อัญเชิญ “พระแก้วมรกต” หนีสงครามไปประดิษฐานในถ้ำพร้อมสมบัติอีกอื้อ ?!?

ปากถ้ำฤๅษีสมบัติถูกดัดแปลงให้เหลือเพียงช่องประตูสี่เหลี่ยม ซึ่งภายในถ้ำเคยใช้ห้องคลังสมบัติในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อมาหน่วยงานในท้องถิ่นได้ปั้นรูปทหารมาไว้หน้าถ้ำเพื่อเป็นอนุสรณ์ต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของไทย ช่วงปี พ.ศ. 2485-2486 อันเป็นช่วงปลายเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้วางแผนจะย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพราะประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะคับขัน กรุงเทพมหานครถูกโจมตีจากการทิ้งระเบิดอย่างหนักจากฝ่ายสัมพันธมิตร และเห็นว่าจังหวัดเพชรบูรณ์มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เพราะมีชัยภูมิเหมาะสม มีภูเขาล้อมรอบ มีเส้นทางคมนาคมเข้าออกเพียงทางเดียว มีภูมิประเทศสวยงาม อากาศดี อยู่ตรงกลางของประเทศ เป็นศูนย์กลางภาคเหนือกับภาคอีสานและกรุงเทพมหานคร

โดยได้มีการย้ายส่วนราชการสำคัญต่างๆ มาที่เพชรบูรณ์ เช่น มีการสร้างอาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรมขึ้นที่บ้านห้วยลาน ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก สร้างอาคารที่ทำการกระทรวงมหาดไทย ที่บ้านบุ่งคล้า อำเภอหล่มสัก และมีการย้ายกระทรวงการคลังมาตั้งที่ถ้ำฤๅษี ตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก โดยได้ขนย้ายพระคลังสมบัติ ทรัพย์สินของชาติ ทรัพย์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาเก็บรักษาไว้ มีการก่อสร้างตึกที่ทำการกระทรวง ตลอดจนก่อสร้างปรับปรุงถ้ำเก็บทรัพย์สมบัติให้มั่นคงปลอดภัยด้วย แม้ว่าภายหลังจะมีการยกเลิกการจัดตั้งนครบาลเพชรบูรณ์ ปัจจุบันชาวบ้านยังคงเรียกกันว่า “ถ้ำฤๅษีสมบัติ”

บันไดทางขึ้นไปยังปากถ้ำฤๅษีสมบัติ จะเห็นว่ามีป้อมยามรักษาการณ์อยู่หน้าปากถ้ำทั้ง 2 ด้าน

กรณีการขนย้ายพระคลังสมบัติและของมีค่าคู่แผ่นดินมาเก็บรักษาไว้ที่ถ้ำฤๅษีสมบัติ แม้ว่าจะมีการส่งมอบสมบัติและเคลื่อนย้ายกลับลงไปยังกรุงเทพมหานครเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2489 ตามหนังสือแจ้งของ พันเอก หาญ อุดมสรยุทธ์ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2489 แต่ก็มีเสียงเล่าลือในหมู่ชาวบ้านละแวกนั้นว่า ยังมีสมบัติอีกส่วนหนึ่งถูกซ่อนไว้ไม่ได้ขนกลับไป หรือว่าทหารลืมขนสมบัติกลับไป และยังมีคนท้องถิ่นหลายคนเล่าว่าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ “พระแก้วมรกต” พระประธานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวังก็เคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเพื่อความปลอดภัยไว้ในถ้ำแห่งนี้ด้วย

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ “พระแก้วมรกต” พระประธานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง

ซึ่งต่อมาได้มีพระมหาเถระอาวุโสรูปหนึ่งท่านเล่าว่า ท่านเคยได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้มาอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับไปกรุงเทพมหานครด้วย และกลายเป็นประเด็นสำคัญในท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ในเวลาต่อมาที่ชาวเพชรบูรณ์ต่างเชื่อว่า “พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ที่ถ้ำฤๅษีสมบัติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2”

จากบทความเรื่อง “ย้อนอดีต…‘พระอุดมญาณโมลี’ อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2” ของ อาจารย์วีรยุทธ วงศ์อุ้ย แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เสียงเพชร ปีที่ 4 ฉบับที่ 38 และฉบับที่ 39 พ.ศ. 2552 ทำให้ทราบว่าเรื่องราวดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างหนาหูในหน่วยงานราชการและในท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์

ภายหลังจากที่ นายกองเอกวิลาศ  รุจิวัฒนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ (ในขณะนั้น) ได้กล่าวในคราวประชุมเสวนาทางด้านประวัติศาสตร์เมืองเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2551 ว่า “เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี มีพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งได้เคยเล่าให้ฟังว่า  สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พระเดชพระคุณรูปนั้นได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้มาอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร”

หลังจากการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว ทำให้หัวหน้าส่วนราชการ นักการเมือง นักปราชญ์ท้องถิ่น และนักวิชาการต่างให้ความสนใจกรณีดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับเรื่องเล่าที่ชาวบ้านในละแวกถ้ำฤๅษีสมบัติเล่าว่า เคยมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งนี้ ทำให้คณะผู้สนใจจากจังหวัดเพชรบูรณ์ อันประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เหล่ากาชาด หัวหน้าส่วนราชการ นักปราชญ์ท้องถิ่น และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ได้เดินทางไปสัมภาษณ์พระมหาเถระรูปนั้น เพื่อความแน่ใจและชัดเจนสำหรับข้อมูลดังกล่าวในวันที่ 5 เมษายน 2552

พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี

พระผู้ใหญ่หรือพระมหาเถระที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์กล่าวถึงนี้คือ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) ขณะที่สัมภาษณ์ท่านนั้น ท่านมีอายุ 98 ปี พระอุดมญาณโมลีมีนามเดิมว่า จันทร์ศรี แสนมงคล เกิดเมื่อวันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2454 จังหวัดขอนแก่น บรรพชาเมื่ออายุ 14 ปี และอุปสมบทในปี พ.ศ. 2474 ที่วัดศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น ได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยคในปี พ.ศ. 2485 ต่อมาได้มีโอกาสออกธุดงค์กรรมฐานกับหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และยังเคยมีโอกาสได้อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อย่างใกล้ชิดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เมื่อคณะของผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ไปกราบเรียนสัมภาษณ์พระอุดมญาณโมลี เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ท่านได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้มาอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร ท่านได้เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าที่อิ่มเอิบ หัวเราะร่าเริง พูดคุยได้อย่างฉะฉานคล่องแคล่ว และที่สำคัญคือความจำที่เป็นเลิศ สามารถสนทนาเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งปีพุทธศักราชได้อย่างแม่นยำถูกต้อง โดยท่านได้เล่าให้ฟังว่า

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระบัญชาให้หลวงพ่อซึ่งในขณะนั้นสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปกับลูกศิษย์คนหนึ่งและหม่อมเจ้าหรือหม่อมราชวงศ์? จากสำนักพระราชวังคนหนึ่ง ซึ่งจำไม่ได้เพราะทุกคนเสียชีวิตหมดแล้ว เดินทางโดยรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จังหวัดพิจิตร แล้วนั่งรถยนต์ ซึ่งขณะนั้นใช้ฟืนถ่านต้มหม้อน้ำให้เดือด แล้วไอน้ำดันเครื่องยนต์ทำงานขับเคลื่อนล้อรถ เดินทางไปถึงเพชรบูรณ์หนทางลำบากมาก

หลังจากที่ท่านเดินทางมาถึงเพชรบูรณ์แล้ว ก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากถ้ำ พร้อมด้วยทรัพย์สินของมีค่าต่างๆ ขึ้นรถบรรทุกที่มีทหารคอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด พระอุดมญาณโมลีเล่าต่อไปว่า

การอัญเชิญพระแก้วมรกตในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่นๆ อันมีค่าของชาติ โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหาร มีทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้ายๆ ทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ 7 วัน

ข้อมูลจากคำบอกเล่าที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์จริงในชีวิตของพระอุดมญาณโมลี ทำให้ นายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ (ในขณะนั้น) ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ นักการเมืองท้องถิ่น นักปราชญ์ท้องถิ่น นักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการและชาวเพชรบูรณ์ต่างก็เชื่อว่า พระแก้วมรกตเคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ถ้ำฤๅษีสมบัติจริงๆ กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวเพชรบูรณ์และมีความพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ชุดข้อมูลดังกล่าวให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันก็มีการประชาสัมพันธ์ถ้ำฤๅษีสมบัติให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดด้วย

ปัจจุบันถ้ำฤๅษีสมบัติแม้ว่าจะอยู่บนเขาก็ได้รับการพัฒนาเส้นทางเข้าถึงอย่างสะดวก มีบันไดขึ้นไปจนถึงปากถ้ำ ปากถ้ำทำเป็นประตูทางเข้าแบบไม่มีบานเปิด สูงประมาณ 2 เมตร กว้างประมาณ 1.5 เมตร  ภายในถ้ำเป็นอุโมงค์ มีการปรับปรุงพื้นโดยลาดเป็นพื้นซีเมนต์ และเป็นห้องโถงปรับเป็น 2 ชั้น โดยพื้นที่ระดับที่ 1 มีขนาด 5 x 15 เมตร และพื้นที่ระดับที่ 2 ลาดต่ำลงไปประมาณ 80 เมตร ลักษณะเป็นลานกว้างประมาณ 5 x 20 เมตร นอกจากนี้ ยังมีช่องอุโมงค์ที่ลาดลึกเข้าไปข้างใน สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นพื้นที่ที่ใช้เก็บของมีค่า

ส่วนด้านนอกเหนือปากถ้ำ มีการก่อผนังด้วยหินภูเขาและปูนสูงประมาณ 4 เมตร ขนาดประมาณ 10 x 10 เมตร ลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม หลังคาคอนกรีตลาดด้วยปูนซีเมนต์เป็นลานกว้าง แต่หลังคาได้ยุบพังลงมา ตามผนังโดยรอบจะมีท่อดินเผาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ฝังไว้เพื่อระบายน้ำ มีเสาทรงสี่เหลี่ยมปลายเรียวที่ก่อด้วยหินภูเขาและปูนประมาณ 4 ต้น ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารกองบัญชาการทหารที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับคลังสมบัติ นอกจากนี้ ด้านข้างปากถ้ำทั้ง 2 ด้าน ยังมีป้อมยามรักษาการณ์ที่ก่อด้วยหินภูเขาเป็นรูปซุ้ม ด้านหลังโค้งไม่มีหลังคา ผนังทั้ง 2 ด้านเจาะช่องสี่เหลี่ยม ด้านหน้าเปิด ด้านข้างเจาะเป็นช่องรูปไข่ ด้านละ 2 ช่องอีกด้วย

ลักษณะของอาคารเหนือปากถ้ำฤๅษีสมบัติที่ก่อด้วยหินภูเขา ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอาคารกองบัญชาการทหารที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับคลังสมบัติ

จากข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอมาข้างต้นเกี่ยวกับการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่ถ้ำฤๅษีสมบัติ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในช่วงที่มีการคิดจะตั้งนครบาลเพชรบูรณ์ขึ้นในคราวเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นข้อมูลที่ทางท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ได้พยายามสืบค้นร่องรอยหลักฐาน พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือให้ได้มากที่สุด จนได้มีโอกาสรับฟังข้อมูลจากพระอุดมญาณโมลี เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี พระมหาเถระสายวิปัสสนากรรมฐานหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งมีอายุและพรรษากาลมากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งท่านเล่าว่าท่านอยู่ในเหตุการณ์พิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานครจริง โดยได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้มาเป็นสักขีพยานในการอัญเชิญ

ด้วยท่านเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ มีอายุพรรษากาลมาก เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั้งปวง จึงทำให้ชาวเพชรบูรณ์ต่างเชื่อมั่นในข้อมูลหลักฐานที่มีว่า พระแก้วมรกตในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานเพื่อความปลอดภัย ณ จังหวัดเพชรบูรณ์จริงๆ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการพบหลักฐานที่เป็นหนังสือราชการหรือที่เป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันก็ตาม

เรื่องราวที่ระบุว่าพระแก้วมรกตเคยถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ถ้ำฤๅษีสมบัตินั้น จึงเป็นกรณีข้อมูลในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ชาติ อาจจะเป็นเพราะการปิดข่าวเพื่อความปลอดภัยขององค์พระแก้วมรกตและทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินจึงทำให้ไม่มีการรับรู้อย่างกว้างขวาง หรือเพราะว่าไม่ได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาก็ไม่อาจทราบได้ ประเด็นเหล่านี้ยังมีความจำเป็นที่ท่านผู้รู้และผู้สนใจทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองทั้งหลายควรจะได้ช่วยกันหาคำตอบ เพื่อจะได้คลี่คลายปมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ของชาติในเรื่องพระแก้วมรกตให้มีความกระจ่างชัดสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป

 


เอกสารประกอบการเขียน

นฤมล กางเกตุ. “ท้องพระคลัง ‘ถ้ำสมบัติ’ แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบูรณ์,” ใน วารสารศิลปวัฒนธรรมเพชบุระ. ปีที่ 4 ฉบับที่ 7 (ตุลาคม 2556-มีนาคม 2557), น. 29-32.

พรเลิศ พันธุ์วัฒนา. โครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบูรณ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2521.

วีรยุทธ วงศ์อุ้ย. “ย้อนอดีต…‘พระอุดมญาณโมลี’ อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตอนที่ 1),” ใน หนังสือพิมพ์เสียงเพชร. ปีที่ 4 ฉบับที่ 38 (สิงหาคม 2552), น. 14.

______. “ย้อนอดีต…‘พระอุดมญาณโมลี’ อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯ สมัย

สงครามโลกครั้งที่ 2 (ตอนที่ 2-จบ),” ใน หนังสือพิมพ์เสียงเพชร. ปีที่ 4 ฉบับที่ 39 (พฤศจิกายน 2552), น. 18.


หมายเหตุ: บทความเดิมในนิตยสารใช้ชื่อ “พระแก้วมรกต เคยถูกอัญเชิญไปประดิษฐานในถ้ำฤาษีสมบัติที่จังหวัดเพชรบูรณ์ (?)” โดย ธีระวัฒน์ แสนคำ เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2558


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2561