ใช่ดาวหางฮัลเลย์หรือเปล่า? บาทหลวงดูดาวที่เกาะเสม็ด เจอดาวหางยักษ์สมัยพระนารายณ์!

ภาพหอดูดาว วัดสันเปาโล เมืองลพบุรี สร้างขึ้นบริเวณพื้นที่พระราชทานจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ ดาวหางฮัลเลย์
หอดูดาว วัดสันเปาโล เมืองลพบุรี สร้างขึ้นบริเวณพื้นที่พระราชทานจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ย้อนไป 300 กว่าปีก่อน คณะบาทหลวงเยซูอิตที่เข้ามาในสยาม สมัย “สมเด็จพระนารายณ์” ต้องเจอเหตุการณ์เรือเกือบล่ม นำสู่การสำรวจทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญที่ “เกาะเสม็ด” แบบไม่ตั้งใจ แต่กลับค้นพบดาวหางขนาดใหญ่ แล้วจะใช่ “ดาวหางฮัลเลย์” หรือเปล่า?

หากกล่าวถึงการสำรวจทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย เรามักนึกถึงเหตุการณ์ “จันทรุปราคา” วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ลพบุรี และเหตุการณ์ “สุริยุปราคา” เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์

แต่ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ คือ การสำรวจดาวหาง ที่ “เกาะเสม็ด” ระยอง

จันทรุปราคา ที่เมืองลพบุรี

การสำรวจดาวหางยักษ์ที่เกาะเสม็ดเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2229 ตามหลักฐานบันทึกของ บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ (Père de Fontaney) ถึง บาทหลวงแวร์ชุส (Père Verjus) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในหนังสือ Second voyage du père Tachard et des jésuites envoyés par le Roy au royaume de Siam หรือ จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชารด์กับบาทหลวงคณะเยซูอิต

บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอธิการ และเป็นหัวหน้าคณะบาทหลวงเยซูอิต ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับคณะราชทูต เดอ โชมองต์ ใน พ.ศ. 2228 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีพระราชประสงค์จัดส่งคณะบาทหลวงเยซูอิตชุดนี้ไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่ประเทศจีนในฐานะนักคณิตศาสตร์ แต่ก็เป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ ภูมิศาสตร์ อุทกศาสตร์ และประวัติศาสตร์ อีกด้วย

เมื่อ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงทราบดังนั้น ก็มีพระราชประสงค์ขอคณะบาทหลวงเยซูอิตสร้างหอดูดาวขึ้นในราชอาณาจักรสยาม ตามแบบเดียวกับที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน [1]

สมเด็จพระนารายณ์ ทอดพระเนตร จันทรุปราคา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228
สมเด็จพระนารายณ์ทอดพระเนตรจันทรุปราคา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228

ช่วงเวลาดังกล่าวกำลังจะเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญ คือ จันทรุปราคา (11 ธันวาคม พ.ศ. 2228) [2] คณะบาทหลวงเยซูอิตจึงได้เตรียมการสำรวจ ณ พระที่นั่งไกรสรสีหราช เปรียบเทียบความแตกต่างของเส้นละติจูดและเส้นลองจิจูดระหว่างกรุงปารีสกับเมืองลพบุรี ทูลเกล้าฯ ถวายแผนภาพให้ทอดพระเนตรไว้เป็นการล่วงหน้า และเตรียมกล้องโทรทรรศน์ขนาดยาว 5 ฟุต สำหรับทอดพระเนตรจันทรุปราคา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงแสดงความพอพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ

หลังเหตุการณ์จันทรุปราคา คณะบาทหลวงเยซูอิตทั้ง 4 รูป โดยบาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ เป็นหัวหน้าคณะ ก็ได้โดยสารเรือโปรตุเกสที่มี นายอังเดร นอเรต์ เป็นนายเรือ ออกจากสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2229 เพื่อไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่ประเทศจีน โดยมีจุดหมายปลายทางคือเมืองมาเก๊า ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส

เมื่อเรือแล่นไปได้เพียง 5 วัน คณะบาทหลวงเยซูอิตก็ต้องเผชิญกับปัญหาลูกเรือที่ไม่มีทักษะความชำนาญในการเดินเรือและการสื่อสาร รวมถึงลมพายุอย่างรุนแรงเมื่อถึงบริเวณนอกชายฝั่งเทือกเขาบรรทัด ทำให้สายระยางรั้งใบกลางลำเรือหัก เรือมีรอยแตกปริรอบด้าน น้ำทะเลไหลทะลักเข้ามาในเรืออย่างต่อเนื่องจนต้องทิ้งข้าวสารและเสบียงอาหารเพื่อระบายน้ำหนัก

สุดท้ายนายเรือต้องตัดสินใจแล่นเรือกลับมาทอดสมอ ตรงบริเวณ “เกาะเสม็ด” (Cossomet) [3] ในเขตเมืองระยอง

บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ จึงตัดสินใจพาคณะบาทหลวงเยซูอิต คนรับใช้ ล่าม ฯลฯ ลงเรือฉลอม 2 ลำ เพื่อกลับไปเปลี่ยนเรือที่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่สามารถฝ่ากระแสลมไปได้ จึงเปลี่ยนไปขอความช่วยเหลือที่เมืองจันทบูร (Chantaboun) หรือเมือง “จันทบุรี” แทน

เจ้าเมืองจันทบูรเป็นชาวมลายู อายุประมาณ 40 ปี นับถือศาสนาอิสลาม บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์แจ้งจุดประสงค์การขอความช่วยเหลือให้เจ้าเมืองทราบ คือ การซ่อมเรือโปรตุเกสที่เกาะเสม็ด และกลับไปยังสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด เพื่อเปลี่ยนเรือไปมาเก๊า พร้อมทั้งแจ้งสิทธิพิเศษว่า ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้รับการอุปถัมภ์จากออกพระฤทธิกำแหง (คอนสแตนติน ฟอลคอน) นับตั้งแต่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรสยาม

การซ่อมเรือโปรตุเกสใช้เวลากว่าครึ่งเดือนจึงแล้วเสร็จ

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2229 เจ้าเมืองจันทบูรได้ไปส่งคณะบาทหลวงเยซูอิตบนเรือโปรตุเกสที่ทอดสมออยู่หน้าเกาะเสม็ด บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ ได้เขียนหนังสือถึงออกพระฤทธิกำแหง (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เพื่อรายงานอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปถึงเมืองมาเก๊า และฝากเจ้าเมืองนำไปส่งให้ รวมทั้งได้มอบถ้วยเงินและสิ่งของแปลกตาจากทวีปยุโรปให้เป็นการตอบแทน

แต่เมื่อตรวจสอบสภาพเรืออีกครั้งก็พบว่า เนื้อไม้ใต้ท้องเรือผุพังเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมโดยด่วนระหว่างรอลมมรสุมเปลี่ยนทิศทางพากลับไปยังกรุงศรีอยุธยา [4]

นี่เองที่นำไปสู่การสำรวจทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญบนแผ่นดินสยาม โดยมิได้คาดหมายมาก่อน

หรือจะเป็น “ดาวหางฮัลเลย์”?

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2229 เวลาสี่นาฬิกา “ดาวหางยักษ์” ได้เริ่มปรากฏเหนือฟากฟ้าเกาะเสม็ด บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดยาว 2 ฟุตครึ่ง ส่องสำรวจ พบว่า

“…เรามองเห็นคล้ายก้อนเมฆได้อย่างชัดเจน ทำมุมสามเหลี่ยมหน้าจั่วใหญ่กับเท้าของดาวนายพราน (Orion) ที่ชื่อว่ารีเชล (Rigel) และดาวสุนัขใหญ่ดวงงามที่ชื่อว่าซิริอุส กับเท้าของหมู่ดาวสุนัขน้อยที่เบเยอร์ (Bayer) ให้ชื่อว่า B. อีกด้วย นอกจากนั้นยังอยู่ในแนวเส้นตรงกับดาวซิริอุสและดาวกาโนปุส (Canopus) หางจรดดาวกระต่ายที่เบเยอร์ให้ชื่อว่า Z. แล้วผ่านไปยังดวงที่เขาให้ชื่อว่า N. เราเห็นหางของมันพาดไปทางดาวทั้งสองดวงนี้อย่างรางเลือนมาก…”

วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2229 …ตอนตีห้าสังเกตฝ่าก้อนเมฆเข้าไป โดยวาดเส้นตรงจากซิริอุสไปหาโปรซิอ็อง (Procyon) ดาวหางนั้นอยู่ใต้ลงมาประมาณครึ่งองศาไปทางทิศตะวันออก จึงทำมุมสามเหลี่ยมหน้าจั่วกับดาวรีเชล และไหล่ขวาของหมู่ดาวนายพรานที่เบเยอร์ให้ชื่อว่า P. ส่วนหางนั้นมองไม่เห็นเนื่องจากกลุ่มเมฆบดบังเสียมิด”

วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2229 “…หัวดาวหางนั้นมีขนาดใหญ่เท่าๆ กับดาวดวงงามของหมู่ดาวสุนัขน้อย และมีแสงแจ่มจรัสมาก…มีเมฆหมอกส่องแสงเรืองอยู่เฉพาะตรงกลาง ดาวหางนั้นด้านหนึ่งอยู่ในแนวเส้นตรงพาดจากไหล่ซ้ายของหมู่ดาวนายพรานที่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อน กับตรงกลางดาวอีกสองดวงของหมู่ดาวสุนัขน้อยที่เรียกว่าโปรซิอ็องนั้น และดาวดวงหนึ่งที่เป็นคออีกด้านหนึ่งอยู่บนแนวเส้นตรงพาดจากเท้าทางด้านทักษิณของดาวปู (Cancer) ที่เบเยอร์ให้ชื่อว่า B. กับไหล่ของหมู่ดาวคนคู่ (Jumeaux) ที่เบเยอร์ให้ชื่อว่า X.

ส่วนหางนั้นทำเส้นขนานกับเท้าทางด้านทักษิณของหมู่ดาวปูกับหมู่ดาวสุนัขน้อย แต่ยังอยู่ห่างอีกมากจากดาวดวงนี้ เมื่อเทียบเคียงการสังเกตครั้งนี้กับครั้งแรกแล้วก็เห็นได้ว่าดาวหางดวงนี้ได้โคจรผ่านน่านฟ้าจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือและตัดเส้นแถบศูนย์สูตรตรง 3 องศาเยื้องไปทางขวา…” [5]

บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ ทำการสำรวจประมาณ 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 17-25 สิงหาคม พ.ศ. 2229 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ปรากฏเหนือฟากฟ้าเกาะเสม็ด ทำให้ทราบว่า ดาวหางนี้เป็น “ดาวหางยักษ์” กล่าวคือ เป็นดาวหางที่มีนิวเคลียสใหญ่ ไวต่อการกระตุ้น และเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และโลกมาก สอดคล้องกับการบันทึกข้างต้นว่า มีความสว่างมากเป็นพิเศษ จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเวลาเช้ามืด มีการวาดภาพดาวหางยักษ์เพื่อส่งต่อไปยังสภาราชบัณฑิตแห่งฝรั่งเศส รวมทั้งวาดแผนที่บริเวณอ่าวเกาะเสม็ดไว้ด้วย [6] แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่มีการค้นพบหรือเผยแพร่จนถึงปัจจุบัน

ในขณะที่อีกซีกโลกหนึ่ง ณ แหลมกู๊ดโฮป แอฟริกาใต้ ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ Simon van der Stel เจ้าเมืองแหลมกู๊ดโฮปคนแรก ได้บันทึกถึงดาวหางไว้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2229 ว่า “…เวลาหนึ่งนาฬิกาที่เส้นขอบฟ้า ดาวหางขนาดยาวผ่านวงโคจรของดาวเสาร์และดาวศุกร์ บนไหล่ซ้ายของดาวกระต่ายป่า…หางพาดไปทางขวา ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกที่ 35 องศา ของกลุ่มดาวคนคู่” ซึ่งตำแหน่งที่ค้นพบ คือ ใกล้กับดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดของกลุ่มดาวหมาป่า (beta Lupi) เขาจึงกลายเป็นผู้คนพบดาวหางยักษ์ดวงนี้ และมีการตั้งชื่อตามปีที่ค้นพบว่า “C/1686 R1” [7]

เมื่อวิทยาการทางดาราศาสตร์เจริญก้าวหน้าขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน ทำให้มีข้อมูลดาราศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมากขึ้น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ “องค์การนาซา” ได้สร้างแบบจำลองวงโคจรของดาวหางยักษ์ C/1686 R1 จากการประมวลผลข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในประเทศแอฟริกาใต้ บราซิล อินโดนีเซีย ไทย และทวีปยุโรปในอดีต พบว่า ได้ปรากฏขึ้นให้เห็นบนโลกเป็นระยะเวลา 29 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม-19 กันยายน พ.ศ. 2229

สอดคล้องกับการสำรวจตามบันทึกของบาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ โดยมีความรีเท่ากับ 1 คือ วงโคจรแบบพาราโบลา (parabola) โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด 0.336 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) ทำมุม 35 องศา หมุนด้วยความเร็ว 72.7 กิโลเมตร/วินาที และมีความสว่าง 1-2 แมกนิจูด (Magnitude) หมายถึงมีความสว่างมาก [8]

มีข้อสังเกตว่า ลักษณะวงโคจรและความสว่างของดาวหางยักษ์ C/1686 R1 มีความใกล้เคียงกับ ดาวหางฮัลเลย์ อันโด่งดัง แต่มีความแตกต่างตรงที่เป็นดาวหาง “คาบยาว” ซึ่งอาจจะมาปรากฏให้เห็นอีกครั้งบนโลกในระบบสุริยะอีกหลายแสนปีข้างหน้า

การสำรวจดาวหางยักษ์ C/1686 R1 ของบาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ ที่เกาะเสม็ด เมืองระยอง ได้สร้างความชัดเจนต่อการไขปริศนาวงโคจรของดาวหาง เมื่อได้รับการตรวจสอบจากสภาราชบัณฑิตแห่งฝรั่งเศส ดังทัศนคติของบาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ ที่มีต่อการสำรวจทางดาราศาสตร์ถึงบาทหลวงแวร์ชุสว่า

“นักดาราศาสตร์จักประสบความสำเร็จภายในไม่ช้านี้ ในการพยากรณ์อนาคตได้ตามเกณฑ์ที่สถิตอันเป็นระเบียบของดวงดาว เมื่อได้รับการรวมตัวกันเข้าเป็นหมู่อันจำกัด และกำหนดวงโคจรเป็นกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวลงได้” [9]

แม้อาจไม่ใช่ ดาวหางฮัลเลย์ แต่การสำรวจครั้งนั้นก็มีคุณค่าและถือเป็นครั้งสำคัญบนแผ่นดินสยาม ท้ายที่สุด คณะบาทหลวงเยซูอิตสามารถกลับไปถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2229 และสลับพำนักระหว่างกรุงศรีอยุธยากับลพบุรี เพื่อก่อสร้างหอดูดาวทั้งสองแห่ง ระหว่างรอฤดูมรสุมอีกครั้ง สันนิษฐานว่าได้ออกเดินทางราวเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2230 และไปถึงประเทศจีนโดยสวัสดิภาพ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] กีย์ ตาชารด์. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ครั้งที่ 1 และจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชารด์. น. 86.

[2] ก่อนการสำรวจจันทรุปราคาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 บาทหลวง เดอ ฟองเตอเนย์ และบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ ได้มีโอกาสสำรวจจันทรุปราคาครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2228 บนเรือลัวโซ บริเวณมหาสมุทรอินเดีย

[3] กีย์ ตาชารด์. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ครั้งที่ 1 และจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชารด์. น. 208-210.

[4] เพิ่งอ้าง, น.228-229.

[5] เพิ่งอ้าง, น.230-232.

[6] เพิ่งอ้าง, น.229-232.

[7] T.P. Cooper. “A History of comet discovery from South Africa,” in Monthly Notes of the Astronomical Society of Southern Africa. Vol. 62, (August 2003), p. 170, 172.

[9] NASA. “C/1686 R1,”  https://ssd.jpl.nasa.gov/sbdb.cgi?sstr=C/1686%20R1;orb=1;cov=0;log=0;cad=0, Retrieved from May 4, 2021.

[9] กีย์ ตาชารด์. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ครั้งที่ 1 และจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชารด์. น. 289.


บรรณานุกรม :

กีย์ ตาชารด์. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ครั้งที่ 1 และจดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ 2 ของบาทหลวงตาชารด์. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2551.

พิทยะ ศรีวัฒนสาร. “การเดินทางบนเรือโปรตุเกสของบาทหลวงฝรั่งเศสสมัยพระนารายณ์: บันทึกการเดินทางกับแผนที่โบราณในฐานะเครื่องมือสำคัญทางประวัติศาสตร์,” http://siamportuguesestudy.blogspot.com/2012/03/blog-post_24.html?m=1, 3 พฤษภาคม 2564.

มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. “ดาวหางที่ปรากฏให้เห็นในประเทศไทย,” https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=31&chap=7&page=t31-7-infodetail09.html, 3 พฤษภาคม 2564.

T.P. Cooper. “A History of comet discovery from South Africa.” in Monthly Notes of the Astronomical Society of Southern Africa. Vol. 62, (August 2003), p. 170, 172.

NASA. C/1686 R1,” https://ssd.jpl.nasa.gov/sbdb.cgi?sstr=C/1686%20R1;orb=1;cov=0;log=0;cad=0, May 4, 2021.

_____. “Great Comets in History,” https://ssd.jpl.nasa.gov/?great_comets, May 4, 2021.


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก ธีรพงศ์ เรืองขำ. “การสำรวจดาวหางยักษ์ “C/1686 R1” ที่เกาะเสม็ด” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2564.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2565