ทะเลชุบศร

สมเด็จพระนารายณ์ทอดพระเนตรจันทรุปราคา ที่พระที่นั่งไกรสรสีหราช (บ้างเรียก พระที่นั่งเย็น หรือพระตำหนักทะเลชุบศร)

เมืองลพบุรี มีทะเลครับ ชื่อว่า ทะเลชุบศร

ในโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งโดย หลวงมโหสถ บทหนึ่งระบุถึงทะเลชุบศร

เสร็จเสด็จดลด้าวด่าน   ดงดอน

ชลชะเลวุธศร   เหล่าช้าง

คชสารบันสมสลอน   กรินิศ

ชมทรทหึงเคียงข้าง   จรวดร้องเรียงรมย์

และในจดหมายเหตุหรือบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเขียนว่า Talé Chupson หรือ Thlee Poussone หรือทะเลรวย-Rich Sea บอกด้วยว่า เวลาหน้าแล้ง ทะเลจะเหลือเล็กเป็นลำคลอง-คาแนล (canal) และน้ำก็ขุ่นด้วย แต่ในฤดูฝน ทะเลรับน้ำจากทิวเขาสามยอดไว้ทั้งหมด ทะเลชุบศรก็จะกว้างใหญ่น้ำใสสะอาด กว้างใหญ่ถึงกับนำเรือฟรีเกท เข้ามาแล่นโชว์การยิงปืนลูกแตกจากฝรั่งเศสได้สบายๆ แทบไม่น่าเชื่อ ในจดหมายเหตุ เดอ ลาลูแบร์ ระบุด้วยว่า “…และข้าพเจ้าเคยได้ยินว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงดื่มน้ำจากที่นี้ด้วย” ความจริงก็คือ ทรงดื่มน้ำจากห้วยซับเหล็กมากกว่า

ทะเลรับน้ำจากทิวเขาสามยอด แต่บาทหลวงฝรั่งคงจะเข้าใจผิดหรือจำผิดระบุว่า เป็นทิวเขาพระพุทธบาทซึ่งไกลออกไปถึงสระบุรี ทะเลชุบศรอยู่ลพบุรี พื้นที่อยู่กลางจังหวัดทีเดียว

ประมาณว่าทะเลชุบศรมีพื้นที่สัก 10-15 ตารางกิโลเมตร และมีความลึกอีกต่างหาก อาจเป็น 10-15 เมตรจากคันดินริมฝั่งซึ่งพูนขึ้นกันน้ำไว้ 3 ด้าน คือ ด้านตะวันตก และด้านใต้ กับด้านตะวันตกเฉียงเหนือบางส่วน ทะเลชุบศรจึงสามารถรับน้ำได้มหึมา 10-15 ล้านลูกบาศก์เมตรเหมือนกัน

น้ำจำนวนมหาศาลในทะเลห้วงฤดูฝน จะถูกไขเข้าประตูช่องกุด หรือ ประตูปากจั่น ออกคลองส่งน้ำเล็ก รับน้ำลงสู่สระแก้ว สระขนาดใหญ่ สี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง-ยาวไม่น้อยกว่า 200 เมตร และลึก 10-20 เมตร เก็บน้ำไว้ใช้ได้หลายแสนลูกบาศก์เมตร

ประตูช่องกุด (ปากจั่น) ติดทุ่งพุดซ้อน สำหรับไขน้ำจากทะเลชุบศรสู่สระแก้ว (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2542)

นอกจากนั้นยังมีสระทรงจัตุรัสแต่ขนาดเล็กกว่าอีก 2 สระในเขตกำแพงเมืองชั้นสองแนวเดียวกับประตูเพนียด (ในศูนย์สงครามพิเศษปัจจุบันนี้) ที่สามารถเก็บน้ำไว้ได้มากเหมือนกัน ทั้งนี้ยังไม่นับคลองคูเมืองอีก 3 ชั้น ขนาดกว้างและยาวค่อนข้างมาก ขังน้ำได้อีกมหาศาล ขณะเดียวกันระหว่างกำแพงเมืองชั้นหนึ่งกับชั้นสองมีที่ลุ่มกว้าง ในแผนที่ฝรั่งระบุ ลา บาส วิล (La Basse Ville) สามารถขังน้ำได้เช่นกัน

น้ำปริมาณมากมายนี้ไขมาจากทะเลชุบศรทั้งหมด โดยระบบชลประทาน ซึ่งจินตนาการว่าเป็นรูปคูคลองโยงใยน่าดู และมีสะพานขนาดใหญ่ข้าม ต้องขนาดใหญ่ครับ ไม่ใหญ่ช้างก็ข้ามไม่ได้ จึงเป็นสะพานเชือก (วางปูขวางด้วยท่อนซุงและเชิงสะพานก่อด้วยปูน) กับสะพานอิฐ สะพานอิฐเป็นสะพานฝรั่ง ก่ออิฐถือปูนโค้งเล็กๆ แต่รับน้ำหนักได้มาก โดยอาศัยระบบโครงสร้าง เข้าใจว่าอยู่ตรงคลองกำแพงชั้น 3 ด้านเหนือ เพราะยังมีชื่อบ้านสะพานอิฐเป็นอนุสรณ์อยู่ทุกวันนี้ หมู่บ้านสะพานอิฐหรือหมู่บ้านสะพานฝรั่ง ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี ครับ

ตรงนี้ผมเน้นโยงใยคูคลองส่งน้ำเป็นพิเศษก็เพื่อจะแยกให้เห็นว่าแตกต่าง จากการส่งน้ำจากห้วยซับเหล็ก ซึ่งส่งด้วยท่อดินเผาตรงเข้าไปใช้ในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ น้ำสำหรับช้างและมนุษย์ ระบบส่งน้ำน่าจะไม่เหมือนกัน (ความพิสดารของห้วยซับเหล็กจะได้กล่าวในตอนต่อไป)

น้ำปริมาณมากนี้ เตรียมไว้สำหรับช้างเป็นร้อยเชือก ม้าเป็นร้อยตัวและใช้ในราชอุทยานนอกเมืองในฤดูแล้งอีกต่างหาก

ทะเลชุบศร กว้างใหญ่และแคบลงได้ตามฤดูกาลดังกล่าวแล้วโดยขุดคันดินกั้นน้ำไว้และเจาะประตูไขน้ำออกไปใช้ด้วยระบบชลประทาน จึงเป็นทะเลสาบธรรมชาติที่ถูกตกแต่ง มิใช่ธรรมชาติล้วนๆ ฝรั่งเลยเรียกว่า อาร์ติฟิเชียล เลค (artificial lake) เป็นทะเลที่สร้างขึ้นเหมือนกับทะเลสาบเพียซ ด้านข้างพระราชวังแวร์ซายส์ ในฝรั่งเศส หรือทะเลสาบหมู่บ้านเศรษฐกิจฝั่งธนบุรี ช่วงปี 2500 โดยอดีต ส.ส.ผู้ยิ่งใหญ่ ไถง สุวรรณทัต จะเป็นทะเลสาบธรรมชาติแบบฮูรอนซูพีเรีย หรือออนตาริโอ อย่างในแคนาดาคงจะไม่ใช่

อย่างไรก็ดี ทะเลชุบศรก็มีตำนานมีที่ไปที่มาแปลกกว่าทะเลไหนๆ ในโลก

เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ครั้งพระรามเสร็จศึกสงครามใหญ่ปราบยักษ์ร้ายทศกัณฐ์เป็นที่เรียบร้อย จึงบำเหน็จความดีความชอบให้กับทหารหาญทั้งหลายทั่วหน้ากัน สำหรับทหารเอกพระราม คือหนุมานนั้น ดูจะต้องได้บำเหน็จรางวัลโลดโผนกว่าผู้อื่น กล่าวคือหนุมานจะต้องเหาะตามศรพรหมาสตร์ที่พระรามแผลง ออกไป ศรตกตรงไหนก็ให้พื้นที่ตรงนั้นสร้างเมือง

ศรพรหมาสตร์มาตกที่ลพบุรี

ลพบุรีจึงเป็นเมืองหนุมาน ณ บัดนั้น ซึ่งยังคงมีลูกหลานอยู่ที่ศาลพระกาฬทุกวันนี้ (วันดีคืนดี ก็มีคนเมตตาพาไปกิน 7 วัน โต๊ะจีนด้วย)

ศรพรหมาสตร์นั้นมีฤทธิ์ในเชิงร้อน เมื่อตกที่ใด ดินที่ตรงนั้นก็จะถูกเผาจนสุกเป็นสีขาว คือดินสอพอง ซึ่งที่ลพบุรีมีมาก

ศรพรหมาสตร์มีผู้ขุดพบเป็นแท่งหินยาวประมาณสักเมตรหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ที่ศาลลูกศร ศาลเจ้าใกล้ๆ วัดปืน และบ้านวิชาเยนทร์ ซึ่งต้องหล่อน้ำไว้ตลอดเวลา น้ำแห้งเมื่อใด ศรก็จะร้อน และเมืองลพบุรีก็จะเกิดไฟไหม้ทันที! อย่างไรก็ดี ไฟจะไม่มีทางไหม้ได้เลย เหตุเพราะลพบุรีมีทะเล ซึ่งจะมีน้ำหล่อศรพรหมาสตร์ดังกล่าวได้เหลือเฟือ ไม่มีทางแห้งได้

ทะเลนี้คือ ทะเลชุบศรนี่เอง

(ลูกศรที่กล่าวนั้น นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นเสาหลัก ความยาวมากกว่าที่เห็น สั้นไปเพราะถูกผู้นิยมความขลังต่อยเอาไปทำวัตถุมงคล สำหรับผมมีความเห็นว่าการหล่อน้ำนั้น เป็นอุบายดูแลระวังไฟ เพราะเมืองในฤดูแล้งขาดน้ำ โดยเฉพาะตรงตัวเมือง เพราะเป็นที่สูง ลูกศรหล่อน้ำบวกความเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นป้ายประกาศระวังไฟที่เป็นรูปธรรมที่สุด)

สมัยโบราณครั้งขอมมีอำนาจเหนือภูมิภาคนี้ (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16) ก็ใช้น้ำแห่งทะเลชุบศรนี้ นัยว่ารสจืดดี ทั้งยังเป็นเครื่องพิสูจน์ความจงรักภักดีของพระร่วงเจ้าเมืองลพบุรีอีกด้วย

น้ำทะเลชุบศรมีปริมาณเหลือเฟือและรสดี ก็เพราพื้นที่ทะเลกว้างดังกล่าวข้างต้นและเป็นน้ำฝนล้วนๆ ไหลจากทิวเขาสามยอด มารวมลงทะเลอันเป็นที่ลุ่มลึก ตั้งแต่ช่องกุด (ปากจั่น) ตรงไปทางตะวันออกตามถนนนเรศวรจนถึงค่ายเอราวัณ และจากปากจั่นเป็นคันทะเลขึ้นไปทางเหนือและโค้งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงบริเวณบ้านหนองบัวขาว

ในช่วงเดือนตุลาคม-ต้นพฤศจิกายน (เดือน 12) น้ำทรง สมเด็จพระนารายณ์เสด็จจากอยุธยาขึ้นมาลพบุรีและแปรพระราชฐานมาประทับสำราญพระอิริยาบถที่พระที่นั่งเย็น ทรงโปรดการเล่นเรือในทะเลนี้ และเคยนำเรือฟรีเกทมาถึงที่นี่ด้วย โดยน่าจะนำเข้าทะเลสาบทางบ้านถนนแคและผ่านบ้านหนองบัวขาว ดังจดหมายเหตุฝรั่ง

“…ในวันเดียวกันนั้นเอง พระราชาธิบดี ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระตำหนักที่ทะเลชุบศร ได้ทรงมีพระราชบัญชาถึง ม.ก็องสตั้งซ์ ในตอนค่ำให้มารับข้าพเจ้าและนำไปเข้าเฝ้า เราไปถึงที่นั่นกันตอนสี่ทุ่ม และพบพระราชาธิบดี ทรงพระสำราญอยู่ด้วยการทอดพระเนตรเรือฟรีเกท ลำที่ติดอาวุธปืนใหญ่หกกระบอกนั้นแล่นไปแล่นมาในคลองใหญ่ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงมาข้างต้นแล้ว ผู้บังคับการเรือได้บังคับให้เรือแล่นไปมาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ และยิงปืนใหญ่ถวายคำนับทุกครั้งไปเมื่อผ่านหน้าที่ประทับ…”

(ผู้บังคับการเรือน่าจะเป็นเชอร์วาริเอ เดอ ฟอร์บัง หรือ ม.ชัวเยอร์ส ก็ได้ ผู้เคยได้รับพระราชทานดาบทองคำ สายสะพายดาบและเสื้อถักทอง)

ริมฝั่งทะเลด้านใต้ เป็นป่าล่าช้างโดยตลอด บาทหลวงฝรั่งบันทึกว่า มีร้านไฟตั้งเรียงรายริมทะเล เป็นระยะๆ และจุดไฟระวังช้างไว้ตลอดคืน และไม่ไกลจากฝั่งมากนัก ทรงสร้างเรือนพักรับรองไว้กลางป่า จากเรือนพักรับรองกลับมาที่พระที่นั่งเย็น สามารถกลับมาได้โดยทางเรือ ริมฝั่งบริเวณตำหนักมีระบบป้องกันแข็งแรง บันทึกตอนหนึ่งระบุว่า

“…กองไฟนี้สุมไว้ตลอดคืน โดยใช้ไม้ในป่านั่นเอง โดยยกเป็นร้านสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ บนตอม่อสูงจากพื้นดินราวเจ็ดหรือแปดฟุต จึงทำให้มองเห็นไปได้ในระยะไกลๆ เมื่อมองในความมืดแล้ว ดูเป็นการตามไฟที่งดงามนักหนา มีดวงโคมขนาดใหญ่ติดตั้งไว้เป็นระยะๆ…”

และอีกตอนหนึ่ง

“…คลองสายนี้มีความกว้างมาก และมีความยาวกว่าหนึ่งลิเออ มีร้านไฟดังที่บรรยายไว้ข้างต้นเรียงรายไปตลอดทาง มองดูในความมืดยามราตรีแล้วเจริญตานัก…”

และอีกตอนหนึ่ง

“…เมื่อจะขึ้นบกที่ตรงเชิงกำแพงเหนือฝั่งคลองนั้น จะต้องเสี่ยงภัยกับการติดกับดักชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นโซ่เหล็กหลายสายทอดไว้ติดๆ กัน ห่างกันอยู่ราวสายละครึ่งฟุต เต็มพื้นที่ตามความกว้างของพื้นดินระหว่างคลองกับกำแพง มีขวากเหล็กปลายแหลมเรียงรายอยู่สองชั้น เขานำออกขึงไว้ทุกคืนโดยที่พักหลังนี้…”

ริมฝั่งทะเลบริเวณใกล้พระที่นั่งเย็น พระยาวิชาเยนทร์ หรือฟอลคอน หรือ ม.ก็องสตั้งซ์ ก็สร้างบ้านพักไว้หลังหนึ่ง ไม่ไกลจากพระตำหนัก ประมาณ 50 เมตร ดังบันทึกของบาทหลวงตาชารด์ว่า

“…ครั้นแล้วอีกชั่วโมงหนึ่งต่อมาเราก็กลับไปลงเรือ เพื่อไปพักแรมอยู่ ณ ที่พักของ ม.ก็องสตั้งซ์ ซึ่งอยู่ห่างจากพระตำหนักออกไปประมาณร้อยก้าว…”

นอกจากนี้รอบๆ ทะเลสาบก็ยังมีบ้านของข้าราชการระดับสูงอื่นๆ ปลูกอยู่โดยรอบทะเล อาจเป็นบ้านของออกพระเพทราชา ออกหลวงสรศักดิ์ หรือออกหลวงมโหสถก็ได้ ทั้งนี้ในจดหมายเหตุฝรั่งระบุว่า ข้าราชการเหล่านั้นยังสามารถไปมาหาสู่กันโดยอาศัยเรือพายในทะเลได้ด้วย

ทะเลชุบศร (ส่วนหนึ่งในปัจจุบัน) และชายทุ่งพุดซ้อน (ด้านล่างสุดของภาพ) ภูเขาด้านหลังคือทิวเขาสามยอด (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, เมษายน 2542)

ทะเลชุบศร วันนี้อาจเหลือแต่ชื่อ และทิ้งความงุนงงสงสัยว่า “ทะเลอยู่ที่ไหน”

อย่างไรก็ดี ความเป็นทะเลยังพอมีร่องรอยอยู่ หากท่านเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์ วงเวียนเทพสตรี หน้าศาลากลางจังหวัดและตรงตามถนนพหลโยธินไปทางเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะถึงสี่แยก หยุดตรงนั้น ทางซ้ายมือจะไปพระที่นั่งเย็น อีกเพียง 500 เมตร ส่วนทางขวามือเป็นถนนนเรศวร ตรงไปยังศูนย์สงครามพิเศษ ค่ายเอราวัณ ถ้าท่านเลี้ยว แลซ้ายจัดนั้นคือทะเล ซึ่งเหลือเพียงคูเล็กๆ ที่ทางทหารขุดแต่งขึ้น เรียบถนนไปเรื่อยๆ มองไกลออกไปคือทิวเขาสามยอด ซึ่งน้ำฝนจะไหลจากทิวสู่ทะเลดังที่ได้เล่ามาตั้งแต่ต้น

หากผ่านเลยไปทางลพบุรี แวะไปดูร่องรอยของทะเลชุบศรบ้างนะครับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กันยายน 2565