ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
นวนิยายอมตะ และภาพยนตร์เรื่อง “คู่กรรม” ว่าด้วยเรื่องราวของ โกโบริ และ อังศุมาลิน ทำให้คนไทยรู้สึกดีต่อ คนญี่ปุ่น แต่หากมองในระบบหนี้บุญคุณในสังคมญี่ปุ่นแล้ว คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งจะมองว่า โกโบริ เป็นคนทรยศชาติจากที่พฤติกรรมของโกโบริ ขัดกับระบบความเชื่อเกี่ยวกับพันธะหน้าที่ต่อประเทศชาติ
ก่อนจะอธิบายถึงเรื่องโกโบริ คงต้องพูดถึงลักษณะคติทางสังคมญี่ปุ่นด้วย สังคมญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องระเบียบวินัย และความรักชาติมาตั้งแต่อดีต สิ่งที่ยึดเหนี่ยวสังคมญี่ปุ่นให้ยังคงรักษาความกลมเกลียวและคติให้ความสำคัญกับกลุ่มมากกว่าปัจเจกนี้ คือ พันธะหน้าที่ซึ่งสังคมกำหนดให้สมาชิกต้องประพฤติตามในด้านต่างๆ อาทิ ตระกูล ครอบครัว ประเทศ
ความคิดเห็นของ ยุพา คลังสุวรรณ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องสังคมญี่ปุ่นและรวบรวมไว้ในหนังสือ “ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี” มองว่าพันธะหน้าที่ต่างๆ ที่คนญี่ปุ่นต้องประพฤติปฏิบัตินั้นมีมากมายและย่อมมีขึ้นเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยอันนำไปสู่ความกลมเกลียวกันนั่นเอง
ยุพา อธิบายว่า ด้วยลักษณะทางสังคมญี่ปุ่นที่เป็นสังคมแบ่งลำดับชั้น คนในลำดับชั้นต่างๆ ก็มีพันธะหน้าที่ของตัวเอง ตามที่สังคมญี่ปุ่นกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สมาชิกปฏิบัติ สำหรับผู้ที่ละเลยนอกลู่นอกทางก็จะถูกตัดสินว่าอยู่ผิดที่ผิดทาง
รูปแบบพฤติกรรมที่สังคมญี่ปุ่นกำหนดขึ้นก็มีสำหรับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ชนชั้นใด อายุเท่าไหร่ และประกอบอาชีพอะไร ตราบใดที่ยังเป็นสมาชิกในสังคมญี่ปุ่นก็ต้องปฏิบัติตามรูปแบบพฤติกรรมที่กำหนด
ที่มาของพันธะและรูปแบบพฤติกรรมทางสังคมนี้ อาจสืบความย้อนกลับไปถึงอิทธิพลจากสังคมชุมชนในอดีตที่ต้องอยู่ร่วมกัน ช่วยกันเพาะปลูก และป้องกันภัยจากภายนอก การช่วยเหลือเกื้อกูลกันส่งผลให้สมาชิกมีพันธะผูกพัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ชุมชนหรือครอบครัวขนาดย่อมที่มีอยู่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหญ่ (ประเทศ) ซึ่งสังคมญี่ปุ่นได้กำหนดพันธะหน้าที่ผูกพันเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น อาทิ อน กิริ นินโจ
นินโจ (Ninjo) คือ อารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกที่มีต่อผู้อื่นซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ความรัก ความเศร้า ความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจกัน ฯลฯ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น “มนุษยธรรม” เป็นความรู้สึกจากใจ จะมีความสัมพันธ์หรือไม่มีความสัมพันธ์กันมาก่อนก็ได้ เป็นเชิงจิตวิทยาส่วนบุคคล โดยที่ “นินโจ” สำหรับสังคมญี่ปุ่นก็มีกรอบความเหมาะสมกำหนดอยู่เช่นกัน
ขณะที่ กิริ (Giri) เป็นพันธะทางสังคมซึ่งทำให้สมาชิกในสังคมต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่สังคมคาดหวัง เพื่อให้ถูกรับรู้ว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ กล่าวได้ว่าเป็นแรงผลักดันทางศีลธรรม (Moral Force) ยุพา อธิบายเพิ่มเติมว่า กิริเป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับพันธะทางสังคม ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยศักดินา เช่น ซามูไรต้องรับใช้เจ้านายด้วยชีวิต หรือใช้ชีวิตของตัวเองเพื่อตอบแทนเจ้านาย การตอบแทนบุญคุณเป็นคุณค่าสูงสุดทางศีลธรรม และควรค่าแก่การปฏิบัติ
กิริยังเป็นพันธะความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดการพึ่งพากัน จนทำให้เกิดหนี้บุญคุณ หรือที่สังคมญี่ปุ่นเรียกกันว่า “อน” (on) ต่อไป สังคมญี่ปุ่นในปัจจุบัน มีการนำกิริมาใช้ในการรักษาสถาบันทางสังคมให้ดำเนินอย่างราบรื่น แม้ว่าทั้งกิริและนินโจไม่ได้ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม
กิริและนินโจมีบทบาทมากในสังคมสมัยศักดินา พันธะทางความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายและลูกน้อง ทั้งสองฝ่ายต่างมีกิริและนินโจต่อกัน เจ้านายปกครองและเลี้ยงดูลูกน้องให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ขณะที่ลูกน้องก็ซื่อสัตย์และภักดีต่อเจ้านาย
สิ่งที่น่าสนใจคือ “อน” หมายถึง ภาระที่ต้องทำเพื่อตอบแทนผู้ให้ความช่วยเหลือ เป็นทั้งหนี้ทางสังคมและหนี้ทางใจ อันเป็นค่านิยมซึ่งทำให้ญี่ปุ่นรักษาความเป็นระเบียบได้ อน เกิดขึ้นเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือได้รับสิ่งของจากผู้อื่น และเป็นหนี้ซึ่งผู้รับเองรับมาทั้งโดยตั้งใจ ไม่ตั้งใจ และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น ลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้ให้ชีวิต
อน ทำให้ซามูไรที่ได้รับที่ดิน และได้รับคุ้มครองจากเจ้านายต้องรับใช้เจ้านายเท่าชีวิต หรือนักเรียนก็เป็นหนี้บุญคุณผู้สอน หรือการช่วยเหลือแบบที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ดังเช่นนิทานเรื่องโชกุน
นิทานโชกุน เรื่องมีอยู่ว่า โชกุนมีคนรับใช้ และลูกคนรับใช้ที่อาศัยในปราสาท เมื่อเรือที่โชกุนโดยสารล่ม ลูกคนรับใช้ในปราสาทช่วยชีวิตโชกุนไว้
โชกุน มี “อน” ต่อลูกคนรับใช้ที่เป็นผู้ช่วยชีวิต และต้องตอบแทนบุญคุณลูกคนรับใช้นี้ไปชั่วชีวิตโดยไม่พิจารณาถึงสถานภาพ
บุญคุณประเภทนี้มีทั้งเกิดภายหลัง และติดตัวมาแต่กำเนิด อาทิ บุญคุณต่อองค์จักรพรรดิ “เท็นโนะ โนะ อน” (Tenno no on) หรือบุญคุณต่อประเทศ “คุนิ โนะ อน” (Kuni no on) ซึ่งถือเป็นหนี้ระดับสูงที่สุดและติดมากับชาวญี่ปุ่น เป็นหนี้ที่ต้องเสียสละต่อจักรพรรดิโดยไม่มีขอบเขต
ทหารญี่ปุ่นรับรู้ว่าบุหรี่ทุกมวน และเหล้าที่ดื่ม คือการเพิ่มหนี้บุญคุณที่มีต่อจักรพรรดิ (แม้ญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมจีนมา แต่ไม่ได้รับจริยธรรมเรื่องผู้ปกครองจีนที่ว่า ถ้าผู้ปกครองไม่ดี สวรรค์จะส่งคนดีมาปราบและขึ้นปกครองแทน)
หนี้บุญคุณสำหรับญี่ปุ่นอย่าง อน เป็นหนี้ที่มีภาระผูกพัน เมื่อเกิดแล้วต้องตอบแทน การไม่ตอบแทนบุญคุณเหมือนทำผิดบรรทัดฐานทางสังคม แต่ความเข้มข้นของบุญคุณก็เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยด้วยเช่นกัน
บุญคุณที่ว่ามาข้างต้นเป็นบุญคุณในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเข้าสู่ช่วงสงคราม และหลังสงคราม ยุพา อธิบายว่า ความเข้มข้นของบุญคุณก็แตกต่างกันออกไป
ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงคือ เรื่อง “โกโบริ” ตัวละครใน “คู่กรรม” นวนิยายอมตะ เขียนโดย “ทมยันตี” ซึ่งเป็นทหารญี่ปุ่นที่มาประจำการในประเทศไทยที่บางกอกน้อย โกโบริที่หลงรักอังศุมาลิน ปล่อยแฟนเก่าของอังศุมาลินให้หนีไป ผู้ชมชาวไทยก็นิยมชมชอบโกโบริในเรื่องคู่กรรมมาก แม้จะเป็นเรื่องผิดกฎก็ตาม
ความคิดเห็นของยุพา ผู้เขียนหนังสือ “ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี” มองว่า ผู้เขียนไม่ได้เขียนตัวละครให้เป็นคนที่มีอุปนิสัยแบบญี่ปุ่น แต่มาสอดแทรกในยุคที่มีผู้ผลิตภาพยนตร์ โดยผู้ผลิตสร้างบรรยากาศ สอดแทรกวัฒนธรรมญี่ปุ่น อันเป็นการเพิ่มรายละเอียดเพื่อดึงดูดผู้ชม ภาพยนตร์เรื่องคู่กรรมไม่อาจสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นได้ และเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นรู้สึกเช่นนั้น
แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนญี่ปุ่นก็รู้สึกดีกับคู่กรรม เพราะเป็นเรื่องที่สร้างภาพลักษณ์เชิงบวก แตกต่างจากภาพเดิมที่เป็นเชิงลบ ซึ่งผู้คนอาจติดภาพจำว่า ญี่ปุ่นเป็นสัตว์เศรษฐกิจ และทหารที่โหดร้าย กระทั่งให้เงินอุดหนุนการวิจัยแก่ชาวไทยเพื่อศึกษาเรื่องคู่กรรม
ยุพา เล่าว่า รศ. ไว จามรมาน เคยถามคนญี่ปุ่นว่า รู้สึกอย่างไรกับโกโบริ และอังศุมาลิน คำตอบที่นักวิชาการได้คือ โกโบริเป็นคนทรยศต่อชาติ และใช้คำว่า “อุระกิริ” (uragiri) ซึ่งหมายความว่า แทงข้างหลัง
รศ. ไว อธิบายว่า “อุระกิริ” เป็นคำที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับคนไม่ดีที่เป็นคนภายนอก เมื่อใช้กับโกโบริ นั่นอาจสะท้อนว่า คนญี่ปุ่นมองโกโบริ เป็นคนทรยศที่ไม่ได้อยู่ภายในกลุ่ม เชื่อว่า ญี่ปุ่นโดยทั่วไปถือว่า โกโบริไม่ทำตามพันธะหน้าที่ ไม่มีความจงรักภักดีต่อประเทศ แต่ญี่ปุ่นไม่เคยวิจารณ์เรื่องนี้ออกสื่ออย่างแน่นอน ขณะที่ภาพโกโบริในเรื่องคู่กรรมสร้างภาพเชิงบวกให้ คนญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สถานภาพขององค์จักรพรรดิลดลงมา สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนจากสังคมเกษตรเป็นสังคมอุตสาหกรรม ชาวนาเข้ามาทำงานในเมือง โครงสร้างทางสังคมญี่ปุ่นก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ลักษณะการบริหารงานในองค์กร หรือครอบครัว แนวคิดเรื่อง อน กิริ นินโจ ก็เป็นสิ่งที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปด้วย แนวคิดเรื่อง “อน” ยังมีอยู่ในกลุ่มยากูซ่า แต่ก็ไม่เข้มข้นเหมือนช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
หากจะศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงในระบบหนี้บุญคุณทางสังคม อาจต้องศึกษาค้นคว้าอย่างเจาะลึกกันต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
- ทองโกโบริ ไม่ได้ขุดพบที่เมืองกาญจน์ แต่ได้มาเพราะญี่ปุ่นใช้ “หนี้” ให้ไทย
- ชะตากรรม “ทหารญี่ปุ่น” ในไทย เป็นอย่างไร? หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ยุพา คลังสุวรรณ. ญี่ปุ่นสร้างชาติด้วยความรักและภักดี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 7 มกราคม 2562