ผู้เขียน | เสมียนอัคนี |
---|---|
เผยแพร่ |
1 ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ “ศาลเจ้าตาก” พระราชวังเดิม ตั้งอยู่ภายใน “พระราชวังกรุงธนบุรี” หรือ “พระราชวังเดิม” ศาลเจ้าตากนี้ สันนิษฐานว่าคงมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เดิมคงเป็นเพียงศาลพระภูมิประจำพระราชวัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังเดิมได้ทรงก่อสร้างซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ขึ้นในบริเวณพระราชวังเดิม ซึ่งคงจะต้องมี “ศาลเจ้าตาก” อยู่ด้วย เพราะพระองค์เสด็จประทับที่พระราชวังเดิมเป็นเวลานานถึง 27 ปี และพระองค์ทรงทราบดีว่าพระราชวังเดิมนี้คือที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม ระหว่างปี พ.ศ. 2424-43 ศาลเจ้าตากมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงทรงสร้างศาลขึ้นใหม่แทนศาลหลังเก่า และจากสำเนาพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ 5 ถึงพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ก็ปรากฏความเรียกว่า “ศาลเจ้าตาก” แล้วฉะนั้นศาลเจ้าตากคงจะมีมาก่อนรัชกาลที่ 5 แน่นอน
ภายในศาลเจ้าตากประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินประทับยืนทรงพระแสดงดาบ ขนาดเท่าองค์จริง 1 องค์ พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินประทับนั่ง 1 องค์ เทวรูปจีนแกะสลักด้วยไม้ปิดทองอีก 1 องค์ และซุ้มไม้จำหลักลวดลายแบบจีน
ปัจจุบันศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชวังเดิม อยู่ภายในพื้นที่การดูแลของกองบัญชาการกองทัพเรือ การเข้าไปกราบไหว้ต้องติดต่อขออนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่ทหารเรือก่อนการเข้าไปภายในพื้นที่
2 ศาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายในโบสถ์น้อย วัดอรุณราชวราราม วัดโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดมาหลายต่อหลายครั้ง เดิมทีนั้นวัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดมะกอก” และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดแจ้ง” อันเนื่องมาจากความเชื่อว่า “เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้งที่กรุงธนบุรี ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้งพอดี จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง”
ส่วน “โบสถ์น้อย” หน้าพระปรางค์ของวัดอรุณราชวราราม เป็นโบสถ์เก่าสันนิษฐานว่าเป็นโบสถ์หลังแรกของวัดแห่งนี้เมื่อครั้งอดีต ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานนาม “หลวงพ่อรุ่งมงคล” นอกจากนี้ภายในโบสถ์น้อยยังเป็นที่ตั้งของ “ศาลพระเจ้ากรุงธนบุรี” หรือ “ศาลสถิตดวงพระวิญญาณของพระองค์” จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลภายในโบสถ์น้อย ระบุว่าศาลนี้สร้างมาเป็นร้อยกว่าปี และยังประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน 2 องค์ ให้ผู้ที่มาเยือนได้กราบไหว้ขอพร
ตรงข้ามของพระบรมรูปหล่อเป็นที่ตั้งของ “พระแท่น” ทำด้วยไม้กระดานแผ่นเดียวขนาดใหญ่ กล่าวกันว่าเป็นพระแท่นสำหรับทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลบอกว่า “หากใครได้ลอดใต้พระแท่นของพระองค์ท่านแล้ว ถือเป็นการล้างอาถรรพ์หนุนดวงเสริมบารมี” ซึ่งหากใครต้องการจะลอดก็สามารถทำได้ แต่ต้องทำกระทำด้วยความสำรวม
การมากราบไหว้ขอพรสมเด็จพระเจ้าตากสินใน “โบสถ์น้อย” เจ้าหน้าที่บอกขั้นตอนว่า ต้องจุดธูปเทียนบูชาด้านนอกหน้าโบสถ์ นำดอกบัวไปกราบบูชาพระพุทธรูปประธานด้านใน และมาไหว้ขอพรจากพระเจ้าตากถวายพวงมาลัยดอกดาวเรือง
เมื่อถามเจ้าหน้าที่ว่า ขอพรสิ่งใดกันบ้างจากพระเจ้าตาก “ก็มีนายทหารตำรวจมาขอยศขอตำแหน่ง, จบปริญญาตรี โท เอก มาขอให้ได้งานดีๆ, ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกไม่ผ่านก็มาขอกำลังใจจากพระองค์ท่าน, ขอให้ขายที่ดินได้, ขอให้ได้ผัวรวยๆ ก็มี”
ถ้าได้สมปรารถนา “ก็กลับมาถวายผลไม้ 9 ชนิด หรือ 5 อย่างตามแต่สะดวก บางคนก็ถวายมะขามเปียก เหล้าขาว เกลือเม็ด หมากพลู กินเข้าไปชุ่มคอ”
เจ้าหน้าที่กล่าวทิ้งท้ายว่า “การกราบพระองค์ให้กราบครั้งเดียวไม่แบมือ”
3 ศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ณ วัดหงส์รัตนาราม ถ้าตามตำนานคำบอกเล่าสืบต่อกันมาของศาลพระเจ้าตากที่วัดหงส์รัตนาราม คือ ศาลพระเจ้าตากแห่งแรกในประเทศไทย ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่เคารพสักการะ จากตำนานว่า “หลังจากมีการประหารชีวิตพระเจ้าตากบริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็มีหลวงจีนเดินนำขบวนพระบรมศพผ่านวัดหงส์ โดยมีอีกคนหนึ่งถือพานรองพระโลหิต ขณะเดียวกันเขาหันกลับไปมองยังโบสถ์วัดหงส์ ก็เห็นพระเจ้าตากยืนกอดอก ไม่มีหัว ทำให้ตกใจจนทำพานรองพระโลหิตหล่นจากมือ จากนั้นจึงมีการนำดินที่มีพระโลหิตพระเจ้าตากมาปั้นรูปพระองค์แล้วตั้งศาลพระเจ้าตาก ณ ตำแหน่งดังกล่าว โดยสร้างเป็นศาลไม้” ตำแหน่งนั้นคือบริเวณต้นโพธิ์ด้านข้างศาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชในปัจจุบัน
ครั้นเมื่อเวลาผ่านศาลไม้ก็ชำรุดทรุดโทรม ทางวัดหงส์รัตนาราม กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร และคณะศรัทธาได้ช่วยกันสร้างศาลขึ้นมาใหม่ อยู่บริเวณเดียวกันกับศาลเดิม เป็นอาคารปูนทรงไทย หลังคาจั่วลดหลั่นสองชั้น ด้านข้างทั้งสี่ด้านเปิดโล่ง ภายในศาลประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขนาดเท่าองค์จริง มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์เปิดศาลเมื่อปี พ.ศ. 2527
มีข้อมูลจากพระคุณเจ้าหลวงพ่อที่ดูแลศาลว่า “ผลไม้ 9 อย่าง หรือ 5 อย่างแล้วแต่จะจัดมาถวายพระองค์นั้นมีห้ามถวาย ละมุด และพุทรา”
หลวงพ่อยังเล่าเรื่องการได้สิ่งที่ต้องการแต่ลืมมาถวายแก้บนพระองค์ท่าน “มีนายทหารบกมาขอติดยศสองดาว เมื่อได้แล้วลืมมาแก้บน ท่านเลยให้ป่วยต้องนอนบนเตียงนานเกือบ 6 เดือน ท่านไปบอกเมีย ว่า ผัวมึงไม่เป็นไรมาก นิมิตรให้เมียรู้ว่าขอดาวให้ดาวแต่ไม่มาบอกท่าน
เมียก็เลยพาผัวมากราบท่าน ขามาเมียขับรถให้ผัวนั่ง ผัวยังใช้ไม้ค้ำช่วยเดิน ก็มีธูป 9 ดอก ประทัด 500 นัด ไข่ 300 ฟอง ผลไม้ 9 อย่าง ยังไม่ได้เอาเครื่องไหว้ลงเลย ขากลับผัวขับรถกลับแทนเมียได้เลย” !!!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2562