การจลาจลโดยผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เมื่อ “ตำรวจ” (บางคน) บุกปล้น-ทำลาย บ้านนายกฯ “คึกฤทธิ์”

หม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช พูดคุย กับ กลุ่ม ตำรวจ
ภาพถ่ายวันที่ 20 สิงหาคม 2518 นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ ปราโมช พูดคุยกับกลุ่มตำรวจที่พากันบุกทำลายบ้านของท่าน (AFP PHOTO)

พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือที่เรียกกันว่า “หม่อมคึกฤทธิ์” แม้จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในทางการเมือง ด้วยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในช่วงที่ประชาธิปไตยของไทยกำลังเบ่งบาน เมื่อชาวบ้านสามารถขับไล่เผด็จการพ้นประเทศได้สำเร็จ (เหตุการณ์ 14 ตุลา 16) และเพิ่งได้รัฐธรรมนูญใหม่ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาใช้หยกๆ (ปลายปี 2517)

แม้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น (ต้นปี 2518) พรรคกิจสังคมของ หม่อมคึกฤทธิ์ จะได้คะแนนเสียงเพียงแค่ 18 เสียง ซึ่งหากเทียบกันแล้วพรรคกิจสังคมเข้าป้ายเป็นอันดับห้าเท่านั้น แต่ก็ด้วยบารมีของหม่อมคึกฤทธิ์จึงทำให้พรรคร่วมอื่นๆ ยกมือสนับสนุนให้ท่านเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 13 ของไทย

Advertisement

ในช่วงที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นนายกฯ นั้นมีการชุมนุมประท้วงขึ้นเป็นประจำ ทั้งนักเรียนนักศึกษา หรือชาวนาชาวไร่ รวมไปถึงกลุ่มสังคมอื่นๆ เช่นการชุมนุมของชาวนาภาคเหนือและอีสานในเดือนพฤษภาคม 2518 เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาที่ดินทำกิน รวมถึงการประท้วงของกลุ่มตำรวจในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันโดยกลุ่มนายตำรวจจากภูธรจำนวนหลายร้อยคน ที่ออกมาคัดค้านการออกกฎหมายที่จะให้โอนอำนาจสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเรียกร้องให้มีการจับกุมผู้ถูกกล่าวหา 9 รายในคดีเผาป่าและบุกรุกยึดครองเหมืองแห่งหนึ่งในภาคเหนือ กลับมาอีกครั้ง หลังผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้ได้รับการปล่อยตัว โดยกลุ่มตำรวจที่มาประท้วงอ้างว่า “กฎต้องเป็นกฎ” (คุณตำรวจกลุ่มนี้อาจไม่ค่อยเชื่อในหลักการของกระบวนการยุติธรรมที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหาถือว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์โดยสิ้นสงสัยแล้วว่ากระทำผิดจริง)

สื่อฝรั่ง (New York Times) เล่าว่า เมื่อมีการจับกุมผู้ถูกกล่าวหากลุ่มนี้ในตอนแรก ได้มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งออกมาชุมนุมประท้วงโดยอ้างว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้ถูกใส่ความโดยกลุ่มต่อต้านฝ่ายซ้าย, นักศึกษา และชาวนาในรัฐบาล หลังจากนั้นจึงมีการปล่อยตัวกลุ่มผู้ต้องหาและมิได้มีการดำเนินคดีต่อ ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่พอใจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะคุณตำรวจทั้งหลาย นำไปสู่การชุมนุมของตำรวจจำนวนหลายร้อยคนที่จับกลุ่มเดินขบวนไปยังบ้านนายกฯ โดยมีขบวนรถตำรวจนำทางให้เสร็จสรรพ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องข้างต้นให้กับนายกฯ คึกฤทธิ์

เมื่อไม่พบตัว หม่อมคึกฤทธิ์ ผู้รักษากฎหมายกลุ่มนี้จึงฉวยโอกาสบุกรุกบ้านของท่าน ซึ่งสื่อฝรั่งท่านว่า เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายเหล่านี้ทั้งปล้นและทำลายข้าวของในบ้านของท่านคึกฤทธิ์จนได้รับความเสียหายหนักเอาการ เรียกได้ว่าเป็นการก่อจลาจลโดยผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ไทยเลยทีเดียว

ว่ากันว่า เหตุที่คุณตำรวจเข้าโมโหโกรธากันถึงขนาดนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากความที่ท่านคึกฤทธิ์ออกจะเป็นคนที่มีฝีปากจัดสักหน่อย เมื่อท่านไปพูดเอาไว้ก่อนการชุมนุมของคุณตำรวจว่า ถ้าตำรวจนัดหยุดงาน ก็จะไปเอา “ลูกเสือ” มาทำหน้าที่แทนซะเลย (แต่เหตุใหญ่ของการประท้วงคงไม่พ้นการแบ่งขั้วทางการเมืองที่รุนแรงในสมัยนั้น)

แม้ว่า ตำรวจผู้น้อยเหล่านี้จะไม่ให้ความเคารพท่านคึกฤทธิ์ในฐานะผู้บังคับบัญชาหรือแม้กระทั่งในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่พึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเอาซะเลย แต่นายกฯ คึกฤทธิ์ก็ยังมีความเป็นผู้ใหญ่ใจกว้าง เมื่อนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่มาขอโทษขอโพยแทนเหล่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์กลุ่มนี้ ท่านคึกฤทธิ์ก็มิได้ถือสาเอาความได้แต่กล่าวเพียงว่า “บ้านเรือนเสียหายยังดีกว่าคนได้รับบาดเจ็บล้มตาย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2560