สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ของ “สะพานพระราม 8”

สะพานพระราม 8
สะพานพระราม 8 (ภาพจาก สารานุกรมพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรอบ 60 ปีแห่งการครองราชย์)

ในสโมสรศิลปวัฒนธรรม (ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545 หน้า 54-55) สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกูล ได้ขนานนาม สะพานพระราม 8 ให้เป็น มงกุฎแห่งรัตนโกสินทร์ ร.ศ. 220 อีกทั้งชื่นชมภูมิสัญลักษณ์ (Landmark) ว่าที่งดงาม ช่วยเปิดมิติใหม่ของวิถีเมือง ส่งเสริมสำนึกรักและภูมิใจของคนไทย และที่สำคัญเป็นสัญลักษณ์ (Symbol) แห่งความผูกพันระหว่างในหลวงกับประชาชนบางกอก

นับเป็นบทสรุปชัดเจนสำหรับรายงานการเที่ยวสะพานพระราม 8 ก่อนพระราชพิธีเปิดสะพานร่วมกับชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และการชมมุมมองใหม่ของเกาะรัตนโกสินทร์ที่อยู่ห่างออกไป

เชื่อว่าผู้อ่านที่ยังไม่มีโอกาสชื่มชมสะพานใหม่แห่งนี้ด้วยตนเอง คงเห็นภาพ และรับรู้เรื่องราวไม่มากก็น้อย บังเอิญว่า ทราบแนวคิดของผู้ออกแบบตกแต่งสะพาน จึงขอขยายความและแก้ไขข้อมูลบางอย่างให้ถูกต้อง ด้วยรู้ว่ามีผู้อ้างอิงข้อมูลในศิลปวัฒนธรรมอยู่เสมอ

สะพานใหม่พระราม 8 สวยงาม แปลกตา มีขนาดใหญ่โตสูงสง่า และมีเส้นสายสีเหลืองเรืองรอง แต่ที่จริงนอกจากสีเหลืองของปลอกหุ้มเคเบิล และโครงอะลูมิเนียมสีทองทรงบัวเหนือเสาสูง ส่วนอื่นของสะพานก็เป็นโครงสร้างเสาคอนกรีตและพื้นสะพานแบบธรรมดาที่เห็นอยู่ทั่วไป เพียงแต่เพิ่มส่วนตกแต่งเล็กน้อย เปลี่ยนสีสันไปบ้าง จึงรู้สึกแปลกตา คงเป็นเพราะเราเคยสร้างแต่สะพานทางด่วน ทางยกระดับ ไว้ใช้งาน ไม่ได้ไว้ใช้ดู บ้างเท่านั้นเอง

ผู้อยู่เบื้องหลังและผลักดันให้เกิดรูปแบบที่ปรากฏ คือ ประเสริฐ สมะลาภา และมานะ นพพันธ์ อดีตปลัดฯ และรองปลัดฯ กรุงเทพมหานคร ทั้งสองท่านเป็นวิศวกรที่มีรสนิยมความงาม จึงสนับสนุนให้โอกาสสถาปนิกมีส่วนในการออกแบบตกแต่งสะพานน

เหตุที่สะพานพระราม 8 ตั้งอยู่ และมีรูปแบบอย่างนี้ มาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่หลายคนเคยไม่เข้าใจ ออกมาท้วงติงอย่างรุนแรงเมื่อหลายปีก่อน

เริ่มกันที่สาเหตุการสร้างสะพาน มาจากการขยายตัวของชุมชนฝั่งธนบุรีเป็นไปอย่างหนาแน่นและกว้างขวาง ทำให้ปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะถนนบรมราชชนนี จนต้องสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้า ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในโครงข่ายจตุรทิศตะวันออก-ตะวันตก ตามแนวพระราชดำริไปแล้วและต้องขยายสะพานพระปิ่นเกล้า หรือก่อสร้างสะพานคู่ขนาน แต่การก่อสร้างทำได้ยากเนื่องจากพื้นที่จำกัด อีกทั้งจะเพิ่มปัญหาจราจรให้กับบริเวณสนามหลวง ถนนราชดำเนิน และบริเวณพระบรมมหาราชวัง ที่สำคัญจะทำลายทัศนียภาพเดิม เหมือนสะพานคู่ขนานสะพานพุทธยอดฟ้า จึงต้องหาที่ก่อสร้างสะพานใหม่ในบริเวณอื่น

ทั้งนี้พื้นที่ตั้งแต่สะพานพระปิ่นเกล้า ลงมาจนถึงสะพานพุทธยอดฟ้านั้น ดูจะเป็นไปได้ยาก ทั้งฝั่งกรุงเทพฯ และธนบุรี เนื่องจากเป็นที่ตั้งชุมชนมาแต่โบราณ อาคารบ้านเรือนสร้างหนาแน่นตลอดสองฝั่ง บริเวณพื้นที่เหนือขึ้นไป แม้มีความหนาแน่นน้อยกว่า แต่พื้นที่ว่างทางฝั่งพระนครที่พอจะสร้างสะพานได้ คือ บริเวณป้อมพระสุเมรุ ปากคลองบางลำพู ปากคลองเทเวศร์ และถนนข้างวังบางขุนพรหม ทุกแห่งดูจะมีข้อจำกัดต่างกัน ส่วนทางฝั่งธนบุรีนั้น เกือบไม่มีที่ว่างเลย ตลอดฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งพื้นที่ลึกเข้าไป ยกเว้นแห่งเดียว คือ บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขันเดิม

ดังนั้น ที่ตั้งสะพานพระราม 8 ในปัจจุบัน ดูจะเหมาะสมที่สุด มีแต่ปัญหาทางฝั่งพระนคร คือ ต้องใช้พื้นที่ว่างบนถนนระหว่างวังบางขุนพรหม และโรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย วิศวกรจึงหาวิธีการลดผลกระทบ โดยออกแบบไม่ให้มีตอม่อรับสะพานทางฝั่งพระนคร จะได้ไม่บดบังมุมมองวังบางขุนพรหม หรือในแม่น้ำ จะได้ไม่กีดขวางทางน้ำสำหรับจัดขบวนและเดินเรือพระราชพิธีต่าง ๆ

สะพานพระราม 8 จึงเป็นสะพานขึงแบบอสมมาตร คือสะพานขึงที่สองข้างไม่เท่ากัน มีตอม่อเดี่ยวอยู่ทางฝั่งธนบุรี เสาต้องสูงถึง 165 เมตร สำหรับสายเคเบิลขึงดึงรับน้ำหนักตัวสะพานยาว 300 เมตร ทอดข้ามแม่น้ำไปฝั่งพระนคร

สำหรับปัญหาทางด้านทัศนียภาพ สถาปนิกจึงลดปัญหาด้วยการออกแบบตกแต่งสะพานให้สวยงามขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านวิศวกรรมและงบประมาณ

รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จุดประกายความคิด โดยชี้แนะว่า เมืองที่สะพานพระราม 8 เป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขอให้ศึกษาพระราชลัญจกร พระราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 8 ซึ่งเป็นรูปพระโพธิสัตว์ ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน อันหมายถึงแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาถือดอกบัวตูม มีซุ้มเรือนแก้วอยู่ด้านหลังแทนรัศมี ตามพระบรมนามาภิไธยอานันทมหิดล ที่แปลว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน ดุจพระโพธิสัตว์เสด็จมาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร

จึงเป็นที่มาของรูปลักษณ์สะพานที่เห็นปัจจุบัน ได้แก่ เสารับทางยกระดับ ที่ต่อเนื่องกับตัวสะพานทั้งสองฝั่ง จะมีรูปทรงคล้ายกับก้านดอกบัว คือ ปลายยอดเสาจะบานโค้งออกได้สัดส่วนกับทางยกระดับด้านบน แต่ละด้านของเสานี้ยังเซาะร่องลึก เพื่อลดความแข็งกระด้าง ลดขนาดเสาให้ดูเล็กลง และล้อลวดลายก้านใยของดอกบัว

ปลายยอดเสาสูงที่ใช้ขึงสายเคเบิล ที่ต่อไปคนสามารถขึ้นลิฟต์ไปชมทัศนียได้นั้น จะคลุมด้วยกระจก และโครงอะลูมิเนียมสีทองที่ถักทอเป็นรูปทรงบัว

หากตัดขวางตัวสะพาน จะเห็นว่า คล้ายรูปร่างดอกบัว มีราวกันตกเป็นโลหะหล่อเป็นลวดลายสีทองเลียนแบบกลีบบัว จึงเป็นเสมือนดอกบัวบานรองรับพระโพธิสัตว์

สําหรับพระโพธิสัตว์นั้น ไม่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน หากองค์พระจะอยู่ระหว่างเสาสูง ที่วิศวกรออกแบบเป็นรูปคล้ายง่ามไม้ โดยปลายขาทั้งสองคร่อมตัวสะพานไว้ คนที่สัญจรผ่านไปมาบนสะพาน จึงรู้สึกเหมือนกำลังเดินทางผ่านซุ้มประตูสามเหลี่ยม แต่เมื่อเพิ่มองค์ประกอบแถบสีทองเข้าไปตรงขาทั้งสอง ทำให้ช่องว่างดังกล่าวดูคล้ายซุ้มเรือนแก้วหลังองค์พระพุทธรูป คล้ายกับที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนแผ่นดิน-พระพุทธชินราชพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2535 ไว้ว่า

…กนกรอบกรอบเรือนแก้ว
รุ่งแก้วอนันตกาล…

เส้นสายสีทองของเคเบิลที่แยกออกจากเสาสูงทั้งสองด้าน ยังเป็นเสมือนเส้นรัศมีออกมาจากองค์พระ ดังนั้นหากใครนึกภาพหรือสร้างภาพพระโพธิสัตว์ขึ้นได้ในใจ ก็จะเห็นครบสมบูรณ์ตามแบบพระราชลัญจกร

นอกจากนี้ ตรงเชิงสะพานทั้งฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ จะมีบันไดคนเดินเท้าและลิฟต์สำหรับคนพิการ โดยปลายเสาโครงสร้างมีพานพุ่มบายศรีจำลอง เสมือนว่าคนทั้งสองฝั่งต่างเคารพเทิดทูน และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงสร้างความร่มเย็นเป็นสุขในแผ่นดินนี้ตลอดมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของสะพานพระราม 8” เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2566