ข่าวลือ “รัฐประหาร” และการแบ่งขั้วอำนาจในกองทัพ สมัยรัฐบาล “จอมพลสฤษดิ์”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ผิณ ชุณหวัน เมื่อปี 2496 (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับตุลาคม ปี 1953)

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ขึ้นมามีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.. 2490 และได้มาเป็นตัวแสดงหลักทางการเมืองไทยนับแต่นั้น โดยเขาได้รัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีข้อครหาในการเลือกตั้ง พ.. 2500 ว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก ในที่สุดวันที่ 16 กันยายน พ.. 2500 จอมพลสฤษดิ์ก็ได้รัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพล ป. ทำให้จอมพล ป. ต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่น ทางด้าน พล... เผ่า ศรียานนท์ เพื่อนรักเพื่อนร้ายของจอมพลสฤษดิ์ก็ลี้ภัยไปสวิตเซอร์แลนด์

หลังการรัฐประหาร .. 2500 จอมพลสฤษดิ์มีภาพลักษณ์เป็นวีรบุรุษที่จะนำประชาธิปไตยมาให้กับประชาชน หลังจากผ่านยุคสมัยที่ยาวนานและการโกงเลือกตั้งของจอมพล . มา ทั้งยังไม่รับอำนาจไว้เอง โดยแต่งตั้งให้นายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี สาเหตุที่จอมพลสฤษดิ์ไม่รับตำแหน่งเอง อิทธิเดช พระเพ็ชร มองว่ามาจากเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ 1. จอมพลสฤษดิ์ มีภาพลักษณ์เป็นทหารผู้ขับไล่เผด็จการทหาร หากเข้าไปรับตำแหน่งเองอาจเกิดข้อครหา 2. รัฐบาลพลเรือนจะสามารถได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากกว่ารัฐบาลทหารด้วยภาพลักษณ์ของประชาธิปไตย 

Advertisement

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้รับตำแหน่งนายกฯ ด้วยตนเอง น่าจะเป็นเพราะปัญหาสุขภาพ ซึ่งเขามีปัญหาเกี่ยวกับตับและม้ามทำให้อาจเป็นปัญหาในการทำงานบางอย่างได้ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วการรัฐประหาร พ.. 2500 จอมพลสฤษดิ์ผลักดันให้กองทัพเข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ทางอำนาจและมีบทบาทในการจัดสรรอำนาจให้กับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการและทหาร จอมพลสฤษดิ์พยายามเข้าสู่วงการการเมืองที่ชอบธรรม โดยมีการตั้งพรรคชาติสังคม (National Socialist Party) ซึ่งเป็นการรวมสมาชิกพรรคสหภูมิและพรรคเสรีมนังคศิลา (พรรคเก่าของจอมพล ป.)  ทว่าสมาชิกจากทั้งสองพรรคกลับไม่ลงรอยกันนัก เพราะพรรคมนังคศิลาเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับจอมพล ป. 

หลังการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม พ.. 2500 นายพจน์สารสินพ้นจากตำแหน่งนายกฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขึ้นมาเป็นนายกฯ ในวันที่ 1 มกราคม พ.. 2501 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งภายในพรรคชาติสังคม และอาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์ยังหนักอยู่ จนต้องไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวอลเตอร์ รีด (Walter Reed) ในสหรัฐฯ ดังนั้น ในวันที่ 23 มกราคม พ.. 2501 สิ่งที่จอมพลถนอมต้องพบเจอหลังจากการไปรักษาตัวของจอมพลสฤษดิ์ คือ รัฐบาลที่มีความอ่อนแอจากทั้งความขัดแย้งภายในพรรค โดยมีการลาออกของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และการลาออกของสมาชิกพรรคสหภูมิ 26 คน ส่งผลให้การออกเสียงในสภาฯ มีปัญหา ทั้งยังโดนโจมตีจากฝ่ายค้านอีก

แม้ว่าจอมพลสฤษดิ์จะมีอำนาจในกองทัพมากจนสามารถขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองได้ในฐานะหุ้นส่วนทางอำนาจใหญ่ แต่ภายในกองทัพเองก็ไม่ได้เป็นเอกภาพมากนัก จากความอ่อนแอของรัฐบาลจอมพลถนอมและอาการป่วยของจอมพลสฤษดิ์ จนทำให้เกิดข่าวลือว่าคนในกองทัพจะก่อรัฐประหารอยู่บ่อยครั้งจากทหารหลายกลุ่ม

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และท่านผู้หญิงวิจิตรา (ภาพจากหนังสือการเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ)

กลุ่ม พล.ท. ประภาส จารุสเถียร

กลุ่มที่จอมพลสฤษดิ์หวาดระแวงมากที่สุดคือ พล.ท. ประภาส จารุเสถียร ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังจากจอมพลสฤษดิ์เดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐฯ พล.ท. ประภาส ก็มีอำนาจมากขึ้นท่ามกลางความสั่นคลอนของรัฐบาลจอมพลถนอม ซีไอเอ. ยังวิเคราะห์ว่า จอมพลสฤษดิ์มีความกังวลเกี่ยวกับข่าวลือการรัฐประหารท่ามกลางความแตกแยกของรัฐบาลจอมพลถนอมและกองทัพ เช่น ฝ่ายค้าน, ผู้ที่สับสนุนจอมพล ป., นายทหารชั้นผู้ใหญ่อื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แต่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เข้มแข็งพอที่จะก่อการรัฐประหารได้ด้วยตัวเอง พวกเขาจะต้องร่วมกับกลุ่ม พล.ท. ประภาส

หากพิจารณาการรวมกลุ่มของฝ่ายค้านและกลุ่ม พล.ท. ประภาส (หากเป็นจริง) จะไม่เพียงเป็นการบรรลุความต้องการของฝ่ายต่อต้านจอมพลสฤษดิ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มอำนาจทางกองทัพและการเมืองให้กับ พล.ท. ประภาส ด้วย จากข่าวลือที่หนาหูดังกล่าวทำให้จอมพลสฤษดิ์เดินทางกลับไทยในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2501 และเรียกจอมพลประภาสเข้าพบทันที

จากความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลจอมพลถนอม จอมพลสฤษดิ์จึงทำการรัฐประหารที่เรียกว่าปฏิวัติ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และพาไทยเข้าสู่ระบอบเผด็จการอย่างชัดเจน แม้ว่าหลังการรัฐประหารครั้งนี้จอมพลสฤษดิ์จะสามารถรวมอำนาจได้มากขึ้น มีการลดบทบาท พล.ท. ประภาส ลงได้ แต่กระแสข่าวรัฐประหารก็ยังไม่หมดไป

(ซ้าย) จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขวา) จอมพล ถนอม กิตติขจร

กลุ่ม พล.ต. กฤษณ์ สีวะรา

ในช่วง พ.ศ. 2502 ทหารหลายกลุ่มเริ่มไม่พอใจการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ที่ตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหม เพื่อไปเพิ่มงบให้กับหน่วยงานพลเรือนในการทำแผนพัฒนาต่าง ๆ โดยกลุ่มหนึ่งที่มีข่าวว่าอาจมีท่าทีที่จะรัฐประหารจอมพลสฤษดิ์คือ พล.ต. กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ผู้คุมกำลังหลักในกรุงเทพฯ พล.ต. กฤษณ์ ได้แจ้งกับทูตทหารของสหรัฐฯ ในกรุงเทพว่าสถานการณ์ทางการเมืองย่ำแย่ลงตั้งแต่ต้นสิงหาคม สมาชิกภายในกองทัพบางคนกำลังปรึกษากันอย่างจริงจังเกี่ยวกับการยับยั้งจอมพลสฤษดิ์ พล.. กฤษณ์ บอกว่าจะทำการบางอย่าง’ ในอนาคตอันใกล้’ เพื่อพาประเทศไทยจากการปฏิบัติการของจอมพลสฤษดิ์'” ซึ่งมีการคาดกันว่าหากเกิดรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ก็มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มทหารอาจนำจอมพล ป. กลับมาปกครอง

จอมพลสฤษดิ์ไม่ไว้วางใจ พล.ต. กฤษณ์ นัก เพราะมีข้อมูลบางกระแสว่า พล.ต. กฤษณ์ มีความโน้มเอียงไปทาง พล.ต.อ. เผ่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการที่ พล.ต. กฤษณ์ ดำรงตำแหน่งนี้ เป็นเพราะจอมพลสฤษดิ์เองต้องการจัดให้ พล.ต. กฤษณ์ อยู่ในฐานะที่ถูกจอมพลสฤษดิ์ควบคุมได้ เพื่อป้องกันการรัฐประหาร หลังจากเหตุการณ์เริ่มคลี่คลายลง พล.ต. กฤษณ์ ก็ได้ถูกแต่งตั้งและเลื่อนยศให้เป็นให้เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ประจำภาคอีสาน ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาและการจัดสรรอำนาจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อการสร้างความพอใจและความไว้วางใจ เพื่อรักษาฐานอำนาจหลักของตัวจอมพลสฤษดิ์เอง

พลเอก กฤษณ์ สีวะรา

นอกจากนี้ยังมีแผนการรัฐประหารอื่น ๆ อีก เช่น แผนการของหลวงวิจิตรวาทการ, พล.อ.อ. บุญชู จันทรุเษกษา, พล.อ.อ. เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร, สงวน จันทรสาขา, พงษ์สวัสดิ์ สุริโยทัย, นายสุนทร หงส์ลดารมย์ และถนัด คอมันตร์ ในช่วงก่อนการรัฐประหาร เดือนตุลาคม พ.ศ. 2501

ข่าวลือและแผนการรัฐประหารเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนความมีอำนาจมากของกองทัพในช่วง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา แต่อำนาจที่มีมากก็แลกมากับความแตกแยกจากการแย่งชิงอำนาจภายในกองทัพ ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจในการปกครอง แม้จะมีข่าวลือมากมาย สุดท้ายรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ก็มีความแข็งแกร่งและดำรงฐานะอย่างมั่นคงจนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรมในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 

การที่รัฐบาลนี้มีอายุเกือบ 5 ปี ท่ามกลางกระแสการรัฐประหารและการแย่งชิงอำนาจในกองทัพมากมาย ยังชี้ให้เห็นถึงความสามารถของจอมพลสฤษดิ์ในการแก้ปัญหาการแย่งชิงอำนาจในกองทัพ เช่น มีการเก็บ พล.ต. กฤษณ์ ไว้ในสายตายเพื่อควบคุม เช่นเดียวกับ พล.ท. ประภาส ที่แม้ว่าจะโดนลดอำนาจไปบ้าง แต่ทั้งสองรายก็ไม่ได้ตัดหางให้หมดอนาคต

ภายหลังจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ทั้ง พล.ท. ประภาส (ภายหลังได้ยศจอมพล) และ พล.ต. กฤษณ์ (ภายหลังได้ยศพลเอก) จะมีบทบาทมาเป็นตัวแสดงหลักทางการเมืองไทย โดยจอมพลประภาสจะมีบทบาทมากช่วงก่อน 14 ตุลาฯ และ พล.อ.กฤษณ์ จะมีบทบาทมากหลัง 14 ตุลาฯ

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

CIA. Freedom of Information act. Central Intelligence bulletin. “Thai Political Situation.” CIA- RDP79T00975A003800050001-4. June 25, 1958.

CIA. Freedom of Information act. Central Intelligence bulletin. “Discontent Reported Increasing ruling Thai Military Group.,” C02989917. August 31, 1959.

กุลดา เกษบุญชู มี้ด. “การเมืองไทยในยุคสฤษดิ์-ถนอม ภายใต้โครงสร้างอำนาจโลก.” ม.ป.ท.: รายงานการ วิจัย, 2550.

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองพ่อขุนอุปถัมป์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์, 2561. 

พระเพชร อิทธิเดช. “ปฏิมากรรมน้ำแข็ง: จาก “ขวัญใจ” สู่ “ตัวร้าย” ภาพสัญลักษณ์ทางการเมืองของจอม พล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนการปฏิวัติ 20 ตุลาฯ.” ศิลปวัฒนธรรม  ที่ 43. ฉบับที่ 1. พฤศจิกายน , 2564.

อาสา คำภา. “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย.” วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต. สาขาวิชา ประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียใหม่, 2562.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2565