เปิดตำรา “ดูดาว” ของคนเรือในอดีต แม้ไม่มีโซนาร์-เรดาร์ ไม่ดูดาวเหนือ ดูดาวอะไร?

เรือประมง
ภาพประกอบเนื้อหา (ซ้าย) เรือประมง (ภาพจาก pixabay.com), (ขวา) ตำราการดูดาวโบราณ

เปิดตำรา “ดูดาว” ของ “คนเรือ” ในอดีต แม้ไม่มีโซนาร์-เรดาร์ ไม่ดูดาวเหนือ ดูดาว อะไร?

เส้นทางล่องเรือของคนทะเลสมัยก่อน นับเป็นวิถีของการบุกเบิกและสั่งสมองค์ความรู้อย่างน่าสนใจ “ปูมเรือ” ที่บันทึกไว้มีตั้งแต่เรื่องราวของตำแหน่งภูเขา หินโสโครก เกาะกลางทะเล แหล่งน้ำจืด ฤดูกาลที่ต้องจอดเรือรอกระแสลมที่หมุนเวียนพัดอยู่ทั้ง 16 ทิศ

ความรู้นี้ยังรวมถึงว่า ลมชนิดใดมีคุณสมบัติอย่างไร พัดมาจากทิศไหน ดังเช่น ลมตะเภาที่พัดจากทิศอาคเนย์ไปพายัพในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม พัดอยู่เพียง 45 วัน ทำให้มีเดิ่งใหญ่ออกเรือไม่ได้ ชาวเรือเรียกลมชนิดนี้ว่า “ตะเภาแขวนโคม”

หรือลมตะวันตกที่พัดจากทิศประจิมไปบูรพาในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนกันยายน จะพัดนานและทนกว่าลมอื่น เป็นลมเยือกเย็นพัดริน ๆ จนลิงหลับตกต้นไม้ ลมนี้ทำให้คนไม่สบาย เนื่องจากพัดผ่านป่าเขา พาละอองว่านนานาชนิดมาทำให้คนเจ็บป่วย เป็นไข้ทับฤดูหมดแรง อ่อนเพลีย เป็นคำอธิบายของชาวบ้านว่า ทำไมช่วงต้นฝน ผู้คนจึงมักป่วยไข้เป็นประจำอย่างทั่วถึงกันอยู่ทุก ๆ ปี

มิใช่เพียงกระแสลมที่ใช้บอกเวลาและทิศทาง คนทะเลรุ่นก่อนยังใช้การเคลื่อนที่ของกลุ่มดาวต่าง ๆ เป็นหมายสำคัญในการกำหนดทิศและบอกเวลา

ตาภักดิ์ ภุมริน คุณตาชาวเรืออายุ 85 ปี [พ.ศ. 2543] คนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ท่านเคยเดินเรือจากเมืองเพชรบุรี ล่องไกลลงถึงสิงคโปร์ด้วยเรือใบสามเสา ไม่มีโซนาร์ เรดาร์ หรือกระทั่งเข็มทิศ อาศัยเพียงกลุ่มดาวและกระแสลมที่ท่านรู้จักอย่างแม่นยำ ประกอบปูมเรือของบรรพบุรุษจีนไหหลำ ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ท่านไม่เคยยั่น

และกลุ่มดาวสำคัญที่ท่านรู้จักอย่างแม่นยำถึงความเปลี่ยนแปลงในทุกเวลา ทุกฤดูกาล มีบุญคุณกับท่านอย่างล้นเหลือในการล่องเรือก็คือ ดาวลูกไก่ (Pleiades) ดาวจระเข้ (Ursa Major) และดาวว่าว (Southern Cross)

ตำรับดูดาวของชาวเรือมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การดูดาวลูกไก่ ดาวลูกไก่จะขึ้นเป็นหมายให้สังเกตในช่วง 4 เดือน เรียกตามเดือนจีนตั้งแต่เดือน 7 ถึงเดือน 10 ดังนี้

ชิกเต็ง เจ็ดตรง (ในเดือน 7 จีน กลางคืนดาวลูกไก่ขึ้น พอดาวลูกไก่เที่ยงตรงหัวก็สว่างพอดี ต้องรีบกลับฝั่งก่อนสว่าง มิฉะนั้นจะไม่มีลม)

โป๊ยเซี๊ยะ แปดบ่าย (ในเดือน 8 จีน ตอนใกล้รุ่งเช้าดาวลูกไก่จะเอียงไปทางตะวันตกหน่อยหนึ่ง ถึงเวลากลับฝั่งได้แล้ว)

เก๋าเกี๋ย เก้าบ่ายมาก (ในเดือน 9 จีน ตอนใกล้รุ่งเช้าดาวลูกไก่จะเอียงไปทางตะวันตกมาก ต้องรีบกลับเข้าชายฝั่งได้แล้ว)

จั๊บโละตี้ สิบตกดิน (ในเดือน 10 จีน ถ้าเห็นดาวลูกไก่เริ่มตกขอบฟ้าต้องรีบเข้าฝั่ง)

การดูดาวจระเข้ ใช้ดูบอกเวลาช่วงประมาณเดือน 10 เดือน 11 จนสิ้นเดือนยี่ของจีน โดยจะดูลักษณะการกลับตัวของจระเข้บนท้องฟ้า เพื่อบอกเวลาใกล้รุ่ง ให้นำเรือกลับฝั่ง

การดูดาวว่าว ใช้ดูบอกเวลาในเดือน 3 ถึงเดือน 6 จีน จับสังเกตตามการเอียงของดาวว่าตะแคงอย่างไรจึงจะต้องรีบกลับฝั่ง

ดาวว่าวยังเป็นหมายสำคัญยิ่งในการบอกทิศใต้ บางทีชาวบ้านเรียกดาวกลุ่มนี้ว่า “ดาวใต้” คนจีนเรียก น่ำเต็ง (น่ำ-ใต้, เต็ง-เสมอ) ดาวสมอใต้ อันหมายถึงกลุ่มดาว Southern Cross กลุ่มเดียวกับที่ปรากฏอยู่บนธงชาติออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

คำทำนาย ดาวหาง ตำรา ดูดาว
คำทำนายดาวหางที่ปรากฏตามทิศต่าง ๆ จากคัมภีร์ตำราดาว ฉบับขุนโพธิ์ เมืองเพชรบุรี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2543 )

วิธีตรวจหาดาวว่าวมิใช่เรื่องยาก ตาภักดิ์เล่าว่า ให้กำมือยื่นไปข้างหน้า คว่ำมือเหยียดนิ้วหัวแม่มือลงให้ติดเส้นขอบฟ้า (Horizon) ตรงปลายนิ้วชี้ที่ชี้ขึ้นบน กวาดไปพบกลุ่มดาวโดดเด่นเห็นสว่างแจ้งสี่ดวง โชติจรัส มีดวงน้อยอ่อนแสงแอบอยู่ข้าง ๆ นั่นแหละคือกลุ่มดาวว่าว ปกติดาวว่าวจะเดินเกาะขอบฟ้าทางทิศใต้ ถ้าฟ้าแจ่มจะมองเห็นเกือบทุกคืนในหน้าเดินเรือ ลักษณะดาวว่าวที่ปรากฏ ช่วงหัวค่ำเอียงซ้าย เที่ยงคืนตรง ครึ่งคืนไปแล้วเอียงขวา

ชาวเรือจะดูดาวว่าวเป็นหลักเพื่อบอกทิศทาง ส่วนดาวเหนือ (Polaris) ดูยาก 100 คนจะดูได้สัก 10 คน แถมยังริบหรี่ อ่อนแสง เวลาอากาศไม่ดีพานไม่เห็นดาวเหนือเอาง่าย ๆ การหาทิศเหนือจึงต้องเริ่มจากการสังเกตดาวว่าวทางทิศใต้ แล้วค่อยกำหนดหาทิศเหนือทีหลัง

แต่ถ้าต้องการสังเกตเฉพาะเจาะจงไปยังทิศเหนือ ก็ยังมีดาวจระเข้เป็นหมายสำคัญ ดาวจระเข้ 4 เดือนจะเปลี่ยนตำแหน่งอย่างชัดเจนหนึ่งครั้ง

ยังมีดาวอีกดวงหนึ่ง ชาวเรือเรียกกันว่า “ดาวเรือเสีย” ซึ่งเห็นแล้วมักสับสน คิดว่าเป็นดาวรุ่งหรือดาวพระศุกร์ (Venus) รีบออกเรือนึกว่าใกล้สว่าง แต่รอเท่าไหร่ ฟ้าก็ไม่สาง ดาวดวงนี้สว่างโชติคล้ายดาวรุ่ง แต่สุกก่ำน้อยกว่า เป็นไปได้ว่า “ดาวเรือเสีย” อาจจะหมายถึงดาวพระเคราะห์ดวงอื่น ๆ เช่น ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ที่มีความสว่างคล้าย ๆ กัน บางฤดูกาลขึ้นให้เห็นตั้งแต่หัวค่ำยันเช้า ใครดูดาวไม่แม่น ก็ถูกท่านจูปิเตอร์ต้มเสียสุกไป ส่วนดาวอื่น ๆ ที่ คนเรือ ดูอยู่บ่อย ๆ ยังมีดาวหมา ดาวรุ่ง และดาวประจำเมือง

ดาวหมา อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ดาวหมามีดาวจระเข้ เมื่อสอบถามเปรียบเทียบดูแล้วน่าจะเป็นนักษัตร Auriga ที่มีดาว Capella ปรากฏเห็นชัดในดาวกลุ่มนี้

ดาวรุ่ง ขึ้นตอนใกล้สว่าง คือดาวพระศุกร์ (Venus)

ดาวประจำเมือง ขึ้นทางทิศตะวันออก เดินให้เห็นทั้งคืน ถ้าเมฆฝนมากจะเห็นวับ ๆ แวม ๆ

สืบถามดูแล้ว ดาวประจำเมืองมิได้หมายถึงดาวรุ่งหรือดาวพระศุกร์ มองเห็นตอนใกล้เช้ากับหัวค่ำเพียงดวงเดียว แต่ยังอาจหมายถึงดาวเคราะห์สว่างดวงอื่น ๆ ดังเช่น ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ซึ่งปี พ.ศ. 2542 โคจรไปพร้อมกับกลุ่มดาวราศีเมษ หรือบางทีดาวสุกสว่างที่เห็นก็อาจจะเป็นดาวเสาร์ (Saturn) ที่มีความสว่างน้อยลงมาอีกด้วยก็ได้

ตำราดูดาวของตาภักดิ์ยังมีรายละเอียดยิบย่อยอีกมาก โดยเฉพาะการใช้เป็น “หมาย” กลางทะเลลึก โดยสังเกตมุมของดาว 3 ดวงที่มาตัดกัน พร้อมกับแนวทิวเขา และการสังเกตกระแสลม ท่านบอกว่า กระทั่งทำของตกก็สามารถกลับไปงมได้ถูกในวันรุ่งขึ้น

วิชาของตาท่าจะสูญไปกับตัว ตาบอกเช่นนั้น และเท่าที่ถามมา คนบ้านตาในวัยหกสิบเจ็ดสิบกว่า ๆ ก็ไม่มีใครดูดาว รู้จักดวงดาวได้แม่นยำอย่างตาอีกแล้ว

คำทำนายพระจันทร์ จากคัมภีร์ตำราดาว ฉบับขุนโพธิ์ เมืองเพชรบุรี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2543 )

กี่ร้อยปีขององค์ความรู้ที่สั่งสมมากำลังจะกลายเป็นความทรงจำ คนเรือประมงพื้นบ้านรุ่นใหม่บอกว่า ปรับมาใช้แสงไฟจากคอนโดมิเนียมชายฝั่ง จะกำหนดทิศ กำหนดหมายได้ง่ายกว่าดวงดาวมาก เครื่องเรือหลุดตกจมทะเล ลองใช้คอนโดแท่งต่าง ๆ เป็นหมาย หักเข้าสามมุม เช้ารุ่งขึ้นก็ไปงมเครื่องเรือกลับคืนมาได้เหมือน ๆ กัน ที่ง่ายกว่าก็เพราะคอนโดมิเนียมไม่มีตีน มันย้ายที่ไปไหนไม่ได้ ผิดกับดวงดาว

“เดินสับสนอยู่ทั้งคืน” เขาว่าอย่างนั้น “เห็นแล้วปวดหัว…ไม่รู้อีกสักกี่ชาติถึงจะดูเป็น” ฟังแล้วก็สะท้อนใจ คอนโดมิเนียมรุกรานเข้าไปแทนที่กระทั่งดวงดาว

แต่อีกนัยหนึ่งนั่นก็เป็นการปรับตัวของภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ต้องอยู่ “ให้ได้” และ “ให้ทัน” กับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ เขาจึงได้อาศัยประโยชน์อันไม่มีใครคาดถึงของคอนโดชายฝั่ง ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์อย่างเดียวด้วยซ้ำ ที่สิ่งปลูกสร้างแปลกหน้าเอื้อให้กับชาวบ้านเจ้าของถิ่นโดยตรง

ส่วนดวงดาวก็ยังคงกะพริบแสงพราวพร่างให้กับมนุษย์ทุกสมัย เป็นที่มาของปรีชาญาณ รอยฝันและจินตนาการให้กับทุกผู้คน ที่สบโอกาสได้ดื่มยามแหงนมองท้องฟ้าด้วยดวงตาคู่เดิมของมนุษย์ที่เคยเพ่งพินิจดวงดาวสืบทอดกันมาตั้งแต่วันเริ่มต้นของอารยธรรม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “คนเรือดูดาว” เขียนโดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2565