เปิดชะตากรรมผู้คุมชาวเกาหลีในกองทัพญี่ปุ่น ผู้มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ

ชะตากรรมผู้คุมชาวเกาหลี
ภาพประกอบเนื้อหา - ทางรถไฟสายมรณะ ถ่ายเมื่อ 2015 ภาพจาก Charin ninsu สิทธิ์ใช้งาน Creative Commons Attribution 3.0 Unported (https://web.archive.org/web/20161101132405)

เปิดชะตากรรมผู้คุมชาวเกาหลีในกองทัพญี่ปุ่น ผู้มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ

สงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะผ่านมานานแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนโดยเฉพาะผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ หนึ่งในความทรงจำนั้นย่อมเป็นสงครามและการสร้างทางรถไฟสายมรณะที่กาญจนบุรี ความทรงจำจากมุมของผู้คุมชาวเกาหลีในกองทัพญี่ปุ่นที่ได้บันทึกถึงความโหดร้ายทารุณของสงครามไว้ ผู้ซึ่งถูกขังอยู่ในเรือนจำนาน 20 ปีจากการสร้างทางรถไฟสายมรณะ

วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ ผู้เขียนบทความ “ชะตากรรมผู้คุมชาวเกาหลีในกองทัพญี่ปุ่นที่มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ” เล่าว่า ได้ข้อมูลผู้คุมเชลยชาวเกาหลีจากการร่วมคณะในการถ่ายทำสารคดีกับประเทศญี่ปุ่น ที่เข้ามาถ่ายทำสารคดีสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จังหวัดกาญจนบุรี

โดยในสารคดีเน้นไปที่การลงโทษผู้คุมชาวเกาหลีที่ปฏิบัติกับเชลยอย่างโหดร้ายในการสร้างรถไฟที่สายมรณะ จึงทำให้ผู้เขียนมีโอกาสรู้จักกับ นายลี คาคูราอิ และ นายบุน ไตเอะฟูกุ อดีตผู้คุมเชลยชาวเกาหลี 2 คนที่มีความทรงจำโดยตรงในสงครามและการสร้างรถไฟในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาบอกเล่าถึงความทรงจำ

รถไฟญี่ปุ่นวิ่งบนทางรถไฟส่วนต่อขยายในเขตประเทศไทย (ภาพจากหนังสือประวัติการสร้างทางรถไฟทหารไทย -พม่า ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา)

จุดเริ่มต้นมาจากสงครามมหาเอเชียบูรพา

หลังญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมกับโจมตีสหรัฐฯ ที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2485 ในเวลาเดียวกันก็บุกประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับยกพลขึ้นบกที่ทางภาคใต้ของไทย พร้อมยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทย ขอสร้างทางรถไฟไปพม่า เป็นเหตุให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จำเป็นต้องทำตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น นำไปสู่การเส้นทางรถไฟสายมรณะ

การเกณฑ์คนเกาหลีมาคุมเชลย

ในการเตรียมการสร้างเส้นทางรถไฟ ปี 2485 ทหารญี่ปุ่นรับสมัครชาวเกาหลี และไต้หวัน รวมกันจัดตั้งเป็นกองทัพพิเศษมีหน้าที่ควบคุมเชลยเพื่อสร้างทางรถไฟในเมืองไทย ในช่วงเวลานั้นเกาหลีถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น หนุ่มสาวชาวนาในประเทศอยู่ด้วยความลำบาก และถูกใช้งานหนักแลกค่าจ้างอันน้อยนิด จึงทำให้หนุ่มสาวชาวเกาหลีบางส่วนตัดสินใจเข้าร่วมกองทัพ ในจำนวนนี้มีผู้ถูกส่งมาเป็นผู้คุมคือ บุน ไตเอะฟูกุ, ลีคา คูราอิ, โชวบุนโช ที่จะมาบอกเล่าความทรงจำ

การมาเป็น “ผู้คุมชาวเกาหลี” บุน และลี เล่าว่าเขาถูกส่งมาทำงานนี้ในช่วงที่มีอายุ 18 ปี โดยลงเรือมาที่ไซ่ง่อนไปยังพนมเปญ และขึ้นรถไฟมากรุงเทพฯ จากนั้นนั่งรถบรรทุกมาลงสถานีหนองปลาดุก และลงเรือมาทำงานคุมเชลยที่กาญจนบุรี

บุน เล่าว่าถูกส่งไปทำงานตามที่ต่าง ๆ ทั้งค่ายช่องไก่ (เขาหินปูน) ค่ายกาญจนบุรี และค่ายใกล้สถานีเกรียงไกร เมื่อกลับมายังสถานที่เดิมคือบริเวณริมน้ำหน้าเมืองกาญจนบุรี เขายังจำได้ถึง “แควน้อยแควใหญ่” และสะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่เป็นที่ตั้งของค่ายเชลย มันทำให้เขานึกถึงเสียงรางเหล็กกระทบกัน และทำให้นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ทำให้ชีวิตเขาต้องเปลี่ยนแปลง

ลี ถูกส่งไปเป็นผู้คุมเกาหลี ที่ค่ายหินตก (ในเขตอำเภอไทรโยค) เป็นที่เต็มไปด้วยป่าเขา และสัตว์นานาชนิด เป็นการทำงานที่หนัก เพราะต้องควบคุมเชลยชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย ฮอลันดา และกรรมกร ผู้ถูกบังคับให้ทำงานอย่างหนักทั้งวันทั้งคืน โดยใช้เหล็กสกัดภูเขา และหน้าผาออก ใช้ค้อนทุบหินให้แตกเป็นก้อนเล็ก ๆ เพื่อทำถนน วางไม้หมอนและวางรางเหล็กต่อไป พร้อมกับสภาพอากาศอันเลวร้ายในป่ากับฝนที่ตกหนักตลอดทั้งวัน

นอกจากนั้น ลีก็มีความทรงจำเกี่ยวกับคนไทยในยุคนั้นว่า “เป็นคนขี้เกียจ กลางวันเอาแต่นอน พอตกกลางคืนเดือนหงายก็มาเล่นรำวง” ลียังจำเพลงรำวงของคนไทยสมัยนั้นได้ว่า “ตามองตาสายตาก็จ้องมองกัน”

พอทางรถไฟสร้างเสร็จสงครามก็จบ

หลังจากสร้างทางรถไฟอย่างเร่งรีบด้วยเวลาเพียงหนึ่งปี ทางก็ถูกเปิดใช้ในวันที่ 25 ธันวาคม 2486 เพื่อใช้ลำเลียงทหาร และยุทธปัจจัยไปทำสงครามในพม่า แต่สถานการณ์ในสงครามได้เปลี่ยนฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายได้เปรียบ และกลับมาเอาชนะญี่ปุ่นจากการใช้ระเบิดปรมาณูถล่มเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 นำไปสู่การประกาศยอมแพ้ของจักรพรรดิญี่ปุ่น

หนุ่มเกาหลีตกเป็นอาชญากรสงคราม

หลังจากแพ้สงคราม ทหารญี่ปุ่นรวมทั้งผู้คุมชาวเกาหลีถูปลดอาวุธ และถูกส่งไปขึ้นศาลทหารในเมืองแซงงี ประเทศสิงคโปร์ ในเหตุการณ์นั้น บุน และลี เล่าว่าเขา และชาวเกาหลีรวมทั้งโชว เพื่อนสนิทของพวกเขาถูกจับตัวขึ้นรถไฟไปพังงา จากนั้นลงเรือไปสิงคโปร์ ระหว่างทางก่อนจะไปสิงคโปร์ พวกเขาถูกปฏิบัติอย่างดีจากเหล่ากรรมกรชาวอินเดีย แต่พอถึงสิงคโปร์ พวกเขาถูกทำร้ายร่างกาย ถูกเตะ ต่อยจากพวกอดีตเชลยก่อนจะถูกนำไปขังเพื่อรอขึ้นศาลทหารฐานทารุณกรรมต่อเชลย

ผลการพิจารณาคดีออกมาว่าชาวเกาหลีจำนวน 145 คน ถูกศาลตัดสินให้ประหารชีวิต ในจำนวนนี้มีบุน ลี และเพื่อนสนิทของเขาคือโชว ภายหลังบุน และลี ถูกลดโทษให้จำคุกตลอดชีวิต มีเพียงโชวเท่านั้นที่ถูกตัดสินให้ประหารชีวิตพร้อมกับทิ้งบันทึกไว้ก่อนจากไป

ในบันทึกบอกเล่าความคิดของโชวก่อนที่จะถูกประหารชีวิต ความในบันทึกตอนหนึ่งบอกว่า “เราทั้งหมดได้ทำร้ายเชลย การกระทำรุนแรงก็เหมือนกับการกินอาหารที่เป็นกิจวัตรประจำวัน การใช้กำลังข่มขู่ให้เชลยกลัวเป็นการศึกษาที่ได้รับจากปูชาน ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็กลายเป็นคนโง่ แต่เดี๋ยวนี้เข้าใจแล้วว่านั้นคือเรื่องที่ผิด ดังนั้นพวกเราทั้งหมดยอมรับโทษ”

สถานีรถไฟน้ำตก เดิมชื่อ สถานีท่าเสา ตั้งอยู่ในเส้นทางรถไฟสายมรณะ (ภาพจาก เพจเฟซบุ๊ก : โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ)

หลังจากโชวถูกประหารชีวิต บุน และลี ก็ถูกย้ายเรือนจำไปอยู่ที่สุกาโมโน ประเทศญี่ปุ่น เรือนจำที่อยู่ภายในการควบคุมของสัมพันธมิตร ในปี 2495 แม้จะมีการปล่อยตัวนักโทษชั้นดี แต่ก็ปล่อยตัวเฉพาะผู้นำ เพราะติดเงื่อนไขในสนธิสัญญาสันติภาพที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งระบุให้ปล่อยตัวเฉพาะผู้นำระดับสูง บุน และลี จำต้องรอความหวังที่จะพ้นโทษต่อไป

ต่อมามีการปล่อยตัวคนญี่ปุ่นโดยไม่รวมชาวเกาหลี บุน และลี ก็ยังคงถูกจองจำต่อไปพร้อมกับความอดทนที่ค่อย ๆ หมดไป บางครั้งลีเคยคิดฆ่าตัวตายเหมือนกัน หลังจากนั้นเขามีอาการผิดปกติทางประสาท จำได้เพียงเหตุการณ์ในสนามรบ แต่ลีก็บอกตัวเองว่า “เขาจะตายไม่ได้ จนกว่าจะนำชื่อเสียงกลับมา”

จนในที่สุดในปี 2500 บุน และลี ก็ได้รับอิสรภาพ สิ้นสุดการรับโทษในคุกถึง 20 ปี จากการเป็นผู้คุมเกาหลีสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อจากบทความ “ชะตากรรมผู้คุมชาวเกาหลีในกองทัพญี่ปุ่นที่มาสร้างทางรถไฟสายมรณะ” โดยวรวุธ สุวรรณฤทธิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์และหัวหน้าศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูกาญจนบุรี (ยศและตำแหน่งเมื่อ 2534) เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2534


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2563