ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ดาวหาง ผีพุ่งไต้ ฯลฯ ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า หรือ ลางร้าย จากจักรวาล?
บทความนี้คัดย่อจาก “ฝนดาว ลางร้ายจักรวาล” ของ เกวลินทร์ ที่เคยตีพิมพ์ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายน 2541 เนื่องจากเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น จะมีปรากฏการณ์ “ฝนดาวตก” ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในประเทศไทย ขณะที่ตื่นเต้นที่จะได้ดูฝนดาวตก ก็มีอีกมุมหนึ่งก็มองว่านี่คือ “ลาง” บอกเหตุใดหรือไม่ ซึ่งเกวลินทร์อธิบายไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
บันทึกเก่าแก่ที่ค้นพบในจีนระบุว่า นักปราชญ์จีนศึกษาเรื่องดาวหางเมื่อ 4,000 ปีมาแล้ว แต่พวกแรกที่สืบสาวหาความจริงตามระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ คือ อพอลโลนิอุส แห่งมินดุส ปราชญ์ชาวกรีก ที่มีอายุอยู่ในช่วงพลังพุทธกาลราว 300 ปี
อย่างไรก็ดีบุรุษผู้ตั้งสมมติฐานสะท้านโลก จะเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่สุดยอดปราชญ์ชาวกรีกนามว่า อริสโตเติ้ล ด้วยสมมติฐานที่ว่า
ดาวหางเป็นปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก ที่ไม่ใช่พวกเดียวกับดาวเคราะห์ ดาวหางจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดการเผาไหม้อย่างพอเหมาะพอดีระหว่างวัตถุกับไอน้ำที่ลอยระเหยจากเบื้องต่ำสู่เบื้องสูง
หากตีความอย่างไทยๆ เป็นการเผาไหม้อย่างเชื่องช้าของไอร้อนที่ลอยตัวขึ้นมาจากพื้นพิภพ มันก็คงจะคล้ายกับบังไฟพญานาค ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ในแม่น้ำโขง เพียงว่ารุนแรงและเนิ่นนานกว่า และหากว่ามันเผาไหม้เร็วเกินไป ก็จะกลายเป็น “ผีพุ่งไต้” หรือดาวตก
อริสโตเติ้ลสนับสนุนเหตุผลนี้ด้วยสถิติที่ว่า ปีใดมีดาวหางปรากฏหลายดวง ปีนั้นโลกจะร้อน แล้ง และมีพายุ จึงไม่น่าประหลาดใจ หากแนวคิดดังกล่าวจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ลางร้าย” ที่ถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาไม่น้อยกว่า 2,000 ปี
ดาวเพลิงชะตาเมือง
วิทยาการในโลกปัจจุบัน ทำให้เรารู้ว่าหางของดาวหางประกอบด้วยอนุภาคของประจุไฟฟ้า ก๊าซที่เป็นกลาง และผงฝุ่นขนาดใหญ่ จากเหตุที่ดาวหางบางดวงมีขนาดใหญ่เท่ากับโลก หรือบางดวงใหญ่กว่าถึง 50 เท่า
ดังนั้นหางของดาวหางบางดวงอาจวัดความยาวได้เป็นร้อยๆ ล้านกิโลเมตร
แม้ว่าทุกวันนี้อวกาศยังคงเป็นเรื่องราวที่เร้นลับ กระนั้นมนุษย์ยังอุตส่าห์หาข้อสรุปที่อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงในอนาคตได้ว่า กาแล็กซี (Galaxy) ที่หมายถึงระบบดาวฤกษ์จำนวนประมาณ 1 แสนล้านดวงเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อระบบของดวงอาทิตย์ที่มีโลกเป็นสมาชิกอยู่ด้วย เนื่องจากสุริยจักรทั้งระบบต้องโคจรไปรอบๆ ใจกลางกาแล็กซี อิทธิพลดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการพุ่งชนของอนุภาครังสีคอสมิก ที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่ามีส่วนทำให้เกิดพัฒนาการของชีวิตบนโลก
รังสีคอสมิก เป็นอนุภาคของแก่นกลางอะตอมความเร็วสูง (ระดับเดียวกับแสง) ที่แผ่กระจายมาจาก “ดาวระเบิดใหญ่” หรือซูเปอร์โนวา
ดาวระเบิดใหญ่เป็นปรากฏการณ์ของดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์นับสิบเท่า ที่อยู่ในสภาพ “ใกล้ดับ” ก่อนที่มันจะยุบตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้อุณหภูมิภายในสูงขึ้นแบบเฉียบพลันเป็นแสนล้านองศา เปรียบได้กับไฟบรรลัยกัลป์ ปรากฏการณ์เช่นนี้จะทำให้รังสีคอสมิกถูกสาดออกสู่อวกาศทุกทิศทาง
นักดาราศาสตร์ประเมินว่าในกาแล็กซีที่มีดวงอาทิตย์เป็นสมาชิกอยู่นี้ มีดาวระเบิดใหญ่อุบัติขึ้นดวงหนึ่งทุกๆ 300 ปี เมื่อเทียบอายุของกาแล็กซีประมาณ 1 หมื่นล้านปี เป็นไปได้ว่าน่าจะมีดาวระเบิดมาแล้วกว่า 30 ล้านดวง
ปรากฏการณ์อันพิสดารล้ำลึกที่เกิดขึ้นในจักรวาลต่อเนื่องและยาวนานนับล้านๆ ปีมาแล้วนั้น ถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อยากต่อการอธิบายอย่างยิ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากโครงสร้างของโหราศาสตร์ที่เป็นปึกแผ่นแน่นหนาอยู่แล้ว จะยังมีอิทธิพลอยู่ตราบใดที่ข้ออ้างอิงอันเกี่ยวข้องกับอิทธิพลแห่งจักรวาลที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังค้นหาคำตอบไม่พบ
ตำราทางโหราศาสตร์ถือเอาโลกเป็นศูนย์กลางของอิทธิพลทั้งมวลในจักรวาล เป็นความเชื่อแต่เดิมตั้งแต่ครั้งที่เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของเอกภพ และแม้ว่าตำราโหราศาสตร์สากลจะถือว่าดวงอาทิตย์เป็นเทพแห่งการถือกำเนิด ในขณะที่ชาวโรมันบูชาเป็น “เทพแฝด” คู่กับเทพดีอานา เทพธิดานักล่าสัตว์อันหมายถึงดวงจันทร์ก็ตาม แต่ดวงชะตามนุษย์ทั้งหมดกลับผูกผังเป็นแบบแผนอย่างเคร่งครัดกับตำแหน่งดาวเคราะห์โดยตรง
และแม้ว่าโลกสมัยใหม่จะสามารถอธิบายได้แล้วว่า ดาวหางเป็นเพียง “ก้อนน้ำแข็งสกปรก” ถึงกระนั้นมันก็ยังมีอิทธิพลต่อความเชื่อของมนุษย์อยู่ดี
ในคัมภีร์โหราศาสตร์ไทยให้ความสำคัญกับดาวหาง 5 จำพวก อาทิ ดาวกลำพูกัน (ดาวหางเรียงแบบแผ่นกระดาน) ดาวโลง (ประกอบด้วยดาวหาง 11 ดวง) ดาวแสงศึก ดาวธนูศึก (ดาวหางแฝดรูปคันธนู) และดาวหางสีแดง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงบาตสี่และธุมสองอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
บาตสี่ คือ อสนีบาต กลาบาต คาหกาบาต และอุกกาบาต ส่วนธุมสอง คือ ธุมเกตุ และธุมเพลิง
อสนีบาตหรือฟ้าผ่า ตกที่ใดปีหนึ่งสามหนไม่ดี
กลาบาตหรือก้อนแสงที่ตกลงมาจากอากาศ หมายถึง ดาวตกสีแดงกลมโตเท่าผลมะพร้าว หากตกแต่ทิศบูรพาไปสู่ทิศอุดรร้ายนัก แต่ถ้าตกทิศอาคเนย์ไปสู่ทิศประจิมร้ายธรรมดา
คาหกาบาตหรือดาวตก สีดุจหนึ่งอาทิตย์เมื่ออัสดง เห็นปรากฏย่ำค่ำทั้ง 3 ทิศ 4 ทิศ ร้ายนัก
อุกกาบาต (ผีพุ่งไต้หรือดาวตก) ทำนายว่า ถ้าสีแดงช่วงเห็นเป็นทางยาว 3 ศอก หัวใหญ่ เท่าส้มโอ ตกแต่ทิศบูรพาไปสู่ทิศอุดรร้ายนัก ให้ประหยัดจงดี
ส่วนธุมเกตุ แสดงถึงดาวหาง (ดาวตก) ที่เห็นเป็นหมอกควันในอากาศผิดธรรมชาติ รูปร่าง คล้ายธง ทำนายว่า สีดุจหนึ่งควันไฟดอกไม้เพลิง เห็นเวลากลางวันร้ายนัก และธุมเพลิง เสมือนหนึ่งแสงสว่างที่เกิดขึ้นอย่างพิสดารในอากาศ ทำนายว่า ถ้าสีดุจควันเพลิงไหม้ ปรากฏเป็นหมู่ใน 3 ทิศ จะถึงกาลพินาศ ให้เร่งจำเริญเมตตาภาวนา กรณีนี้เรียกว่า อุบาทว์พระพาย
ตำราโหราศาสตร์ที่เกี่ยวกับบาตและธุมนี้ ถือเป็นการสำแดงให้เห็นของเทวดา…ด้วยเอ็นดูแก่หมู่มนุษย์ อันจะต้องอันตราย และมักใช้ประโยชน์ทำนายเรื่องของชะตาบ้านเมืองโดยเฉพาะ
มหัศจรรย์แห่งฟากฟ้า
ผีพุ่งไต้หรือดาวตก เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เมื่ออุกกาบาตวิ่งฝ่าชั้นบรรยากาศโลก กระทั่งลุกไหม้เห็นเป็นลูกไฟตกมาจากท้องฟ้า ในทางดาราศาสตร์จัดเป็นวัตถุจำพวกหินหรือโลหะเหล็ก อาจเป็นสะเก็ดดาวที่แตกตัวมาจากหมู่ดาวเคราะห์น้อย หรือจากดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ รวมถึงชิ้นส่วนของดาวหางที่หลงเหลืออยู่ในเส้นทางโคจรรอบดวงอาทิตย์
โดยประเด็นหลังนี้เองที่สร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ให้ชาวโลกได้เห็นพร้อมกับคำร่ำลือในทางร้ายอยู่บ่อยครั้ง
เคยมีบันทึกไว้เมื่อปลายปี 2509 คนในทวีปอเมริกาเหนือฝั่งตะวันตก เห็นดาวตกนับหมื่นๆ ดวง ภายในไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าย้อนกลับไปนานกว่านั้น ในช่วงเดียวกันของปี 2376 มีดาวตกนับแสนดวงอวดโฉมเต็มท้องฟ้า และน่าสนใจอย่างยิ่งที่ว่า เป็นกาตกแบบมาราธอนนานถึง 69 ชั่วโมง ปรากฏการณ์นี้นักดาราศาสตร์เรียกว่า ฝนดาวตก (Meteor shower)
แม้ไม่ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ใช่ความผิดปกติที่น่าเกรงกลัวแต่อย่างใด ในแต่ละคืนเรามีโอกาสเห็นดาวตกได้ไม่น้อยกว่า 5-6 ครั้งภายในช่วงเวลาหนึ่งๆ เสมอ แต่หากว่าโลกโคจรเข้าไปอยู่ในเส้นทางโคจรของดาวหาง และดึงดูดฝุ่นอุกกาบาตที่ดาวหางทิ้งไว้ให้ตกเข้ามายังชั้นบรรยากาศ ภาวะพิเศษของฝนดาวตกจึงเกิดขึ้น
ฝนดาวตกจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า “รอบการโคจร” พอเหมาะพอดีกันหรือไม่
จากการคาดการณ์ทางสถิติ ของนักดาราศาสตร์ระบุว่า ปีใดที่ดาวหางดวงนั้นๆ โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ปีนั้นจะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาว (เฉพาะของดวงนั้น) หนาแน่นที่สุดกว่าปีที่ผ่านๆ มาด้วย…
ราชันย์แห่งฝนดาว
ไม่มีใครย้อนภาพให้เห็นจริง แต่ภาพวิจิตรตระการตาของฝนดาวนับหมื่นๆ ดวง ที่พาดผ่านท้องฟ้าทางฝั่งตะวันออกของอเมริกาเหนือ ณ รุ่งอรุณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2376 จะสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงสะดุดตาขนดไหน เป็นความรู้สึกที่บันทึกเป็นข้อความดังว่า…ผู้คนเกือบค่อนทวีป โจษจันถึง “พายุฝนดาว” ดังกล่าว ด้วยเกรงกันว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้คือลางร้าย เป็นลางร้ายแห่งการแตกดับของโลก และลางร้ายดังกล่าว กระตุ้นเร้าให้นักดาราศาสตร์สมัยโน้นจับตามองอย่างใกล้ชิด พร้อมๆ กับชื่อ ลีโอนิดส์ เริ่มเป็นที่รู้จัก
จากการศึกษาย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เพียงปีเดียว นักดาราศาสตร์พบว่า เคยเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันและในช่วงเดียวกันมาแล้วครั้งหนึ่งในยุโรปและตะวันออกกลาง กระทั่งปลายปี 2509 เกิดข่าวดังอีกครั้ง คราวนี้มาจากฝั่งตะวันตกของสหรัฐ เกิดพายุฝนดาวตกกลุ่มนี้ โดยที่มันกระหน่ำลงมาอย่างบ้าคลั่ง ประมาณว่ามากกว่า 150,000 ดวงต่อชั่วโมง
เหลือเชื่อ!!
ซึ่งปรากฏการณ์ในครั้งนั้นนักดาราศาสตร์วิเคราะห์ว่า เกิดจากการที่โลกเคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในเส้นทางโคจรของดาวหางดวงนี้เป็นระยะทางยาวถึง 35,000 กิโลเมตร
ฝนดาวตกลีโอนิดส์ เป็นฝนดาวจากดาวหางเทมเปล-ทัตเทิล (Tempel-Tutle) ในกลุ่มดาวสิงโต มีคาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ทุกๆ 33.2 ปี
ซึ่งหากเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของฝนดาวกลุ่มนี้ อาจเห็นบทสรุปที่ว่า ฝนดาวตกลีโอนิดส์ จะปรากฏลดน้อยลงเรื่อยๆ จาก 100 ดวงต่อชั่วโมงลงมาถึงอัตราปกติคือราว 10-15 ดวงต่อชั่วโมง จากนั้นจะเพิ่มขึ้น เป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่เช่นนี้…
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้หรือไม่!? มนุษยชาติค้นพบ “ดาวยูเรนัส” ก่อน “ขั้วโลกใต้”
- 24 สิงหาคม 2549 ดาวพลูโตกลายเป็น “อดีต” ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
- “ดาวหางฮัลเลย์” ดาวหางที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือฝ่ายปฏิวัติ เพื่อโค่นล้ม “ราชวงศ์ชิง”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วรเชษฐ์ บุญปลอด. ลีโอนิดส์ ราชาแห่งฝนดาวตก วารสารทางช้างเผือก, สมาคมดาราศาสตร์ไทย, ปีที่ 16 ฉบับที่ 4, ตุลาคม-ธันวาคม 2540.
ระวี ภาวิไล. ดาวหาง. สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, 2516.
ภิญโญ พงศ์เจริญ. ดาวหางกับโหราศาสตร์. สำนักพิมพ์ธนฤต, 2540.
สาลิน วิรบุตร์. พายุฝนดาวตก. มติชน, 26 กุมภาพันธ์ 2541.
เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2565