ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2542 |
---|---|
ผู้เขียน | สงบ สุริยินทร์ |
เผยแพร่ |
ลพบุรี เดิมชื่อลวปุระหรือโลวปุระ ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็นลพบุรีโดยพระนารายณ์ (กษัตริย์พม่า) เมื่อ พ.ศ. 1630
มีปัญหาคาใจนักประวัติศาสตร์ไทยว่า ลพบุรีตกมาเป็นของไทยเมื่อใด?
ชัย เรืองศิลป์ กล่าวว่า “อาณาจักรลพบุรีของมอญพินาศลงก่อนหริภุญชัยหลายร้อยปี ศิลาจารึกภาษาเขมรสองหลักที่พบในเมืองลพบุรีแสดงว่า 1565 เมืองละโว้หรือลวปุระหรือลพบุรีอยู่ใต้ปกครองของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 กษัตริย์กัมพูชา นี่เป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเขมรในตอนปลายศตวรรษที่ 16
ในศตวรรษที่ 17 มีชนชาวไทยตั้งบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ไม่มีเอกราชสมบูรณ์ ยังต้องอยู่ใต้อำนาจหรืออารักขาของพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา” (ประวัติสังคมไทยสมัยโบราณก่อนศตวรรษที่ 25 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2539)
ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวไว้ในหนังสือสยามประเทศว่า “ขอมกัมพูชากับอยุธยามีความสัมพันธ์กันมา แม้ย้อนขึ้นไปสมัยก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่า เมืองละโว้หรือลพบุรี เป็นเมืองอยู่ภายใต้อิทธิพลการเมืองของขอมที่กัมพูชาเสียด้วยซ้ำ” (จากสยามประเทศ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2539)
ผู้เขียน (เรื่องนี้) มีข้อมูลใหม่ใคร่จะเสนอดังต่อไปนี้
พระเจ้าพรหมมหาราช (1583-1659) เป็นผู้ตีได้หรือยึดได้ลพบุรี ด้วยเหตุผลดังจะกล่าวต่อไปนี้ พระเจ้าพรหมมหาราชเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพังคราช ถูกขอมเมืองอุมงคเสลาแย่งเอาโยนกนครไปได้ต้องหลบไปอยู่ที่เมืองสีทวง
ต่อมา พ.ศ. 1599 พระเจ้าพรหมมหาราชขณะที่มีพระชนม์ได้ 17 พรรษา นำทัพไทยตียึดเอาโยนกนครคืนจากขอมได้ และตามตีขอมไปถึงเมืองอุมงคเสลา ยึดเมืองอุมงคเสลาจากขอมได้อย่างสง่างามและได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเวียงไชยปราการ ขอมถอยร่นลงมาทางใต้ พระเจ้าพรหมมหาราชนำกองทัพไทยตามตีถึงเมืองกำแพงเพชร ก่อนจะถึงเมืองกำแพงเพชรตีได้อาณาจักรหริภุญชัย และเปลี่ยนเป็นอาณาจักรล้านนา และตีได้เมืองศรีสัชนาลัยจากพระเจ้าพสุจราช
ระหว่าง พ.ศ. 1649 ถึง 1659 เป็นเวลา 10 ปี เสด็จจากเวียงไชยปราการมาทรงสร้างเมืองพิษณุโลก สร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศาสดา ที่สำคัญคือทรงไปยึดเอาเมืองลพบุรี เนื่องจากระยะ พ.ศ. 1630-1649 เมืองลพบุรีว่างกษัตริย์ลง…ผู้เขียนเข้าใจว่าพระนารายณ์ กษัตริย์เมืองละโว้คงสิ้นพระชนม์ลง จึงเป็นโอกาสให้พระเจ้าพรหมมหาราชทรงยาตราทัพไทย เข้ายึดไว้ได้แล้วใน พ.ศ. 1649 พระเจ้าพรหมมหาราชจึงโปรดให้เจ้าไกรสรราช พระราชโอรสกับพระชายาคือพระนางสุลเทวีพระธิดาของกษัตริย์เมืองศรีสัชนาลัย ไปครองเมืองลพบุรี
ลพบุรีจึงตกเป็นของไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บรรณานุกรม :
พระบริหารเทพธานี, พงษาวดารชาติไทย.
พระยาประชากิจกรจักร์, พงษาวดารโยนก.
ทองสืบ ศุภามารค, พงษาวดารเขมร.
ศรีศักร วัลลิโภดม. สยามประเทศ.
ชัย เรืองศิลป์, ประวัติสังคมไทยสมัยโบราณก่อนศตวรรษที่ 25.
โมทยากร, ตํานานเมืองลพบุรี.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2565