ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี |
เผยแพร่ |
ตามรอย “ดาราศาสตร์” ยุคอยุธยา สมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สู่ “หอดูดาว” อย่างตะวันตกแห่งแรก
บาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้ความสนใจเรื่อง “ดาราศาสตร์” ในสยามเป็นอย่างมาก เนื่องจากบาทหลวงเหล่านี้มีภารกิจในการตรวจสอบเส้นเทหวัตถุบนท้องฟ้า ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ และที่ตั้งของเมืองต่าง ๆ เพราะหลังจากที่หอดูดาวกรุงปารีสก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1667 แล้วเสร็จใน ค.ศ. 1671 ผู้อำนวยการหอดูดาวฝรั่งเศสคนแรกคือ ฌอง โดมินิค แคสสินี (Jean-Dominique Cassini) ก็ส่งเสริมให้มีการออกเดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเก็บข้อมูลและส่งข้อมูลเหล่านั้นกลับมายังกรุงปารีส บรรดาบาทหลวงฝรั่งเศสจึงรับมอบหมายภารกิจสำคัญนี้
ในสยาม เมื่อราชทูตฝรั่งเศส เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) รับหน้าที่เป็นราชทูตเดินทางเข้ามาใน พ.ศ. 2228 เพื่อโน้มน้าวพระราชหฤทัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้ทรงเข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชน และเพื่อสนธิสัญญาทางการค้า มีคณะบาทหลวงกลุ่มหนึ่งเดินทางมาด้วย กล่าวคือ บาทหลวงฟงเตอเนย์ (Père Fontenay) เป็นหัวหน้าคณะ บาทหลวงแฌร์บิยง (Père Gerbillon) บาทหลวงเลอกงต์ (Père Le Comte) บาทหลวงวิสเดอลู (Père Visdelou) บาทหลวงบูเวต์ (Père Bouvet) และ บาทหลวงตาชารด์ (Père Tachard)
บาทหลวงทั้ง 6 รูปเป็นบาทหลวงในนิกายเยซูอิต (Jésuites) ที่มีความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ ออกเดินทางจากเมืองแบรสต์ (Brest) ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2227 (ตามการนับปีแบบเดิมที่จะเปลี่ยนปีในเดือนเมษายน) และเดินทางถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2228
บาทหลวง เดอ ชัวซี (De Choisy) ซึ่งเป็นผู้ช่วยทูตมาในคณะดังกล่าว บันทึกในหนังสือจดหมายเหตุรายวันของตน ระหว่างเดินทางบนเรือมาอยุธยา ว่า
“ตอนค่ำศึกษาวิชาดาราศาสตร์ เพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับดวงอาทิตย์ได้ ต้องการชมแต่ดวงจันทร์กับดวงดาวทั้งหลายเท่านั้น เราเริ่มรู้จักกับเส้นทางของแซงต์ฌัคส์ และราชรถของกษัตริย์เดวิดแล้ว และเราจะได้เห็นดวงดาวที่เราไม่เคยเห็นมาแต่ก่อนเลยทางฟากฟ้าเส้นศูนย์สูตรด้านโน้นอีกด้วย แผนที่ดาราศาสตร์ของหลวงพ่อปาร์ดีส์ (Père Pardies) ซึ่งหลวงพ่อ เดอ ฟองเตอเนย์ (Père de Fontenei) มีส่วนช่วยทำอยู่ด้วยนั้น เป็นที่พอใจของเรามาก”
ระหว่างการเดินทางบนเรือ มีการบันทึกเหตุการณ์การดูดาวหลายครั้ง กระทั่งถึงกรุงศรีอยุธยา และเมื่อราชทูต เดอ โชมองต์ ได้เฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นแล้ว ได้เดินทางตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไปประพาสเมืองลพบุรี ครั้นวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้น บาทหลวง เดอ ชัวซี บันทึกความตอนหนึ่งว่า
“พระโหราจารย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามได้มาชมดวงดาวจากกล้องดูดาวอันใหญ่ของพวกบาทหลวงเยซูอิต กล่าวถึงพวกเยซูอิตนั้น หลวงพ่อตาชาร์ดจะกลับไปประเทศฝรั่งเศส ข้าพเจ้ายินดี ว่ากันว่าเขาจะไปหานักคำนวณที่มีความรู้ดี ๆ มาสักสิบสองคน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะทรงรับไว้ใช้ในราชการ จะสร้างหอดูดาวขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองละโว้ และอีกแห่งหนึ่งที่สยาม”
วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 เป็นวันสำคัญที่เกิดเหตุการณ์ จันทรุปราคา ที่ลพบุรี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จทอดพระเนตรพร้อมด้วยบาทหลวงฝรั่งเศสที่ตั้งกล้องดูดาวถวาย บาทหลวง เดอ ชัวซี บันทึกว่า
“เมื่อคืนนี้มีจันทรุปราคา เริ่มจับเวลาสามนาฬิกากับสิบห้านาทีของตอนเช้าวันใหม่ หลวงพ่อ เดอ ฟองเตอเนย์กับเพื่อนร่วมงานของท่านได้ตั้งกล้องส่องดาวในห้อง ๆ หนึ่งใกล้ที่ประทับ และพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จมาทรงสังเกตร่วมกับพวกท่านด้วย ในโอกาสนี้พระองค์ลืมพระอิสริยยศหมดสิ้น พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บาทหลวงลุกขึ้นยืนสูงเสมอด้วยพระองค์ และทรงแสดงความพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีประการหนึ่ง
พระองค์ทรงมีรับสั่งกับพวกบาทหลวงว่าจะได้ให้สร้างโบสถ์ เรือนพักพระราชทานกับจะได้ให้สร้างหอดูดาวแห่งหนึ่งที่เมืองละโว้ และอีกแห่งหนึ่งที่สยามขึ้น และทรงมีพระราชประสงค์ให้พวกบาทหลวงและนักบวชอื่นๆ ได้ค้นคว้าพบสิ่งใหม่ ๆ แปลก ๆ ต่อไป แล้วก็ติดตามด้วยการพระราชทานเสื้อชายยาวตัดด้วยแพรต่วนแก่พระบาทหลวงทุกรูปให้นำกลับไปยังเรือนที่พักของตน”
ในจดหมายของบาทหลวงแฌร์บิยง (Père Gerbillon) เขียนที่เมืองลพบุรี ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2229 (จดหมายของบาทหลวงแฌร์บิยงมี 5 ฉบับที่เกี่ยวกับสยาม ยังไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย) เล่าเรื่องเมื่อครั้งได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้เข้าเฝ้าเรื่องดาราศาสตร์นี้ไว้ว่า
“พระเจ้าแผ่นดินทรงพระมหากรุณาพระราชทานอาหารอันวิเศษแก่เรา 7-8 อย่างที่นำมาในภาชนะของพระองค์และเชิญมาโดยขุนนางของพระองค์ นอกจากการเกิดจันทรุปราคาที่พวกเราได้ร่วมสังเกตหน้าพระที่นั่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วมานั้น พระองค์ยังพระราชทานโอกาสให้พวกเราเข้าเฝ้าเป็นการเฉพาะอีกหลายคราวเมื่อตอนปลายเดือนเมษายน พร้อมกับท่านสังฆราชเมเตลโลโปลิส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโปรดปรานเราเป็นพิเศษ
บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ของอาณาจักร และขุนนางในราชสำนัก รวมทั้งเมอซิเออร์กองสต๊องซ์ได้เข้าเฝ้าอยู่ที่ข้างหลังพวกเรา โดยหมอบกราบจนกระทั่งใบหน้าจะจรดพื้นดิน และอยู่ในท่านั้นนานตลอดเวลาที่พวกเราเฝ้าฯ ประมาณ 2 ชั่วโมง พวกเรานั่งบนพรมตรงพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว บริเวณเดียวกับท่านสังฆราชเมเตลโลโปลิส และเมื่อวันก่อน พระองค์มีรับสั่งมายังพวกเราว่าทรงปรารถนาจะทอดพระเนตรพวกเราในการดูจันทรุปราคาที่จะเกิดขึ้นที่นี่ในวันรุ่งขึ้นเวลาเย็น และเป็นที่นั่นด้วยเช่นกันที่พวกเราจะได้กราบบังคมทูลลากลับ…”
ส่วนบาทหลวงตาชาร์ด ซึ่งรับหน้าที่เดินทางกลับไปฝรั่งเศส เพื่อหานักบวชที่มีความรู้ด้าน ดาราศาสตร์ เข้ามายังสยาม ครั้นเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศส พร้อมคณะราชทูตออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) เมื่อ พ.ศ. 2229 ก็บันทึกว่า
“บรรดาเครื่องไม้เครื่องมือนั้นได้รับพระมหากรุณาพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น อาทิ เครื่องวัดเสี้ยววงกลมสองสำรับ นาฬิกามีลูกตุ้มสำหรับใช้จับเวลาในการสำรวจดวงดาวสองเรือน วงแหวนสำหรับใช้ในการดาราศาสตร์หนึ่งชุด เครื่องมือสำหรับวัดความเหลื่อมหนึ่งชุด บรรทัดกึ่งวงกลมขนาดต่าง ๆ กับเครื่องมือเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกเป็นอันมากซึ่งข้าพเจ้าจำรายละเอียดไม่ได้เสียแล้ว”
อย่างไรก็ดี บาทหลวงตาชารด์ได้เล่าถึงภารกิจด้านดาราศาสตร์ แต่ครั้งที่เดินทางมาถึงสยามไว้ว่า “เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หลังจากที่เรากลับไปถึงกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นานนัก เราได้สร้างหอดูดาวขนาดย่อมขึ้นที่บ้านพักของพระบาทหลวงชาวปอร์ตุเกสที่ตั้งอยู่ในค่ายหรือหมู่บ้านของชาวชาตินั้น”
และเมื่อบาทหลวงตาชารด์เดินทางไปยังเมืองลพบุรีด้วย ภารกิจสำคัญด้านดาราศาสตร์ก็ยังคงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง บันทึกของบาทหลวงตาชารด์ทำให้เราทราบว่า บ้านพักของราชทูตเปอร์เซียตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์นัก ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)
“ในขณะเดียวกันนั้น คณะทูตแห่งประเทศเปอร์เซียออกเดินทางกลับไปยังประเทศของตน ม.ก็องสตังซ์เขียนหนังสือบอกข้าพเจ้ามาว่า ให้นำพระบาทหลวงของเราเข้าพำนักในบ้านของพวกทูตที่เมืองละโว้ซึ่งว่างอยู่นั้น หลวงพ่อบูเวต์กับข้าพเจ้าล่วงหน้าไปก่อน เราไปถึงในตอนกลางคืนวันคริสต์สมภพ ซึ่งเขาเข้าไปมิสซาตอนเที่ยงคืนอยู่ในโรงสวดของเขา
ส่วนพระบาทหลวงรูปอื่น ๆ นั้นตามหลังเรามาอีกแปดวันต่อมา เขานำเราไปยังเรือนพักของพวกเราและสั่งให้อำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างตามแต่เราจะต้องการ เรือนหลังนี้มีหอนั่งอันงดงามและชั้นบนมีห้องถึงสี่ห้อง ตรงหน้าหอนั่งนั้นมีอุทยาน และด้านหนึ่งของอุทยานนั้นเป็นอาคารสำหรับประกอบอาหาร อีกด้านหนึ่งเป็นอาคารที่เราอาจแบ่งออกได้เป็นหลายห้อง ห้องหนึ่งเราใช้ทำเป็นโรงสวด อีกห้องหนึ่งเป็นหอดูดาว”
ข้อมูลของบาทหลวงฝรั่งเศสทั้ง 2 รูปที่บันทึกเกี่ยวกับการดาราศาสตร์ในสยามสรุปได้ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้ความสนพระราชหฤทัยเรื่องการดูดาวเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ต่างไปจากการรับรู้ในสยามมาก่อน มีการทดลองเรื่องเวลา เรื่องการเกิดคราส และการหาตำแหน่งที่ตั้งของดวงดาวที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และการสร้างหอดูดาวนั้นปรากฏทั้งข้อมูลที่อยุธยาและที่ลพบุรี
ที่อยุธยานั้นแสดงว่ากลุ่มบาทหลวงเคยใช้พื้นที่บริเวณค่ายโปรตุเกส ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบสถ์เยซูอิตเป็นที่ดูดาวด้วย และคงได้ใช้พื้นที่บริเวณบ้านพักเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ในบริเวณเกาะเมืองด้านใต้ เป็นที่พักและดูดาวหรือทดลองดาราศาสตร์
ส่วนที่เมืองลพบุรี การที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดปรานบาทหลวงที่ถวายความรู้เรื่องดาราศาสตร์นี้ ทำให้พระราชทานที่ดินสำหรับก่อสร้างวัดและหอดูดาวขึ้น คือ หอดูดาวสันเปาโล ซึ่งสอดคล้องกับแผนผังเมืองลพบุรีใหม่ที่วิศวกรฝรั่งเศส เดอ ลา มาร์ (De la Mare) รับหน้าที่ออกแบบได้เขียนบรรยายบริเวณที่เป็นวัดสันเปาโลและหอดูดาวว่า
“วัดคณะเยซูอิต มีหอคอยแปดเหลี่ยมตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางด้านหน้าของที่พัก สำหรับใช้เป็นที่สังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ และวิชาคำนวณ”
ส่วนบริเวณใกล้กับพระราชวังเมืองละโว้ บาทหลวงฝรั่งเศสได้พำนักในบริเวณอาคารเดียวกับที่ราชทูตเปอร์เซียพักมาก่อน เชื่อว่าคือบริเวณตึกปิจู ตึกโครส่าน ที่อยู่บริเวณเดียวกับวัดเสาธงทอง ไม่ไกลนักจากบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์
อย่างไรก็ดี การสร้างวัดสันเปาโลและหอดูดาว อาจจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้น เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต ทำให้การก่อสร้างถูกทิ้งร้างต่อ กระนั้นรายงานการสังเกตดาราศาสตร์ ทั้งการเกิดคราส และดวงดาวบนท้องฟ้าจำนวนมากที่บาทหลวงผู้รับผิดชอบก็จะถูกส่งต่อกลับไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อประมวลเป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านดาราศาสตร์สากล
ใน พ.ศ. 2231 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ยังได้เสด็จทอดพระเนตรเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์อีกครั้งหนึ่งที่เมืองลพบุรี คือการเกิดสุริยุปราคาในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 ซึ่งปรากฏภาพเขียนสีน้ำมันขณะที่พระองค์ทอดพระเนตรเหตุการณ์นี้ร่วมกับบาทหลวงเยซูอิตที่คอยถวายคำอธิบาย และมีเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เฝ้าฯ พร้อมด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- สำรวจ “หลักฐาน” ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสยามยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งไปอยู่ที่ฝรั่งเศส
- ใช่ดาวหางฮัลเลย์หรือเปล่า? บาทหลวงดูดาวที่เกาะเสม็ด เจอดาวหางยักษ์สมัยพระนารายณ์!
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อารยธรรมดาราศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช : เอกสารดาราศาสตร์ไทยที่ประเทศฝรั่งเศส” เขียนโดย รศ. ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2564