“วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” ทหารญี่ปุ่นตบหน้าพระไทย ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

ทหารญี่ปุ่น สงครามโลกครั้งที่ 2
ภาพประกอบเนื้อหา - ทหารญี่ปุ่นเรียงแถวปลดอาวุธต่อหน้านายทหารโซเวียต ช่วงกองทัพรัสเซียเข้าปลดปล่อยแมนจูเรียจากญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพถ่ายเมื่อ ส.ค. 1945 (ภาพจาก AFP)

“วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” ทหารญี่ปุ่น ตบหน้า พระเพิ่ม สิริพิบูล ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ลุกลามบานปลายจนมีผู้เสียชีวิต

สงครามมหาเอเชียบูรพา “ทหารญี่ปุ่น” เข้ามาตั้งฐานในประเทศไทย มีกองทัพญี่ปุ่นอยู่ที่ บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ช่วงเวลานั้นเกิดเหตุทหารญี่ปุ่นตบหน้า พระเพิ่ม สิริพิบูล สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนเป็น “วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” จน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ต้องจัดการ

ช่วงบ่ายของวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2485 พระเพิ่ม สิริพิบูล (เอกสารบางรายการระบุว่าเป็นเณร) จากวัดห้วยกระบอก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เดินทางไปนมัสการเจ้าอาวาส วัดดอนตูม ให้ทานบุหรี่แก่เชลยศึกฝรั่ง ทหารญี่ปุ่นเห็นเข้าก็เกิดความโกรธ จึงเข้าไปตบหน้าพระเพิ่มจนล้มลงกับพื้น ต่อมามีผู้หามพระเพิ่มไปที่ร้านขายยาวัดดอนตูม เมื่อปฐมพยาบาล กรรมกรสร้างทางรถไฟสายมรณะที่อาศัยอยู่ในวัดจึงสอบถามเหตุ เมื่อได้ทราบเรื่องจากพระเพิ่มก็แสดงความไม่พอใจ

ต่อมาในค่ำคืนนั้นก็เกิดการปะทะกันขึ้น

ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งถือไม้กระบองเข้ามาในวัดดอนตูม กรรมกรที่พักบริเวณนั้นจึงลุกขึ้นมาดู ทหารนายนั้นก็กลับไป พักหนึ่งก็มาใหม่อีกครั้งกับเพื่อนทหารญี่ปุ่นอีก 2 คน ถือไม้หน้าสาม และคาดดาบปลายปืน กรรมกรในบริเวณวัดก็ลุกฮือ กรรมกรคนหนึ่งใช้ท่อนไม้ปาเข้าใส่ทหารญี่ปุ่นแต่ไม่ถูก ฝ่ายทหารญี่ปุ่นจึงล่าถอยกลับไปตามพรรคพวกกลับมาใหม่ 10 กว่าคน พอมาถึงศาลาวัดก็ยิงปืนเข้าใส่ กรรมกรที่อาศัยอยู่ในวัดดอนตูมก็แตกหนี ทหารญี่ปุ่นเห็นเป็นต่อจึงยิงปืนใส่และวิ่งกวดคนฝ่ายไทย เมื่อเริ่มตั้งหลักได้พากันคว้าจอบเสียมที่พอหาได้ตอบโต้

ประมาณเที่ยงคืน ฝ่ายญี่ปุ่นส่งทหารมาเพิ่มเติมจากกาญจนบุรี ประมาณ 3-4 คันรถ ยกพวกบุกล้อมสถานีตํารวจบ้านโป่ง ทหารญี่ปุ่น ใช้วิธีกวาดต้อนจับกุมกรรมกรไทยประมาณ 30 คน และยังจับกุมพระไปทั้งวัดเพื่อสอบสวนจนถึงตีสามของเข้าวันใหม่ ก่อนปล่อยตัวออกมา

ลานวัดดอนตูม บ้านโป่ง อาคารที่เห็นเคยเป็นศาลาวัด ที่พักของกรรมกรไทย สถานที่เกิดเหตุ “วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” (ภาพจากหนังสือ แม่: กลับจากบ้านโป่งถึงปากน้ำ)

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2485 กระทรวงมหาดไทยได้รายงานสรุปยอดรวมทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 5 คน

วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี แจ้งต่อที่ประชุมว่า

“เนื่องจากเรื่องยุ่งๆ ที่บ้านโป่ง เวลานี้ยังไม่เส็ด วานนี้ทางยี่ปุ่นเขายื่นหนังสือรายงานการสอบสวนมา สรุปว่าฝ่ายเราผิดฝ่ายเดียว เขาเสียใจมาก เขาว่าทหานของจักรพัดิเขาไม่เคยตายนอกสนามรบ ถ้ามีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เขาจะจัดทำโดยพละการ…”

6 เดือนหลังจาก “วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” มีคนไทย 3 คน ถูกส่งขึ้นศาลทหาร

ผลการตัดสิน 1. พระเพิ่ม สิริพิบูล ที่ถูกทหารญี่ปุ่นตบหน้า 3 ที เป็นต้นเหตุของเรื่อง ในการสอบสวนและทำคดีพระเพิ่มถูกจับสึก และมีการบันทึกเพิ่มเติมข้อมูลว่า สติไม่ดี, ไม่รู้หนังสือ ถูกตัดสิน “ประหารชีวิต” แต่ได้รับการลดหย่อนเหลือ “จำคุกตลอดชีวิต” (เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศแพ้สงคราม รัฐบาลจอมพล ป. ต้องลาออกกลางคันนั้น พระเพิ่มได้รับการปล่อยตัว)

2. นายเปะ นุ่มชินวงส์ กรรมกรชาวไทย เป็นตัวการที่จับอาวุธเข้าทำร้ายทหารญี่ปุ่น การสอบสวนระบุเพิ่มเติมว่า ดื่มสุรามึนเมา และไร้การศึกษา ตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต

3. พลทหารสุดจา โสมทัต ใช้ปืนยิงออกไปเพราะเพื่อนทหารที่หมอบอยู่ใกล้ถูกยิง เป็นการกระทำเฉพาะตัว แต่เนื่องจากเป็นเวลากลางคืน ไม่อาจทราบได้ว่าปืนที่ยิงออกไปนั้นถูกใครบ้าง ศาลตัดสินว่าทำการป้องกันตนเกินเหตุ ตัดสินจำคุก 10 ปี

นั่นทำให้ “วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” จบลงด้วยความพอใจของญี่ปุ่น และความโล่งใจของไทย โดยมีคนระดับล่างๆ เป็น “ทางออก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, แม่: กลับจากบ้านโป่งถึงปากน้ำ, พิมพ์ครั้งที่ 2. มิถุนายน 2553.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554, สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ กุมภาพันธ์ 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2563