ชีวิตพิสดารของ “ครูฉ่ำ” สส.ติดคุกจากที่ด่ารัฐบาล วิถีการเมืองแบบ “คนบ้าที่มีสติ”

ฉ่ำ จำรัสเนตร ส.ส. นครศรีธรรมราช การเมือง เลือกตั้ง
ครูฉ่ำ หรือ ฉ่ำ จำรัสเนตร สส.นครศรีธรรมราช (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2529)

ในบรรดานักการเมือง หรือ สส. ที่สร้างสีสันให้วงการย่อมมีชื่อ ครูฉ่ำ รวมอยู่ด้วย จากพนักงานห้ามล้อขบวนรถสินค้าบนรถไฟที่สนับสนุนคณะราษฏรจนมีโอกาสเข้ารับราชการการเมือง และเคยติดคุกจากข้อหา “กบฏในราชอาณาจักร” สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากการตัดสินของศาลทหาร ซึ่งครูฉ่ำที่ได้รับคำแนะนำให้ยอมรับว่า สติไม่สมบูรณ์ กลับให้การว่ากระทำโดยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จนศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี

นายฉ่ำ จำรัสเนตร หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ครูฉ่ำ” ลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรที่เมืองนครศรีธรรมราชบ้านเกิด และชนะเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2480 เอาชนะผู้สมัครที่มีใบปริญญา คะแนนห่างหลายช่วงทีเดียว จากพนักงานห้ามล้อขบวนรถไฟแบบขบวนสินค้าที่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้ร่วมงานกลายมาเป็นนักการเมืองที่มีสีสันให้กับวงการ และมักถูกกล่าวหาว่า “บ้า” จากพฤติกรรมที่แปลกประหลาดหลายประการ

Advertisement

วีรกรรมของครูฉ่ำที่หลายคนอาจคุ้นเคยคือการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (ด่า) จนถูกตั้งข้อหากบฏในประเทศ แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น นายฉ่ำ เคยทำงานและเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรมในการรถไฟครั้งสมัยเป็นพนักงานห้ามล้อขบวนรถไฟ บนขบวน 307/308 เมื่อปี พ.ศ. 2473 จากที่ถูกนายแม้น พูลเรือง พนักงานรักษารถร้องเรียนว่า นายฉ่ำ หยิบพุทราในเข่งไม่กี่ลูกจากขบวนรถมารับประทานแก้กระหาย กรมรถไฟลดเงินเดือนนายฉ่ำ จากเดือนละ 20 บาท เหลือเดือนละ 15 บาทโดยที่ไม่ได้เรียกนายฉ่ำ ไปสอบสวนซักถามข้อเท็จจริง

บู๊บนรถไฟ

เบื้องหลังของวีรกรรมครั้งนี้ แสวง เย็นสมุทร เขียนเล่าในบทความ “ครูฉ่ำ คนดีเมืองนครฯ” ว่า ตามปกติแล้วพนักงานรถไฟกับพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้บริการรถไฟสนิทสนมกัน แม่ค้าที่มักขนสินค้าจะหยิบยื่นอาหารหรือผลไม้มาให้พนักงานที่ทำงานหนักเป็นธรรมดา หรือหากพนักงานจะหยิบอาหารผลไม้มากินแก้กระหายบ้างเล็กน้อยก็ไม่ถือวิสาสะกัน ทำนองรักใคร่เห็นใจกัน พนักงานรถไฟส่วนมากมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา

นายฉ่ำก่อวีรกรรมเปิดฉากต่อสู้กับนายแม้นด้วยการไต่บนหลังคารถตู้สินค้าขณะที่รถไฟวิ่งเต็มฝีจักร มุ่งหน้ามาที่ตู้สุดท้ายที่นายแม้น ทำงาน เมื่อถึงที่ก็โต้เถียงกัน แสวง เย็นสมุทร ผู้เขียนที่รู้จักคุ้นเคยกับนายฉ่ำ เล่าเหตุการณ์ว่า นายฉ่ำท้าให้นายแม้นสาบานว่าไม่เคยหยิบฉวยสินค้ามา บางครั้งก็เห็นนายแม้นหยิบไปเป็นชะลอม ซึ่งนายแม้น แก้ตัวว่า ไม่ได้หยิบไปกินเอง แต่เอาไปให้เจ้านาย

หลังจากโต้เถียงกัน ทั้งคู่เริ่มซัดกันบนรถไฟ ผลของการต่อสู้ต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บรุนแรงกันพอสมควร และนายฉ่ำก็จำต้องถอดเครื่องแบบพนักงานห้ามล้อรถไฟไปหลังเหตุการณ์นี้

ผู้เขียนเล่าว่าหลังจากนั้น นายฉ่ำ เข้ารับราชการเป็นครูโรงเรียนเทศบาล วัดชนะสงคราม อำเภอพระนคร จึงกลายเป็นครูที่ใครก็เรียกกันติดปากว่า “ครูฉ่ำ”

บนเส้นทางการเมือง และในคุกลาดยาว

ครูฉ่ำ ลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2476 ในบ้านเกิด แม้วุฒิการศึกษาจะสู้คู่แข่งไม่ได้แต่ก็ใช้กล่าวอ้างความดีที่บรรพบุรุษทำประโยชน์ไว้ยาวเหยียด แต่ก็ไม่สำเร็จ จนเลือกตั้งปี 2480 ครูฉ่ำ ปรับวิธีใหม่ ศึกษากลยุทธ์คู่แข่งอย่างดี ปรับวิธีหาเสียงใหม่ด้วยการคลุกคลีกับประชาชน ร่วมงานของชาวบ้านแบบเป็นกันเอง และแจก “ไต้” สำหรับจุดแสงสว่างหลังเลิกภาพยนตร์ช่วยส่องทางระหว่างเดินทางกลับ ขณะที่ผู้สมัครอื่นลงทุนฉายสำหรับหาเสียงด้วยงบมหาศาล

ในแวดวงการเมืองครานี้เองที่นายฉ่ำ ต้องถูกมรสุมเล่นงานจากข้อหา “กบฏในราชอาณาจักร” สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจ ครูฉ่ำติดคุกลาดยาว ย่านบางเขน กรุงเทพฯ

เรื่องราวที่เกิดในคุกถูกบอกเล่าผ่านจดหมายของ “ศิวะ รณชิต” ผู้เขียนหนังสือ “จดหมายจากคุกลาดยาว” มีเนื้อหาบางตอนเล่าถึงบทบาทในเรือนจำที่แตกต่างจากในสภา หรือนอกรัฐสภา อาทิ ป้องปากตะโกนร้องดังลั่นคุกที่แป้นเสาธงกลางถนนคอนกรีตหน้าสถานพยาบาลของเรือนจำ หรือกรณีอ้าปากกว้างเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น (ซึ่งยังถกเถียงว่าเป็นความประพฤติแบบประเพณีท้องถิ่นหรือเป็นความประพฤติฉบับคนสติไม่สมบูรณ์อยู่)

กรณีที่ครูฉ่ำ ยืนกินแสงหน้าสภาพระที่นั่งอนันตสมาคมทำให้การจราจรติดขัด สมัยที่เป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็อาจเฉยเสีย แต่เมื่อเป็นจอมพลสฤษดิ์ กลับโดนจับขังคุก

หรือวีรกรรมในคุกช่วงเย็นที่มักวิ่งหนีผู้คุมซึ่งตามตัวไปนอนโรงพยาบาลเรือนจำ เพราะถือว่าเป็น “ผู้ป่วยตลอดกาล” จดหมายเล่าว่า นายฉ่ำก็วิ่งหนีเสมอ บางครั้งกระโจนลงคูน้ำ ละเลงตัวเองด้วยโคลนจนผู้คุมไม่กล้าต้องตัว บางครั้งนุ่งโสร่งวิ่งหนีผู้คุมจนโสร่งหลุด เปลือยกายล่อนจ้อน

แต่เมื่อเพื่อนเมาเอ่ยปากด่ารัฐบาล ครูฉ่ำกลับไม่คล้อยตาม เรียกได้ว่าเป็น “คนบ้าที่มีสติ” คนหนึ่ง

เมื่อครั้งศาลทหารตัดสินจำคุก 5 ปี ข้อหากบฏในประเทศ จดหมายจากลาดยาวเล่าว่า ผู้ชำนาญการในกฎหมายหลายคนแนะนำว่า ให้ยอมรับว่าบ้า หมอโรงพยาบาลโรคจิตจะรับรอง ศาลย่อมไม่ลงโทษ ซึ่งครั้งที่คนแนะนำครูฉ่ำก็เชื่อ แต่เมื่อให้การจริง กลับยืนยันว่า ที่ยืนด่ารัฐบาลตามที่ชุมนุมบ่อยๆ ทำโดยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่บ้า และทำเพราะรักชาติ

หลังคำตัดสินออกมา ครูฉ่ำสงบขึ้นมาก ไม่ร้องเรียกกา หรือรับประทานแสงอาทิตย์ทุกเช้าเหมือนเดิม ทำให้ผู้เขียนจดหมายมองว่า ครูฉ่ำ “ไม่ได้บ้า” แต่แสดงบทได้เนียนสนิท ซึ่งมองว่า นักการเมืองเห็นว่าเวทีการเมืองคือเวทีละคร ใครแสดงบทบาทได้เนียนตบตาได้เนียน คนนั้นถือเป็นนักแสดงชั้นยอด

ถกธรรมกับท่านปัญญานันทฯ

จดหมายอีกฉบับเล่าถึงช่วงที่น่าสนใจเมื่อก่อนขึ้นปีใหม่ เรือนจำแจ้งว่า จะมีพระมาจะมาเทศนาให้ฟัง พระรูปที่ว่าเป็นพระปัญญานันทฯ และมาเทศนาเรื่อง “การให้อภัยศัตรู”

ผู้เขียนเล่าว่า ท่านปัญญานันทฯ พูดเก่งมาก ฟังกันเพลิน กระทั่งช่วงเปิดให้ถามที่ครูฉ่ำลุกขึ้นถามเป็นคนแรก

คำถามที่น่าสนใจของครูฉ่ำ เอ่ยว่า “พระคุณเจ้าบอกได้ไหมว่า กระผมต้องมาทุกข์ทรมานเช่นนี้เพราะอะไร เพราะกรรมกระนั้นหรือ เป็นไปไม่ได้หรอก กระผมทำแต่กรรมดี เหตุใดจึงรับการตอบแทนเช่นนี้”

ท่านปัญญานันทฯ ถามว่า “กรรมดีที่โยมว่านั้นมีอะไรบ้าง”

ครูฉ่ำบรรยายให้ฟังว่า ไม่เคยฆ่าสัตว์ คำตอบที่ได้กลับมาคือ “แต่ก็บริโภคชีวิตสัตว์ที่คนอื่นเขาฆ่ามา เท่ากับสนับสนุนให้สัตว์ทั้งหลายถูกฆ่า ยังมีกรรมดีอะไรอีก”

“เขาหาว่ากระผมด่ารัฐบาล”

ท่านปัญญานันทฯ ถามกลับ ว่า “ด่าจริงหรือเปล่า”

“ด่าจริงขอรับ กระผมทำเพื่อประชาชน รัฐบาลดีกระผมสรรเสริญ รัฐบาลไม่ดีกระผมด่า เขาเลยจับ”

ท่านปัญญานันทะฯ ยิ้มแล้ว เอ่ยว่า “กรรมดีของเรานั้น คนอื่นเขาอาจเห็นเป็นกรรมชั่ว แล้วแต่ทัศนะของเขา”

ท่านยังมองไปที่โซ่ตรวนที่พันธนาการครูฉ่ำแล้วถามว่า “เหตุใดเขาจึงพันธนาการโยมเช่นนั้น ผิดกับคนอื่นๆ ไม่มีใครต้องพันธนาการ”

“เขาหาว่ากระผมอาละวาด กระผมไม่ได้อาละวาด เพียงแค่เรียกให้เขามาเปิดประตูขัง เขามาช้า กระผมเลยเอาโต๊ะทุบส้วมโรงพยาบาลแตก เอาเศษไม้ยัดไว้จนเต็ม…”

“นี่แหละกรรมของโยมละ…”

คำตอบของท่านปัญญานันทฯ ยังตามมาด้วยเสียงหัวเราะครืน

ครูฉ่ำยื่นเรื่องไปยังกรมฯเพื่อขอให้กลับมาอยู่คุกที่เมืองนครฯ บ้านเกิดอยู่หลายเดือนจนสุดท้ายก็สำเร็จ “ศิวะ รณชิต” เล่าในจดหมายว่า ก่อนครูเดินทางไป พวกรับโทษในคุกตะโกนแซวว่า “ไปแล้วอย่าไปลับนะ ไปแล้วเดี๋ยวกลับมาอยู่ด้วยกันใหม่”

ครูฉ่ำตอบกลับมาว่า “ไม่เอาโว้ย เข็ดแล้วโว้ย ไม่ว่าคุกนี้หรือคุกไหน เข็ดจริงๆ”

จดหมายสรุปเรื่องไว้ว่า แม้ครูฉ่ำอาจเป็นนักการเมืองประเภทที่ถือเวทีการเมืองคือเวทีละคร แต่นักการเมืองแบบครูฉ่ำ ไม่ปรากฏว่า เคยกระทำชั่วร้ายใดๆ ไม่ทุจริตเยี่ยงผู้แทนราษฎรบางราย และปรากฏแก่สายตาชาวเมืองนครศรีธรรมราช อีกทั้งยังถือเป็นนักการเมืองที่มีบทบาททั้งในรัฐสภาและนอกสภาที่หลากหลายมากที่สุดคนหนึ่ง

แม้เวลาผ่านไปหลายคนอาจลืมกันไปบ้าง แต่สำหรับประชาชนเมืองนครฯส่วนใหญ่ ถือได้ว่าเขาเป็นผู้แทนราษฎรที่อยู่ในความทรงจำคนหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

แสวง เย็นสมุทร. “ครูฉ่ำ คนดีเมืองนครฯ”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 7 ฉบับที่ 9, กรกฎาคม 2529


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2562