ชะตากรรม “ทหารญี่ปุ่น” ในไทย เป็นอย่างไร? หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

ทหารญี่ปุ่น เชลยศึก ไปยัง พื้นที่ควบคุม หลังถูก ปลดอาวุธ สถานีรถไฟ กรุงเทพฯ หัวลำโพง
ทหารญี่ปุ่น ขณะกำลังถูกนำไปยังพื้นที่ควบคุม หลังถูกปลดอาวุธ สันนิษฐานว่า ถ่ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 และสันนิษฐานว่า ภาพนี้ถ่ายที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) (ภาพจาก เว็บไซต์ Imperial War Museums)

สงครามมหาเอเชียบูรพา ที่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นขอใช้ไทยเป็นเส้นทางเดินทัพไปพม่า โดย “ทหารญี่ปุ่น” ได้ตั้งฐานทัพในไทย มีการนำ “เชลยศึก” ซึ่งเป็นทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้ง อังกฤษ ออสเตรเลีย ฯลฯ มาสร้าง “ทางรถไฟสายมรณะ” ที่จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่ระบาดรุนแรง ภูมิประเทศที่เป็นป่ารกทึบ ทุรกันดาร สภาพอากาศร้อนจัด และการใช้แรงงานอย่างหนัก ทำให้เชลยศึกนับหมื่นเสียชีวิต

เมื่อ จักรพรรดิฮิโรฮิโต มีพระบรมราชโองการประกาศยอมแพ้สงครามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) สงครามมหาเอเชียบูรพา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงจบสิ้นลง

Advertisement

เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับการช่วยเหลือ ส่วน ทหารญี่ปุ่น ก็พลิกบทบาทกลายเป็น “เชลยศึก” แล้วชะตากรรมพวกเขาเป็นอย่างไร?

เทพ บุญตานนท์ พูดถึงประเด็นนี้ไว้ในผลงานเล่มล่าสุดเรื่อง “ชีวิตเชลยศึก: หยดเลือดและหยาดน้ำตาในค่ายกักกันไทยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา” (สำนักพิมพ์มติชน, 2567) ว่า

ช่วงนั้น ทหารญี่ปุ่นที่ประจำการในไทยมีจำนวนหลายหมื่นนาย และกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ การจะรวบรวมมาไว้ที่เดียวจึงเป็นไปไม่ได้ ขณะเดียวกัน ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามก็ต้องการรวบรวมทหารญี่ปุ่นเหล่านี้ เพื่อสอบสวนหาตัวอาชญากรสงคราม และไม่ต้องการให้ควบคุมตัวเชลยศึกที่เป็นทหารญี่ปุ่นไว้ในค่ายเดียวกับเชลยศึกสัมพันธมิตร (ที่รอเดินทางกลับบ้าน) เพราะเดี๋ยวจะเกิดความวุ่นวายขึ้น

รัฐบาลไทยจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งค่ายกักกันเชลยศึกฝ่ายญี่ปุ่นไว้ตามจังหวัดที่ทหารญี่ปุ่นประจำการมากๆ และเป็นจังหวัดที่มีทางรถไฟหรือมีแม่น้ำผ่าน เช่น ราชบุรี นครปฐม นครนายก เชียงใหม่ กรุงเทพฯ แล้วโยกย้ายทหารญี่ปุ่นจากจังหวัดใกล้เคียงมาไว้ในค่ายกักกันแต่ละแห่ง

ส่วนทหารญี่ปุ่นที่มียศตั้งแต่ “พันเอก” ขึ้นไป รัฐบาลไทยมีคำสั่งให้ส่งตัวมากักกันที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมและสอบสวน

แต่ตอนนั้น การขนส่งเชลยศึกที่เป็นทหารญี่ปุ่นล่าช้า จนผู้บัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรในไทยมีหนังสือถึงแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยเป็นการส่วนตัว ให้นำเรือที่ใช้สัญจรหรือใช้ขนส่งสินค้ามาขนส่งเชลยศึกเหล่านี้ก่อน

เมื่อ “ทหารญี่ปุ่น” ต้องตกอยู่ในสภาพเชลยศึก จึงเกิดการหลบหนีการจับกุม หรือบางส่วนเมื่ออยู่ในค่ายกักกันแล้วก็พยายามหนีออกมา ซึ่งอย่างหลังมีมากกว่า 500 คน หากถูกจับกุมตัวได้จะมีการพิจารณาโทษเพิ่ม แต่ถ้าพยายามต่อสู้ขัดขืน ฝ่ายสัมพันธมิตรก็อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ยิงเชลยศึกเหล่านั้น

เรื่องต่อมาที่ต้องคิด คือ เมื่อนำเชลยศึกมาอยู่รวมกันมากๆ จะจัดการเรื่อง “อาหาร” อย่างไร?

เทพ ระบุว่า ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาต่อเนื่องมาหลังสงคราบจบ ไทยประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารมาตลอด เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดอัตราค่าอาหารสำหรับเชลยศึกญี่ปุ่นคนละ 1 บาท 50 สตางค์ต่อวัน และให้พ่อค้าประมูลราคาวัตถุดิบและเครื่องปรุงต่างๆ เพื่อส่งให้ทหารญี่ปุ่นในค่ายกักกันทำอาหารกันเอง

ไม่เพียงไทยจะนำตัวทหารญี่ปุ่นในไทยมาอยู่ในค่ายกักกัน แต่ฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ยังนำทหารญี่ปุ่นในดินแดนอาณานิคมของตัวเอง ทั้งที่ พม่า สิงคโปร์ ลำเลียงมาอยู่ในค่ายด้วย ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงดูทหารญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นไปอีก

ขณะที่รัฐบาลไทยต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารในค่าย สวนทางกับจำนวนทหารที่ยิ่งมากขึ้น แต่ละค่ายจึงหาทางแก้ด้วยการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบบางชนิดให้มีราคาถูกลง เพื่อที่ทุกคนจะได้รับประทานอย่างทั่วถึง

ส่วนทหารญี่ปุ่นยศพันเอกขึ้นไป ที่ถูกส่งตัวมาอยู่กรุงเทพฯ ดูเหมือนชีวิตจะสบายกว่าเชลยศึกยศต่ำกว่า เพราะมีรายการอาหารหลากหลาย นอกจากอาหารตามปกติอย่างมันฝรั่ง ผักสด เนื้อสดประเภทต่างๆ รวมถึงชา ยังมีของหวานอย่างไอศกรีมและนม ซึ่งถือเป็นอาหารฟุ่มเฟือยยามนั้น

ทหารญี่ปุ่นที่เป็นเชลยศึกในไทย ใช้ชีวิตในค่ายกักกันอยู่ไม่ถึงปี ในเดือนเมษายน ปี 2489 ฝ่ายสัมพันธมิตรและรัฐบาลไทยได้พิจารณาการส่งเชลยศึกกลับญี่ปุ่น และดำเนินการทยอยส่งกลับทางเรือในปีนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เทพ บุญตานนท์. ชีวิตเชลยศึก: หยดเลือดและหยาดน้ำตาในค่ายกักกันไทยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2567