ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ มหาวิทยาลัยศิลปากร |
เผยแพร่ |
หลังจาก สะพานพระราม 8 เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นของคนส่วนใหญ่ต่อสะพานพระราม 8 ล้วนเป็นไปในเชิงบวกแทบทั้งสิ้น
หลากหลายคำพูดจากคนทั่วไปและหลายต่อหลายบทความ ที่ปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือวารสารต่างๆ แม้กระทั่งความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ต ต่างมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะกล่าวถึงในแง่มุมใดๆ ก็ตาม อาทิ สะพานพระราม 8 จะกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพฯ สะพานพระราม 8 มีรูปทรงที่สวยงาม สะพานพระราม 8 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่แสดงออกซึ่งเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เป็นต้น
แต่หลายคนคงไม่ทราบว่ากว่าที่สะพานพระราม 8 จะเสร็จสมบูรณ์ ปรากฏให้เราเห็นเช่นปัจจุบันนี้นั้น ได้เกิดความขัดแย้งทางความคิดที่หลากหลายมาก่อนอย่างมากมาย มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดต่างๆ มาไม่น้อย
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ความคิดเห็นที่ขัดแย้งอีกด้านนั้นกลับไม่ได้กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่กว้างขวางแต่อย่างใด ทั้งนี้มิได้หมายความว่าความเห็นแย้งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เพียงแต่สงสัยว่าสังคมให้ความสนใจต่อประเด็นถกเถียงดังกล่าวน้อยไปหรือไม่ ให้ความสนใจกับข้อมูลจากอีกด้านหนึ่งอย่างวิเคราะห์วิจารณ์ดีเพียงพอแก่การตัดสินใจหรือไม่ ซึ่งคำตอบที่พบก็คือไม่
แน่นอนความคิดคัดค้านหลายประการอาจขาดน้ำหนักที่น่าเชื่อถือ แต่ก็มีหลายประเด็นเช่นกันที่สังคมน่าจะต้องนำมาขบคิดว่ามีเหตุผลเท็จจริงแค่ไหนอย่างไร แต่สังคมกลับมิได้ใส่ใจกับประเด็นโต้แย้งเหล่านั้นเท่าที่ควร ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความไม่ใส่ใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่ได้มากระทบกับตัวเองโดยตรง
แต่ในกรณีของสะพานพระราม 8 นั้นมีปัจจัยเสริมที่ทำให้สังคมส่วนใหญ่ละเลยความเห็นแย้งต่างๆ อย่างเฉยชายิ่ง นั่นก็คือได้มีการสร้างภาพลวงตาหรือข้อเท็จจริงลวงที่เป็นเพียงภาพเสมือนจริงมากกว่าที่จะเป็นความจริง จากฝ่ายสนับสนุนโครงการนี้ เพื่อให้สาธารณชนทั่วไปเห็นภาพเฉพาะด้านที่ดีของโครงการ จนทำให้เพิกเฉยต่อข้อมูลจากอีกด้านหนึ่ง โดยพยายามป้อนข้อมูลเพียงด้านเดียวเข้ามาหาเราทุกวันๆ จนทำให้ภาพเสมือนจริงเหล่านั้นกลายเป็นความจริงในความรู้สึกของเราไปในที่สุด
ดังนั้นบทความนี้จึงมุ่งที่จะเข้าไปศึกษาคำโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้นอย่างวิเคราะห์วิจารณ์ให้มากขึ้น พยายามเข้าไปตรวจสอบคำกล่าวอ้างต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสะพานแห่งนี้ ว่ามีข้อเท็จจริงตามคำโฆษณานั้นมากน้อยแค่ไหนอย่างไร หรือเป็นเพียงการกล่าวความจริงเพียงครึ่งเดียวเพื่อให้เห็นเพียงด้านที่ดีด้านที่เป็นบวกเท่านั้น อีกทั้งมีผลเสียใดๆ เกิดขึ้นบ้างตามมาหลังจากสะพานพระราม 8 ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ
แต่ด้วยข้อจำกัดในความรู้ของตัวผู้เขียน ทำให้เป้าหมายแห่งการตรวจสอบของบทความนี้จึงจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรูปแบบสถาปัตยกรรมของสะพานพระราม 8 ที่ส่งผลต่อเมืองและอาคารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องความมีเอกลักษณ์ไทยบางอย่างในตัวสะพานเท่านั้น โดยศึกษาถึงกระบวนการสร้างภาพมายาให้แก่รูปแบบตัวสะพาน ตลอดจนการสื่อสารต่อสาธารณชนทั่วไปผ่านบทความต่างๆ หรือคำกล่าวอ้างที่เราได้ยินกันจนชินหู ซึ่งบทความนี้ได้มุ่งประเด็นความสนใจในคำกล่าวอ้าง 3 ประการหลักๆ ดังต่อไปนี้
1. สะพานพระราม 8 มีรูปแบบที่สวยงาม ดังนั้นจึงไม่เป็น “ทัศนะอุจาด” ของเมือง
2. สะพานพระราม 8 จะทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพมหานคร
3. สะพานพระราม 8 เป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนเอกลักษณ์ไทย ดังนั้นจึงไม่ขัดแย้งกับบริบทแวดล้อมของเมืองเก่า
ทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นถึงแม้อาจจะไม่ได้มีการกล่าวตรงๆ ดังว่านี้ก็ตาม แต่คำพูดต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังและได้พบมานับตั้งแต่สะพานแห่งนี้เปิดใช้จนถึงปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วก็ไม่หนีจากความเชื่อ (ที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจังเลย) ดังกล่าวทั้ง 3 ประการข้างต้นนี้แทบทั้งสิ้น
นอกจากนี้ทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นล้วนเป็นประเด็นทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ และต่างก็ได้รับคำโฆษณาเพียงด้านเดียวจากฝ่ายผู้รับผิดชอบโครงการ
ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากที่จะนำเสนอข้อมูลอีกด้านเพื่อให้สังคมในวงกว้างเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้มิใช่ว่าผู้เขียนมีเจตนาที่จะฟื้นฝอยหาตะเข็บ ติในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้แล้ว หรือสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวจะต้องเป็นความจริงทั้งหมดแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงอยากที่จะนำเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างและตั้งเป็นประเด็นข้อคิดเห็นเล็กๆ เอาไว้
เพื่อที่ว่าการตัดสินใจใดๆ ต่อโครงการในอนาคตข้างหน้าที่จะต้องมีอย่างแน่นอนนั้น จะได้มีการเปิดเป็นเวทีสาธารณะอย่างกว้างขวางมากกว่าที่เป็นอยู่ และให้โอกาสภาคประชาชนเข้าไปตรวจสอบมากขึ้น อย่าคิดเพียงว่าโครงการเช่นนี้เป็นเรื่องเฉพาะทางเฉพาะกลุ่ม เช่น พวกวิศวะ หรือสถาปนิก หรือเฉพาะแวดวงผู้รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น แต่โครงการเช่นสะพานพระราม 8 นี้ เป็นโครงการที่ส่งผลกระทบทางสังคมมากกว่าที่คาดคิดกัน และเป็นประเด็นทางวัฒนธรรมมิใช่เรื่องทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว
1. สะพานพระราม 8 มีรูปแบบที่สวยงาม ไม่เป็น “ทัศนะอุจาด”
ด้วยความสูงที่มากถึง 165 เมตรของสะพานพระราม 8 ทำให้ตัวโครงสร้างสะพานสามารถถูกมองเห็นได้จากระยะไกล แน่นอนว่าตัวสะพานย่อมกลายเป็นฉากหลังให้กับทัศนียภาพหลายจุดในบริเวณโดยรอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเองสะพานพระราม 8 จึงเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดสภาวะที่คนทั่วไปเรียกว่า “ทัศนะอุจาด” ได้โดยง่าย
แต่การพิจารณาว่าสิ่งใดจะเป็นหรือไม่เป็นทัศนะอุจาดนั้น ไม่อาจพิจารณาโดยดูเฉพาะเพียงตัววัตถุเป้าหมายเพียงโดดๆ ได้ จำเป็นจะต้องพิจารณาร่วมไปกับการมองในภาพรวมที่มีสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นประกอบ เนื่องจากทัศนะอุจาดมิได้หมายถึงการพิจารณาว่าวัตถุนั้นสวยงามหรือน่าเกลียดโดยตัวของมันเอง แต่ทัศนะอุจาดจะพิจารณาไปกับบริบทแวดล้อมเป็นหลัก
วัตถุบางอย่างแม้ดูไม่น่าเกลียดหรืออาจจะมีความสวยงามมากแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทางผิดบริบท วัตถุนั้นก็เป็นทัศนะอุจาดได้เช่นกัน
ดังนั้นการพิจารณาสะพานพระราม 8 ว่าจะเป็นทัศนะอุจาดหรือไม่ จึงมิใช่อยู่เพียงแค่ดูว่าสะพานพระราม 8 มีรูปแบบที่สวยงามหรือน่าเกลียด แต่ต้องพิจารณาว่าสะพานพระราม 8 ตั้งอยู่ถูกที่ถูกทางถูกบริบทของสถานที่หรือไม่อย่างไร สอดคล้องกลมกลืนหรือขัดแย้งกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบหรือไม่ เป็นต้น
จากการศึกษาวิเคราะห์ทำให้พบว่า สะพานพระราม 8 มีทั้งบทบาทที่ไม่เป็นทัศนะอุจาด และมีทั้งที่เป็นทัศนะอุจาดในหลายสถานการณ์ ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
เมื่อใดก็ตามถ้าเราขึ้นไปบนสะพานพระปิ่นเกล้า หรือยืนอยู่บริเวณสวนสันติไชยปราการตรงริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วมองไปยังสะพานพระราม 8 เราจะรู้สึกว่าสะพานพระราม 8 มีความงาม และไม่รู้สึกว่าสะพานพระราม 8 เป็นทัศนะอุจาดของเมืองแต่อย่างใด เนื่องจากตัวสะพานจะเป็นวัตถุหลักในการมองของเรา อีกทั้งบริบทแวดล้อมจากมุมดังกล่าวล้วนเป็นภาพตึกรามบ้านช่องสมัยใหม่ทั้งสิ้น ทำให้ภาพที่ปรากฏดูกลมกลืนไม่ขัดตาโดยมีสะพานพระราม 8 เป็นจุดเด่นที่สวยงาม และเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืนที่องค์ประกอบอันเป็นบริบทแวดล้อมนั้นถูกกลืนหายไปกับความมืดด้วยแล้ว ยิ่งจะทำให้สะพานพระราม 8 ดูโดดเด่นเป็นสง่าเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
แต่ในมุมกลับกันถ้าเราถอยเข้ามายืนในบริเวณตัวเกาะรัตนโกสินทร์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากสนามหลวง ป้อมพระสุเมรุ หรือมองจากวังบางขุนพรหมมาสู่ตัวสะพาน ก็จะพบว่าเสาตอม่อของสะพานจะกลายเป็นฉากหลังคอนกรีตที่เข้ามาทำลายทัศนียภาพของอาคารโบราณสถานเหล่านั้นมากกว่าที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน กลายเป็นวัตถุที่อยู่ผิดที่ผิดทางผิดบริบททางวัฒนธรรม และผิดมิติของเวลา และในที่สุดสะพานพระราม 8 ก็จะกลายเป็นทัศนะอุจาดได้ในทันที เนื่องจากรูปทรงที่เด่นตระหง่านของตัวสะพานย่อมสร้างภาพของความขัดแย้งมากกว่าที่จะสร้างความกลมกลืนดังในภาพที่ได้นำมาลง ณ ที่นี้ ซึ่งได้มาจากการเดินสำรวจเบื้องต้นในจุดที่คิดว่าจะเกิดการรบกวน
ผลที่ได้คือ สะพานพระราม 8 ได้กลายเป็นฉากหลังของอาคารทางประวัติศาสตร์หลายๆ จุดอย่างน่าเสียดาย ไม่ว่าจะเป็นวังบางขุนพรหม ป้อมพระสุเมรุ วัดพระแก้ว ศาลหลักเมือง ตึกแดง แม้กระทั่งวัดตรีทศเทพ เป็นต้น
คำกล่าวอ้างที่บอกว่ารูปแบบสะพานเช่นนี้จะไม่กระทบต่อทัศนียภาพของวังบางขุนพรหมนั้น ภาพที่ได้นำมาเสนอก็เป็นประจักษ์พยานชี้ชัดได้อย่างดีว่า วังบางขุนพรหมถูกรบกวนทางสายตาอย่างมหาศาล แท่งคอนกรีตขนาดใหญ่ได้กลายเป็นยักษ์ปักหลั่นยืนข่มโบราณสถานอย่างไม่เกรงใจ วังบางขุนพรหมกลายเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่ยืนอยู่ภายใต้ร่มเงาทะมึนของตอม่อคอนกรีตที่แข็งกระด้างไปอย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ยังไม่นับโบราณสถานอื่นๆ ที่ถูกรบกวนมากบ้างน้อยบ้างตามๆ กันไป ซึ่งผลกระทบอันนี้ไม่อาจที่จะประเมินเป็นตัวเลขความเสียหายในรูปของเงินตราได้ แต่สามารถสัมผัสรู้ได้ด้วยจิตใจเท่านั้น
บรรยากาศและทัศนียภาพเป็นคุณค่าที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างง่ายดาย และคุณค่าของมันก็ไม่อาจจะเห็นได้ชัดเป็นรูปธรรม แต่มันก็มีคุณค่าดำรงอยู่จริง และเป็นตัวเสริมมูลค่าด้านอื่นๆ มากกว่าที่ใครจะคาดคิดกัน
ความมีเสน่ห์ของโบราณสถานที่เมืองเขมรมิใช่เกิดมาจากตัวอาคารโดดๆ เพียงอย่างเดียว แต่เสน่ห์ของโบราณสถานเขมรเกิดจากส่วนประกอบสำคัญ คือบรรยากาศที่แวดล้อมซากอาคารโบราณสถานนั้นๆ ดังนั้นถ้าเกิดมีแท่งคอนกรีตโผล่ขึ้นหลังปราสาทนครวัดเมื่อใด คุณค่าของนครวัดย่อมหายไปกว่าครึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน
ฉันใดก็ฉันนั้น ภาพแท่งคอนกรีตของสะพานพระราม 8 ก็ย่อมบั่นทอนคุณค่าของโบราณสถานต่างๆ ที่ตัวมันได้ไปพาดทับอยู่ด้วยไม่น้อยเช่นกัน
ผลของความขัดแย้งกันระหว่างสะพานพระราม 8 กับสถานที่ทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่นนี้เอง ทำให้ทางกรุงเทพมหานครหรือฝ่ายที่เห็นดีเห็นชอบกับรูปแบบนี้ ต่างจงใจที่จะเสนอภาพจากมุมมองเพียงด้านเดียวของสะพานพระราม 8 ให้แก่สังคม มากกว่าที่จะเสนอภาพอย่างรอบด้าน ภาพที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆ จึงมักเป็นภาพในยามค่ำคืนที่ไร้บริบทแวดล้อม หรือถ้าเป็นภาพตอนกลางวันก็จะเป็นภาพที่มีสะพานเป็นวัตถุประธานเดี่ยวของภาพ โดยตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมและมองไปจากสะพานพระปิ่นเกล้าเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็ถ่ายเจาะเฉพาะองค์ประกอบบางอย่างเท่านั้น
แต่ภาพในลักษณะที่ตัวสะพานเป็นองค์ประกอบของเมืองนั้นหาได้น้อยมาก เนื่องจากถ่ายออกมาแล้วมักจะดูไม่งามเท่าที่ควร
นั่นเป็นเพราะภาพลักษณะดังกล่าวมักจะทำให้ตัวสะพานพระราม 8 เป็นสิ่งแปลกปลอมของเมืองนั่นเอง
ถ้ารูปแบบสะพานแบบนี้ไปตั้งอยู่ที่พื้นที่แถบสีลมหรือสาทร หรือที่ใดก็ตามที่ความหมายของพื้นที่มีลักษณะของความเป็นสมัยใหม่ทันสมัยแล้วล่ะก็ จะทำให้สะพานพระราม 8 เป็นสะพานที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง คือสวยทั้งในภาพกว้างระดับเมือง และในภาพแคบที่มีเพียงตัวสะพานเป็นประธานหลัก
มิใช่งามเพียงเฉพาะบางจุดหรือบางมุมดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ด้วยมิจฉาทิฐิบางอย่างจากฝ่ายผู้รับผิดชอบโครงการ ทำให้แทนที่จะดำเนินการแก้ไขกลับหันมาสร้างภาพมายาเพื่อแก้ตัวมากกว่า ด้วยการพยายามเสนอภาพของสะพานพระราม 8 โดยตัดขาดจากบริบทแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง มองสะพานพระราม 8 เหมือนเป็นอนุสาวรีย์ที่ตั้งเด่นอยู่บนพื้นที่โล่งกว้างขาดความสัมพันธ์กับเมืองและผู้คน ซึ่งถ้าเราสามารถแยกภาพมายาที่ถูกสร้างขึ้นออกจากความเป็นจริงได้แล้ว เราก็จะเข้าใจประเด็นถกเถียงเรื่องทัศนะอุจาดได้เป็นอย่างดี
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากฝ่ายผู้รับผิดชอบโครงการคงมิได้นำเกณฑ์เรื่องผลกระทบในแง่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่อเกาะรัตนโกสินทร์ เข้ามาป็นเกณฑ์ในการพิจารณาร่วมกับเกณฑ์ข้อกำหนดอื่นๆ เท่าที่ควร จึงทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นส่งผลทำลายทัศนียภาพในหลายๆ จุดบนเกาะรัตนโกสินทร์อย่างน่าเสียดาย
สะพานพระราม 8 ได้กลายเป็นตัวทำลายประวัติศาสตร์ของเมืองที่แฝงอยู่ในอาคารเก่าๆ เหล่านี้ ทำให้ความซาบซึ้งยามเมื่อมองโบราณสถานต่างๆ หายไป
นั่นก็เป็นเพราะว่าถ้าเราอยากจะมองโบราณสถานให้เกิดความซาบซึ้งให้ได้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมีจินตนาการในการสร้างภาพแห่งอดีตขึ้นในใจ เช่น ถ้าเราอยากมองป้อมพระสุเมรุให้เกิดความซาบซึ้งถึงอดีตให้ได้ เราต้องสร้างจินตภาพถึงแนวกำแพงเมืองที่เชื่อมกับตัวป้อม คิดคำนึงถึงภาพหมู่ทหารรักษาการณ์ของเมืองกำลังเดินไปมาบนแนวกำแพง เป็นต้น หรือถ้าเราเดินกลางสนามหลวงแล้วอยากให้เกิดความประทับใจ เราก็ควรมีภาพของสนามหลวงที่เรียงรายด้วยทิวต้นมะขามเป็นแถวเป็นแนว และภาพเหนือทิวมะขามเหล่านั้นก็ควรเป็นเพียงท้องฟ้าสุดลูกหูลูกตา โดยไม่มีอะไรมากีดขวางสายตา
แต่ทันทีที่เราแหงนหน้ามองป้อมพระสุเมรุ หรือมองไปยังท้องฟ้าเหนือแนวต้นมะขามสนามหลวง กลับพบแท่งคอนกรีตสูง 165 เมตร ตั้งตระหง่านเป็นฉากหลังของภาพ ซึ่งภาพของตอม่อคอนกรีตขนาดใหญ่เช่นนี้จะช่วยสร้างจินตภาพของอดีตให้เกิดขึ้นในใจเราได้อย่างไร และเมื่อผู้มองโบราณสถานเหล่านั้นไม่สามารถสร้างจินตภาพในอดีตขึ้นในใจได้ โบราณสถานเหล่านั้นก็แทบไม่ต่างอะไรกับวัตถุสิ่งของที่ตั้งโชว์ในพิพิธภัณฑ์อย่างแห้งแล้งไร้ซึ่งจิตวิญญาณ เสมือนเป็นวัตถุที่ถูกเก็บไว้ในห้องเก็บของ และสุดท้ายก็ขาดแม้กระทั่งผู้สนใจอยากเข้าไปชม
นั่นก็เป็นเพราะส่วนหนึ่งของผู้ชมไม่สามารถสร้างภาพจินตนาการถึงอดีตของสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ ไม่รู้จะเชื่อมโยงวัตถุสิ่งของที่แขวนโชว์เหล่านั้นได้ว่ามันดำรงคุณค่าความหมายในอดีตอย่างไร ภาพชีวิตของสิ่งเหล่านั้นเป็นเช่นไร เมื่อไม่สามารถสร้างจินตภาพขึ้นมาได้ก็ไม่รู้ว่าจะดูไปเพื่ออะไร
ฉันใดก็ฉันนั้นถ้าเรายังปล่อยให้เกิดการทำลายคุณค่า หรือปล่อยให้มีการสร้างสิ่งที่บั่นทอนต่อการสร้างจินตภาพในการชมโบราณสถานในเกาะรัตนโกสินทร์ ด้วยวัตถุประหลาด ผิดบริบททางวัฒนธรรมและมิติของห้วงเวลาเช่นนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในไม่ช้าสนามหลวง วัดพระแก้ว ป้อมพระสุเมรุ และอื่นๆ อีกมากมาย ก็คงเป็นได้แค่เพียงวัตถุที่ถูกแขวนจัดแสดงอยู่ในห้อง ที่ล้อมรอบด้วยแท่งคอนกรีตของตึกสมัยใหม่ต่างๆ ไร้ซึ่งจิตวิญญาณ บรรยากาศ และคุณค่าใดๆ ทั้งสิ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ของประเทศไทยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับประเด็นทัศนะอุจาดก็คือ ในขณะที่อาคารชุดขนาดใหญ่คู่หนึ่งที่สร้างขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ที่ส่งผลกระทบต่อเมืองเก่าเช่นเดียวกับสะพานพระราม 8 และถูกสร้างขึ้นก่อนเป็นเวลาหลายปีมาแล้วด้วย กลับถูกโจมตีจากทุกฝ่ายอย่างรุนแรง เสมือนหนึ่งเป็นอาชญากรรมร้ายแรงต่ออาคารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ ในขณะที่สะพานพระราม 8 กลับถูกเพิกเฉยไม่ได้รับความสนใจในประเด็นเดียวกันนี้เท่าที่ควร ซึ่งเมื่อได้ศึกษาต่อไปจึงได้พบว่าปรากฏการณ์เงียบผิดปกตินั้นยังมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาประกอบด้วย ดังที่จะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป
2. สะพานพระราม 8 สัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพมหานคร
ทำไมความสูงของสะพานพระราม 8 จึงไม่ถูกนำไปเปรียบกับตึกแฝดคู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
คำอธิบายหนึ่งที่น่าจะชัดเจนในตัวมันเองก็คือ มีความพยายามที่จะเสนอภาพว่าสะพานพระราม 8 จะกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ (Landmark) ของกรุงเทพมหานครนั่นเอง ซึ่งต้องออกตัวไว้ล่วงหน้าก่อนเลยว่า ผู้เขียนมิได้ต่อต้านแม้เพียงนิดเดียวต่อความคิดที่จะทำให้สะพานแห่งนี้มีความหมายมากกว่าเป็นสะพานให้รถวิ่งข้าม
แต่สิ่งที่ต้องการตั้งเป็นข้อสังเกตก็คือ ถ้าเรามาพิจารณาข้ออ้างเรื่องรูปแบบสะพานจากทางฝ่ายผู้รับผิดชอบ ก็จะพบว่ามีหลายข้ออ้างขึ้นมาอย่างลอยๆ ไร้เหตุผลรองรับ อีกทั้งไม่ได้มีการอธิบายในเชิงวิชาการหรือเทคนิคเพื่อยืนยันข้ออ้างเหล่านั้นจริงจังแต่อย่างใด เป็นเพียงการพูดขึ้นลอยๆ โดยหวังจะให้คนทั่วไปเชื่อโดยไม่ตรวจสอบ ด้วยวิธีการเสนอข่าวฝ่ายเดียว และต่อเนื่องเรื่อยๆ จนคนส่วนใหญ่เชื่อว่าจริง
เช่น “ที่ต้องมีเสาโครงสร้างสะพานเพียงด้านเดียวขนาดใหญ่เช่นนี้ เพื่อจะได้ไม่รบกวนทัศนียภาพของวังบางขุนพรหม และอีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่ต้องการให้มีเสาตอม่อทิ่มลงในแม่น้ำ ก็เนื่องจากเสาตอม่อเหล่านั้นจะส่งผลให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ในยามฤดูน้ำมาก และส่งผลต่อพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค” เป็นต้น
ประเด็นการรบกวนทัศนียภาพวังบางขุนพรหมนั้นพบว่าไร้ข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง ดังที่ได้เสนอมาแล้วในหัวข้อที่ผ่านมา และซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ เสาตอม่อที่สูงขนาดนี้ยังรบกวนทัศนียภาพไปได้ไกลกว่าการแบ่งเสาตอม่อออกเป็น 2 ข้าง ซึ่งจะทำให้แต่ละข้างเตี้ยกว่านี้มากและไม่ส่งผลกระทบด้านมุมมองในระยะไกล
ในส่วนผลกระทบเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ นั้น ควรที่จะนำเสนอเป็นข้อเท็จจริงทางวิชาการมากกว่านี้ต่อสาธารณชน อีกทั้งควรอ้างอิงผลงานการวิจัยต่างๆ มากกว่าการกล่าวอ้างลอยๆ และถ้าส่งผลดังว่าจริง เมื่อลองชั่งน้ำหนักผลกระทบที่มีต่อคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองแล้วอันไหนจะส่งผลกระทบร้ายแรงกว่ากัน หรือจะมีทางออกทางไหนที่ไม่กระทบกับปัญหาทั้งสองข้างต้นเลย เคยมีการวิเคราะห์หาทางออกเหล่านั้นบ้างไหม
ในส่วนที่มีการกล่าวถึงผลกระทบต่อพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคนั้น ควรมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสะพานพระปิ่นเกล้าก่อนว่า ส่งผลกระทบในทางใดและแค่ไหนบ้าง จริงหรือไม่เพียงใด หรือว่าเป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้นว่าเมื่อมีเสาลงในน้ำจะทำให้ภาพกระบวนเรือไม่สวยงาม เสาตอม่อถ้ามีจะขัดขวางกระบวนเรือแค่ไหนเพียงใด เคยมีการสำรวจจริงจังหรือไม่หรือเป็นเพียงจินตนาการ และถ้ารบกวนจริงจะรบกวนในลักษณะใด และท้ายสุดแล้วถ้าผลการศึกษาออกมาว่าเกิดกระทบจริงจะมีทางออกอื่นไหมที่จะไม่กระทบกับคุณค่าด้านอื่นเช่นกันด้วย มิใช่ตัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งออกไปเลย เป็นต้น
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่ามีการหาทางออกที่หลากหลายกว่านี้หรือไม่ก่อนที่จะออกมาเป็นรูปแบบปัจจุบัน
อาจจะจริงที่เทคโนโลยีปัจจุบันไม่สามารถสร้างสะพานโดยไม่มีตอม่อวางลงกลางแม่น้ำได้ถ้าไม่ออกแบบให้เสามีขนาดสูงเช่นนี้ แต่โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าทางออกยังมีได้หลายทางมากกว่าที่เป็นอยู่ถ้าเราได้ตั้งใจจริง หรือแม้แต่การแบ่งเสาตอม่อออกเป็น 2 ด้าน เพื่อช่วยกันดึง แทนที่จะเป็นเสาเดียวเช่นปัจจุบัน ก็อาจทำให้ความสูงใหญ่ของเสาลดลงได้ครึ่งหนึ่ง เช่นนี้เป็นต้น
ถ้าเราเริ่มคิดโดยตั้งโจทย์ว่าจะสร้างสัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพฯ อย่างไร ที่ต้องไม่กระทบกับคุณค่าในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโบราณสถานต่างๆ หรือน้ำท่วม เป็นต้น จากนั้นจึงค่อยๆ ร่วมกันหาทางออกที่ไม่กระทบกับโจทย์ที่ตั้งไว้ทั้งหมด ก็น่าจะทำให้ได้มาซึ่งทางออกที่ดีกว่านี้
ที่สำคัญที่สุดคือ ควรจะนำเสนอแก่สาธารณชนด้วย พูดถึงทั้งข้อดีข้อเสียทุกแบบทุกวิธีการอย่างละเอียด อ้างอิงจากหลักวิชาการจริงมิใช่การพูดที่เลื่อนลอย และควรมีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนว่าแบบใดควรเป็นแบบที่เหมาะสมที่สุด จากนั้นจึงค่อยดำเนินการต่อไป
แต่ทางฝ่ายผู้รับผิดชอบก็ไม่ได้ดำเนินการดังที่กล่าวมา ทั้งนี้คงเนื่องมาจากโจทย์เรื่องการสร้างสัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพฯ กลายเป็นประเด็นสำคัญของฝ่ายผู้รับผิดชอบมากกว่าโจทย์อื่น จึงทำให้ละเลยประเด็นละเอียดอ่อนด้านอื่นๆ ไป
คำถามที่เกิดขึ้นในใจผู้เขียนทันทีเมื่อได้ยินคำกล่าวอ้างเรื่องสัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพฯ ก็คือ สะพานพระราม 8 ในรูปแบบเช่นนี้จะทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพฯ ได้จริงหรือไม่แค่ไหน และพื้นที่แถบนี้นั้นควรหรือไม่ที่จะต้องมีสัญลักษณ์ใหม่ขึ้นมาซ้อนทับอีก สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ แถบนี้ยังมีไม่พออีกหรือ และจะดีกว่าหรือไม่ถ้าเราจะไปสร้างสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ใหม่ในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่มีสัญลักษณ์แน่ชัดของพื้นที่ แทนที่จะมากระจุกตัวกันแค่ในบริเวณนี้
สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อสะพานพระราม 8 เสร็จสมบูรณ์ใช้งานจริงแล้ว สะพานแห่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ใหม่ได้จริงหรือไม่ ในเมื่อตัวมันได้ถูกสร้างขึ้นมาในบริเวณที่มีสัญลักษณ์และความหมายเฉพาะของตัวเองชัดเจนและรุนแรงมากอยู่แล้ว
แน่นอนว่าด้วยรูปทรง รูปร่าง และเทคโนโลยีที่ปรากฏ สัญลักษณ์ของสะพานแห่งนี้ย่อมหนีไม่พ้นภาพลักษณ์ของความเป็นสมัยใหม่ ความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าขัดแย้งกับสัญลักษณ์และความหมายของพื้นที่แถบนี้ที่มีภาพลักษณ์ไปในลักษณะของความเก่าแก่โบราณ เต็มไปด้วยเรื่องราวจากอดีต ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นย่อมไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ และถ้าฝืนให้มาอยู่ร่วมกัน ก็มีแต่จะทำลายคุณค่าซึ่งกันและกันมากกว่าที่จะส่งเสริมกัน
ผู้เขียนจะสนับสนุนและเห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าสะพานพระราม 8 จะทำหน้าที่แสดงความเป็นเมืองสมัยใหม่ของกรุงเทพฯ ความเจริญและเทคโนโลยี แต่ต้องมิใช่มาตั้งอยู่ในบริบทแวดล้อมเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้มิใช่หมายความว่าไม่ควรสร้างสะพานพระราม 8 แต่อย่างใด เนื่องจากต่างก็ประจักษ์กันโดยทั่วกันอยู่แล้วว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อระบบการจราจรบนสะพานพระปิ่นเกล้าจริง ช่วยลดความคับคั่งของการจราจรได้จริงในระดับหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อการแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ
และผู้เขียนก็มิได้หมายความว่าควรสร้างสะพานพระราม 8 เป็นแค่คอนกรีตที่ให้รถวิ่งผ่านโดยไม่มีคุณค่าใดๆ มากกว่าประโยชน์ใช้สอยก็หาไม่ สะพานพระราม 8 นั้นควรอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดสัญลักษณ์พิเศษมากกว่าสะพานทั่วไป
แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายผู้รับผิดชอบก็ควรที่จะตีความการสร้าง ความหมาย และสัญลักษณ์ของสะพานแห่งนี้ให้ถูกต้องเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งก็คือควรสร้างสัญลักษณ์ของสะพานให้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งกับบริบททางวัฒนธรรมของพื้นที่บริเวณนี้ ไม่ควรมีลักษณะขัดแย้งแย่งกันโดดเด่นเช่นที่เป็นอยู่
การเลือกวิธีการในการสร้างสัญลักษณ์ใหม่นั้นดูเหมือนฝ่ายผู้มีอำนาจตัดสินใจจะเลือกเป็นอยู่วิธีเดียว นั่นก็คือ สร้างสิ่งที่ต้องการให้เป็นสัญลักษณ์นั้นให้สูงและใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้เข้าว่า เหมือนกันอย่างน่าประหลาดกับปรากฏการณ์ในสังคมไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ที่เวลาใครต้องการสร้างอะไรให้เป็นสัญลักษณ์หรือจุดเด่นของชุมชนก็มักจะมีวิธีการเดียว คือออกมาในรูปการสร้างของใหญ่ของยักษ์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นธูปยักษ์ ขนมหม้อแกงยักษ์ ไส้อั่วยาวที่สุดในโลก โอ่งมังกรยักษ์ และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่ใหญ่หรือยาวผิดปกติสามัญ เป็นต้น
ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า “วัฒนธรรมนิยมของใหญ่ของยักษ์” เช่นนี้ เริ่มเข้ามาเป็นที่นิยมในสังคมไทยเมื่อไร ทั้งๆ ที่การสร้างสัญลักษณ์ให้เกิดขึ้นกับสิ่งใดก็ตามแต่ล้วนมีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายมากกว่านี้นับไม่ถ้วน แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่ากับการสร้างของให้มันใหญ่ให้มันโตกว่าธรรมดา
ดังนั้นสิ่งที่ควรตระหนักถึงมากที่สุดก็คือ การสร้างวัตถุใดก็ตามให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนั้นมิใช่อยู่แค่เรื่องขนาด แต่อยู่ที่คุณค่าภายในมากกว่า
กรุงเทพมหานครควรจำใส่ใจไว้เลยว่า ขนาดไม่ใช่ทางออกของการสร้างความโดดเด่นเสมอไป ซึ่งถ้ามีการตีความในประเด็นสัญลักษณ์ผิดแล้ว ทุกอย่างที่ตามมาก็ล้มเหลวหมด และไม่เพียงทำให้โครงการล้มเหลวเท่านั้น ยังพานให้สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบพลอยล้มเหลวตามไปด้วย
3. สะพานพระราม 8 สะท้อนเอกลักษณ์ไทย ไม่ขัดแย้งกับบริบทแวดล้อมของเมืองเก่า
อาจจะเป็นด้วยเกิดข้อติติงจากหลายฝ่ายว่าสะพานพระราม 8 มีรูปแบบที่แข็งกระด้าง แลดูเป็นเพียงแท่งคอนกรีตที่ไม่สวยงามเท่าที่ควร อีกทั้งยังเป็นผลผลิตจากฝรั่งต่างชาติอีกต่างหาก ทำให้เกิดกระบวนการแปลงสัญชาติให้แก่สะพานพระราม 8 ขึ้น จากที่เคยมีกลิ่นนมกลิ่นเนยแบบฝรั่งให้กลายมาเป็นกลิ่นเครื่องเทศอย่างไทย ด้วยวิธีการปะติดองค์ประกอบบางอย่างที่อ้างอิงกลับไปยังองค์ประกอบของไทยในอดีต
ทั้งนี้โดยมีความเชื่ออย่างผิดๆ ว่า ถ้าปรุงแต่งเปลือกนอก (อย่างผิวเผิน) บางอย่างเข้าไปแล้วจะทำให้สะพานแห่งนี้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ไทยได้ในที่สุด และเมื่อมีเอกลักษณ์ไทยมากขึ้นแล้วจึงไม่เสียหายแต่อย่างใดเลยถ้าตัวสะพานจะสูงใหญ่เกินไป จนกลายเป็นฉากหลังของอาคาร หรือสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หลายๆ แห่งดังที่ได้กล่าวมา เนื่องจากเมื่อสะพานมีความเป็นไทยก็ย่อมสามารถอยู่ร่วมกับอาคารทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นได้อย่างกลมกลืน ไม่ขัดแย้ง
ภาพลวงตาเรื่องเอกลักษณ์ไทยนี้ก็ถูกสร้างขึ้นอย่างจริงจังในช่วงระยะหลัง โดยเฉพาะหลังจากที่สะพานได้ถูกเปิดใช้อย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นจากบทความทางหน้าหนังสือพิมพ์ วารสารต่างๆ หรือกระทั่งในอินเตอร์เน็ต
แน่นอนว่าการประดับตกแต่งเหล่านี้มิได้เพิ่มค่าใช้จ่ายมากมายนักแต่อย่างใด และการพยายามทำให้ดูเป็นไทย (ในความหมายอย่างแคบ) ก็ดีกว่าการไม่พยายามทำอะไรเลยโดยปล่อยให้เป็นแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่ที่น่าเกลียด
แต่เป้าหมายของการวิจารณ์นี้มีเป้าหมายที่จะสะท้อนสัมฤทธิผลของความพยายามดังกล่าวว่ามีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และการประดับตกแต่งเพียงผิวเปลือกเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้เพียงพอหรือไม่กับการที่มันจะต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของทัศนียภาพหลักอันสำคัญ เมื่อมองออกมาจากเกาะรัตนโกสินทร์ หรือโบราณสถานที่มีคุณค่าอื่นๆ ตลอดไปนับจากนี้ หรือการพยายามตกแต่งผิวเปลือกภายนอกนี้เป็นแค่เพียงการพยายามสร้างภาพมายาขึ้นมาอีกภาพ เพื่อลวงให้คนทั่วไปที่มิได้ฉุกคิดอย่างจริงจังคล้อยตามและหลงเชื่อเพียงเท่านั้น
ถ้าเราไม่หลงไปกับคำโฆษณาด้านเดียวเกินไปนัก เราก็จะพบว่า การตกแต่งเพียงผิวเปลือกเล็กๆ น้อยๆ เพียงแค่นี้ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ผลกระทบหลักที่เกิดขึ้นก็ยังคงเหมือนเดิม คือขัดแย้งกับบริบททางวัฒนธรรมของพื้นที่ เนื่องจากตัวสะพานแห่งนี้มิได้มีเป้าหมายหลักเรื่องเอกลักษณ์ไทย หรือตั้งใจจะให้กลมกลืนกับบริบทแวดล้อมมาตั้งแต่ต้น ไม่ต่างกันเลยกับกรณีของสนามบินสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า) ที่เราต้องมัวมายุ่งอยู่กับการแก้ไขและสร้างเอกลักษณ์ไทยในมิติแคบๆ เพียงรูปแบบภายนอกเท่านั้น
ผลที่ได้จากโครงการทั้งสองแห่งนี้จึงเป็นเพียงการนำองค์ประกอบ (ที่คิดว่าเป็นไทย) บางอย่างไปปะไปติดไปหุ้มไปสวมเข้าไปเฉยๆ เหมือนนำฝรั่งมาสวมชฎา หรือเอามาลามานำไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เท่านั้น
เป็นเพียงการมองแต่รูปแบบมิได้มองเข้าไปถึงแก่นแท้
แทนที่จะเริ่มความเป็นไทยด้วยการให้วิศวกรคนไทย สถาปนิกชาวไทยเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งแน่นอนถึงแม้ผลที่ได้อาจไม่ดีไม่ยิ่งใหญ่เท่ากับแบบปัจจุบัน แต่นั่นแหละคือการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นให้มีโอกาสได้จับโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้บ้าง และเป็นการสร้างงานขึ้นจากภูมิปัญญาเท่าที่มีของคนไทยจริง
แม้มันอาจจะล้าหลังทางเทคโนโลยี แต่เราก็สามารถควบคุมดูแลมันได้จริง มิใช่ว่าต้องคอยเรียกบริษัทต่างชาติมาทุกครั้งเวลาเกิดปัญหาทางเทคนิค เช่นที่เกิดขึ้นกับการซื้อเทคโนโลยีต่างชาติในรูปแบบต่างๆ มาใช้ในหลายๆ โครงการในปัจจุบัน ที่เรายังคงต้องพึ่งพาจมูกคนอื่นหายใจตลอดเวลา
สะพานพระราม 8 ก็เช่นกัน เป็นการซื้อเทคโนโลยีสำเร็จรูปเข้ามาโดยที่เราควบคุมดูแลมันได้ไม่ครบวงจร เราไม่สามารถอ้างความภูมิใจได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นจากสมองคนไทยได้จริง ดังนั้นทางออกที่จะยังคงความภูมิใจในตนเองอยู่ได้ก็คือ การพยายามยัดเยียดเปลือกนอกบางอย่างที่อ้างกันว่าเป็นไทย เข้าไปหุ้มปิดข้อเท็จจริงบางประการให้หายไป
ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะไม่สามารถแปลงสะพานแห่งนี้ให้กลมกลืนไปกับบริบทของพื้นที่ได้จริงดังคำกล่าวอ้างแล้ว ยังสะท้อนภาพความอ่อนด้อยทางวัฒนธรรมของสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง
กล่าวคือ สังคมไทยยังคงเป็นสังคมที่เน้นการบริโภคความแปลกใหม่ที่ตัวเองขาดความสามารถในการควบคุมดูแลอยู่เช่นเดิม ยังเป็นเพียงผู้ซื้อเทคโนโลยีมากกว่าผู้ผลิต ยังตื่นเต้นกับเทคโนโลยีตะวันตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา ยังอยากจะใช้ของใหม่ของทันสมัยโดยไม่รู้ว่าตนเองพร้อมหรือไม่ ดูแลมันได้ครบวงจรหรือไม่ และไม่รู้ว่ามันเหมาะสมกับตัวเองแค่ไหนอีกด้วย จนเมื่อมีผู้โต้แย้งขึ้นมาในบางประเด็น เช่น ผลกระทบที่มีต่อเมืองเก่า จึงได้เริ่มตระหนักถึงบ้าง
แต่วิธีการแก้ไขกลับเป็นเพียงการสร้างภาพมายาขึ้นมาลวงตา ว่ามันไม่ได้กระทบกับเมืองเก่าแต่อย่างใด เนื่องจากสะพานแห่งนี้มีเอกลักษณ์ไทยที่งดงามเข้ากันได้ดีกับบริบทของพื้นที่ และสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีวิธีการแก้ไขก็คือ การสวมชฎา คล้องสังวาล วางพานพุ่มบายศรีลงบนตัวสะพาน อันเป็นวิธีการแก้ไขอย่างง่ายๆ อย่างที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้วหลายๆ โครงการในประเทศไทย ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัวอย่างคำกล่าวอ้างบางส่วนที่เกิดขึ้นมากับสะพานพระราม 9 ให้พิจารณากันดังนี้
“เสาทางยกระดับที่ต่อเนื่องกับตัวสะพานทั้งสองฝั่ง จะมีรูปทรงคล้ายกับก้านดอกบัว คือปลายยอดเสาจะบานโค้งออกได้สัดส่วนไปรับทางยกระดับด้านบน แต่ละด้านของเสานี้ยังเซาะร่องลึกเพื่อลดความแข็งกระด้าง ลดขนาดเสาให้ดูเล็กลง และล้อลวดลายก้านใยของดอกบัว ปลายยอดเสาสูงที่ใช้ขึงเคเบิล…จะคลุมด้วยโครงอะลูมิเนียมสีทองถักทอเป็นรูปทรงหัวเม็ด หรือทรงบัว… ตัวสะพานหากตัดขวางตัวสะพานจะเห็นว่าคล้ายรูปร่างดอกบัว…” (จากคอลัมน์ “มองบ้านมองเมือง” ของปริญญา ตรีน้อยใส ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9-15 ธันวาคม 2545 หน้า 67)
นอกจากนี้ด้วยชื่อสะพานพระราม 8 เองทำให้ทางฝ่ายผู้ออกแบบผิวเปลือกภายนอกจึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะสื่อสารต่อสาธารณชนให้ได้ว่า รูปแบบของสะพานสะท้อนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับองค์รัชกาลที่ 8 ซึ่งวิธีการก็คือ การยกพระราชลัญจกรประจำพระองค์ (รูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน และมีเรือนแก้วอยู่ด้านหลัง) มาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร โดยมีคำอธิบายดังนี้
“…วิศวกรได้ออกแบบให้เสาสูงเป็นรูปตัววายคว่ำ โดยกางขาทั้งสองคร่อมตัวสะพาน คนที่สัญจรผ่านไปมาบนสะพานจึงต้องลอดใต้ขาทั้งสองนี้ โดยจะรู้สึกเหมือนกำลังเดินทางผ่านซุ้มสามเหลี่ยม เมื่อเพิ่มองค์ประกอบแถบสีทองเข้าไปตรงกลางขาทั้งสองขาทำให้ช่องว่างดังกล่าวดูไกลๆ คล้ายซุ้มเรือนแก้ว ที่ช่างไทยมักจะออกแบบประดับหลังองค์พระทั่วไป เส้นสายสีทองของเคเบิลที่แยกออกจากเสาสูงทั้งสองด้าน เสมือนเป็นเส้นรัศมีออกจากองค์พระ ถ้าผู้ข้ามสะพานนึกภาพหรือสร้างภาพองค์พระโพธิสัตว์ขึ้นมาได้ในใจก็จะเห็นครบตามแบบพระราชลัญจกร…” (จากคอลัมน์ “มองบ้านมองเมือง” ฉบับเดียวกัน)
จากข้อความข้างต้นเราจะเห็นชัดว่าความพยายามยัดเยียดความเป็นไทย (ในความหมายอย่างแคบ) ลงไปบนตัวสะพานทำกันอย่างที่สำนวนชาวบ้านเรียกว่า “เอาสีข้างเข้าถู” อย่างชัดเจน ซึ่งจะยกมาพิจารณาเป็นส่วนๆ ดังนี้
ปลายเสาทางยกระดับที่ปรากฏในสะพานพระราม 8 มิได้มีความหมายตั้งใจแรกเริ่มเพื่อสื่อถึงก้านบัวแต่อย่างใด เป็นเพียงรูปทรงที่มาจากการออกแบบทางโครงสร้างที่ปรากฏทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น เสายกระดับรับทางรถไฟฟ้า BTS ก็มีรูปร่างเช่นเดียวกันนี้ หรือการบอกว่าถ้าดูในรูปตัดขวางจะเห็นว่าสะพานมีรูปร่างคล้ายดอกบัวนั้นก็เป็นเพียงการสร้างคำอธิบายลงไปบนสิ่งที่ฝรั่งออกแบบมาแล้ว วิศวกรผู้ออกแบบไม่ได้ตั้งใจแม้เพียงเศษเสี้ยวที่จะให้เป็นรูปทรงดอกบัวดังคำกล่าวอ้าง ทั้งหมดเป็นเพียงเรื่องทางวิศวกรรมทั้งสิ้น
ที่น่าตลกมากที่สุดคือ การยัดเยียดตราพระราชลัญจกรขององค์รัชกาลที่ 8 ลงไปบนสะพาน ดังที่มีการกล่าวว่าเมื่อเติมแถบสีทองลงบนขาตัววายทั้งสองแล้วจะดูคล้ายซุ้มเรือนแก้วนั้น ก็เป็นการนั่งฝันคนเดียว คิดเองเออเองอย่างแปลกประหลาดที่สุด หรือการที่พยายามฝันไปเองอีกเช่นกันว่า เส้นเคเบิลที่โยงรับน้ำหนักตัวสะพานนั้นเป็นรัศมีออกมาจากองค์พระ ก็ฟังดูเป็นการเพ้อมากเกินไป เรียกว่าเกิดอาการอยากจะเป็นไทยจนเลยเถิด มองทุกอย่างแล้วดึงเข้ามาหาตัวเองหมด
ระเบียบวิธีคิด (เข้าข้างตัวเอง) เช่นนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลยในวงการสถาปัตยกรรม ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยที่วงการสถาปัตยกรรมของไทยทำไมถึงไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ทั้งจากคนไทยด้วยกันเองและต่างชาติ ในเมื่อยังมีการคิดฝันเข้าข้างตนเองอยู่เช่นนี้ และถ้าผู้ออกแบบตัวจริงเขามาได้ยินเข้าก็คงจะหัวเราะเยาะ มากกว่าที่จะยกย่องชมเชยอย่างแน่นอน ต่อการกระทำที่เอาสีข้างเข้าถูจนเลือดแทบทะลักดังกล่าว
แม้ว่าการออกแบบที่อาศัยการอ้างอิงสัญลักษณ์ใดๆ มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ไม่จำเป็นจะต้องสื่อถึงรูปแบบต้นฉบับนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมาก็ตาม แต่การอ้างอิงโดยที่กล่าวแต่ว่านำสัญลักษณ์พระราชลัญจกรมาใช้เป็นหลักในการออกแบบอย่างเลื่อนลอย และพยายามยัดเยียดความหมายต่างๆ จากพระราชลัญจกรลงไปบนสิ่งที่ถูกออกแบบมาก่อนอยู่แล้วนั้น จะถือว่านี่คือการออกแบบได้หรือไม่ และควรเชื่อหรือไม่ว่าการยัดเยียดความหมายเข้าไปทีหลังอย่างที่ทำกันนี้จะทำให้เป็นไทยได้จริง ควรที่ทุกคนจะต้องพิจารณาให้ดี
มิฉะนั้นในกาลข้างหน้าใครเกิดอยากจะอ้างว่า “Burlington Bridge” และ “William Natcher Bridge” ของอเมริกา หรือแม้กระทั่ง “Ting Kau Bridge” ในฮ่องกง มีสัญลักษณ์ความเป็นไทยแทรกอยู่ก็คงจะทำได้อย่างไม่ขัดเขิน เนื่องจากทั้ง 3 สะพานนี้ต่างก็มีเส้นรัศมีขององค์พระโพธิสัตว์จากซุ้มเรือนแก้วเช่นกัน แสดงว่าก็คงนำแนวคิดมาจากช่างไทยในอดีตเป็นแน่แท้ เอกลักษณ์ไทยก็คงจะได้กลายเป็นมาตรฐานสากล สามารถอวดฝรั่งต่างชาติได้จริงๆ ก็คราวนี้เอง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นกระบวนการสร้างความหมายที่เป็นเพียงภาพมายาอันน่าสนใจยิ่งมาโดยลำดับ ตั้งแต่การอ้างว่าสะพานพระราม 8 จะกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ บริเวณดังกล่าวนั้นไม่สมควรที่จะมีสัญลักษณ์ใหม่ ที่สร้างความขัดแย้งกับความหมายเดิมในบริบทของพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
และต่อมาเมื่อเกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบด้านทัศนียภาพต่อเมืองและอาคารเก่า ก็ได้เกิดความพยายามในการสร้างภาพมายาว่าสะพานแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตาเป็นที่น่าภาคภูมิใจของคนกรุงเทพฯ โดยเน้นเสนอภาพเพียงด้านเดียวอันเกิดจากการมองตัวสะพานในยามค่ำคืนที่บริบทแวดล้อมโดยรอบถูกกลืนหายไปกับความมืด หรือเสนอภาพในจุดที่เป็นรายละเอียด โดยละเลยภาพรวมในมุมอื่นที่มีตัวสะพานเป็นเพียงองค์ประกอบเสริมของเมือง เสมือนเป็นการบอกความจริงเพียงครึ่งเดียวแก่สาธารณชน
หรือแม้กระทั่งการพยายามจะยัดเยียดเอกลักษณ์ไทยในความหมายอย่างแคบเพียงรูปแบบเปลือกนอกบางอย่างอันผิวเผินเข้าไป และอธิบายตีความอย่างฝันๆ เข้าข้างตนเอง เพื่อจะได้กลบเกลื่อนภาพของความขัดแย้งกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
รูปแบบของสะพานพระราม 8 จึงเป็นเพียงภาพสะท้อนของอาการนิยมเทคโนโลยีอย่างไม่ลืมหูลืมตาอีกครั้งของผู้มีอำนาจรัฐในเมืองไทย อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สนใจต่อความเห็นแย้งต่างๆ ในสังคมเท่าที่ควร
ผลลัพธ์ที่ได้จึงแทนที่จะสร้างรูปแบบของสะพานพระราม 8 ให้เป็นสัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพฯ และมีเอกลักษณ์ไทยจึงไม่สำเร็จในความเป็นจริงแต่อย่างใด
ผลสำเร็จที่ได้มากที่สุดกลับเป็นผลสำเร็จในการสร้างภาพมายาขึ้นในจินตนาการของคนส่วนใหญ่ ที่มิได้พิจารณาอย่างรอบด้านเท่านั้นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- สะพานพระราม ๘ (อีกครั้ง)
- ถนนแห่งพระรามาธิบดี ถนนพระรามทั้ง 7 สาย
- “ฝรั่งจับเจ๊กไปฝังเป็นรากสะพานพระราม 6” ลือกันหนักมาก ข่าวซุบซิบเกือบ 100 ปีก่อน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2560