กำเนิด “สนามบินดอนเมือง” จากดอนอีเหยี่ยว ถึงที่ดอนของเมือง อีกหนึ่งศูนย์กลางการบินของไทย

สนามบินดอนเมือง ผู้โดยสาร ถือกระเป๋า
ภาพถ่ายสนามบินดอนเมือง เมื่อ ค.ศ. 1960 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

น้อยคนจะรู้จักชื่อ “ดอนอีเหยี่ยว” เพราะมักจะคุ้นชื่อ ดอนเมือง ซึ่งเป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียกท่าอากาศยานดอนเมือง หรือ สนามบินดอนเมือง อีกหนึ่งศูนย์กลางการเดินอากาศทั้งภายในและภายนอกประเทศของไทย ชื่อดอนเมืองมาจากสภาพภูมิประเทศของบริเวณนี้ในอดีต คือเป็นที่สูง ในฤดูฝนน้ำท่วมไม่ถึง เรียกกันตามปากชาวบ้านว่า ที่ดอน

ก่อนจะกล่าวถึง สนามบินดอนเมือง ต้องย้อนไปดูพัฒนาการกิจการการบินในอดีตของสยาม โดยใน พ.ศ. 2454 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เครื่องบินจากต่างประเทศเข้ามาแสดงการบินที่พระนคร (กรุงเทพฯ) เป็นครั้งแรก โดยใช้พื้นที่ของราชกรีฑาสโมสร (Royal Bangkok Sport Club) ตรงกลางลู่วิ่งของสนามม้าเป็นสนามบินชั่วคราว เรียกว่า สนามบินสระปทุม

รัฐบาลสยามเล็งเห็นความสำคัญของกิจการการบิน จึงเริ่มพัฒนางานด้านนี้ โดยใน พ.ศ. 2456 กองทัพบกมีแนวคิดจัดตั้งแผนกการบิน ครั้งนั้นมีที่ทำการอยู่ที่สนามบินสระปทุม บริเวณหลังโรงเรียนตำรวจ ตำบลปทุมวัน สร้างเป็นสนามบินและโรงเก็บเครื่องบินชั่วคราว

ต่อมา กระทรวงกลาโหมพิจารณาเห็นว่า สนามบินสระปทุมและสถานที่ประกอบอื่น ๆ คับแคบ ประกอบกับการเป็นพื้นที่ลุ่ม ไม่เหมาะแก่การพัฒนาสนามบินต่อไปในอนาคต จึงพิจารณาเลือกสถานที่ที่จะสร้างสนามบินแห่งใหม่ โดยต้องเป็นพื้นที่ว่างขนาดกว้างใหญ่ ระดับดินสูง น้ำไม่ท่วมไม่ถึง และตั้งอยู่ไกลจากพระนครพอสมควร

กระทรวงกลาโหมจึงมอบหมายให้ พันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ภายหลังได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ เป็นผู้พิจารณาหาสถานที่ก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ และพบว่าบริเวณ “ดอนอีเหยี่ยว” เป็นที่เหมาะสม

ชื่อ ดอนอีเหยี่ยว มีที่มาจากลักษณะของพื้นที่ที่มีฝูงเหยี่ยวอาศัยอยู่ชุกชุม พื้นที่บางส่วนที่จะใช้สร้างสนามบินอยู่ในการดูแลของกรมรถไฟ ในเขตอำเภอบางเขน ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึงในฤดูฝน ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระนครมากนัก อยู่ห่างจากสนามบินสระปทุมไปทางทิศเหนือประมาณ 22 กิโลเมตร ดังนั้น จึงให้ย้ายแผนกการบินมาตั้งที่ทำการ ณ ที่นี้ และเปลี่ยนชื่อเพื่อความเหมาะสมจาก “ดอนอีเหยี่ยว” มาเป็น “ดอนเมือง”

กระทั่ง เวลาเช้าของวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2457 เครื่องบินบินขึ้นจากสนามบินสระปทุมเป็นครั้งสุดท้าย และบินลงสนามบินดอนเมืองเป็นครั้งแรก

กิจการของการบินของทหารบกเจริญก้าวหน้าตามลำดับ เมื่อกระทรวงกลาโหมตั้งกรมอากาศยานทหารบกขึ้น และได้รวมกองบินทหารบกเข้าไว้ในกรมนี้ด้วย และพัฒนาต่อมาเป็นกรมอากาศยานกรมทหารอากาศ และยกฐานะขึ้นเป็นกองทัพอากาศใน พ.ศ. 2480 จากนั้น จึงได้ตั้งกองการบินพลเรือนเพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ เรียกสนามบินดอนเมืองว่า ท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ท่าอากาศยานกรุงเทพ

ถึง พ.ศ. 2522 หลังการก่อตั้ง การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) การท่าฯ ได้เข้ามาดำเนินกิจการเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศแทนหน่วยงานเดิม 

พ.ศ. 2549 หลังเปิดใช้งานสนามบินสุวรรณภูมิ จึงปิดใช้งานสนามบินดอนเมือง แต่ก็เพียงเวลาสั้น ๆ ถึง พ.ศ. 2550 จึงกลับมาเปิดใช้งานสนามบินดอนเมืองอีกครั้ง และกลับมาใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ท่าอากาศยานดอนเมือง เช่นเดิม

นับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน คนไทยมักเรียกชื่อสนามบินแห่งนี้อย่างติดปากว่า “สนามบินดอนเมือง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2551). “ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ”. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน.

บัณฑิต จุลาสัย. (พฤษภาคม, 2550). “สนามบินแห่งแรกของไทย”. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 28 : ฉบับที่ 7. หน้า 49-51.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2566