พุทธคุณพระแก้วมรกต

พระแก้วมรกต ประดิษฐาน บน หลังช้าง ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดหงส์รัตนาราม
(ซ้าย) พระแก้วมรกต ถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนหลังช้าง เคลื่อนขบวนจากเชียงรายไปเชียงใหม่ (ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดหงส์รัตนาราม) (ขวา) พระเจ้าอนุรุทธทูลขอ พระแก้วมรกต จากพระเจ้ากรุงลังกา (ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดหงส์รัตนาราม)

“พระแก้วมรกต” หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ที่ถูกยกให้มีความสำคัญลำดับแรกเหนือพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ด้วยเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานเป็นประธานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของราชอาณาจักรสยาม และศูนย์กลางแห่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ ศาสนา และราษฎร

เมื่อแรกสร้างกรุงเทพมหานครนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีพระราชปณิธานที่จะสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นกรุงศรีอยุธยาแห่งใหม่ โดยได้จำลองแบบอย่างหลายๆ ด้าน มาไว้ในกรุงเทพมหานคร แต่กลับไม่ได้นำพระพุทธรูปที่เปรียบเสมือนเป็น “ใจเมือง” แห่งกรุงศรีอยุธยามาเป็นมิ่งขวัญแก่เมือง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพระพุทธรูปสำคัญๆ ได้ถูกทำลายไปมากในช่วงกรุงศรีอยุธยาแตก พระพุทธรูปที่อาจนับได้ว่าเป็นขวัญเมือง เช่น พระศรีสรรเพชญ์ ที่โปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานคร ก็ชำรุดเกินกำลังจะซ่อมแซมได้ ทั้งไม่สมควรที่จะหลอมเพื่อหล่อขึ้นใหม่ จึงโปรดให้อัญเชิญไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ใหญ่ในวัดพระเชตุพนฯ

อย่างไรก็ดียังมีพระพุทธรูปสำคัญๆ หลงเหลืออยู่ทั้งในกรุงศรีอยุธยาและตามหัวเมืองต่างๆ ที่โปรดให้อัญเชิญลงมาไว้ในพระนครอีกนับพันองค์ [1] แต่ก็ไม่มีพระพุทธรูปองค์ใดเลยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะมีพระราชศรัทราในพุทธคุณเทียบเท่า พระแก้วมรกต

ด้วยพระราชศรัทธาต่อองค์พระแก้วมรกตของพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนากรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปหินหยกเขียวอันวิเศษองค์นี้ จึงถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญนับเป็น “ใจเมือง” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาจนทุกวันนี้ นับเวลาได้ 200 กว่าปี

แต่เหตุใดจึงทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดพุทธคุณในพระแก้วมรกตยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์ใดในแผ่นดินสยามประเทศนี้? การอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากกรุงเวียงจันทน์ครั้งนั้น เป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าตาก หรือเป็นเจตนาของเจ้าพระยาจักรี? เพราะรับรู้รับทราบพุทธคุณปาฏิหาริย์จากตำนานต่างๆ ทั้งในดินแดนล้านนา ล้านช้าง ตลอดจนสยามประเทศ คำถามเหล่านี้คือปริศนาที่ท้าทายให้ค้นหาคำตอบอย่างยิ่ง

ปาฏิหาริย์ในตำนาน “พระแก้วมรกต”

ตำนานพระแก้วมรกต เรื่องรัตนพิมพวงศ์ [2] แต่งขึ้นเป็นภาษาบาลี ในปีพุทธศักราช 2271 [3] โดยพระพรหมปัญญา ซึ่งอ้างว่าแต่งตามตำนานเดิมที่มีอยู่แล้วเป็นภาษาไทย (ท้องถิ่น)

“เพื่อแสดงตำนานเดิมของพระพุทธรูปที่เล่ากันสืบๆ มา นักปราชญ์ผู้รู้เรื่องราวได้แต่งเป็นภาษาไทยไว้แล้วข้าพเจ้าอาศัยตำนานนั้นเป็นหลัก จะได้แต่งตำนานที่เรียกว่ารัตนพิมพวงศ์นี้เป็นภาษาบาลี ตามกำลังสติปัญญาฯ” [4]

ตามตำนานพระแก้วมรกต ได้กล่าวถึงอภินิหารการกำเนิดพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ว่า พระภิกษุรูปหนึ่งคือพระนาคเสน อุบัติขึ้นในโลกราวพุทธศักราช 500 เป็นพระนักปราชญ์ฉลาดในธรรมบรรลุพระอรหันต์ ประวัติและเรื่องราวโดยละเอียดของพระนาคเสนมีอยู่ในหนังสือคัมภีร์มิลินทปัญหา พระพรหมปัญญาได้ตัดตอนมาเล่าแสดงไว้ในภาคแรกของตำนานพระแก้วมรกต

พระนาคเสนมีความคิดว่า ถ้าจะให้ธรรมของพระพุทธเจ้ารุ่งเรืองมั่นคงไปในอนาคตกาล ก็สมควรที่จะสร้างพระพุทธรูปให้ดีงาม

“แต่ถ้าเราสร้างพระพุทธรูปให้ดีงามด้วยเงินหรือทอง พวกโจรที่มีราคะ โทสะ โมหะ ก็จะทำอันตรายด้วยเหตุต่างๆ ในอนาคต เพราะฉะนั้นเราจะสร้างพระพุทธรูปด้วยรัตนะให้ทำลายยากด้วยเดชานุภาพของรัตนะนั้น

ความทราบไปถึงท้าวสักกะ (พระอินทร์) จึงเสด็จลงไปหาพระนาคเสนพร้อมกับพระวิษณุกรรม แล้วรับอาสาจะเป็นผู้นำรัตนะนาม “มณีโชติ” สีขาวนวล มีแก้วมณีเป็นบริวาร 3,000 ดวง จากภูเขาวิบุลบรรพตมาถวาย

แต่แก้ว “มณีโชติ” นั้นมีราชากุมภัณฑ์เฝ้าอยู่ และไม่ยินยอมมอบแก้วมณีโชติให้ได้ตามพระประสงค์ เพราะแก้วมณีโชตินั้น มีเดชานุภาพมาก เตรียมไว้สำหรับเป็นเครื่องบริโภคใช้สอยคู่บารมีของพระจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น (ซึ่งจะมาอุบัติในอนาคต) ขอให้รับเอาแก้ว “อมรโกฏ” [5] สีเขียวไปแทน แก้วอมรโกฏนี้ มีขนาด 1 วา 3 นิ้ว [6] มีหมู่รัตนะ 750 ดวง เป็นบริวาร

เมื่อพระนาคเสนได้แก้วอมรโกฏมาแล้ว จึงคิดหาช่างฝีมือเอกที่สามารถสร้างพระพุทธรูปอันประเสริฐ อำนวยประโยชน์แก่ชนทั่วไป ฝ่ายพระวิษณุกรรมเมื่อทราบความคิดของพระนาคเสนแล้ว จึงได้แปลงเป็นช่างทำพระพุทธรูปผู้เชี่ยวชาญ อาสาสร้างพระพุทธรูปถวาย

การแปลงร่างมาก็เพื่อแสดงว่าจะสร้างด้วยมือ ไม่ได้ใช้อิทธิฤทธิ์เสกด้วยคาถา พระวิษณุกรรมสร้างอยู่หลายวันจึงแล้วเสร็จ ได้พระพุทธรูปงามด้วยรัตนะ ควรเป็นที่บูชาแก่ อินทร์ พรหม เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย มีขนาดสูง 1 ศอก 7 นิ้ว

เมื่อมีการทำพิธีบูชาสักการะ พระแก้วมรกต ก็ได้สำแดงปาฏิหาริย์ตลอด 7 วัน ด้วยการแผ่ซ่านรัศมีออกเป็นสีต่างๆ มีสีเขียวดั่งปีกแมลงภู่ สีเหลืองดั่งทองใบ สีแดงดั่งรัศมีดวงอาทิตย์รุ่งอรุณ สีขาวดั่งดาวประกายพรึก เป็นต้น

ในคราวนั้นพระนาคเสนได้อธิษฐานจิตอัญเชิญพระบรมธาตุ 7 องค์ มาประดิษฐานในองค์พระ ที่พระเมาลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ซ้ายขวา พระชานุซ้ายขวา

นี่คือปาฏิหาริย์กำเนิดพระแก้วมรกตตามตำนานรัตนพิมพวงศ์

ต่อจากนั้น พระแก้วมรกตก็ได้ถูกอัญเชิญไปยังดินแดนต่างๆ ก่อนจะมาประดิษฐานถาวรที่กรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่กำเนิดที่เมืองปาตลีบุตร สู่เกาะลังกา จากนั้นพระเจ้าอนุรุทธเจ้านครม่าน (พม่า) ได้ขออาราธนาไปยังเมืองของพระองค์พร้อมกับพระไตรปิฎก แต่ได้เกิดพายุพัดกระหน่ำ เรือที่บรรทุกพระไตรปิฎกไปถึงนครม่าน ส่วนลำที่บรรทุกพระแก้วมรกตแล่นเลยไปจนถึงเมืองนครเอกราช (นครธม)

ต่อมากษัตริย์กรุงกัมพูชาพระองค์หนึ่ง ไม่ประพฤติในทศพิศราชธรรม นำเอาบุตรของปุโรหิตไปถ่วงน้ำ ด้วยเหตุเพียงเล็กน้อย พญานาคทราบเหตุเข้า จึงบันดาลให้น้ำท่วมพระนครนั้น คนทั้งปวงตายหมด เว้นแต่ชาวเรือ

ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินอโยชฌา (อโยธยา) เสด็จไปทำสงครามที่ชายแดนเมืองมหานคร แล้วได้พระแก้วมรกตกลับอโยชฌา

หลังจากนั้น พระแก้วมรกตก็ถูกอัญเชิญไปยังเมืองต่างๆ เริ่มที่กำแพงเพชร แล้วจึงมาที่เชียงราย เจ้าเมืองเชียงรายหวังจะซ่อนพระแก้วมรกตแก่ศัตรู จึงเอาปูนพอกลงรักปิดทองเก็บไว้ที่เมืองเชียงรายนั้น จนกระทั่งต่อมา (ด้วยประสงค์ของเทวดา) ปูนที่พอกไว้ตรงปลายพระกรรณข้างหนึ่งกะเทาะออก เห็นเป็นเนื้อแก้วมณี ชายเฝ้าวัดซึ่งเช็ดล้างพระพุทธรูปเห็นเข้า จึงแจ้งแก่พระภิกษุสมภาร

ความทราบต่อมาถึงเจ้าเมืองเชียงราย และในที่สุดก็ทราบถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทรงคิดจะนำพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ จึงให้อัญเชิญขึ้นหลังช้าง แต่ด้วยเทวดาบันดาลช้างไม่สามารถแบกพระแก้วมรกตเดินทางถึงเมืองเชียงใหม่ได้ ในที่สุดก็ต้องเสี่ยงทายจับฉลากเมืองเลือกเมืองใดเมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านนา จับฉลากอยู่ 3 ครั้ง ก็ได้แต่เมืองลำปางทั้งสิ้น จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นวอให้คนไปโดยง่าย พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานอยู่เมืองลำปางนาน 32 ปี (พ.ศ. 1979-2011)

ต่อมาก็ถูกอัญเชิญไปยังเมืองต่างๆ คือ เชียงใหม่ 85 ปี (พ.ศ. 2011-2096) หลวงพระบาง ไม่ถึงปี (พ.ศ. 2096) เวียงจันทน์ 225 ปี (พ.ศ. 2096-2322) กรุงธนบุรี 5 ปี (พ.ศ. 2322-2327) สุดท้ายจึงมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปีพุทธศักราช 2327

ตลอดระยะเวลา 300 กว่าปี ก่อนที่พระแก้วมรกตมาประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพมหานครนั้น ได้แสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ให้เป็นที่ปรากฏแก่เมืองต่างๆ ที่ปฏิบัติบูชาพระแก้วมรกตด้วยความศรัทธา นอกจากปาฏิหาริย์ที่ปรากฏแล้ว พระแก้วมรกตยังแสดงพุทธคุณทำให้เมืองสงบร่มเย็นเป็นสุขและมหาชนชื่นชมยินดี

จากเวียงจันทน์สู่กรุงธนบุรี อาถรรพ์ “พระแก้วพระบาง”

ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าศิริบุญสารเจ้านครเวียงจันทน์ ไม่ให้ความร่วมมือในหลายๆ ด้านกับฝ่ายกรุงธนบุรี หนึ่งในนั้นคือไม่ร่วมมือกับกรุงธนบุรีปราบปรามพม่า พระเจ้าตากจึงแต่งให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปปราบ กองทัพของพระเจ้าศิริบุญสารถูกกองทัพกรุงธนบุรีตีแตกในที่สุด

ครั้งนั้นกองทัพกรุงธนบุรีได้กวาดต้อนเจ้านายนครเวียงจันทน์และครัวลาว ลงมาในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมากรวมทั้ง “กวาดเก็บเอาทรัพย์สินข้าวของทั้งมวลอันมีค่าในพระคลังหลวง และของประชาราษฎรทั้งหลาย พร้อมด้วยพระแก้วมรกตและพระบางอันมีค่ามิ่งเมืองลาว” [7] กลับมายังกรุงธนบุรี

ไม่มีหลักฐานใดชี้ว่า การอัญเชิญ “พระแก้วพระบาง” ลงมากรุงธนบุรีในครั้งนั้น เป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าตาก หรือเป็นความคิดของเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพใหญ่ เหตุใดกรุงธนบุรีจึงให้ความสำคัญกับพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นั้น ทั้งที่ตลอดระยะเวลาของกรุงศรีอยุธยาไม่เคยมีความพยายามเช่นนี้มาก่อน

อย่างไรก็ดี มีข้อบ่งชี้บางประการบอกให้ทราบว่าพระเจ้าตากทรง “รู้จัก” พระแก้วมรกตและพระบาง เป็นอย่างดี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตและพระบางถึงเขตเมืองสระบุรี และจัดกระบวนแห่สมโภชอย่างยิ่งใหญ่ อาจนับได้ว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตจากสระบุรีมาอยุธยาด้วยกระบวนเรือ 115 ลำ และจากอยุธยามากรุงธนบุรีมีกระบวนเรืออีก 246 ลำ มีการตั้งงานสมโภชตลอดระยะทาง เมื่อ “พระแก้วพระบาง” มาถึงกรุงธนบุรีแล้ว จึงจัดงานสมโภชใหญ่อีก 7 วัน 7 คืน สิ้นเงินหลายร้อยชั่ง [8] แม้ว่างานแห่จะ “กร่อย” ไปสักหน่อยเพราะมีอุบัติเหตุเรือพระองค์เจ้าคันธวงษ์ล่มหน้าวัดระฆังฯ ขุนนางตามเสด็จถูกลงพระราชอาญากันถ้วนหน้า [9]

แต่แล้วพระเจ้าตากก็มิได้ทรงเฉลียวพระทัยเกี่ยวกับอาถรรพ์ “พระแก้วพระบาง” ซึ่งมีมาแต่ในอดีต คือ “ผี” ที่รักษาประจำองค์พระพุทธรูปทั้งสองเป็นอริกัน เมื่ออยู่ด้วยกันคราวใดมักจะวิวาทกัน เป็นเหตุร้ายแก่บ้านเมืองนั้น

เมื่ออดีตนั้น พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เชียงใหม่ พระบางอยู่หลวงพระบาง ก็ไม่เกิดเหตุร้ายใด จนกระทั่งพระเจ้าไชยเชษฐาทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่ไปไว้ที่หลวงพระบางด้วยกัน ก็เกิดเหตุร้ายขึ้น ระหว่างเมืองเชียงใหม่ พม่า และหลวงพระบาง (เมืองหลวงของกรุงศรีสัตนาคนหุต) จนต้องย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงเวียงจันทน์ แล้วย้าย “พระแก้วพระบาง” มาไว้ด้วยกันที่กรุงเวียงจันทน์ ก็เกิดเหตุกรุงเวียงจันทน์เสียแก่กรุงธนบุรีอีก ครั้นเมื่อเจ้าพระยาจักรีอัญเชิญ “พระแก้วพระบาง” มากรุงธนบุรี ไม่นานก็เกิดเหตุเปลี่ยนแผ่นดิน

ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแผ่นดินสู่กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงพระราชทาน “พระบาง” คืนแก่กรุงเวียงจันทน์ไป

แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อเกิดศึกเวียงจันทน์ ก็มีการอัญเชิญพระบางกลับมากรุงเทพมหานครอีกครั้ง แต่ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบเรื่องอาถรรพ์ของพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ดี จึงให้อัญเชิญ “พระบาง” ไปที่วัดจักรวรรดิราชาวาส [10] ซึ่งเป็นวัดนอกเมือง มาถึงรัชกาลที่ 4 มีดาวหางขึ้น เกิดฝนแล้งโรคระบาดติดต่อกัน 3 ปี จนคนลือกันว่าเป็นเพราะพระบางมาอยู่กรุงเทพมหานคร แม้จะมีประกาศเตือนไม่ให้ราษฎร “คิดวิตกเล่าฦาไปต่างๆ” [11] แต่อีกทางหนึ่งก็พระราชทาน “พระบาง” คืนไปเมืองหลวงพระบาง

พระคู่บารมีรัชกาลที่ 1

เมื่อมีการ “ปราบจลาจล” เปลี่ยนแผ่นดินมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการก่อสร้างพระอารามขึ้นในพระราชวังหลวงตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา เสร็จในปี 2326 ปีถัดมาจึงโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกต “ข้ามฟาก” มาจากกรุงธนบุรี ลงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เป็นขบวน ไปยังพระอุโบสถแห่งใหม่

“ทรงพระกรุณาให้เชีญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกฎจากโรงในพระราชวังไหม่ เชีญเข้าประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามไหม่ แล้วให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะประชุมทำสังฆกรรม สวดผูกพัทธสีมาในวันนั้น แลการพระอารามสำเรจบริบูรรณแล้ว จึ่งทรงตั้งพระนามวัดพระศรีรัตนสาศดาราม ไว้เปนที่ประชุมข้าทูลอองธุลีพระบาท ถือน้ำพระพิพัทสัตยาธิษฐานทำมงคลการ พระราชพิธีปีละสองครั้ง” [12]

การอัญเชิญ พระแก้วมรกต “ข้ามฟาก” มานี้ มีอีกเนื้อความหนึ่งต่างไปจากพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ที่ว่าเชิญลงเรือข้ามฟากตรงมายังพระราชวังแห่งใหม่เลย แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์ ได้กล่าวว่ามีการแวะพักสถานที่หนึ่งก่อนแล้วจึงนำไปยังพระอุโบสถในพระราชวังหลวง

“ครั้นแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธพิมพ์มรกฎ อันพระนาคเสนเจ้าได้บรรจุพระสัตถุธาตุไว้ ทรงรัศมีเขียวงามประเสริฐ แห่ออกจากวัดโพธารามมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประดิษฐานไว้ในโรงอุโบสถอันงามประเสริฐนั้นแล้ว” [13]

หากพระพิมลธรรม หรือต่อมาคือสมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพนฯ มีความแม่นยำในการแต่งหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะเป็นตอนที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธรูปองค์สำคัญเช่นนี้ ก็อาจจะแสดงว่าวัดพระเชตุพนฯ มีความสำคัญบางอย่างในเหตุการณ์เปลี่ยนแผ่นดิน เพราะเมื่อคราวที่เจ้าพระยาจักรีจะ “ข้ามฟาก” ไป “ผจญมาร” ฝั่งธนบุรี ก็มาหยุดรอข้ามฟาก ณ ที่แห่งนี้ก่อนเช่นเดียวกัน

เมื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตแล้ว ก็จัดให้มีการสมโภชถวาย 7 วัน 7 คืน ในครั้งนี้พระแก้วมรกตได้สำแดงปาฏิหาริย์เป็นอัศจรรย์อีกครั้งหนึ่ง

“พระธาตุทั้งหลายที่บรรจุอยู่ในพระรัตนพิมพ์นั้น ก็ได้ทำพระปาฏิหาริย์สว่างโอภาษทั่วพระนคร เปล่งรัศมีงามรุ่งเรืองอย่างประเสริฐ ด้วยพระรัศมีทั้งหลาย คล้ายกับแสงทองเนื้อนิกข อันหลอมลลายคว้างอยู่ในเบ้า แลล่วงเสียซึ่งแสงดอกไม้เพลิงฉะนั้น ได้ปรากฏในประถมยามราตรี ด้วยอำนาจอธิฐานแห่งสมเด็จพระมหากระษัตริย์เจ้าทั้ง 2 พระองค์ ผู้ทรงบุญญาธิการ แลด้วยอำนาจอธิฐาน ถึงสมเด็จพระพุจธเจ้าด้วย ประชาชนทั้งปวงเว้นแต่สมเด็จพระมหากระษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์แล้ว ได้พากันเห็นรัศมีพระธาตุแล้วจะได้พากันรู้สึกก็หามิได้ กลับพากันตระหนกตกใจกลัว ต่างก็พูดจากันต่างๆ นาๆ” [14]

แน่นอนว่าพระแก้วมรกตไม่ได้สำแดงปาฏิหาริย์เช่นเดียวกันนี้ในหนังสือประเภทพระราชพงศาวดาร แต่ในขณะเดียวกัน “ความศรัทธา” ในพระแก้วมรกต ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก็มิใช่เรื่องปกปิดแต่อย่างใด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิพนธ์ที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจน ว่ารัชกาลที่ 1 ทรงเลื่อมใสในพุทธคุณของพระแก้วมรกต โดยเฉพาะเกี่ยวเนื่องกับการปราบยุคเข็ญและการปราบดา ภิเษกของพระองค์

ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้เป็นสิริแก่พระองค์และพระนคร จึงได้ขนานนามกรุงใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยา เพราะเป็นที่ประดิษฐานและเป็นที่เก็บพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ เพราะเหตุฉะนั้นการพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นการใหญ่ ก็ควรจะทำในสถานที่เฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้นประการหนึ่ง” [15]

หลังจากอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว เพียง 2 เดือน ได้เกิดธรรมเนียมใหม่ขึ้น คือปีพุทธศักราช 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้ตั้งพระราชกำหนดใหม่ให้ข้าราชการทั้งปวงต้องเข้าไปกราบนมัสการพระแก้วมรกตก่อน แล้วจึงเข้ารับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัจจาภายหลัง ผิดกับพระราชกำหนดเก่าที่ถือธรรมเนียมเข้าไปไหว้รูปพระเทพบิดรก่อนแล้วจึงกราบนมัสการพระรัตนตรัยภายหลัง [16]

ไม่เพียงแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะทรงศรัทธาและถือว่าพระแก้วมรกตนั้น “เป็นสิริแก่พระองค์” ยังเป็นไปได้ว่าทรงเชื่อพุทธคุณในทางใดทางหนึ่งขององค์พระแก้วมรกตเป็นพิเศษ

“ก็แลการถือน้ำในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์นั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นความมหัศจรรย์ ในพระพุทธรัตนปฏิมากรแก้วมรกฎพระองค์นี้ ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสมาก” [17]

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งถึงความศรัทธาเลื่อมใสพระแก้วมรกตของรัชกาลที่ 1 ว่า

“ท่านเลื่อมใสในองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้มาก จึงยกไว้เปนหลักพระนคร พระราชทานนามพระนคร ก็ให้ต้องกับพระนามพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ด้วย” [18]

พระแก้วมรกตยังมีความสำคัญถึงขนาดว่าเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่มี “ข้าพระ” ดังปรากฏในหมายรับสั่งและบัญชีโคมตรา ในพระราชพิธีวิสาขบูชา ในรัชกาลที่ 4 มีการกล่าวถึง “ข้าพระแก้วมรกต” [19] ให้เบิกน้ำมันมะพร้าวต่อชาวพระคลังไปจุดโคมประทีปรอบระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ด้วยเหตุนี้พระแก้วมรกตจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกอบพระราชพิธีใหญ่ๆ มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งพิธีทางศาสนา พระราชพิธีเกี่ยวกับราชตระกูล และการปกครอง เช่น ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา กรณีที่พระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ก็ยังคงต้องเข้าไปถือน้ำสาบานหน้าพระแก้วมรกตเป็นปฐมก่อน แล้วจึงมาดื่มน้ำต่อหน้าพระพักตร์ในท้องพระโรงอีกครั้งหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าสาระสำคัญของการถือน้ำคือการสาบานต่อหน้าพระ ผู้ถือน้ำสาบานจะต้องนุ่งห่มขาวรับคำสาบานที่ให้คุณและสาปแช่งให้โทษต่อหน้าพระแก้วมรกต ไม่ได้กระทำเพียงการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระเจ้าอยู่หัวเพียงอย่างเดียว

การที่พระแก้วมรกต “เป็นสิริแก่พระองค์” คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ นั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องพระเจ้าตากและกรุงธนบุรี เพราะการบูชาสมโภชพระแก้วมรกตตลอดจนการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างยิ่งใหญ่ ทรงกระทำพร้อมๆ กับการสร้างพระราชวัง อันเป็นช่วง 3 ปีแรกแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ยังถือเป็นการเริ่มต้นเมืองใหม่ พระแก้วมรกตก็ยังไม่ได้สำแดงพุทธคุณใดให้ประจักษ์ในแผ่นดินใหม่นี้ นอกจากทำให้การจลาจลในแผ่นดินเก่าสงบลง

ส่วนพุทธคุณทางด้านกำราบราชศัตรู “เมืองใดไป่ต้านทานทน พ่ายแพ้เดชผจญ ประณตน้อมวันทา” [20] เวลานั้นสงครามใหญ่ก็ยังไม่เกิด ศึกพม่าครั้งแรกในแผ่นดินใหม่นี้เริ่มต้นขึ้นหลังจากอัญเชิญพระแก้วมรกตมายังพระอุโบสถแล้วเกือบปี

พระจอมเกล้าไขความลับ “พระแก้วมรกต”

พระแก้วมรกต ถูกไขปริศนาตำนานและปาฏิหาริย์การกำเนิด พร้อมทั้งเพิ่มเติมเรื่องเร้นลับด้านพุทธคุณ โดย “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระองค์แรกที่ปฏิเสธตำนาน “เทวดาสร้าง” หรือ “พระอินเดีย” ตามที่เชื่อถือกันมาก่อนหน้านี้

โดยมีพระราชวินิจฉัยไว้ในบทพระราชนิพนธ์ตำนานพระแก้วมรกต ฉบับสำหรับอาลักษณ์อ่าน ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันสวดมนต์เย็น พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หรือคำอ่านบูชาพระแก้วมรกต ในพระราชพิธีถือน้ำ ก่อนการอ่านโองการแช่งน้ำนั่นเอง

“เรื่องตั้งต้นมาจนถึงที่นี้ มีเรื่องราวเล่ายืดยาวไปดุจมีคนได้รู้เห็นเป็นแน่ แลความนั้นใครที่มักเชื่อง่ายก็ย่อมเห็นว่าเป็นจริง ตามตำนานที่กล่าวมานั้น ที่ไม่เชื่อก็จะคิดวิตกสงสัยไปต่างๆ ว่าพระพุทธรูปองค์นี้แล ฝีมือเทวดาสร้างพระพุทธเจ้ารูปร่างเหมือนอย่างนี้ เป็นฝีมือเทวดาแน่แล้ว และจะเป็นที่สงสัยไม่ตกลงกัน ก็ปรกติคนโบราณแรกมีหนังสือขึ้นใช้ ยังไม่มีหนังสือเก่าๆ มาก เมื่อแต่งเรื่องอะไรๆ นึกจะเขียนอย่างไรก็เขียนไปไม่คิดว่านานไปจะมีคนภายหน้าจะมีปัญญาแลสติตริตรองเทียบเคียงมาก จะเชื่อคำของตัวแลไม่เชื่อนั้นไม่ใคร่จะคิด” [21]

และมีพระราชวินิจฉัยว่า “ดูเหมือนว่าจะเป็นฝีมือช่างลาวเหนือโบราณ ข้างเมืองเชียงแสน เห็นคล้ายคลึงมากกว่าฝีมือช่างเมืองอื่น” [22]

ปัจจุบันนักวิชาการที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องพระแก้วมรกต ก็มีบทวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกับพระราชวินิจฉัยนี้ คือเป็นฝีมือช่างชาวลาวเหนือหรือล้านนา ไม่ใช่พระพุทธรูปอินเดียหรือลังกาตามที่กล่าวไว้ในตำนาน

ในตำนานพระแก้วมรกต ฉบับสำหรับอาลักษณ์อ่านฯ ยังมีเรื่องที่ช่วยไขปริศนาสำคัญในประวัติศาสตร์อีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับพระอาการ “สัญญาวิปลาส” ของพระเจ้าตาก ปรากฏอยู่ด้วย

“แผ่นดินกรุงธนบุรีได้ความเดือดร้อนทั่วทั้งเมือง พระเจ้าแผ่นดินเสียสติอารมณ์ไปนั้น ก็ชะรอยจะเป็นวิบัติเหตุ เพราะที่มิได้ควรเป็นเจ้าของผู้ได้ครอบครองปฏิบัติบูชาพระพุทธรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ บารมีเจ้าตากสินทรงกำลังสิริของพระพุทธรัตนปฏิมากรมิได้ จึงเผอิญให้คลั่งไคล้เสียพระสติสัญญาผิดวิปลาสไปดังนี้” [23]

เรื่องคล้ายกันนี้ยังปรากฏในหนังสือประถมวงศ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นกัน โดยไม่ได้กล่าวว่า “บารมีไม่ถึง” แต่เป็นเพราะ “มีจิตรกำเริบเติบโต”

“ฝ่ายเจ้ากรุงธนบุรีตั้งแต่ได้พระพุทธปฏิมากรแก้วมณีพระองค์นี้มาถึงกรุงธนบุรีแล้ว ก็มีจิตรกำเริบเติบโตในอันใช่ที่ คือมีสัญญาวิประหลาดว่าตนมีบุญนักศักดิ์ใหญ่ เปนพระโพธิสัตว์ จะสำเรจพระพุทธภูมิ ได้ตรัสเปนพระชนะแก่มาร เปนองค์พระศรีอาริยเมตไตรยกัลปนี้ ก็คิดอย่างนั้นบ้างตรัสอย่างนี้บ้าง ทำไปต่างๆ บ้าง จนถึงพระเจ้าแผ่นดินเสียจริตทำการผิดๆ ไปให้แผ่นดินเปนจลาจล ร้อนรนทั่วไปทั้งไพร่แลผู้ดีสมณชีพราหมณ์ เปนความผิดใหญ่ยิ่งหลายอย่างหลายประการ” [24]

“พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” จะทรงวินิจฉัยตำนานพระแก้วมรกตตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่เห็นได้ชัดว่าพระองค์มิได้ทรงข้ามเรื่องฤทธานุภาพอัน “วิเศษ” ของพระแก้วมรกตไป โดยเฉพาะพุทธคุณทางด้านการเมืองที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระเจ้าตาก และกรุงธนบุรี

อย่างไรก็ดีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ตำนานพระแก้วมรกต ฉบับสำหรับอาลักษณ์อ่านฯ โดยทรงปฏิเสธตำนาน “เทวดาสร้าง” ไปแล้วในภาคต้น และทรงกล่าวในภาคต่อมาว่า “จะขอกล่าวข้อความเรื่องพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้แต่ที่ควรจะเชื่อได้” [25] หนึ่งในนั้นมีเรื่อง บารมี กรุงธนบุรีเสื่อม และ “สัญญาวิปลาส” ของพระเจ้าตากรวมอยู่ด้วย เรื่องนี้จะเป็นพระราชนิพนธ์เพื่อผลทางการเมืองหรือจะเป็นฤทธานุภาพที่เกิดขึ้นจริงตามคำบอกเล่าก็เกินจะรับรองได้

แม้ว่าเรื่องบารมีแห่งผู้ครอบครององค์พระแก้วมรกตจะปรากฏอยู่หลายครั้ง ทั้งที่อยู่ในตำนานและประวัติศาสตร์ ดูคล้ายจะเป็นเรื่องทางปาฏิหาริย์ขาดหลักขาดเกณฑ์ แต่โดยนัยทางศาสนาแล้ว ท่านผู้มีบุญญาธิการ “ถึง” ที่จะได้ครอบครองพระแก้วมรกต ย่อมหมายถึงผู้นำหรือพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจทางการเมืองสูง มีทศพิธราชธรรม สามารถปกครองแว่นแคว้นใหญ่น้อยได้อย่างเป็นสุข ซึ่งเปรียบได้กับคุณสมบัติของผู้ที่สามารถสืบทอดพระศาสนาไปได้อย่างมั่นคงยาวนาน ตรงตามเจตนาของการสร้างพระพุทธรูปนั่นเอง

พระแก้วมรกตกับสังคมวันนี้

พระพุทธรูปทั่วไป ย่อมถูกสร้างมาเพื่อให้คุณ เป็นสิ่งระลึกถึงพระศาสดาและพระธรรมคำสั่งสอน ผู้ประพฤติในธรรมก็จะได้อานิสงส์จากพุทธคุณไปโดยวิสัย ส่วนพุทธคุณในทาง “วิเศษ” นั้น ปุถุชนย่อมหวังให้มีให้เกิดขึ้นเป็นอามิสรางวัล เป็นธรรมดาของโลก จนบางครั้งอาจทำให้พระพุทธรูป “บัง” พระพุทธเจ้าจนสนิท

พระแก้วมรกตอาจมีฐานะต่างไปจากพระพุทธรูปองค์อื่น ตรงที่ได้การเคารพนบไหว้เป็น “ใจเมือง” และยิ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระปฐมบรมกษัตริย์ให้ความเคารพศรัทธาเหนือสิ่งอื่นใด ภาระหน้าที่ของพระแก้วมรกตจึงมากมายเลยขอบเขตทางพระพุทธศาสนา ไปจนถึงการ “รักษา” เมืองด้วยในบางโอกาส

เช่น บางครั้งพระแก้วมรกตก็ถูกอัญเชิญไป “ไล่ผี” ในพระราชพิธีอาพาธพินาศ พระราชพิธีนี้เมื่อคราวรัชกาลที่ 1 ไม่ปรากฏในหมายรับสั่งว่ามีการอัญเชิญพระแก้วมรกตไปในพระราชพิธี [26] จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากพระอุโบสถไป “รักษา” เมือง ในพระราชพิธีอาพาธพินาศ เพื่อแห่ประพรมน้ำทั้งทางบกทางน้ำ เพียงไม่กี่วัน “ความไข้ก็ระงับเสื่อมลงโดยเร็ว” [27]  แต่การอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากพระอุโบสถ ยุติไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยเกรงว่าจะได้รับความเสียหาย

ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากพระแก้วมรกตยากเกินจะพิสูจน์หรือปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบารมีของผู้ครอบครอง เรื่องอาถรรพ์พระแก้วพระบาง การกำราบไล่อริราชศัตรู หรือแม้แต่การไล่ผีในพระราชพิธีอาพาธพินาศ

แม้ว่าทุกวันนี้ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระแก้วมรกตจะถูกจัดให้มีความสำคัญระดับต้นใน “ไก๊ด์บุ๊ก”มากกว่าในทางพุทธคุณไปแล้วก็ตาม หรือบางครั้งบางโอกาสก็พึ่งพาพุทธคุณไปในทางเลอะเทอะบ้างก็ตาม เช่น เป็นสถานที่ “กล้าสาบาน” ของนักการเมือง เป็นที่เสกวัตถุมงคลที่ขลังที่สุดในประเทศ เป็นต้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความเชื่อแรงศรัทธาของผู้คนต่อพุทธคุณของพระแก้วมรกตยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะหากครั้งใดที่กรุงรัตนโกสินทร์ต้องเผชิญกับปัญหารุนแรงแล้ว “โบสถ์พระแก้ว” ก็จะกลายเป็นที่รวมศรัทธาของผู้คนอีกครั้ง เพื่อพึ่งปาฏิหาริย์พระแก้วมรกตในทางใดทางหนึ่ง

มาบัดนี้สภาพสังคมบ้านเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ในสภาพอาเพศและอาพาธเจ็บป่วยอย่างสาหัส อาจถึงเวลาต้องพึ่งพุทธคุณทาง “วิเศษ” จากพระแก้วมรกตอีกครั้งเพื่อ “รักษา” เมือง ในพระราชพิธีอาพาธพินาศกำจัด “ห่ากินเมือง” เสียทีน่าจะเป็นมงคลไม่น้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, พิมพ์เป็นที่ระลึกสมโภชหิรัญบัฏและฉลองอายุวัฒนมงคล 85 ปี พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร), กรุงเทพฯ, 2544, น. 52.

[2] ร.ต.ท. แสง มนวิทูร. รัตนพิมพวงศ์ ตำนานพระแก้วมรกต. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์, 2530, ไม่มีเลขหน้า.

[3] ปีที่พบพระแก้วมรกตในเมืองเชียงรายตามพงศาวดารคือพุทธศักราช 1979 กับปีที่แต่งห่างกันอยู่ 292 ปี

[4] ร.ต.ท. แสง มนวิทูร. เรื่องเดิม.

[5] แปลว่า แก้วที่เทวดาสกัดเอามา คือ แก้วของเทวดา แก้ววิเศษที่วิบุลบรรพต (Vipula) มี 3 อย่าง คือ แก้วมณีโชติ แก้วไพฑูรย์ แก้วมรกต

[6] ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ (2518, น. 125) กล่าวว่า มีขนาด 2 ศอก 3 นิ้ว มีขนาดเล็กกว่าที่กล่าวในรัตนพิมพวงศ์

[7] สีลา วีระวงส์. ประวัติศาสตร์ลาว. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2539), น. 147.

[8] ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี, “หมายรับสั่ง เรื่องโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกต”, คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพฯ, 2523.

[9] กรมหลวงนรินทรเทวี. พระราชวิจารณ์จดหมายความทรงจำฯ. (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2546), น. 64.

[10] ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี, อ้างแล้ว, น. 67.

[11] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ 4. (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2540), น. 148.

[12] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2539), น. 50.

[13] พระพิมลธรรม. สังคีติยวงศ์. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (กมลเถระ). กรุงเทพฯ, 2521, น. 430.

[14] เรื่องเดิม, น. 432.

[15] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชพิธีสิบสองเดือน.(พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร, 2503), น. 235.

[16] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 5, “พระราชกำหนดใหม่”, (พระนคร : คุรุสภา, 2506), น. 354.

[17] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชกรัณยานุสร. กรมศิลปากร, กรุงเทพฯ, 2541, น. 17.

[18] เรื่องเดียวกัน, น. 17.

[19] ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม 1, (กรุงเทพฯ : บรรณาคาร, 2515), น. 360.

[20] พระยาทัศดาจตุรงค์. ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์. พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสาวอรวรรณ     เลขะกุล. กรุงเทพฯ, 2513, น. 17.

[21] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “ตำนานพระแก้วมรกต สำหรับอาลักษณ์อ่านฯ,” ใน พระแก้วมรกต. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2546), น. 197.

[22] เรื่องเดียวกัน, น. 198.

[23] เรื่องเดียวกัน, น. 200.

[24] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมดิลก. กรุงเทพฯ, 2516, น. 32.

[25] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “ตำนานพระแก้วมรกต สำหรับอาลักษณ์อ่านฯ,” อ้างแล้ว, น. 197.

[26] ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม 1, อ้างแล้ว, น. 431.

[27] เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2. (พระนคร : คุรุสภา, 2504), น. 117.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2566