ร่องรอยที่ยังเหลืออยู่ : หลักฐานสยามยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในฝรั่งเศส

(ซ้าย) ภาพถ่ายปืนใหญ่สยามที่สยามมอบให้ฝรั่งเศส ในสภาพปัจจุบัน จากการจัดแสดงนิทรรศการผู้มาเยือนแวร์ซาย ค.ศ. 1682-1789 ปัจจุบันเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่หลวง (Royal Artillery Museum) สหราชอาณาจักร [ภาพโดยดีน เบลเชอร์ (Dean Belcher)] (ขวา) สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทอดพระเนตรจันทรุปราคา ณ พระที่นั่งเย็นทะเลชุบศร เมืองละโว้

การศึกษาประวัติศาสตร์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้นั้น จำเป็นที่จะต้องศึกษาควบคู่ไปกับหลักฐานในต่างประเทศ เพราะตั้งแต่ในอดีตประเทศสยามก็ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวในโลก แต่มีความสัมพันธ์กับนานาชาติทั้งที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่ห่างไกลออกไป

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส”

การเจริญสัมพันธไมตรีข้ามทวีปนี้เริ่มต้นขึ้นกว่า 300 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในรูปแบบทางการทูต

ผลลัพธ์ทางการทูตนี้ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ทั้งในรูปแบบบรรณาการที่สองประเทศมอบให้กัน หรือวิทยาการความรู้จากโลกตะวันตกที่ฝรั่งเศสนำเข้ามา แต่พบว่าหลักฐานที่จะเปิดเผยอดีตของสยามจำนวนหนึ่งอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

สมพัตสร (Almanac) ปี 1687 แสดงภาพคณะทูตจากสยาม เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พร้อมของบรรณาการอันรวมถึงปืนใหญ่ 2 กระบอก ทางขวามือ (ภาพจาก 1687 French Almanac)

ดังจะเห็นได้จากผลงานของผู้แต่งมากฝีมือทั้ง 2 ท่าน หนึ่งคือ ศิระณัฐ วิทยาธรรมธัช ที่เขียนบทความเรื่อง “ปืนใหญ่สยามกับการปฏิวัติฝรั่งเศส” อีกหนึ่งคือ รองศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับบทความชื่อ “อารยธรรมดาราศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช : เอกสารดาราศาสตร์ไทยที่ประเทศฝรั่งเศส”

ซึ่งทั้ง 2 บทความตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2561

บทความแรกนั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2332 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จนี้ ปืนใหญ่ 2 กระบอก ที่สยามมอบให้ฝรั่งเศส มีส่วนร่วมอยู่ด้วย

“ปืนใหญ่ 2 กระบอก ยาว 6 ฟุต ทำจากเหล็กหลอม ตีให้เย็น ประดับลายเงิน ตั้งอยู่บนฐานที่มีลวดลายประดับด้วยเงินเช่นกัน ทำขึ้นในสยาม”

คำบรรยายข้างต้นคือรายละเอียดปืนใหญ่ของสยามที่ราชทูตเชอวาลิเย่ เดอ โชมงต์ ได้ระบุไว้เป็นลำดับแรกของรายการเครื่องบรรณาการ

ภาพการบุกยึดบาสตีย์ (La prise de la Bastille) ศิลปินโคล้ด โซล่า (Claude Cholat), ภาพวาดสีกรอช, พิพิธภัณฑ์กานาวาเล่

เรื่องราวจุดเริ่มต้นของปืนใหญ่สยามเริ่มจากการเป็นเครื่องบรรณาการที่สยามส่งให้ฝรั่งเศสเมื่อครั้งที่คณะทูตในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เดินทางมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2228) ก่อนที่จะพลิกสู่บทบาทใหม่ครั้งสำคัญกับการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศส (วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2332) อันเป็นวันที่ประชาชนบุกยึดคุกบาสตีย์ เพื่อปลดแอกตนจากการกดขี่

เหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ช่วงที่ฝรั่งเศสประสบปัญหาสภาพเศรษฐกิจขั้นรุนแรง อันเนื่องจากความฟุ่มเฟือยของราชสำนักและค่าใช้จ่ายในสงครามอิสรภาพอเมริกา ทั้งปัญหาภาวะข้าวยากหมากแพง และความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกษัตริย์ (พระเจ้าหลุยส์ที่ 16) กับสภาแห่งชาติสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน จนกระทั่งถึงจุดแตกหักที่มีการสั่งปลด ฌาคส์ เน็คแกร์ เสนาบดีหัวปฏิรูป จึงเป็นชนวนก่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้น

“…ฝูงชนถูกปลุกเร้าให้จับอาวุธเพื่อป้องกันตนเอง ชาวปารีสแม้ไม่มีอาวุธแต่ย่อมรู้ว่าจะหาอาวุธได้ที่ใด…” บทบาทลับของปืนใหญ่สยามจึงเกิดขึ้นและกลับมาผงาดอีกครั้ง ภายหลังจากการถูกเก็บไว้เป็นเพียงแค่ของประดับในพระคลังเครื่องเรือนในพระมหากษัตริย์  เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสเห็นว่าปืนใหญ่สยามมีสภาพที่บางเกินกว่าจะสามารถใช้ได้จริง

ภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส สถานะของปืนใหญ่สยามนั้นก็ยังคงชัดเจนว่าอยู่ที่ใด แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับมีความคลุมเครือมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่สถานที่ตั้งและการคงอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ปืนใหญ่กระบอกหนึ่งของสยามก็ได้กลับมาอวดโฉมต่อสาธารณชนอีกครั้ง ท่ามกลางปริศนาที่ว่าอีกหนึ่งกระบอกนั้นอยู่ที่ใด?

ที่เมืองน้ำหอม ไม่ได้มีเพียงแค่ปืนใหญ่สยามที่ถูกเก็บไว้ แต่ยังมีหลักฐานเอกสารทางดาราศาสตร์อีกด้วย

การศึกษาทางดาราศาสตร์สยาม เริ่มต้นจากคณะบาทหลวงที่เดินทางเข้ามาพร้อมกับคณะราชทูตฝรั่งเศส เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ ใน พ.ศ. 2228 เพื่อโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชน และเจรจาทำสนธิสัญญาทางการค้า

นอกจากการเผยแผ่คริสต์ศาสนาให้แก่ประชาชนแล้ว คณะบาทหลวงก็ยังเป็นผู้นำความรู้ด้านดาราศาสตร์เข้ามา เนื่องจากในยุคนั้นฝรั่งเศสกำลังให้ความสนใจกับดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก จึงพยายามที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ สถานที่ ดังนั้นการที่บาทหลวงออกไปเผยแผ่ศาสนายังที่ต่างๆ จึงเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยหาข้อมูลด้านดาราศาสตร์ด้วย

หอดูดาววัดสันเปาโล เมืองลพบุรี สร้างขึ้นบริเวณพื้นที่พระราชทานจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเองก็สนพระราชหฤทัยในวิทยาการดาราศาสตร์ของฝรั่งเศสเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นวิชาการใหม่ที่ต่างไปจากความรู้ในสยามที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นการทดลองเรื่องเวลา เรื่องการเกิดคราส การหาตำแหน่งที่ตั้งของดวงดาวที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น จนพระองค์มีพระราชดำริให้สร้างหอดูดาวขึ้นถึง 2 แห่ง คือ ที่เมืองลพบุรีและกรุงศรีอยุธยา

ในบันทึกของบาทหลวง เดอ ชัวซี ได้บันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรจันทรุปราคาที่ลพบุรี วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 ความว่า

“เมื่อคืนนี้มีจันทรุปราคา เริ่มจับเวลาสามนาฬิกากับสิบห้านาทีของตอนเช้าวันใหม่ หลวงพ่อ เดอ ฟองเตอเนย์กับเพื่อนร่วมงานของท่านได้ตั้งกล้องส่องดาวในห้องๆ หนึ่งใกล้ที่ประทับ และพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จมาทรงสังเกตร่วมกับพวกท่านด้วย

ในโอกาสนี้พระองค์ลืมพระอิสริยยศหมดสิ้น พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บาทหลวงลุกขึ้นยืนสูงเสมอด้วยพระองค์ และทรงแสดงความพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก

นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีประการหนึ่ง พระองค์ทรงมีรับสั่งกับพวกบาทหลวงว่าจะได้ให้สร้างโบสถ์ เรือนพัก พระราชทานกับจะได้ให้สร้างหอดูดาวแห่งหนึ่งที่เมืองละโว้ และอีกแห่งหนึ่งที่สยามขึ้น

การเกิดอุปราคาครั้งนั้น ทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการค้นคว้า ทดลองด้านดาราศาสตร์ให้แก่สยามประเทศอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม พระราชดำริให้สร้างหอดูดาวยังไม่ทันแล้วเสร็จก็เกิดการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินขึ้น อันเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและฝรั่งเศสต้องยุติลง เช่นเดียวกับสิ่งปลูกสร้างอย่างหอดูดาวสันเปาโลก็ถูกปล่อยทิ้งร้างในรัชสมัยต่อมาเหมือนกัน ส่วนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ในสยามก็ถูกรวบรวมกลับไปฝรั่งเศสพร้อมบาทหลวงทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้ข้อมูลทางด้านดาราศาสตร์สยามในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแทบไม่ปรากฏอยู่เลยในประเทศไทย

เรื่องราวความน่าสนใจข้างต้น เป็นเพียงแค่อาหารเรียกน้ำย่อย ที่ชวนให้ท่านผู้อ่านได้ลิ้มลองรสชาติก่อนจะรับประทานอาหารจานหลักสุดพิเศษของเรา ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถติดตามต่อได้ที่ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2561

ปกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม 2561