ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
8 มกราคม พ.ศ. 2519 สิ้น “โจวเอินไหล” นับเป็นผู้นำคนแรกของโลก ที่สหประชาชาติประกาศลดธงครึ่งเสาไว้อาลัยให้ในวันที่เขาจากไป
โจวเอินไหล (พ.ศ. 2441-2519) ผู้นำสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อดีตนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 โจวเอินไหลถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2519
สหประชาชาติสั่งลดธงครึ่งเสาไว้อาลัยให้โจวเอินไหล
ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ .2519 (โจวเอินไหลถึงแก่อสัญกรรม) ธงของสหประชาชาติที่ปักอยู่หน้าสํานักงานใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาได้ลดลงครึ่งเสาซึ่งเป็นเรื่องที่หาดูได้ยากยิ่ง นับแต่สหประชาชาติก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 ประมุขแห่งรัฐหลายๆ ประเทศ ได้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วก็หลายท่าน
แต่สหประชาชาติไม่เคย ลดธงครึ่งเสาเพื่อท่านใดท่านหนึ่งเลย “นี่เป็นครั้งแรก”
นักการทูตบางประเทศมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ จึงไปชุมนุมกันกลางลานหน้าประตูสหประชาชาติ ตั้งกระทู้ถามทางการสํานักงานใหญ่สหประชาชาติว่า เหตุไฉนเมื่อครั้งประมุขแห่งรัฐของเราถึงแก่อสัญกรรม ธงของสหประชาชาติยังคงปลิว ไสวอยู่บนยอดเสา แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีจีนถึงแก่อสัญกรรมกลับมีการลดธงลงครึ่งเสา?
เคิร์ท วัลไฮม์ เลขาธิการสหประชาติเวลานั้นออกมาแถลงที่ หน้าประตูอาคารสหประชาชาติเป็นเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 1 นาทีว่า “การที่ สหประชาชาติลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยโจวเอินไหลครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจของผม เหตุผลก็คือ
ประการแรก จีนเป็นอาณาจักรเก่าแก่ ทรัพย์สินเงินทองของอาณาจักรนี้มีมากมายก่ายกอง เงินหยวนที่คนในชาตินี้ใช้กันอยู่นั้นก็มีมากจนสุดคณานับ แต่นายกโจวเอินไหลกลับไม่มีเงินฝากธนาคารเลยแม้แต่หยวนเดียว
ประการต่อมา จีนมีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก แต่นายกฯ โจวเอินไหลของพวกเขาไม่มีทายาทเลยแม้แต่คนเดียว
ประมุขแห่งชาติของพวกท่านขอให้ทําได้เพียงข้อหนึ่งข้อใดใน สองข้อนี้ เมื่อถึงแก่อสัญกรรมทางสํานักงานใหญ่สหประชาชาติก็จะลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแด่ท่านผู้นั้น เมื่อกล่าวจบก็หันหลังเดินจากไป นักการทูตที่ชุมนุมอยู่กลางลานทุกคนเงียบกริบไปพักหนึ่ง แล้วเสียงปรบมือก็ดังกึกก้องขึ้นมา” (นสพ.เอเชียนิวสไทม์, ฉบับลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519)
อ่านเพิ่มเติม :
- โจวเอินไหลนายกรัฐมนตรีคนแรกของจีน ผู้ริเริ่ม “การทูตปิงปอง”
- วิธีตอบคำถามสื่อของโจวเอินไหล ที่ไม่จนมุม ไม่ทำลายบรรยากาศ
- โจวเอินไหลพูดอะไร? ที่โต๊ะอาหารต่อหน้าอดีตจักรพรรดิปูยี-อดีตชาวแมนจูผู้ยากจน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
เชาวน์ พงษ์พิชิต. โจวเอินไหล รัฐบุรุษ, สำนักพิมพ์ มติชน 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2562