ผู้เขียน | บัณฑิต จุลาสัย, รัชดา โชติพานิช / หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
---|---|
เผยแพร่ |
ทำไม วงเวียน 22 กรกฎาคม อนุสรณ์สถานสำคัญแห่งความมั่นคงของชาติ?
สำหรับคนเจนใหม่ทั้งหลาย คงไม่สนใจ 22 07 หรือ วันที่ 22 กรกฎาคม เท่า 707 หรือ 7 เดือน 7 หรือ 7 กรกฎาคม ที่มีมหกรรมสินค้าราคาถูกถล่มทลายในตลาดออนไลน์
สำหรับคนกรุงเทพรุ่นหนุ่มสาว คงไม่คุ้นกับคำว่า “วงเวียน” ผังการจราจรแบบเก่า ที่กำหนดให้รถยนต์วิ่งอ้อมเป็นวงกลม ตรงที่ถนนสองสายหลักมาเจอกัน
สำหรับคนไทยที่เหลืออยู่ไม่กี่คน ถ้าความจำยังดี อาจบอกได้ว่า วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 เป็นวันที่ สยามประเทศประกาศเข้าร่วมกับประเทศพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
แต่ที่มาของ วงเวียน 22 กรกฎาคม กลับเป็นเรื่องที่คนไทยทุกรุ่นทุกวัยรู้จักคุ้นเคย เหมือนอย่างเมื่อไม่กี่วันมานี้ คนเมืองหลวงต้องอกสั่นขวัญแขวน เมื่อเกิดเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกที่ถนนกิ่งแก้ว สมุทรปราการ เนื่องจากมีสารเคมีหลากหลายชนิด จึงต้องใช้เวลาข้ามคืนข้ามวันกว่าจะดับเพลิงได้ ในขณะที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง
เหมือนช่วงเวลาเมื่อร้อยกว่าปีก่อนในพระนครนั้น ย่านการค้าอย่างสำเพ็งและบริเวณใกล้เคียงมีชาวจีนเปิดกิจการค้าและอยู่อาศัยอย่างแออัด สิ่งก่อสร้างยังเป็นวัสดุธรรมชาติ อย่างไม้ ไม้ไผ่ และใบจาก ประกอบกับวัฒนธรรมการจุดธูปไหว้เจ้า รวมทั้งการหุงต้มอาหารด้วยไม้ฟืนและถ่าน ล้วนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้อยู่เสมอ
ดังเช่นในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2460 เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณตำบลหัวลำโพงเป็นบริเวณกว้างด้วยอาคารบ้านเรือนติดไฟง่าย การเข้าไปดับเพลิงทำได้ยากเพราะทางแคบ แม้จะเกิดช่วงกลางวันแต่ก็สูญเสียชีวิต และสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมาก
ดังที่บันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษาว่า เกิดเพลิงที่ปากตรอกบ่อนเบี้ยเก่าหัวลำโพง ตั้งแต่ช่วงเก้านาฬิกาก่อนเที่ยง กว่าจะเพลิงสงบเป็นเวลาตีสอง บ้านเรือนถูกเพลิงไหม้ 240 หลัง ตึกของกรมพระคลังข้างที่ และรถรางอีก 1 คัน ทรัพย์สินเสียหายมูลค่า 780,200 บาท ลูกเสือเสียชีวิตหนึ่งคน และมีผู้บาดเจ็บอีก 4 คน ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นเพราะนายซ่วย จุดธูปไหว้แล้วธูปคงไหม้ลุกลาม
หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น กระทรวงนครบาล โดยเจ้าพระยายมราช จึงทูลเกล้าฯ ถวายโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณนี้ ต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้มีการตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ เมื่อพระองค์ทรงเห็นชอบในโครงการดังกล่าว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฎีว่าด้วยการตัดถนนในที่เพลิงไหม้ตำบลหัวลำโพง เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2460 (2461) ดังนี้
…พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการตัดถนนในที่เพลิงไหม้ตำบลหัวลำโพง
มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ทราบทั่วกันว่า ในการเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ตำบลหัวลำโพงใน ท้องที่อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2460 นั้น ทรัพย์สมบัติของประชาชนเปนอันตรายเสียหายเปนอันมาก แต่หากเปนเวลากลางวันจึงยังพอป้องกันไว้ได้ ไม่ไหม้มากมายไป ทั้งนี้ก็เพราะพื้นที่ในละแวกนั้นมีบ้านเรือนปลูกสร้างเบียดเสียดเยียดยัดซับซ้อนกัน ไม่มีถนนหนทางใหญ่ๆ เพียงพอให้เป็นทางทำการป้องกันอันตรายได้สะดวกท่วงที นอกจากนี้ยังเป็นตำบลที่ไม่สะอาดพอ เป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้มากกว่าตำบลใกล้เคียงอยู่เสมอ สมควรที่จะมีถนนผ่านเข้าไปในละแวกนี้ให้พอควร…
สำหรับถนนที่มีแผนจะตัดขึ้นใหม่ มีจำนวน 3 สาย สายที่หนึ่ง ตั้งแต่สามแยกถนนหัวลำโพงใน กับถนนกรุงเกษม เชิงสะพานเจริญสวัสดิ์ ไปออกสี่แยกถนนพลับพลาไชย กับถนนหลวง ระยะทาง 954 เมตร สายที่สอง ตั้งแต่ถนนเจริญกรุง ตรงถนนทรงวาด ผ่านถนนสายที่ 1 ไปออกสามแยก ถนนกรุงเกษมกับถนนหลวง เชิงสะพานนพวงศ์ ยาวประมาณ 692 เมตร และสายที่สาม เริ่มตั้งแต่ถนนพลับพลาไชย ผ่านสายที่ 1 และสายที่ 2 ไปออกถนนกรุงเกษมยาวโดยประมาณ 520 เมตร ถนนทั้งสามสาย ให้มีขนาดกว้างถึง 8 วา หรือ 16 เมตร และที่สำคัญคือ
…ให้มีวงเวียนเป็นรูปวงกลม ในที่บรรจบทางผ่านของถนน 3 สายนี้ มีขนาดกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 120 เมตร เพื่อมีที่ว่างพอเป็นที่สำหรับทำการก่อสร้างถาวรวัตถุ อันเป็นประโยชน์ให้สมควรเป็นความสง่างามสำหรับพระนคร…
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2457 แต่ด้วยสยามประเทศ ดำเนินความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดมาตลอด จนกระทั่งเยอรมันโจมตีเรือดำน้ำโดยที่มิได้ประกาศล่วงหน้า อันเป็นสิ่งมิชอบในยามสงคราม ดังความในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพิธีถวายบังคมพระบรมรูปบุรพกษัตริย์ 5 พระองค์ ว่า “ผู้ประพฤติมิเป็นธรรม แลละเมิดต่อแบบธรรมเนียมธรรมะระหว่างประเทศ” โดยตัดสินพระทัยประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และส่งทหารอาสาไปร่วมรบ ณ สมรภูมิทวีปยุโรป จนกระทั่งมีการลงนามในสัญญาพักรบหยุดยิง ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 อันเป็นชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรและสยามประเทศ
เพื่อเป็นอนุสรณ์วันที่สยามประเทศประกาศสงครามในครั้งนั้น จึงได้พระราชทานนาม วงเวียน 22 กรกฎาคม ส่วนถนนสามสาย โปรดเกล้าฯ ให้พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ปลัดกรมพระอาลักษณ์คิดชื่อถนนให้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกัน ดังนี้ ถนนสายที่ 1 ถนนไมตรีจิตต์ ถนนสายที่ 2 ถนนมิตรพันธ์ และถนนสายที่ 3 ถนนสันติภาพ
สำหรับคนรุ่นปัจจุบัน คงไม่รู้ว่าการตัดสินพระทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร จนได้รับชัยชนะ “นำมาซึ่งความมั่นคงในอิสรภาพของสยาม” สามารถขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในอดีต ระหว่างสยามกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทั้งหมด
ในวันที่บ้านเมืองเกิดภัยพิบัติ ทั้งโรคระบาดและมหาอัคคีภัย ผู้คนล้วนวิตกกังวลถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คงไม่มีใครใส่ใจวงเวียนเล็กๆ ในย่านเมืองเก่าที่เป็นอนุสรณ์สถานสำคัญแห่งความมั่นคงของชาติ
อ่านเพิ่มเติม :
- กำเนิด “สนามบินดอนเมือง” จากดอนอีเหยี่ยว ถึงที่ดอนของเมือง อีกหนึ่งศูนย์กลางการบินของไทย
- สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ของ “สะพานพระราม 8”
- วังใหม่ที่ปทุมวัน : ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม “ความทรงจำอันเลือนราง”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2564