สุพรรณบุรี-ลพบุรี แย่งกันเป็น  “ศรีวิชัย”?

ซากศิลปกรรมสมัยทวารวดี ที่เมืองลพบุรี ถูกทำลายเพราะการสร้างถนน

ในศิลปวัฒนธรรมผมได้แฉหลักฐานของ Dr. Watanabe ว่าหลักฐานจีนสมัยราชวงศ์ถังระบุว่าเมือง “ตันเมยลิง” (ตามพรลิงค์) เป็นเมืองขึ้นของ “ตอลอปอตี” (ทวารวดี) ระยะหนึ่ง ซึ่งฟังแปลกหู เพราะปราชญ์สยามส่วนใหญ่เห็นว่า เมืองตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) หากไม่เป็นศรีวิชัยเองก็ควรเป็นเมืองขึ้นกับศรีวิชัย เพราะศรีวิชัยน่าจะอยู่เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ใกล้กัน มันจะขึ้นรัฐหรือนครในภาคกลางของสยามได้อย่างไร

เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้พบหลักฐานที่ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย แต่บังเอิญไปตรงกับหลักฐานชิ้นนี้ และยังมีข้อคิดเห็นของปราชญ์สยามบางท่านสนับสนุนอย่างไม่คาดคิด

ในหนังสือ Towards a History of Laem Thong and Sri Vijaya ของท่านอาจารย์ ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี (หน้า 195-201) ได้อ้างถึงบทความ The Designers of Barabudur ของ Dr. Paranavitana นักปราชญ์ชาวลังกา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารมหาโพธิ เดือนไวสาขา ค.ศ. 1970

Dr. Paranavitana อ้างว่าท่านได้พบตำนาน “ปรัมปราปุสตกะ” ที่จารเป็นอักษรเล็กๆ ระหว่างบรรทัดของศิลาจารึกอื่นๆ นักปราชญ์อื่นล้วนแต่หาร่องรอยของ “ปรัมปราปุสตกะ” ไม่เห็นตามจารึกที่ท่านระบุ จึงไม่ค่อยมีใครยอมรับหลักฐานชนิดนี้ ของ Dr. Paranavitana

แต่ขอให้ท่านผู้อ่านกรุณาพิจารณานิทานที่ท่านเล่าดังนี้ (ขอแปลแบบคร่าวๆ)

“พระกรุณากราจารย์เป็นพระภิกษุชาวเคาทเทศ (เบงกอล) จาริกถึงเกาะลังกาแล้วเทศนาให้พระเจ้าอุทัยที่ 1 (ราว ค.ศ. 797-801) ฟังว่าควรสร้างพระเจดีย์แบบใหม่อันนำลักษณะพระสถูปกับประติมาคารประสมกัน จะได้บุญมากถึงเป็นพระมหาจักรพรรดิชาวมลยทวีป (แหลมมลายู?) และชาวสมุทรทวีป (สุมาตรา?) จะได้กลับนับถือยอมเป็นประเทศราชเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาแต่ก่อน

“พระเจ้าอุทัยตอบว่าไม่ไหว แค่ปกครองเกาะน้อยนี้ก็บรรทมไม่ค่อยหลับ หากจะเป็นพระมหาจักรพรรดิคงไม่ต้องบรรทมเลย

“พระกรุณากราจารย์จึงจาริกต่อไปยังอุษาคเนย์ ไปโปรดพระเจ้าวิษณุแห่งสุวรรณปุระ พระเจ้าวิษณุทรงรับฟังข้อเสนอของพระอาจารย์ทรงคิดการใหญ่ว่า จะเป็นพระมหาจักรพรรดิจึงส่งทัพเรือไปตีเกาะชวาแล้วสถาปนาพระบุตรองค์หนึ่งให้ปกครองที่นั่น

“ในขณะที่พระเจ้าวิษณุกำลังจัดการชวา พระองค์ทรงได้ข่าวว่า ‘ทวารวดีเบื้องตะวันออก’ (Eastern Dvaravati) ได้ชิงเมืองตามพรลิงค์ ท่านจึงเสด็จยกทัพกลับไปแก้แต่สวรรคตกลางทาง

“ต่อจากนั้นไปพระบุตรของวิษณุราชสองพระองค์คือ พาลบุตร ครองที่สุวรรณปุระ กับ ปนัมกรณะ ครองที่ชวากลาง ต่างแย่งชิงอำนาจในแหลมทอง

“แต่แล้วเจ้าปนัมกรณะสามารถเริ่มก่อพระเจดีย์ขึ้นที่เกาะชวาและพระบุตรชื่อสมโรตตุงค์สร้างได้สำเร็จตามแบบแผนที่พระกรุณากราจารย์วางไว้ นั่นคือมหาเจดีย์ Barabudur”

เรื่องนี้เป็นเพียงความที่ Dr. Paranavitana ฝันขึ้นเองหรือปลอมขึ้นเอง? หรือว่ามันมีเค้าเป็นความจริง?

ท่านจันทร์จะให้ สุวรรณปุระ (และศรีวิชัย) อยู่ที่ไชยา ผมมักง่ายจะให้ สุวรรณปุระ อยู่ที่สุพรรณบุรีเบื้องตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วน ทวารวดีตะวันออก ควรอยู่ที่ลพบุรีเบื้องตะวันออกแม่น้ำ ต่างแย่งชิงจะเป็นใหญ่เหนือแหลมและหมู่เกาะเพื่อคุมเส้นทางการค้า

ข้อเสนอนี้ก็ตรงกับความเชื่อของ อ.มานิต และศรีศักร วัลลิโภดม และสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ว่า ภาคกลางของสยามไม่ใช่รัฐเดียว หากเป็นสองรัฐคือสุพรรณภูมิหรือสุวรรณบุรีฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ กับทวารวดีอยู่ที่ลพบุรีด้านตะวันออก

เท่าที่ผมทราบข้อความคิดนี้ยังมิได้เผยแพร่เป็นภาษาต่างประเทศจึงยากที่ Dr. Paranavitana จะรู้จักหรือว่า อ.มานิต วัลลิโภดมเคยแอบไปล้างสมองท่านถึงเกาะลังกา? ผมไม่ทราบ แต่ปราชญ์ชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าทวารวดีอยู่ที่นครปฐมและคลุมไปทั่วภาคกลาง สุพรรณบุรียังไม่เกิด และลพบุรีเป็นชานเมืองกรุงเขมร ก็ตามเซเดส์นั่นแหละ แล้ว Dr. Paranavitana จะไปทัน Dr. Manit ได้อย่างไร

การที่ “นิทาน” ของ Dr. Paranavitana ไปตรงกับหลักฐานจีนก็ยิ่งแปลกใหญ่เพราะหลักฐานจีนเล่นลำบาก กว่าจะเริ่มเล่นได้แบบงูๆ ปลาๆ จะต้องรู้จักภูมิศาสตร์อุษาคเนย์อย่างสนิทและจะต้องมีโอกาสนั่งจับเข่าคุยกับนักปราชญ์จีน Dr. Paranavitana ไม่ค่อยมีสิทธิ์เรื่องนี้เลย เพราะท่านไม่เคยมาสยามและท่านถึงแก่กรรมก่อนที่จีนจะเปิดประเทศ ยิ่งกว่านั้นบทความของ Dr. Watanabe ออกหลังบทความของ Dr. Paranavitana ที่ออก ค.ศ. 1970 หรือว่า Dr. Watanabe ไปล้างสมอง Dr. Paranavitana ก่อนหน้านั้น? ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

นอกจากนี้แล้วยังมีหลักฐานอื่นสนับสนุนว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างลพบุรี (“ทวารวดีตะวันออก” ของ Dr. P.?) กับปักษ์ใต้ เช่น

ภาพประกอบ 1

1. ที่ตำนานจามเทวีวงศ์ที่ว่า พญาชีวกะขึ้นมาตีเมือง (“ชีวกะ” ควรอ่านเป็น “ชาวกะ” เพราะอักษรบัลลวะเขียน “ชา” ว่า “…[ภาพประกอบ 1]…” คนภายหลังเห็นว่าเป็น “ชี”)

2. จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืนวัดมหาธาตุลพบุรีมีความว่า “สร้างโดยอธิบดีเมือง นังคุรุ (เซเดส์ อ่านว่า ตังคุรฺ) น่าจะตรงกับเมืองนังคุร ในจารึกภาษาทมิฬเขาพระนารายณ์เมืองตะกั่วป่า (และยังอาจจะตรงกับเมืองท่าเก่า Nangur ในแคว้นทมิฬนาฑุ)

สรุป

ผมไม่อยากชวนใครให้เชื่อปรัมปราปุษฎกะหรือ “หลักฐาน” ใดๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตา (ตาคนไม่ใช่ตาทิพย์)

แต่ด้วยเห็นว่า “นิทาน” ที่ Dr. Paranavitana เล่าสู่กันฟังในวาสารมหาโพธิ มันลงรอยเป๋งกับหลักฐานดีๆ ของเราหลายชิ้น ก็อยากชวนให้ท่านผู้อ่านช่วยรับพิจารณา

บางทีมันอาจจะช่วยให้เราเห็นภาพอุษาคเนย์ในสมัยโบราณได้ชัดมากขึ้น

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2565