้อาลัยเพิ่มขึ้นเรื่อย โดยไม่นำพาต่อคำสั่งห้ามปรามครั้งแล้วครั้งเล่าของแก๊ง 4 คน

ถึงวันเช็งเม้ง 4 เมษายน 2519 จำนวนประชาชนเพิ่มถึงกว่า 2 ล้านคน จำนวนพวงหรีดกองสูงเป็นภูเขา และคำขวัญที่ประชาชนนับล้านร้องประกาศว่า ผู้ใดคัดค้านโจวเอินไหล เราโค่นล้มผู้นั้น”

พวงหรีด และ ดอกไม้ ไว้อาลัย โจวเอินไหล ใน วัน เช็งเม้ง
พวงหรีดและดอกไม้จำนวนมากที่ประชาชนนำมาไว้อาลัย (ภาพจากzhar.renren.com)

เชาวน์ พงษ์พิชิต เปรียบเทียบการจากไปของขงเบ้ง-โจวเอินไหล สองอัครมหาเสนาบดี ว่า ขงเบ้งก่อนถึงแก่อสัญกรรมได้สั่งความไว้ว่า ถ้าสุมาอี้ส่งทหารติดตาม ให้จัดทหารตั้งรับเป็นหน้ากระดาน แล้วเอาหุ่นไม้ทำลวงว่าตนยังมีชีวิตอยู่ สุมาอี้เห็นก็จะตกใจถอยทัพไปเอง หากโจวเอินไหล ไม่ได้ทำกลลวงใด แต่เจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของเขาอยู่ในใจประชาชนโดยตลอด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เชาวน์ พงษ์พิชิต. โจวเอินไหล รัฐบุรุษจีน, สำนักพิมพ์มติชน

ถาวร สิกขโกศล. เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้, สำนักพิมพ์มติชน


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2562