รู้หรือไม่!? มนุษยชาติค้นพบ “ดาวยูเรนัส” ก่อน “ขั้วโลกใต้”

ดาวยูเรนัส ขั้วโลกใต้

กว่าที่มนุษยชาติจะค้นพบ “ขั้วโลกใต้” หรือ “ทวีปแอนตาร์กติกา” ก็เป็นเวลาหลายสิบปีให้หลังจากการค้นพบ “ดาวยูเรนัส” !!!

บนฟากฟ้ายามค่ำคืนเราสามารถมองเห็น ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ได้ด้วยตาเปล่า เพราะมันมีความสว่างมากพอ (แสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องไปยังดาวเหล่านั้น สะท้อนกลับมายังโลกและเข้าสู่ตาเรา) แต่กับดาวที่อยู่ห่างออกไป ต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ส่องเท่านั้นจึงจะมองเห็น และก็เป็น “ยูเรนัส” ที่ถูกค้นพบด้วยกล้องโทรทรรศน์ เมื่อปี 1781

Advertisement

แต่ 39 ปี ให้หลัง มนุษยชาติเพิ่งค้นพบ “ขั้วโลกใต้” หรือทวีปแอนตาร์กติกาเป็นครั้งแรก (?) นี่จึงนำมาสู่การพิสูจน์และสำรวจดินแดนแห่งใหม่นี้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ปี 1781 ดาวยูเรนัส ถูกค้นพบโดยบังเอิญ ขณะที่ วิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ทำการสำรวจดาวบนฟากฟ้าอยู่นั้นเอง เขาสังเกตเห็นวัตถุเลือนรางเคลื่อนผ่านหน้าดาวที่เขากำลังจับจ้องอยู่ การเคลื่อนไหวนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งนั้นอยู่ใกล้มากกว่าดาวที่เขากำลังสำรวจ

ตอนแรกเขาคิดว่า เขาพบดาวหาง แต่ต่อมา เขาและคนอื่น ๆ ช่วยกันตรวจสอบ และพบว่า มันเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา ซึ่งการค้นพบดาวยูเรนัสนี้ นับเป็นการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคโบราณ

ดาวยูเรนัส
ภาพถ่ายดาวยูเรนัส โดยยานอวกาศ Voyager 2 เมื่อปี 1986 (ภาพจาก NASA)

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ทราบในภายหลังว่า มีการสังเกตเห็นดาวยูเรนัสมาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ทศวรรษ 1690 แต่ตอนนั้นไม่คาดคิดมาก่อนว่า มันเป็นดาวยูเรนัส ดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่อยู่ถัดออกไปจากดาวเสาร์

ในตอนแรก วิลเลียม เฮอร์เชล เสนอให้ตั้งชื่อดาวดวงใหม่นี้ว่า “Georgium Sidus” ตามชื่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 (King George III) กษัตริย์อังกฤษ แต่นักวิทยาศาสตร์ชาติอื่นไม่พอใจกับแนวคิดนี้ ในที่สุดก็ตั้งชื่อให้ว่า “ยูเรนัส” ตามหลักการตั้งชื่อดาวเคราะห์ตามเทพเจ้าโบราณ (ยูเรนัสเป็นหนึ่งในเทพปกรณัมกรีก)

พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงพอพระทัยไม่ว่าจะตั้งชื่อดาวดวงนี้ว่าอะไรก็ตาม จากการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ของ วิลเลียม เฮอร์เชล พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงแต่งตั้งเขาเป็นอัศวิน และแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่งนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนัก จากนั้น วิลเลียม เฮอร์เชล จึงลาออกจากงานประจำ (นักดนตรี) และมุ่งความสนใจไปที่การสำรวจดวงดาวบนท้องฟ้าอย่างเต็มที่

39 ปีถัดมา ก็ถึงคราวการค้นพบทวีปแอนตาร์กติกา โดยในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นักสำรวจได้ออกตามล่าทวีปทางตอนใต้ขนาดใหญ่ที่พวกเขาเรียกว่า Terra Australis Incognita หรือ “ดินแดนทางใต้ที่ไม่รู้จัก” เชื่อกันว่าผืนดินอันกว้างใหญ่นี้เป็นขั้วตรงข้ามของขั้วโลกเหนือ นักสำรวจคนแรก ๆ ที่พยายามออกค้นหาทวีปแอนตาร์กติกา คือ กัปตันเจมส์ คุก (James Cook) เขาใช้เวลาหลายปีในการตามหาทวีปใหม่ระหว่างปี 1772-1775 แต่ที่สุดก็ล้มเหลว

การเดินทางของ กัปตันเจมส์ คุก กระตุ้นนักสำรวจคนอื่น ๆ แต่พวกเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน และการแสวงหา “ดินแดนทางใต้ที่ไม่รู้จัก” ก็ยังดำเนินต่อไป ท่ามกลางการแข่งขันล่าอาณานิคมและดินแดนที่ยังไม่ถูกค้นพบโดยจักรวรรดินิยมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น รัสเซีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ แต่อีกปัจจัยที่ผลักดันให้การสำรวจหาดินแดนทวีปใหม่ก็คือ “แมวน้ำ” ซึ่งมนุษย์ล่ามันเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ในปี 1819 รัฐบาลรัสเซียมอบหมายให้ Fabian von Bellingshausen เดินทางไปทางใต้ให้ไกลมากกว่าที่กัปตันเจมส์ คุก เคยไป และเมื่อถึงวันที่ 27 มกราคม ปี 1820 เขามองไปที่แผ่นน้ำแข็งที่ติดอยู่กับแผ่นดินทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Queen Maud Land นี่ก็อาจนับว่าเป็นการค้นพบทวีปแห่งนี้อย่างเป็นทางการก็ว่าได้ และอีก 3 วันต่อมา เอ็ดเวิร์ด แบรนสฟิลด์ (Edward Bransfield) เจ้าหน้าที่ราชนาวีอังกฤษ ได้พบเห็นปลายสุดของคาบสมุทรของทวีปแอนตาร์กติกาเช่นกัน

ทวีป แอนตาร์กติกา โดย คณะสำรวจ ของ สวีเดน
ภาพถ่ายทวีปแอนตาร์กติกา โดยคณะสำรวจของสวีเดน เมื่อปี 1901-1904

แม้ในทางเทคนิคแล้ว Fabian von Bellingshausen จะเป็นคนแรกที่เห็นทวีปแห่งใหม่ ทว่า เขาไม่ได้ขึ้นฝั่ง แต่เป็น จอห์น เดวิส (John Davis) ชาวอเมริกัน เป็นผู้เหยียบแผ่นดินทวีปแอนตาร์กติกาเป็นคนแรกในปี 1821

แต่นี่คือสิ่งที่ประวัติศาสตร์ของตะวันตกบันทึกเอาไว้ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ตำนานเรื่องเล่าของ “ชาวเมารี” ก็เป็นเค้าลางที่อาจบ่งบอกว่า พวกเขาเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่ค้นพบทวีปแอนตาร์กติกา

ไม่นานมานี้ นักวิจัยศึกษาประวัติศาสตร์ประเภทตำนานหรือมุขปาฐะของชาวเมารี เผยให้เห็นร่องรอยว่า Hui Te Rangiora นักสำรวจนักเดินเรือชาวเมารีในยุคโบราณ อาจเป็นผู้ล่องเรือไปถึงน่านน้ำของขั้วโลกใต้ และมองเห็นแนวชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 แล้ว

ทวีปแอนตาร์กติกา
ภาพถ่ายทวีปแอนตาร์กติกา โดยคณะสำรวจของสวีเดน เมื่อปี 1901-1904

ตามตำนานเรื่องเล่านั้นบรรยายถึงสิ่งมีชีวิตและสภาพทางภูมิศาสตร์ของแผ่นดินที่อาจเป็นทวีปแอนตาร์กติกา เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมากล่าวถึงการสำรวจท้องทะเล ชาวเมารีล่องลงไปทางใต้ไปไกลกว่าดินแดนของตนมาก และบรรยายลักษณะของพื้นที่แห่งนั้นว่า “Te tai-uka-a-pia” ซึ่ง tai หมายถึงทะเล uka หมายถึงน้ำแข็ง และ a-pia หมายถึงลักษณะของเท้ายายม่อม เมื่อขูดเนื้อออกจะมีสีขาวเหมือนหิมะ โดยรวมแล้วอาจเป็นการพรรณนาถึงผืนน้ำที่เต็มไปด้วยหิมะและแผ่นน้ำแข็งสีขาว

จึงมีความเป็นไปได้ว่าชาวเมารีอาจค้นพบทวีปแอนตาร์กติกาก่อนชาวตะวันตกเป็นเวลากว่า 1,300 ปี

ไม่ว่ามนุษยชาติจะค้นพบ ทวีปแอนตาร์กติกา หรือ ดาวยูเรนัส ก่อนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษยชาติเป็นนักสำรวจ และจะยังเป็นนักสำรวจต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เพราะทั้งห้วงอวกาศไร้ขอบเขต ทั้งหลุมดำที่กุมความลับของจักรวาล หรือลึกเขาไปในผืนป่าแอมะซอน ดำดิ่งไปยังร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา เหล่านี้ต่างก็ยังรอมนุษย์ไปสำรวจ ไขคำถาม เสาะหาคำตอบ ซึ่งไม่มีวันรู้จบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

Uranus discovered by accident 241 years ago today. Access 10 February 2023, from https://earthsky.org/space/this-date-in-science-uranus-discovered-completely-by-accident/ 

Who really discovered Antarctica? Depends who you ask. Access 13 February 2023, from https://www.nationalgeographic.com/history/article/who-discovered-antarctica-depends-who-ask 

The Maori Vision of Antarctica’s Future. Access 13 February 2023, from https://www.nytimes.com/2021/07/02/science/antarctica-maori-exploration.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566