ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ |
เผยแพร่ |
เมื่อมีการสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระแก้วมรกตได้รับการประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง ทิศทางของพระอุโบสถหันหน้าตรงกับประตูผี (ข้างวัดสระเกศ ภูเขาทอง) การวางทิศทางเช่นนี้เหมือนกับว่าเป็นการวางผังเมืองที่กำหนดหน้าที่ให้แก่พระแก้วมรกต ในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยคุ้มครอง ปกปักรักษากรุงเทพมหานครให้พ้นจากความชั่วร้ายมิให้กล้ำกรายเข้าเมืองมา
ในที่นี้จึงเป็นบทความเพื่อสร้างคำอธิบาย โดยการเชื่อมโยงแนวคิดและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ เพื่อสร้างความสมเหตุสมผลของคำอธิบายเกี่ยวกับประตูผี และเพื่อชี้ให้เห็นหน้าที่ของพระแก้วมรกตที่ปกปักรักษากรุงเทพมหานครมิให้ความชั่วร้ายกล้ำกรายเข้ามา
ประตูเมืองกับสิ่งป้องกันเมืองที่ช่องประตู
โดยทั่วไปเมื่อมีการสร้างเมืองมีกำแพงล้อมรอบ จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม หรือบิดเบือนไปตามสภาพภูมิประเทศก็ตาม จำเป็นที่จะต้องมีช่องทางเข้าออก เรียกว่าประตูเมือง ซึ่งประตูเมืองนี้หากเป็นกำแพงเมืองก่ออิฐมั่นคง ก็จะมีบานประตูเปิด-ปิดได้ สำหรับป้องกันข้าศึกศัตรู หากเป็นกำแพงดินก็อาจมีการสร้างสิ่งกีดขวางเป็นขวากหนาม หรือสิ่งกีดขวางที่เคลื่อนย้ายเปิด-ปิดได้
บานประตูเป็นสิ่งควบคุมการเข้าออกเมืองของสิ่งมีชีวิต แต่ความชั่วร้ายอัปมงคลต่างๆ หรือสิ่งอื่นใดอันมีสภาวะเป็นนามธรรม ก็ต้องมีสิ่งป้องกันไว้ด้วย คือการลงเลขยันต์คาถาอาคมไว้ที่ช่องประตูเมือง เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกช่องประตูเมืองจึงมีเครื่องควบคุมการเข้าออกของสิ่งที่เป็นรูปธรรม และเครื่องป้องกันเมืองจากสิ่งที่มีสภาวะเป็นนามธรรม
เอกสารในลักษณะพงศาวดารของล้านนา คือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับต่างๆ เล่าเรื่องสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์เชียงใหม่เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ในปลายรัชกาลพระองค์เสด็จไปประทับอยู่ที่พระตำหนักนอกเมืองเชียงใหม่ด้านทิศเหนือ ทรงประชวรและสวรรคตนอกเมือง ขุนนางในราชสำนักร่วมกันที่จะยกเจ้าแสนเมืองมา ผู้เป็นโอรส จะให้ครองราชสมบัติต่อไป
เจ้ามหาพรหมแห่งเมืองเชียงราย ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้ากือนา ได้ยกพลมาหวังชิงเมืองเชียงใหม่ โดยทำทีจะมาขอคารวะพระศพ แต่แสนผานองหัวหน้าขุนนางทั้งหลายรู้ทัน จึงช่วยกันป้องกันมิให้เจ้ามหาพรหมเข้าเมืองเชียงใหม่ได้ เจ้ามหาพรหมจึงยกทัพลงไปพึ่งกรุงศรีอยุธยา ขอกำลังขึ้นมาช่วยตีเมืองเชียงใหม่ (ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ขุนหลวงพ่องั่ว พ.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๓๑)
ฝ่ายทางเมืองเชียงใหม่ยังไม่ทันจัดการฌาปนกิจพระศพพระเจ้ากือนา ก็มีศึกจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาติดพันเสียแล้ว จึงคิดที่จะนำพระศพพระเจ้ากือนาเข้ามารักษาไว้ในเมืองก่อน เมื่อเสร็จศึกแล้วจึงจะประกอบพิธีกรรมพระศพในภายหลัง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ปริวรรต, ๒๕๔๒) เล่าว่า
…เราควรเอาคาบเจ้าเหนือหัวไว้ในเวียงดีชะแล เท่าจักเอาเข้าทางประตูเวียงบ่ควรเยียวมันแสลงภายหลังว่าอั้น เขาจึงพร้อมกันบ่องข้างเวียงทัดวัดพราหมณ์เอาคาบเจ้ากือนาใส่โกศคำ แปลงขัวข้ามคือเวียงเอาเข้าไปไว้เชียงขวาง…
ข้อความข้างต้นแสดงว่า พวกขุนนางไม่เอาพระศพพระเจ้ากือนาเข้าทางประตูเมือง ด้วยเห็นว่าจะเป็นการผิดจารีต จึงเจาะกำแพงด้านทิศเหนือตรงกับตำหนักที่พระเจ้ากือนาสวรรคตทำสะพานข้ามคูเมือง นำพระศพเข้าทางกำแพงที่ถูกเจาะช่องไว้นั้น
ความแตกต่างระหว่างประตูเมืองกับประตูผี
อาจมีคำอธิบายอื่นๆ ในลักษณะตำนานเกี่ยวกับจารีตที่ห้ามนำศพเข้าทางประตูเมือง แต่ในที่นี้จะขอเสนอคำอธิบายตามหลักเหตุผลว่า ดังได้กล่าวแล้วถึงช่องประตูเมือง ย่อมมีการลงคาถาอาคมไว้ด้วย เท่ากับเป็นบานประตูที่ปิดตาย สำหรับสภาวะที่เป็นนามธรรม มิให้เข้ามาสู่ตัวเมือง
เมื่อเป็นเช่นนี้หากจะนำพระศพของพระเจ้ากือนาเข้าเมืองเชียงใหม่ทางประตูด้านทิศเหนือที่มีอยู่ คือประตูช้างเผือก พระศพซึ่งเป็นรูปธรรมก็สามารถนำเข้าเมืองได้ แต่เนื่องจากพระศพยังมิได้รับการประกอบพิธีกรรม สภาวะที่เป็นนามธรรมที่มีอยู่กับพระศพ คืออาจจะเป็นอย่างที่เรียกว่าวิญญาณ หรือเป็นอย่างที่เรียกว่าขวัญ หรือความเป็นผี ตามแต่ที่จะเป็นคติความเชื่อกัน สภาวะเช่นนี้ย่อมไม่อาจที่จะเข้าเมืองทางประตูเมืองที่มีการลงคาถาอาคมได้ จำเป็นที่จะต้องเจาะช่องที่กำแพงเมือง จึงจะสามารถนำพระศพซึ่งประกอบด้วยสภาวะทั้งสองประการ เข้ามาเก็บรักษาไว้ในเมืองได้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอเวลาประกอบพิธีกรรมต่อไป
ด้วยเหตุนี้จึงพบว่า ตามเมืองสมัยโบราณมักจะมีประตูผี อยู่ด้วยเสมอ ตามความเข้าใจโดยทั่วไป เป็นประตูสำหรับนำศพคนตายที่ตายในเมือง เพื่อนำออกไปประกอบพิธีกรรมนอกเมือง ดังนั้นประตูผีจึงต้องมีคุณสมบัติพิเศษต่างไปจากประตูเมืองทั่วไป คือต้องไม่มีการลงคาถาอาคมเลขยันต์อะไรที่ประตูนี้ ศพที่ยังไม่ประกอบพิธีกรรมจึงจะสามารถออกจากเมืองไปได้ทั้งสองสภาวะ
หลักฐานคำอธิบายเรื่องประตูผีอยู่ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่
แต่ปัญหาเกี่ยวกับประตูผีก็ยังคงมีต่อไป เพราะประตูผีมีความปลอดโปร่งที่จะอนุญาตให้นำศพ ที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมออกไปได้ ประตูผีอย่างเดียวจึงไม่มีเครื่องป้องกัน มิให้ความชั่วร้ายหรือความอัปมงคลที่จะเข้ามาสู่ในเมืองได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับพิทักษ์รักษามิให้ความไม่ดีดังกล่าวเข้ามาในเมืองโดยทางประตูผี
เมืองเชียงใหม่อีกเช่นกันที่มีความชัดเจนที่สามารถนำมาอธิบายในเรื่องนี้ได้ กล่าวคือที่กำแพงด้านทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ มีช่องประตูสำคัญสองประตู ประตูหนึ่งอยู่ตรงกลางคือประตูเชียงใหม่ อีกประตูหนึ่งอยู่ถัดไปทางทิศตะวันตกคือประตูสวนปรุง สำหรับประตูสวนปรุงนี้เป็นที่รับรู้กันของชาวเชียงใหม่มาถึงปัจจุบัน ว่าแต่เดิมเมื่อมีคนตายภายในตัวเมือง จะนำศพออกทางประตูสวนปรุง เพื่อนำไปประกอบพิธีกรรมนอกเมืองที่สุสานไหยา ดังนั้นประตูสวนปรุงคือประตูผีของเมืองเชียงใหม่นั่นเอง
เมื่อลากเส้นตรงจากประตูสวนปรุงเข้าไปในเมืองทางทิศเหนือจะผ่านวัดพระสิงห์ ภายในวัดพระสิงห์ประมาณตรงกับประตูสวนปรุง ปัจจุบันจะเป็นที่ตั้งของพระอุโบสถที่มีมาแต่เดิม พระอุโบสถหลังนี้หันทิศทางอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ มีประตูเข้าออกพระอุโบสถทั้งด้านทิศเหนือและใต้ ต่างจากสิ่งก่อสร้างโบราณอื่นๆ ภายในวัดพระสิงห์ และต่างจากศาสนสถานทั้งหลายภายในเมืองเชียงใหม่ ที่จะตั้งอยู่ในแกนตะวันออก-ตะวันตก โดยมีทิศตะวันออกเป็นทิศด้านหน้า
พระอุโบสถวัดพระสิงห์ที่อยู่ในแกนเหนือ-ใต้นี้ ภายในพระอุโบสถตำแหน่งเกือบกึ่งกลาง โดยค่อนมาทางทิศเหนือ เป็นที่ตั้งปราสาทประดิษฐานพระประธานของพระอุโบสถ กล่าวคือ พื้นที่ฟากทิศเหนือจะแคบกว่าพื้นที่ฟากทิศใต้ แต่การใช้ประโยชน์สำหรับเป็นที่ทำสังฆกรรม ปัจจุบันใช้ฟากทิศเหนือซึ่งเป็นพื้นที่แคบกว่า และเนื่องจากมีการใช้พื้นที่ทำสังฆกรรมอยู่ทางฟากทิศเหนือนี้ จึงถือเอาประตูด้านทิศเหนือเป็นทางเข้า-ออกหลักของพระอุโบสถ และเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าทิศเหนือเป็นด้านหน้าของพระอุโบสถ
ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงของแผนผังอาคาร ภายในพระอุโบสถฟากทิศใต้จากประตูโบสถ์ (ทิศใต้) มายังปราสาทประดิษฐานพระประธานนั้น มีระยะไกลกว่าจากปราสาทมายังประตูโบสถ์ด้านทิศเหนือ พื้นที่ฟากทิศใต้จึงมีมากกว่า ดังนั้นเมื่อแรกเริ่มสร้างพระอุโบสถหลังนี้จึงสามารถเห็นเจตนาการก่อสร้างได้ว่าต้องการให้ด้านหน้าของพระอุโบสถเป็นด้านทิศใต้ ส่วนประตูพระอุโบสถด้านทิศเหนือเป็นประตูหลัง
มีหลักฐานสำคัญกล่าวอยู่ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ว่า เมื่อนำพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงรายมายังเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา โอรสของพระเจ้ากือนา ได้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่ซุ้มพระสถูปด้านทิศใต้ สถูปแห่งนี้อยู่ในวัดพระสิงค์ ดังที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับต่างๆ กล่าวว่า เมื่อนำพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดลีเชียงพระ ภายหลังคนทั้งหลายจึงเรียกวัดลีเชียงพระว่า วัดพระสิงห์มาตราบเท่าทุกวันนี้ วัดพระสิงห์จึงเป็นวัดสำนักสงฆ์จากลังกาและเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่
หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาความพิสดารฉบับต่างๆ กล่าวเรื่องราวในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยกย่องพระบารมีของพระองค์ให้ปรากฏอย่างหนึ่งว่า ครั้งนั้นพระพุทธสิหิงค์ที่เมืองเชียงใหม่หันหน้ามาทางกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจากข้อความเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตอนนี้เป็นหลักฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า โดยความรับรู้ของคนภาคกลาง พระพุทธสิหิงค์ที่วัดพระสิงห์เมืองเชียงใหม่นั้น ประดิษฐานให้หันหน้ามาทางทิศใต้ (อยุธยาอยู่ทางทิศใต้ของเชียงใหม่)
อาจกล่าวได้ว่าเมื่อพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่นั้น หันหน้ามาทางทิศใต้โดยตลอด เมื่อเริ่มแรกสถานที่ประดิษฐานอยู่ในลักษณะพระสถูป ต่อมาภายหลังก็กลับปรากฏพระอุโบสถที่หันหน้ามาทางทิศใต้ ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเมื่อได้มีการเปลี่ยนสิ่งก่อสร้างจากพระสถูปมาเป็นพระอุโบสถ ได้มีการสร้างพระอุโบสถให้หันหน้ามาทางทิศใต้ เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระประธานในพระอุโบสถ ให้หันหน้ามาทางทิศใต้เหมือนกับที่เคยเป็นมาแต่แรกเริ่ม
การที่พระพุทธสิหิงค์ตั้งเป็นประธานอยู่ในพระอุโบสถที่หันหน้ามาทางทิศใต้ จึงตรงกับประตูสวนปรุงอันเป็นประตูผี พระพุทธสิหิงค์จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยเฝ้าระวังมิให้ความชั่วร้าย อัปมงคลต่างๆ เข้ามาสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ก็มิได้กีดขวางหากจะมีการนำศพรวมทั้งความเป็นผีออกนอกเมืองทางประตูช่องนี้
องค์ประกอบสำคัญของประตูผี
ด้วยเหตุนี้ประตูผีของเมืองต่างๆ จึงต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยระวังรักษา โดยประดิษฐานอยู่ภายในเมืองให้หันหน้าตรงกับประตูผี ส่วนประตูผีจะอยู่ทิศใดของเมืองนั้นคงไม่มีข้อกำหนดตายตัว สุดแล้วแต่ที่ตั้งในการประกอบพิธีกรรม (สุสาน) ว่าจะอยู่นอกเมืองทางทิศใด ดังเช่นเมืองเก่าสุโขทัย แม้จะมีศิลาจารึกกล่าวว่ามีสี่ปากประตูหลวง แต่ก็เป็นไปได้ที่ศิลาจารึกจะไม่กล่าวถึงประตูที่ห้าซึ่งเป็นประตูผี ประตูนี้อยู่ที่กำแพงด้านทิศตะวันออก อยู่ถัดจากประตูเมืองของกำแพงด้านทิศนี้ไปทางทิศเหนือ
สุสานในการประกอบพิธีกรรมนอกเมืองสุโขทัยก็ควรอยู่บริเวณที่เป็นวัดช้างล้อม ประตูผีของเมืองสุโขทัยช่องนี้ปัจจุบันอาจเข้าใจกันว่าเป็นช่องที่เกิดภายหลังเมื่อมีความต้องการทางเข้าออกใหม่ของคนรุ่นปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาตำแหน่งที่อยู่ตรงกันกับศาลตาผาแดง ที่ตั้งอยู่ภายในเมือง ซึ่งมีบันทึกรุ่นเก่าเล่าว่าชาวบ้านเมืองเก่าสุโขทัยถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มาตั้งแต่สมัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชได้เสด็จมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ เรื่อยมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ ตลอดจนข้างช่องประตูภายในตัวเมือง ปรากฏฐานของโบราณสถานเหมือนเป็นศาลาที่ควรจะมีอยู่ข้างๆ ประตูด้วย ก็ทำให้แน่ใจว่าประตูที่ห้านี้คือประตูผีของเมืองสุโขทัยนั่นเอง
แผนผังเมืองเก่าสุโขทัย ที่มีประตูผีอยู่ด้านทิศตะวันออกของเมือง และอยู่ตรงกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในเมืองคือศาลตาผาแดง ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อประมาณครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อมีการสร้างวัดสรศักดิ์กับตระพังหรือสระน้ำขนาดใหญ่ ขวางกลางระหว่างประตูผีกับศาลตาผาแดง
เปรียบเทียบผังเมืองสุโขทัยกับเมืองนครธม กัมพูชา
เมืองสุโขทัยแม้จะมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับขนาดของเมืองพระนครหลวง (นครธม) ของกัมพูชา แต่ก็ได้แสดงรูปแบบของการวางผังหลักที่มาจากความคิดเดียวกัน กล่าวคือ เมืองทั้งคู่มีแผนผังเป็นกำแพงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส มีประตูเมืองใหญ่ด้านละหนึ่งประตู ที่เมื่อลากเส้นจากประตูด้านตรงข้ามมาตัดกันที่กลางเมือง จะเป็นที่ตั้งของศาสนสถานประธานของเมือง คือวัดมหาธาตุของเมืองสุโขทัย และปราสาทบายนของเมืองพระนครหลวง
ทั้งสองเมืองจะมีประตูที่ห้าที่กำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก อยู่ถัดจากประตูใหญ่ด้านนี้ไปทางทิศเหนือเหมือนกัน ประตูที่ห้านี้จะอยู่ในแนวเดียวกันกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในเมือง ที่หันหน้าตรงกับประตูคือ ของเมืองสุโขทัยคือศาลตาผาแดง ขณะที่ของเมืองพระนครหลวงคือปราสาทพิมานอากาศ สำหรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทพิมานอากาศนั้นปรากฏเป็นเรื่องเล่าในลักษณะตำนาน อันเป็นการจดบันทึกของชาวจีนชื่อโจวต้ากวาน ผู้มาเยือนเมืองพระนครหลวงเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ว่า คนพื้นเมืองเชื่อว่าเป็นที่สถิตของนางนาคเก้าเศียร ซึ่งเป็นพระภูมิเจ้าที่ทั่วทั้งประเทศ
มีความคิดเหมือนกันอย่างหนึ่งระหว่างผังเมืองพระนครหลวงกับเมืองสุโขทัย แต่ไม่เกี่ยวกับประตูผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เฝ้าระวังประตูดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ในที่นี้ใคร่กล่าวถึงด้วยคือ โจวต้ากวานได้บรรยายภาพเมืองพระนครหลวงเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ว่า จากปราสาทบายนไปยังประตูใหญ่ด้านทิศเหนือ โดยเฉพาะตอนที่ผ่านหน้าปราสาทพิมานอากาศและพระราชวังหลวง เป็นท้องสนามยาวซึ่งจะมีการจัดงานรื่นเริงในเทศกาลสำคัญ สำหรับเมืองสุโขทัยด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุ ไปยังประตูศาลหลวง อันเป็นประตูด้านทิศเหนือ ผ่านหน้าศาลตาผาแดงและตำหนักที่ประทับของเจ้านายสุโขทัยนั้น ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์กล่าวว่าเป็นสนามด้วย แต่หากเป็นหัวสนามเก่า
เรื่องนี้แสดงว่าประมาณช่วงเวลาที่ทำศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ คือในรัชกาลสมเด็จเจ้าสามพระยาเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๙๑ นั้น ผังเมืองสุโขทัยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว คือยกเลิกท้องสนามเก่าอย่างหนึ่ง กับประตูผีที่ย้ายไปอยู่ที่อื่น ดังเห็นได้จากมีการสร้างวัดสรศักดิ์กับขุดสระน้ำขนาดใหญ่ มาขวางช่องประตูผีกับศาลตาผาแดง
พระแก้วมรกต กับประตูผี
เท่าที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการประมวลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่ออธิบายให้เห็นแนวคิดเกี่ยวกับประตูผีอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในที่นี้ได้ชี้ว่าประตูผีจะต้องมีองค์ประกอบร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ภายในตัวเมือง โดยมีทิศทางหันหน้าตรงไปยังช่องประตู ซึ่งให้ความหมายเกี่ยวกับความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมืองภายใต้การปกป้องคุ้มครองของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น
จากแนวคิดดังได้อธิบายมานี้จะเห็นว่ามีความเหมือนกันกับเมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเมื่อเริ่มแรกนั้นประกอบด้วยกำแพงและคูเมืองสองชั้น คูเมืองชั้นในเริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงที่ปัจจุบันเป็นสะพานพระปิ่นเกล้า อ้อมสนามหลวง พระบรมมหาราชวัง วัดพระเชตุพน ฯลฯ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งที่ปากคลองตลาด คูเมืองชั้นนอกคือคลองบางลำพู ปลายคลองข้างหนึ่งไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาแถวบริเวณหัวถนนจักรวรรดิ มีวัดสระเกศอยู่ริมคูเมืองชั้นนอกฝั่งนอกเมือง เป็นสุสานในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับศพสำหรับพระนคร โดยมีประตูผีและสะพานข้ามคูเมืองชั้นนอกไปยังวัด
ภายในเมืองตรงกับประตูผีคือพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประดิษฐานพระแก้วมรกตหันหน้าตรงไปยังประตูผีมาแต่เริ่มต้น มิให้ความชั่วร้ายอัปมงคลเข้ามาสู่พระนครโดยทางประตูผี
อนึ่งในหน้าคำนำของกรมศิลปากร ในหนังสือตำนานพระแก้วมรกตฉบับสมบูรณ์ ของสำนักพิมพ์บรรณาคาร (๒๕๐๔) กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการสถาปนาพระแก้วมรกตในพระอุโบสถโดยไม่ให้มีการเคลื่อนย้าย ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น แต่เดิมมีพระราชพิธีใหญ่ๆ เช่นพระราชพิธีตรุษ ก็จะอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ มณฑลพิธี โดยเฉพาะเมื่อมีคนล้มตายอย่างมากเมื่อคราวอหิวาตกโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ ๒ นั้น ได้จัดให้มีพระราชพิธีอาพาธพินาศ โดยอัญเชิญพระแก้วมรกตออกแห่ด้วย เรื่องเหล่านี้ได้แสดงหน้าที่ของพระแก้วมรกตอย่างชัดเจน เกี่ยวกับการอยู่ดีมีสุขของบ้านเมืองเมื่อเริ่มแรกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
แต่ภายหลังต่อมาน่าจะเป็นสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้เกิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเฝ้าระวังประตูผี ได้เปลี่ยนไปจากพระแก้วมรกต จึงปรากฏปูชนียสถานอื่นมาตั้งขวางพระแก้วมรกตกับประตูผี รวมทั้งการวางแนวถนนสายใหม่ๆ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายเส้น บางเส้นมีการตัดขวาง และบางเส้นก็มีขนาดใหญ่ (ถนนราชดำเนิน) ซึ่งมีแนวเบี่ยงเบนไปจากเส้นแนวระหว่างพระแก้วมรกตไปยังประตูผี คนรุ่นหลังจึงไม่อาจสังเกตเห็นความหมายของแนวเส้นแกนหลักดั้งเดิมเส้นนี้ของกรุงรัตนโกสินทร์ได้
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เป็นบทความโดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2546 เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 กันยายน พ.ศ. 2560