ทางรถไฟสายมรณะในพม่า ประวัติศาสตร์ที่โหดร้าย เจ็บปวดไม่แพ้ในฝั่งไทย

สะพานข้ามแม่น้ำสาละวิน ทางรถไฟสายมรณะ ฝั่งพม่า
สะพานข้ามแม่น้ำสาละวินและ ทางรถไฟสายมรณะ ในฝั่งพม่า ภาพสเก๊ตช์หาดูยากฝีมือเชลยศึกพร้อมด้วยข้อมูลที่สาบสูญ (ภาพจาก THE ILLUSTRATED LONDON NEW, 5 Jan. 1946 ของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)     

เมื่อนึกถึง “ทางรถไฟสายมรณะ” ก็จะคิดถึง “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” เป็นหลัก แต่ทางรถไฟสายมรณะไม่ได้สร้างอยู่ทางฝั่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ “กองทัพญี่ปุ่น” ยังได้สร้างทางฝั่งประเทศพม่าที่มีประวัติโหดร้าย เจ็บปวดไม่แพ้กัน แต่แทบไม่มีใครพูดถึง ในความเป็นจริงทางรถไฟสายมรณะมีระยะทางทั้งสิ้น 415 กิโลเมตร สร้างอยู่ในเขตแดนไทย 304 กิโลเมตร และอยู่ในเขตแดนพม่า 111 กิโลเมตร

หนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ของอังกฤษ รายงานเบาะแสนี้เมื่อ พ.ศ. 2489 ว่า บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ มีสะพานแห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำสาละวิน ในเขตของพม่าใกล้เมืองตันบูซายัด และแน่นอนว่าที่นั่นมีเชลยศึกต่างชาตินับหมื่นคน ที่สังเวยชีวิตให้ทางรถไฟสายนี้ไม่น้อยไปกว่าทางสายรถไฟบนฝั่งไทย

Advertisement

กองทัพญี่ปุ่น เคลื่อนตัวเข้าสู่พม่าต้น พ.ศ. 2485 หลายเมืองถูกทำลายและเกิดความเสียหายอย่างหนัก อังกฤษเองก็ทำลายเครือข่ายทางรถไฟที่วางไว้ในพม่าอย่างไม่เสียดาย เพราะตระหนักว่า กองทัพญี่ปุ่น จะเข้ามาครอบครองทางรถไฟเดิมของตนใช้เคลื่อนพลเดินทัพ ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในภาวะสงคราม และเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นต้องเริ่มซ่อมสร้างทางรถไฟขึ้นใหม่ในพม่า เพื่อเดินทัพญี่ปุ่นอย่างรวบรัดและเร่งด่วนทดแทนของเก่าทันที

กองทัพญี่ปุ่น เร่งก่อสร้างทางรถไฟสายหนองปลาดุก-กาญจนบุรี-ตันบูซายัด (ทางรถไฟสายไทย-พม่า) หรือที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “ทางรถไฟสายมรณะ” จนเปิดใช้เดินทางอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2486 จากนั้นกองทัพได้ระดมขนส่งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อเป็นกองกำลังสมทบไปเสริมแนวหน้าของกองทัพญี่ปุ่นในพม่า ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาการถูกโจมตีกลับอย่างหนักจากกองกำลังของอังกฤษ ที่อยู่ตามแนวพรมแดนระหว่างพม่ากับอินเดีย

การลำเลียงทหารญี่ปุ่นและอาวุธหนักจากประเทศไทยผ่านทางรถไฟมีความสำคัญยิ่งขึ้น เมื่อทางรถไฟไทย-พม่า สามารถเชื่อมต่อกับทางรถไฟเส้นเดิมของอังกฤษ ซึ่งได้รับการซ่อมแซม จากนั้นก็จะได้ตัดตรงขึ้นไปภาคเหนือเลียบแม่น้ำ “สาละวิน” มุ่งหน้าสู่ Burma Road ในแถบรัฐฉานที่ติดกับชายแดนจีน

ตามชายฝั่งของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดารด้วยป่าเขา ไม่ต่างไปจากฝั่งแม่น้ำแควใหญ่แควน้อยในเขตไทย มีค่ายเชลยศึกตั้งเรียงรายอยู่ ดังเช่น ค่ายขนาดใหญ่อย่าง “ค่ายชองกูไร”

ค่ายชองกูไร คือ ชื่อของค่ายนรกแห่งใหม่ในแนวหลังด่านพระเจดีย์สามองค์ ในพื้นที่ป่าดงดิบลุ่มน้ำสาละวิน ค่ายนี้มีภารกิจสร้างสะพานทางรถไฟเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกัน ตามพิมพ์เขียวที่จะสร้างต่อไปยังเมืองตันบูซายัด วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2486 แม่ทัพญี่ปุ่นประจำสิงคโปร์มีคำสั่งให้เกณฑ์เชลยศึกสัมพันธมิตร ณ เรือนจำชางงี ราว 7,000 คน เดินทางไปยังค่ายพักพิงแห่งใหม่ที่มิอาจเปิดเผยได้ ในจำนวนนั้นมีเชลยราว 2,000 คน ที่เป็นผู้ป่วยไม่พร้อมทำงาน แต่ก็ถูกลวงว่าจะย้ายพวกเขาไปค่ายพักฟื้น

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2486 รถไฟ 13 ขบวน นำทหารเชลยกลุ่มดังกล่าวมาถึงบ้านโป่ง (จังหวัดราชบุรี) ต่อจากนั้นพวกเขาก็ถูกบังคับให้เดินเท้าผ่านป่าดงจากชายแดนไทยบนระยะทาง 300 กิโลเมตร ท่ามกลางความมืดครึ้มของฤดูมรสุมอันเฉอะแฉะเปียกชื้น กับฝนที่ตกทั้งกลางวันกลางคืน จนถึง “ค่ายชองกูไร” ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 โดยมีอหิวาตกโรคที่กำลังระบาดคอยต้อนรับอยู่เมื่อคณะไปถึง แต่งานก่อสร้างสร้างทางรถไฟก็ต้องดำเนินทันทีในวันรุ่งขึ้น

ค่ายชองกูไร ขาดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โรคร้ายต่างๆ จึงแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ภายในค่ายแห่งนี้มีทั้งอหิวาต์, ไข้ป่า, ท้องร่วง, แผลเน่าเปื่อยพุพอง ฯลฯ ขาดก็แต่ยาที่จะรักษาให้หายขาด เชลยอังกฤษจำนวน 1,600 คน ที่ไปถึงค่ายชองกูไรในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2486 ป่วยหนัก และเสียชีวิตหลังจากไปถึงค่ายเพียงเดือนเดียวถึง 1,200 คน เมื่อเวลา 1 ปีผ่านไป เชลยรวมกันมากถึง 5,000 คน ถูกฝังร่างไว้ข้างทางรถไฟที่พวกเขาสร้างนั่นเอง

นี่คือเรื่องย่อๆ ของ ทางรถไฟสายมรณะ ในพม่า และ “สะพานข้ามแม่น้ำสาละวิน” ส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะในพม่า ที่กลืนเชลยศึก 5,000 ชีวิต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ไกรฤกษ์ นานา. “ตะลึง! ‘ทางรถไฟสายมรณะ’ โหดกว่า สะพานข้ามแม่น้ำแคว แห่งที่ 2 มีอยู่จริง!” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม, 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งเมื่อ 26 เมษายน 2564