“ฝรั่งจับเจ๊กไปฝังเป็นรากสะพานพระราม 6” ลือกันหนักมาก ข่าวซุบซิบเกือบ 100 ปีก่อน

สะพานพระราม 6 ที่สร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 7

ข่าวลือเป็นของคู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน เรียกได้ว่า ในสยามก็มีเช่นเดียวกับประเทศอื่น เมื่อย้อนไปดู ข่าวลือ ในสังคมสยามเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนก็พบเห็นกันได้แล้ว และจะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ต้องปรามการซุบซิบในชุมชนกันเลยทีเดียว

ข่าวลือที่ว่ามีดังนี้

“จงอย่าเชื่อในสิ่งที่เหลวไหล

เราได้ยินราษฎรแถวบางรัก บ้านทวาย และพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ โจทกันระเบงเซงแซ่ว่า เวลานี้ฝรั่งเที่ยวขึ้นรถยนต์คลุมผ้าดำแล่นในยามดึก แถวสระปทุมและถนนประแจจีน แล้วใช้ไฟ้ฟ้าส่องให้คนอ่อนเพลีย จึงจับตัวไปฝังเปนรากสพานพระราม 6 นอกจากนี้ยังมีคนโง่โจทกันว่าจีนแถวสพานเหลืองหัวลำโพงหายไปหลายคนทั้งนี้ทำให้ผู้คนแตกตื่นกันยกใหญ่

สะพานพระราม 6 ขณะกำลังก่อสร้าง ในสมัยรัชกาลที่ 7

การลือกันอย่างไม่มีมูลเช่นนี้เราขอให้ชาวตลาดผู้หลงเชื่อจงตรองดู ว่าบริษัทใดใดเปนผู้รับเหมาสร้างสพานพระราม 6 ราคา 2 ล้าน 4 แสนบาทเศษ สัญญาจะให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่เดือนมกราคมปีก่อนเปนต้นมา บริษัทใดใดต้องการที่จะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาเปนข้อใหญ่ เพราะถ้าเกินกำหนดจะต้องถูกปรับเปนรายวัน และถ้าเขามัวเที่ยวจับคนไปฝังเปนรากสพานนั้นเพื่อประโยชน์อันใด ดินมีถมไปที่สำหรับจะถม หรือจะเอาเปนฤกษอย่างไทยโบราณชอบพูดกันก็เปล่า เพราะฝรั่งไม่ต้องการทำการโง่เง่าเช่นนี้เลย เขาได้กระทำพิธีวางฤกษแล้วคือ หีบเงิน เมื่อวันที่ 6 เดือนก่อน ฉนั้นขอผู้ที่หลงเชื่อจงกลับใจเสียใหม่ ว่ามันเปนข่าวเหลวไหล และเจ้าน่าที่ก็ควรจัดการบอกกล่าวกันอย่าให้โง่เง่านัก

เรายังไม่กล้าปฏิเสธว่าจะไม่มีคนขึ้นรถยนตร์เที่ยวทำการฆาฏกรรมในเวลากลางคืน เพราะในเวลานี้พวกอั้งยี่ดุร้ายมาก เพราะมันคอยทำร้ายกันอยู่ทุกเมื่อ แต่ในเวลากลางวันหรือในที่ประชุมชนมันทำร้ายไม่ได้ เพราะเจ้าน่าที่อยู่เกลื่อนกลาด มันจึงหาอุบายทำในเวลากลางคืน แต่เราก็ยังไม่รับรองทีเดียวนัก ซึ่งถ้าแม้ชาวตลาดที่เล่าลือกันเห็นจริงก็อาจเปนได้ ส่วนว่าถึงฝรั่งจับตัวฝังรากสพานนั้นอาจเปนอุบายป้ายโทษของพวกอั้งยี่ ขอพวกเราจงอย่าโง่ไปหลงเชื่อเปนอันขาด”

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ “สัมพันธ์ไทย” ฉบับประจำวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 (หนังสือพิมพ์ออกทุกวันพุธและวันเสาร์)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หนังสือ “สยามสนุกข่าว สรรพคุณ : เป็นเรื่องจริงที่อ่านขํากว่า เรื่องอ่านเล่นขําขันใดๆ รวบรวมจากข่าวเบ็ดเตล็ดในหน้าหนังสือพิมพ์ของชาวสยาม” โดย ปียกนิฏฐ์ หงษ์ทอง. พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2531


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กันยายน 2561