ผู้เขียน | เสมียนอัคนี |
---|---|
เผยแพร่ |
ท่อประปาดินเผา เมืองลพบุรี สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต้นกำเนิดการประปาสยาม?
ท่อประปาดินเผา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือเป็นต้นกำเนิดการประปาแห่งแรกในสยาม การวางท่อประปาในยุคนั้นจะใช้ท่อดินเผาซึ่งมีลักษณะเป็นท่อวงกลมทรงกระบอก ปลายด้านหนึ่งมีส่วนคอนเล็กลงกว่าปลายอีกด้านหนึ่งเพื่อให้สวมกันเป็นท่อยาวได้
ท่อดินเผานี้มีความหนาประมาณ 4 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางท่อกว้างประมาณ 26 เซนติเมตร มีความยาวแต่ละท่อประมาณ 48 เซนติเมตร เมื่อเรียงสวมต่อกันแล้วจะเชื่อมหุ้มรอยต่อระหว่างท่อ ป้องกันการรั่วของน้ำด้วยปูนผสมหิน จากการศึกษาสำรวจและรายงาน พบว่ามีการนำน้ำสะอาดจาก 2 แหล่งมาใช้ในพระราชวัง คือน้ำจากทะเลชุบศร และน้ำจากห้วยซับเหล็ก
น้ำจากทะเลชุบศร เพื่อนำเข้ามาใช้ในพระราชวังโดยการต่อท่อผ่านประตูน้ำปากจั่นไหลลงมายังสระแก้ว (เก่า) ที่อยู่ในบริเวณสวนสัตว์สระแก้ว และมีการต่อท่อจากสระแก้วแห่งที่ 1 มายังสระแก้วแห่งที่ 2 คือวงเวียนสระแก้ว (วงเวียนศรีสุริโยทัย)ในปัจจุบัน จากนั้นจึงมีการวางท่อน้ำตรงเข้าสู่ตัวเมืองลพบุรี
ส่วนการนำน้ำจากห้วยซับเหล็ก ซึ่งเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ใสสะอาดเกิดจากแรงธรรมชาติไหลลงมาจากซอกเขา ที่อยู่ในระดับสูงน้ำไหลแรงดี เข้ามาใช้ในเมืองนั้นเนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกลมาก จึงมีการดำเนินการเป็นสองช่วง
ช่วงแรกทำเป็นลำรางชักบังคับน้ำจากลำห้วยซับเหล็กยาวทอดจนมาถึงบริเวณท่าศาลา และมีการดำเนินงานประปาช่วงที่สองตั้งแต่ท่าศาลาจนถึงตัวเมืองลพบุรีโดยวิธีการฝังท่อดินเผาลงดิน
ระหว่างเส้นทางแนวท่อน้ำเข้าสู่เมืืองลพบุรี มีการสร้างท่อ (ปล่อง) ระบายความดันของน้ำไว้เป็นระยะๆ เพื่อใช้เป็นจุดผ่อนคลายแรงดันของน้ำในฤดูที่มีน้ำมาก กระแสน้ำไหลแรง ป้องกันมิให้แรงน้ำสูงมากเกินไป จนเกินกำลังรับน้ำของท่อน้ำดินเผา
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดลพบุรี. กรมศิลปากรจัดพิมพ์ 2542.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2561