สนามบินแห่งแรกของไทยคือที่ไหน ปัจจุบันเป็นอย่างไรหลังมีดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

แผนที่บริเวณราชกรีฑาสโมสร ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ (ภาพจาก บัณฑิต จุลาสัย, รศ.ดร. และคณะ. โครงการวิจัยแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๔๗๕ : การจัดทำฐานข้อมูลแผนที่เพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมศาสตร์และเมืองกรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.)

ปัจจุบันหลายคนคุ้นเคยกับ สนามบิน ใหม่สุวรรณภูมิ หลายคนยังคงใช้ สนามบินดอนเมือง แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักสนามบินแห่งแรกของกรุงเทพฯ และของประเทศไทย

เมื่อสองพี่น้องตระกูล Wilbur และ Orville Wright สามารถนำเครื่องบินเหินฟ้าสำเร็จได้เป็นครั้งแรก ที่เมือง Kitty Hawk มลรัฐ North Carolina นั้น ทำให้เกิดกระแสความสนใจเกี่ยวกับการบินและเครื่องบิน คนทั่วโลกรวมทั้งผู้คนในประเทศไทยต่างรับรู้เรื่องราวก้าวสำคัญของมนุษยชาติ ผ่านสื่อต่างๆ ในยุคนั้น

Advertisement

7 ปีต่อมา ชาวต่างประเทศในกรุงเทพฯ ร่วมกันวางแผนนำเครื่องบินมาแสดงในกรุงเทพฯ โดยติดต่อให้ นายชาร์ลส์ แวน เดน บอร์น (Charles Van Den Born) ชาวเบลเยียม นำเครื่องบินแบบอังรีฟาร์มัง 4 (Henry Farman IV) มาแสดงการบินที่กรุงเทพฯ เป็นลำแรกและครั้งแรกของไทย

การสาธิตการบิน เครื่องบินแบบอังรีฟาร์มัง ๔ โดยนายชาร์ลส์ แวน เดน บอร์น ที่ราชกรีฑาสโมสร ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ (ภาพจาก William Warren. Celebrating 100 Years The Royal Bangkok Sport Club. Bangkok : Eastern Printing Public Company Ltd., 2001, p. 44.)

ในเวลานั้น แม้ว่าพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ จะเป็นที่ราบ ไม่มีเนินเขาหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่หรือสูง แต่สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม มีน้ำขัง เป็นท้องนาหรือท้องร่องกระจายอยู่ทั่วไป ทำให้มีสภาพไม่เหมาะแก่การขึ้นลงของเครื่องบิน

บังเอิญว่า จากนาย Karl Offer ผู้ประสานงานกับ Societe d’ Aviation Extreme Oriente ที่จะนำเครื่องบินมาสาธิต ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ เป็นสมาชิกราชกรีฑาสโมสร (Royal Bangkok Sport Club) จึงขออาศัยพื้นที่ตรงกลางลู่วิ่งของสนามม้า ด้วยสภาพพื้นที่แน่นหนาพอรองรับน้ำหนักเครื่องบินได้ อีกทั้งราบเรียบและโล่งกว้าง ไม่มีอาคารสิ่งก่อสร้างหรือแม้แต่ต้นไม้ใหญ่ จึงเป็นที่มาของสนามบินแห่งแรกในประเทศไทย

ราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบัน

แม้ว่าราชกรีฑาสโมสรหรือสนามม้าสระปทุมจะมีพื้นที่กว้างขวางพอสำหรับผู้คนจำนวนมากที่จะมาดูการแสดงการบิน แต่ก็ยังต้องเตรียมการหลายอย่าง เพื่อรองรับผู้เข้าชมจำนวนมาก ด้วยผู้คนเคยได้ยินเรื่องเล่าหรือเห็นภาพถ่ายคนบินได้เหมือนนกในต่างประเทศเท่านั้น การปรากฏโฉมของเครื่องบินและการแสดงการบิน จึงเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่คนไทยและเทศ

…ทางสโมสรฯ จึงต้องเปิดทางเข้าใหม่ถึง 15 แห่ง สร้างสะพานใหม่ถึง 4 สะพานเพื่อข้ามคูน้ำที่อยู่โดยรอบสโมสร และสร้างโรงจอดเครื่องบินชั่วคราวกลางสนามกอล์ฟ…

ในเย็นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรการบิน เป็นที่มาของข่าวใหญ่ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Times ความว่า

…Last evening, His Majesty the King paid an unexpected visit to the course and watched the proceeding with apparent interest. Subsequently, His Majesty went over and inspected the airplane and conversed with Mr. Van den Born for some minutes, after which the aviator made a short flight so that the King could see the machine started from close quarters. Among those present yesterday were H.R.H. the Prince of Pitsanulok and H.R.H. Prince Nares…

ยังมีพระราชวงศ์และบุคคลสำคัญของประเทศหลายท่านที่สนใจและเข้าชมการแสดง อย่างเช่น จเรการช่างทหารบก นายพลเอก เจ้าฟ้ากรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นต้น

นอกจากการเฝ้าชมการบินแล้ว ผู้คนยังมีโอกาสขึ้นไปบินอยู่บนฟ้า มองภาพกรุงเทพฯ ในมุมมองของนก ซึ่งนอกจากต้องมีความกล้าหาญพอแล้ว ยังต้องมีเงินพอจ่ายค่าโดยสาร ที่นับว่าแพงมากในเวลานั้น คือ  50 บาท จากบันทึกนั้น ผู้โดยสารคนแรกคือ นาย F. Bopp และผู้โดยสารสตรีคนแรกคือ พระชายา นายพลเอก เจ้าฟ้ากรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ส่วนผู้โดยสารชาวไทยคนแรกหรือพระองค์แรกนั้น ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นใครระหว่าง นายพลเอก เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ เสนาธิการทหารบก หรือนายพลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (ภาพจาก William Warren. Celebrating 100 Years The Royal Bangkok Sport Club. Bangkok : Eastern Printing Public Company Ltd., 2001, p. 46.)

หลังจากการแสดงการบินครั้งแรกนี้ ทำให้กระทรวงกลาโหมของไทย ตระหนักถึงยุทธศาสตร์ใหม่ในการป้องกันประเทศ จึงตัดสินใจส่งนายทหารไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส พร้อมทั้งจัดหาเครื่องบินจำนวน 8 ลำ เพื่อกลับมาเริ่มกิจการบินในกองทัพบก นักบินชาวไทยทั้ง 3 คน เมื่อผ่านการฝึกมาจนชำนาญแล้ว จึงทดลองบินครั้งแรกต่อหน้าประชาชนคนไทย ในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 โดยยังคงอาศัยสนามบินแห่งเดิมคือ สนามบินสระปทุม

จากความสำเร็จของนักบินไทยในครั้งนั้น กองทัพบกจึงพร้อมที่จะวางแผนก่อสร้างสนามบินสำหรับการทหารเป็นการเฉพาะ รวมทั้งอาคารประกอบ ได้แก่ โรงเก็บเครื่องบิน กองบินทหารบกและโรงเรียนการบิน โดยมีเกณฑ์การพิจารณาเลือกจากสภาพพื้นที่ว่างขนาดกว้างใหญ่ ระดับดินสูงน้ำไม่ท่วม และตั้งอยู่ไกลจากพระนครพอสมควร ในที่สุดเลือกได้พื้นที่ของกรมรถไฟ (บางส่วน) ในเขตอำเภอบางเขน ซึ่งเป็นที่ดอน และอยู่ห่างจากสนามบินสระปทุม ไปทางทิศเหนือประมาณ 22 กิโลเมตร

และแล้ว เวลาเช้าของวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2457 เครื่องบินบินขึ้นจากสนามบินสระปทุมเป็นครั้งสุดท้าย และบินลงสนามบินดอนเมืองเป็นครั้งแรก จากนั้นมา สนามบินดอนเมืองก็เจริญก้าวหน้า ขยายกิจการหลายครั้ง จนเป็นสนามบินนานาชาติที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียง

จนกระทั่งเวลากลางคืนของวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2549 เครื่องบินลำสุดท้ายบินออกจากสนามบินดอนเมือง และเครื่องบินลำแรกบินลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในเช้าวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 เปิดหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การบินของไทย และสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต

สนามบินสระปทุม หรือราชกรีฑาสโมสร กรุงเทพฯ สนามบินแห่งแรกของประวัติศาสตร์การบินไทย ปัจจุบันยังดำรงคงอยู่ ไม่ถูกยึดครองหรือเปลี่ยนแปลงไป เป็นอาคารบ้านเรือนเหมือนพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพฯ

คงต้องตั้งความหวังให้ สนามบิน แห่งแรกของประเทศไทย คงอยู่ต่อไปอีกยาวนานเป็นประจักษ์พยานสำคัญของแผ่นดิน ในฐานะอนุสรณ์สถานประวัติศาสตร์ สำหรับลูกหลานไทยต่อไปภายหน้า


ข้อมูลจาก :

บัณฑิต จุลาสัย, รศ.ดร. และคณะ. โครงการวิจัยแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๕๐-๒๔๗๕ : การจัดทำฐานข้อมูลแผนที่เพื่อการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมศาสตร์และเมืองกรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ประวัติกองทัพอากาศ. (http://www.rtaf.mi./history.html)

พิพิธภัณฑ์ของกองทัพอากาศ. (http://www.rtafmuseum.com/firstpage-T.html)

William Warren. Celebrating 100 Years The Royal Bangkok Sport Club. Bangkok : Eastern Printing Public Company Ltd., 2001.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2562