ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยื่น “ลาออก” เพราะไม่พอใจที่รัฐสภาได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2491 อันมีผลให้ ส.ส. ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นนั้น คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แทนจังหวัดพระนคร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และ ร้อยโทสัมพันธ์ ขันธะชวนะ ผู้แทนจังหวัดนครราชสีมา ไม่สังกัดพรรคการเมือง
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีนั้นจะมีคณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นผู้พิจารณาก่อนจะมีการพิจารณาขั้นถัดไปในการประชุมสภาผู้แทนฯ โดยมีการประชุมสภาผู้แทนฯ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) วันที่ 16-17 กันยายน พ.ศ. 2491 (ครั้งที่ 26-27/2491 ตามลำดับ)
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังกล่าวได้มีรายการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษของ ส.ส. และในท้ายที่สุดสภาผู้แทนฯ ให้การเห็นชอบพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2491 มีผลให้ขึ้นเงินเดือนประจำตำแหน่ง ส.ส. เป็นจำนวน 1,000 บาท
โดยเหตุที่ทั้งสองท่านยื่นลาออกนั้นมีปรากฏหลักฐานในบันทึกการประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) ครั้งที่ 28/2491 วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2491
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้เหตุผลในหนังสือลาออก ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2491 ว่า “ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่สมาชิกสภานั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าด้วยความไว้วางใจจากประชาชนโดยเฉพาะในเขตต์เลือกตั้งของข้าพเจ้าอีกต่อไป จึงขอลาออกจากสมาชิกภาพตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
ขณะที่ ร้อยโทสัมพันธ์ ขันธะชวนะ ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวมิสามารถที่จะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามอุดมคติในฐานะผู้แทนที่ได้รับปากประชาชนมาได้ จึงขอลาออกแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
ในช่วงท้ายการประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) ครั้งที่ 28/2491 วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2491 ที่ให้การรับรองพระราชบัญญัติงบประมาณไปแล้วนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายถึงข้อสงสัยของ ส.ส. หลายคน เนื่องจากรัฐบาลถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ผลักดันเรื่องขึ้นเงินเดือนให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา
จอมพล ป. อภิปรายว่าการขึ้นเงินเดือนนี้เป็นเรื่องสมควรและเหมาะสมตามกาลสมัย และได้ยกเหตุผลส่วนตัวว่า ตนนั้นเคยเป็น ส.ส. มาก่อน เคยได้เงินเดือน ส.ส. จากแค่ 100 บาท 200 บาท และปัจจุบันก็ขึ้นมาเพียงแค่ 350 บาท ซึ่งมิได้มากพอต่อการใช้จ่ายที่ ส.ส. จำเป็นต้องใช้ในการลงพื้นที่ไปดูแลประชาชน อีกทั้งยังเห็นว่าตำแหน่ง ส.ส. เป็นตำแหน่งที่ทำงานแก่บ้านเมือง ควรได้รับเงินเดือนที่สมฐานะและภาระที่เข้ามาเป็นผู้แทนของประชาชน
จอมพล ป. ระบุว่าการขึ้นเงินเดือนเป็นเสมือนการ “เขยิบ” สถานะของ ส.ส. ให้สูงขึ้น ดังความอภิปรายในสภาผู้แทนฯ ว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นในการที่จะได้เลื่อนฐานะในเรื่องค่าใช้จ่ายให้เพื่อให้สมกับตำแหน่งซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูง”
ต่อมาไม่นาน จอมพล ป. ได้แต่งตั้งให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491
ครั้นเมื่อเปิดการประชุมสภาผู้แทนฯ (วิสามัญ) ครั้งที่ 6/2491 วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2491 มี ส.ส. หลายคนทักท้วงกรณีของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ โดยผู้เปิดประเด็นเรื่องนี้คือ นายบุญคุ้ม จันทรศรีสุริยวงศ์ ผู้แทนจังหวัดอุดรธานี โดยท่านกล่าวว่าไม่ได้ข้องใจเรื่องความสามารถของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ แต่ข้องใจส่วนที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เคยตำหนิติเตียน ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ และเคยกล่าวว่าจะไม่มาร่วมสังฆกรรมด้วย ซึ่งท่านก็ลาออกไปเพราะเรื่องขึ้นเงินเดือน แต่กลับมารับตำแหน่ง รมช. ในคณะรัฐบาลที่ผลักดันให้มีการขึ้นเงินเดือน ซึ่งดูเป็นเรื่อง “ย้อนแย้ง”
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์จึงอภิปรายต่อสภาว่า ยังคงยืนยันเหตุผลไปตามหนังสือลาออกที่ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ด้วยความไว้วางใจของประชาชนในเขตที่ตนได้รับเลือกเข้ามา และที่ได้เข้ามารับตำแหน่ง รมช. นี้เพราะนายกรัฐมนตรีทาบทามเนื่องจากเล็งเห็นว่ามีความสามารถที่จะทำงานช่วยเหลือบ้านเมืองได้ จึงยอมกลับเข้ามาทำงานในฐานะรัฐมนตรี
หม่อมเจ้านิตยากร วรวรรณ ผู้แทนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขัดข้องใจเรื่องของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เช่นกัน กล่าวกลางที่ประชุมสภาผู้แทนว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าบุคคลนี้ [หมายถึงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์] ไม่ใช่แต่ตัวข้าพเจ้าและสมาชิกคนสองคน ข้าพเจ้านึกว่าในที่นี้แทบทุกคนข้องใจเหลือสติกำลัง” และทิ้งท้ายให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ควรพิจารณาตัวเอง
จอมพล ป. จึงอภิปรายต่อสภาผู้แทนฯ ออกมาป้องแทนหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ว่าที่แต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลเพราะเห็นว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นคนมีความสามารถและทำไปเพื่อมุ่งประโยชน์แก่บ้านเมือง
นายล้วน เวชาลิกานน ผู้แทนจังหวัดนครปฐม ก็มีความขัดข้องใจไม่หายและรู้สึกไม่พอใจตั้งแต่ครั้งประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งก่อนที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เคยกล่าวว่าจะไม่ร่วมทำสังฆกรรมในสภาผู้แทนฯ แห่งนี้คือการเหยียดหยันต่อ ส.ส. ด้วยกันเอง นายล้วนได้กล่าวว่า “ท่าน [หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์] พูดยังไม่เกินขวบปีแล้วกลับมาอย่างนี้ จะทำให้เราเชื่อถือกันได้อย่างไร” และได้เสนอญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
นายเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนฯ พยายามระงับการโต้เถียงเรื่องนี้ไม่ให้เลยเถิด เนื่องจากการเปิดประชุมวันนี้เพื่อรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติม และเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่นี้อยู่นอกเหนือวาระไปไกล แม้จะพยายามระงับมิให้วุ่นวาย แต่ก็มี ส.ส. อีกหลายคนที่ไม่ยอมจบประเด็นนี้ รวมถึงนายฉ่ำ จำรัสเนตร ผู้แทนจังหวัดนครศรีธรรมราช
นายฉ่ำได้พยายามวิงวอนของร้องต่อประธานสภาผู้แทนฯ ให้ได้พูดเรื่องนี้กันต่อไป แต่ประธานสภาไม่ยินยอม นายฉ่ำจึงลุกขึ้นเดินและยังคงไม่ยอมหยุดอภิปราย ไม่ยอมนั่งอยู่กับที่ตามที่ประธานสภาผู้แทนฯ สั่ง จนเป็นเหตุโกลาหล ถึงกับประธานสภาผู้แทนฯ ต้องเรียกตำรวจมาจับตัวออกไปจากที่ประชุม
นายฉ่ำกล่าวว่า “ไม่ได้ จับไม่ได้ เราเป็นผู้แทนแห่งประเทศไทย เราต้องขอพูด เราไม่ยอม เราต้องขอพูด ทำเราดี ๆ ขอพูดสัก 3 วินาที นี่ตำรวจทำกับผู้แทน 18 ล้านคน ดูซิ ดูทำกับข้าพเจ้า ทำอย่างนี้ไม่ได้ท่านประธาน” เมื่อระงับเหตุได้แล้ว ประธานสภาผู้แทนฯ จึงดำเนินการประชุมวาระอื่นต่อไป
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ทำกรรมดี ทำไมติดคุก” พระปัญญานันทฯถกธรรมกับ “ครูฉ่ำ” ส.ส.ติดคุกจากที่ด่ารัฐบาล
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ครูฉ่ำ(อดีต)ส.ส.นครฯ 5 สมัย หาเสียงเลือกตั้ง ซื้อปชช.ด้วย “ใจ” มิใช่ “เงินทอง”
เป็นที่น่าสังเกตุว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เป็น 1 ใน 15 คนในคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนั้นที่มีการพิจารณาเรื่องการขึ้นเงินเดือน และเมื่อได้มาดำรงตำแหน่ง รมช. ซึ่งเป็นตำแหน่งมีเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 2,500 บาท มากกว่าเงินเดือน ส.ส. ก่อนปรับหลายเท่าตัวเสียอีก
เมื่อได้รับแรงกดดันมาก ๆ เข้า ในที่สุดหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ จึงลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม ปีถัดมา ดำรงอยู่ในตำแหน่งเดือนเศษเท่านั้น
อ้างอิง:
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. (2517). รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ช. ชุมนุมช่าง
การประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) ครั้งที่ 26/2491 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2491, จาก http://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll.php
การประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) ครั้งที่ 27/2491 วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2491, จาก http://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll.php
การประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) ครั้งที่ 28/2491 วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2491, จาก http://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll.php
การประชุมสภาผู้แทนฯ (วิสามัญ) ครั้งที่ 6/2491 วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2491, จาก http://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll.php
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 5 มิถุนายน 2562