ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
คนไทยส่วนหนึ่งเคยเชื่อและออกตามหา “ทองโกโบริ” ตลอดจนทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลของกองทัพญี่ปุ่น ที่ทหารญี่ปุ่นซุกซ่อนไว้ในถ้ำตามเส้นทางรถไฟสายมรณะ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) จะสิ้นสุดลง
ทองโกโบริ คือทองคำของกองทัพญี่ปุ่น หรือรัฐบาลญี่ปุ่น ที่คนไทยเรียกเช่นนั้น เพราะ “โกโบริ” เป็นชื่อทหารญี่ปุ่นที่มาประจำการในไทยช่วงสงคราม ซึ่งเป็นตัวละครและพระเอกในนิยาย/ละครเรื่อง “คู่กรรม”
ข่าวลือเรื่องของทองคำโกโบริมีเป็นระยะๆ แต่ที่เป็นข่าวใหญ่ครึกโครมขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยคือเมื่อ พ.ศ. 2538 ต่อเนื่องไปจนถึง พ.ศ. 2544 คำถามที่ว่า “ทองคำญี่ปุ่น” มีอยู่จริงหรือไม่ ได้กลับมาเป็นประเด็นให้ค้นหากันใหม่ หลังจากเงียบหายไปนานภายหลังสงครามยุติลง
เหตุที่เชื่อว่าทองคำถูกซุกซ่อนไว้ในเส้นทางรถไฟสายมรณะ เพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเส้นทางที่อยู่บนไหล่เขาสูงชันผ่านป่าเขา แม่น้ำ และธารน้ำตก ตามไหล่เขาก็จะมีถ้ำใหญ่น้อยมากมายเรียงรายอยู่ สามารถเก็บซ่อนยุทธปัจจัยและวัสดุภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้ง “ทองคำ”
รวมกับข้อสันนิษฐานว่า ก่อนสิ้นสุดสงครามในกลางปี 2488 กองทัพญี่ปุ่นเริ่มตระหนักว่าพวกตนกำลังจะแพ้สงคราม จึงนำทองคำและทรัพย์สมบัติจำนวนมากเก็บซ่อนไว้ภายในถ้ำต่างๆ ตามเส้นทางของทางรถไฟสายนี้ แล้วค่อยมาขุดค้นภายหลัง ดีกว่าที่จะตกเป็นของฝ่ายข้าศึกผู้ชนะ
พื้นที่ตามหา “ทองโกโบริ” ที่สำคัญคือ “ถ้ำลิเจีย” ที่หมู่ 4 ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และป่าเขาในพื้นที่อำเภอไทรโยค อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
แต่หลังจากเดินหน้าขุดที่บริเวณ “ถ้ำลิเจีย” กว่า 10 จุด และจุดอื่นๆ อีกกว่า 50 จุด ไม่มีใครพบทองคำ
นายโอโตบิ โอตานิ อายุ 70 ปี อดีตหมอทหารของญี่ปุ่น ซึ่งประจำการที่ประเทศพม่าในช่วงสงคราม ที่แต่งงานสร้างครอบครัวในเมืองไทย กล่าวกับสื่อ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2539 ว่า
“ขณะนั้นมีสภาพแย่มาก เรื่องนี้มีคนมาพูดกับผมว่าอาจจะมีทองแต่ผมเชื่อว่าไม่มี!!…เรื่องโบกี้ตู้รถไฟจะซุกทองคำนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะรถไฟถูกบอมบ์จนเสียหายหมด อาจมีซุกซ่อนหัวรถจักรไว้บ้างตอนกลางวัน เพื่อนำมาวิ่งตอนกลางคืน อาจจะมีหัวรถจักรซุกซ่อนบ้าง แต่เชื่อว่าไม่มีสมบัติ”
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2541 เจ้าหน้าที่เลขานุการประจำเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “เรื่องทองคำมหาศาลเชื่อว่าไม่มีจริง เพราะถ้าญี่ปุ่นมีทองคำมากมายขนาดนั้น เราคงไม่แพ้สงคราม เรื่องนี้เป็นความเชื่อของชาวบ้านที่เล่าๆ ต่อกันมา”
นายพล อาเคโตะ นากามูระ ผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา บันทึกไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติตอนหนึ่งว่า
“ปัญหาที่ต้องเร่งรีบแก้ไขข้อแรกคือปัญหาหนี้สินของกองทัพญี่ปุ่น เมื่อเริ่มสงครามมหาเอเชียบูรพาใหม่ๆ กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเดินทัพผ่านประเทศไทยไปนั้นอย่างเช่นกองทัพที่ 25 ที่บุกเข้าไปในมลายาและกองทัพที่ 15 ที่บุกเข้าไปในพม่า กองกำลังเหล่านี้บุกแบบสายฟ้าแลบ เพราะฉะนั้นจึงค้างหนี้สินไว้มากพอสมควร เรื่องนี้ช่วยไม่ได้เพราะเป็นแผนยุทธการของกองทัพใหญ่ ซึ่งยังไม่มีกองกำลังบำรุงอย่างพร้อมเพรียงในตอนต้นสงคราม ข้าพเจ้าตัดสินใจว่าจะแก้ปัญหานี้โดยรีบด่วน…”
การยกทัพเข้าสู่สมรภูมิด้านต่างๆ เกิดขึ้นอย่างฉุกละหุกในเวลาเดียวกัน ทำให้การส่งกำลังบำรุง, การเตรียมค่าใช้จ่ายให้กองทัพในแนวหน้าไม่สามารถทำได้ทันท่วงที สถานการณ์ต่างๆ เป็นไปอย่างฉับพลัน ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางครั้งการเข้าสู่สมรภูมิแบบ “ไปตายเอาดาบหน้า”
นั่นเป็นสาเหตุให้ญี่ปุ่น “กู้เงิน”
รัฐบาลญี่ปุ่นกู้เงินจากรัฐบาลไทย ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488 รวมเวลา 4 ปี จำนวน 1,530,101,083 บาท เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งประจำอยู่ในประเทศไทย โดยตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี และชำระเงินต้นคืนเป็นทองคำ โดยเทียบราคาทองคำ 1 กรัมบริสุทธิ์ ต่อ 3.06 บาท แต่ภายหลังญี่ปุ่นชำระเป็นเงินแทน
และเป็นที่มาของ “ทองโกโบริ” ในโลกความเป็นจริง
ภายหลังภัยจากลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นสมัยสงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว ภัยของ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” เข้ามาแทนที่ เป็นความหวาดกลัวของรัฐบาลโลกเสรี และแผ่ขยายเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุค “สงครามเย็น”
สหรัฐอเมริกา หนึ่งในผู้นำโลกเสรีเวลานั้น มองหาพันธมิตรในพื้นที่มาเป็นตัวแทนฝ่ายโลกเสรี ที่จะช่วยต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และคำตอบก็คือประเทศไทย เพราะท่าทีและนโยบายของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สอดคล้องกับฝ่ายโลกเสรี
ขณะนั้นสหรัฐอเมริกามีบทบาทควบคุมการยุติสงคราม และเฝ้าระวังการฟื้นตัวของญี่ปุ่นภายหลังสงคราม ตัดสินใจอนุมัติเงินคงคลังของญี่ปุ่นในรูปแบบทองคำแท่งใช้หนี้คืนให้กับรัฐบาลไทย จากการที่ญี่ปุ่นค้างชำระหนี้ไว้เป็นจำนวนมหาศาลก่อนหน้านั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2492
ประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน แห่งสหรัฐอเมริกา สั่งการให้ นายพล ดักลาส แมคอาร์เธอร์ ดูแลเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ โดยได้ส่งอัครราชทูตพิเศษเข้ามาพบ จอมพล ป. เพื่อแจ้งข่าวดี ทองคำญี่ปุ่นจึงกลับคืนมายังรัฐบาลไทยอีกครั้งโดยสวัสดิภาพ
สำนักข่าวสารอเมริกัน (USIS – ยูซิส) รายงานข่าว เรื่อง “สหรัฐอเมริกาสั่งให้แมคอาร์เธอร์คืนทองแก่ไทย” ความตอนหนึ่งว่า
“…รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยสำเนาของคำสั่งฉบับหนึ่งซึ่งส่งไปยัง นายพล ดักลาส แมคอาร์เธอร์ เมื่อเดือนกันยายน เกี่ยวกับทองคำมีมูลค่า 43,700,000 ดอลลาร์ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหนี้ประเทศไทย และได้เปิดเผยสำเนาของถ้อยแถลงและการอภิปรายอื่นๆ เนื่องในกรณีของรัฐบาลสหรัฐและคณะกรรมาธิการตะวันออกไกล
รัฐบาลสหรัฐออกคำสั่งให้ ผบ. สูงสุดสัมพันธมิตรในโตเกียว (นายพล แมคอาร์เธอร์) ส่งทองคำมูลค่า 43,700,000 ดอลลาร์ ซึ่งญี่ปุ่นกำหนดจะจ่ายให้ประเทศไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 1941 [พ.ศ. 2484] ถึงเดือนกรกฎาคม 1945 [พ.ศ. 2488] เพื่อชดใช้ค่าข้าว ดีบุก ยาง และสินค้าอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นซื้อจากประเทศไทย
…การศึกษาอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับบรรดาปัจจัยทางด้านกฎหมายและด้านอื่นๆ ได้ทำให้สหรัฐอเมริกาตระหนักว่า ‘ไม่มีข้อวินิจฉัยอันใดเลยที่จะให้ความเป็นธรรมต่อการปล่อยปละละเลยสิทธิในทรัพย์สมบัติของประเทศทั้งหลายที่เป็นเจ้าหนี้ญี่ปุ่น’
………..
บรรดาเจ้าหน้าที่ในคณะกรรมาธิการตะวันออกไกลชี้แจงว่าการคืนทองคำให้ไทยครั้งนี้จะไม่กระทบกระเทือนเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยที่ตั้งแต่แรกเริ่มมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายยึดครองมิได้ถือว่าทองคำที่ญี่ปุ่นกำหนดจะส่งให้ประเทศไทยนั้นเป็นสินทรัพย์อันชอบด้วยกฎหมายของญี่ปุ่น”
อ่านเพิ่มเติม :
- นายพลญี่ปุ่นอ้าง เชลยแถบเมืองกาญจน์ตายเยอะเพราะ “อหิวาต์” ใช่ว่าญี่ปุ่นไร้มนุษยธรรม
- “โกโบริ” คือคนทรยศชาติในสายตา “ชาวญี่ปุ่น” จากระบบ “หนี้บุญคุณ” แดนซามูไร?.
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ไกรฤกษ์ นานา. “หนี้สงครามที่ต้องชำระ “ทองคำโกโบริ” สมัย จอมพล ป.” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2563.
เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2567