เปิดสภาพ “ค่ายบางบัวทอง” ที่กักกันพลเรือนญี่ปุ่น “เชลยศึก” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นักโทษญี่ปุ่น สงครามโลกครั้งที่ 2
นักโทษชาวญี่ปุ่นเดินทางจากนิวกินีถึงบริสเบน ออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ชาวญี่ปุ่นในไทยทั้งที่เป็นทหารและพลเรือน ได้เปลี่ยนจากผู้ที่มีสถานะเหนือกว่า “เชลยศึก” ฝ่ายสัมพันธมิตร มาอยู่ในสถานะดังกล่าว เพราะญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ทหารญี่ปุ่นนับหมื่นๆ นาย ถูกนำตัวไปไว้ในค่ายกักกันตามจังหวัดต่างๆ ส่วน “พลเรือนญี่ปุ่น” หลายพันคน ถูกนำตัวไปไว้ที่ “ค่ายบางบัวทอง”

อ่านเพิ่มเติม : ชะตากรรม “ทหารญี่ปุ่น” ในไทย เป็นอย่างไร? หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

เทพ บุญตานนท์ เล่าถึงชีวิต “พลเรือนญี่ปุ่น” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ในผลงาน “ชีวิตเชลยศึก: หยดเลือดและหยาดน้ำตาในค่ายกักกันไทยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา” (สำนักพิมพ์มติชน, 2567) ว่า

ช่วงนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรมีคำสั่งให้รัฐบาลไทยรีบดำเนินการควบคุมให้ชาวญี่ปุ่นอยู่แต่ในบ้านของตนเองเท่านั้น เพราะแม้ญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2488 แต่พลเรือนญี่ปุ่นที่ตกอยู่ในฐานะเชลยศึก กลับยังเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก

กระทั่งเดือนตุลาคม ปี 2488 รัฐบาลไทยมีมาตรการที่เคร่งครัดมากขึ้นในการควบคุมพลเรือนญี่ปุ่นให้อยู่แต่ในเขตบ้านพักของตนเท่านั้น ยกเว้นกรณีออกไปซื้อของมาประกอบอาหาร

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังอนุญาตให้พลเรือนญี่ปุ่นออกไปได้ทุกวัน แต่ต้องมีเจ้าหน้าที่ตามควบคุมด้วย รวมทั้งห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกติดต่อกับคนกลุ่มนี้ ยกเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นรายๆ ไป

ที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ก็เพราะมีความกังวลว่าพลเรือนญี่ปุ่นอาจติดต่อกับทหารหรือสายลับญี่ปุ่นคนอื่นๆ เพื่อก่อความวุ่นวาย หรืออาจหลบหนีออกจากประเทศไทย ในกรณีที่ตัวเองกระทำอาชญากรรมระหว่างสงครามนั่นเอง

ช่วงนั้น พลเรือนญี่ปุ่นราว 4,000 คน ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่สถานทูตและสถานกงสุลญี่ปุ่นในไทย ถูกนำตัวไปไว้ที่ “ค่ายกักกันบางบัวทอง” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ค่ายบางบัวทอง” จังหวัดนนทบุรี ที่รัฐบาลสร้างขึ้น เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรดำเนินการสอบสวนหาชาวญี่ปุ่นที่มีส่วนร่วมกระทำอาชญากรรมสงคราม

เทพ เล่าว่า ตอนแรกรัฐบาลไทยมีแผนนำเชลยศึกเหล่านี้ไปกักกันตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะกูด เกาะช้าง เกาะล้าน เกาะไผ่ เกาะสีชัง เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะพะงัน ฯลฯ แต่การโยกย้ายไปหลายสถานที่เป็นการเพิ่มภาระให้รัฐบาล ทั้งเรื่องการขนส่ง การสร้างที่พัก และยังมีเรื่องความปลอดภัย ท้ายที่สุดความคิดนี้จึงเป็นอันต้องพับไป

ค่ายบางบัวทอง เป็นค่ายกักกันที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะ มีการสร้างที่พักอาศัยแยกระหว่างคนโสดกับคนที่มีครอบครัว จัดการเรื่องสุขาภิบาลและโรงครัวให้ถูกสุขอนามัย ทั้งยังมีโรงพยาบาลซึ่งมีห้องผ่าตัด โดยนำเครื่องมือแพทย์มาจากโรงพยาบาลอิคิฮารา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทหารของญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นระหว่างสงครามมาใช้

เรื่องอาหารการกิน รัฐบาลไทยกำหนดอัตราค่าอาหารสำหรับพลเรือนญี่ปุ่นคนละ 1 บาท 50 สตางค์ต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับเชลยศึกที่เป็นทหารญี่ปุ่น โดยรัฐบาลจะจัดหาวัตถุดิบให้ชาวญี่ปุ่นสำหรับประกอบอาหาร

ความที่ค่ายกักกันพลเรือนไม่ได้มีสภาพคับแคบแออัดเหมือนค่ายกักกันทหารญี่ปุ่น จึงไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องอาหารไม่เพียงพอ รวมทั้งไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องสุขอนามัยมากเท่าด้วยเช่นกัน

เทพ บอกอีกว่า แม้เชลยศึกที่เป็นพลเรือนญี่ปุ่นใน “ค่ายบางบัวทอง” จะไม่ได้มีชีวิตสุขสบาย แต่ก็ไม่ได้ยากลำบาก เมื่อเทียบกับเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาใช้แรงงานอย่างหนัก พลเรือนญี่ปุ่นยังสามารถขออนุญาตผู้บัญชาการค่ายออกไปติดต่อราชการหรือทำกิจต่างๆ ได้ แต่ต้องกลับเข้ามาตามกำหนด

ปี 2489 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรและรัฐบาลไทยตัดสินใจลำเลียงเชลยศึกที่เป็นทหารญี่ปุ่นกลับประเทศ เชลยศึกที่เป็นพลเรือนญี่ปุ่นก็ได้ทยอยกลับไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

เทพ บุญตานนท์. ชีวิตเชลยศึก: หยดเลือดและหยาดน้ำตาในค่ายกักกันไทยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2567