เปิดชีวิต “เชลยศึกชาวดัตช์” ในไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพเลวร้ายเหมือนช่วงสงครามหรือไม่?

เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น เชลยศึกชาวออสเตรเลีย เชลยศึกชาวดัตช์ ใน ค่ายญี่ปุ่น รัฐในอารักขา
เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรในค่ายญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากคนไทย ได้บอกเล่าเรื่องราวนี้แก่สาธารณะ และในชั้นศาล ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยรอดจากการเป็น “รัฐในอารักขา” ของอังกฤษ (ภาพจากหนังสือ ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระ เกี่ยวกับเมืองไทย สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา)

สงครามโลกครั้งที่ 2 ในไทย มี “เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร” หลายหมื่นคน อาทิ เชลยศึกชาวออสเตรเลีย เชลยศึกชาวอังกฤษ เชลยศึกชาวดัตช์ ฯลฯ ที่ “กองทัพญี่ปุ่น” ควบคุมตัวไปใช้แรงงานหนัก เช่น การสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่จังหวัดกาญจนบุรี สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาเข้าขั้นเลวร้าย ขาดการดูแลเรื่องอาหารการกินและสุขอนามัย รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้า จนชีวิตปลิดปลิวราวใบไม้ร่วง

หลังญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ชีวิตของบรรดาเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะ “เชลยศึกชาวดัตช์” ซึ่งอยู่ในไทยนับพันคน เป็นอย่างไร?

เทพ บุญตานนท์ เล่าไว้ในผลงานเล่มล่าสุดเรื่อง “ชีวิตเชลยศึก: หยดเลือดและหยาดน้ำตาในค่ายกักกันไทยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา” (สำนักพิมพ์มติชน, 2567) ว่า

เชลยศึกชาวดัตช์ แม้มีจำนวนไม่มากเท่าชาวออสเตรเลียและชาวอังกฤษ แต่ไทยเองก็ไม่สามารถนิ่งดูดายได้ ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลไทยมีส่วนรู้เห็นกับการใช้แรงงานเชลยศึกอย่างหนักของกองทัพญี่ปุ่น

ดังนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ไทยจึงต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร ด้วยการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้เชลยศึกได้กลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อลดทอนความเดือดดาลของชาติสัมพันธมิตรที่มีต่อไทย แม้ขณะนั้นสภาวะเศรษฐกิจของไทยจะยังไม่ฟื้นก็ตามที

ส่วนใหญ่ เชลยศึกชาวดัตช์ อยู่ที่ค่ายกักกันในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดกาญจนบุรี แต่ก็มีกระจัดกระจายไปในหลายจังหวัด เช่น ปราจีนบุรี สระบุรี อุบลราชธานี ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการดูแลเชลยศึกเหล่านี้ให้มีความเป็นอยู่ดีสุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นประเด็นที่ “รัฐบาลเนเธอร์แลนด์” ใช้ต่อรองกับไทย ในการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 รัฐบาล

เทพ เล่าว่า การดูแลเชลยศึกชาวดัตช์หลังสงคราม รัฐบาลไทยได้ตกลงกับฝ่ายสัมพันธมิตรว่า งบประมาณในการดูแลนั้น องค์การส่งกลับเชลยสงครามและผู้ถูกกักขัง (Repatriation of Allied Prisoners of War and Internees หรือ RAPWI) จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบระหว่างรอการส่งกลับ แต่ท้ายสุด เชลยศึกชาวดัตช์ก็มักขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย เพราะติดต่อได้สะดวกกว่า RAPWI

ในการดูแลเชลยศึก เจ้าหน้าที่เนเธอร์แลนด์ซึ่งเข้ามาประจำการในไทย จะทำหน้าที่ควบคุมและดูแลเชลยศึกของตนเอง ส่วนไทยจะเป็นฝ่ายจัดหาสิ่งของและอาหารตามความประสงค์ของเนเธอร์แลนด์ โดยให้ฝ่ายไทยจ่ายเงินไปก่อน แล้วเนเธอร์แลนด์จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ไทยอีกต่อหนึ่ง

ชีวิตความเป็นอยู่ของเชลยศึกชาวดัตช์ในไทยค่อนข้างหลากหลาย เชลยศึกในเขตพระนครทั้งนายทหารและชั้นประทวนได้รับประทานอาหารในโรงแรมชั้นนำ อย่าง โรงแรมโอเรียนเต็ล โรงแรมโทรคาเดโร โรงแรมไทยแลนด์ แต่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น ค่ายเชลยศึกที่อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีเชลยศึกชาวดัตช์ราว 300 คน กลับขาดแคลนอาหารและเวชภัณฑ์ จนนายทหารดัตช์ที่เป็นหัวหน้าเชลยศึก ต้องขอความช่วยเหลือไปยังนายอำเภอ ให้จัดหาอาหารและยารักษาโรคมาให้

เทพ ขยายความอีกว่า ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นในค่ายที่มี “เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร” อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น ค่ายที่จังหวัดสระบุรี รวมทั้งอีกหลายจังหวัด รัฐบาลไทยจึงต้องติดต่อกับพ่อค้าในจังหวัดต่างๆ ที่มีค่ายเชลยศึกตั้งอยู่ ให้จัดหาสินค้าตามปริมาณที่รัฐบาลกำหนดด้วยการประมูล ค่ายไหนมีขนาดใหญ่มาก เช่น ค่ายที่จังหวัดนครปฐม ค่ายที่จังหวัดกาญจนบุรี ก็จะมีพ่อค้าหลายรายได้งานประมูล

สินค้าที่จัดหาให้เชลยศึก ส่วนใหญ่เป็นอาหารสดและเครื่องปรุง เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ผัก ผลไม้ เกลือ น้ำตาล น้ำมันพืช เพื่อให้เชลยประกอบอาหารรับประทานกันเอง โดยตกลงงบค่าอาหารเชลยศึกวันละ 1 บาท 50 สตางค์ต่อคน เท่ากับงบอาหารของเชลยศึกชาวญี่ปุ่น (เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารญี่ปุ่นในไทยจึงมีสถานะเป็นเชลยศึก)

นอกจากอาหาร เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรยังได้รับเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันอีกด้วย ทั้ง โต๊ะกินข้าว ถ้วยแก้ว ช้อนส้อม มีด เหยือกน้ำ กาน้ำชาและที่วางขนม มุ้ง ฯลฯ หรือหากต้องการอะไรเป็นพิเศษ อย่างเมื่อครั้งเชลยศึกในจังหวัดนครนายก ขอให้จัดหาเครื่องกีฬาและสิ่งของสันทนาการ อย่าง ลูกฟุตบอล อุปกรณ์เล่นปิงปอง หีบเพลงและแผ่นเสียง รัฐบาลไทยก็ต้องจัดหาให้

อีกเรื่องหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่ไทยต้องนำไปรักษาเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ตามคำเรียกร้องของกาชาดสากล ทำให้เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ไทยมีอยู่จำกัดต้องลดน้อยลงไปอีก แต่ก็ถือเป็นความจำเป็นที่ไทยต้องดูแล

ชีวิตเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น เชลยศึกชาวดัตช์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด จึงสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าช่วงสงคราม ที่ต้องอยู่ใต้การปกครองของกองทัพญี่ปุ่น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เทพ บุญตานนท์. ชีวิตเชลยศึก: หยดเลือดและหยาดน้ำตาในค่ายกักกันไทยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2567