ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร. นนทพร อยู่มั่งมี |
เผยแพร่ |
การเกิดข่าวลืออันเกี่ยวข้องกับเหตุไฟไหม้นับเป็นเรื่องที่สร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้คนในเมืองหลวงอย่างมาก เพราะการเกิดเหตุข่าวลือมักเกิดจากผู้ที่มีจุดประสงค์เพื่อผลประโยชน์บางประการซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร
รัฐจึงมีการควบคุมและลงโทษผู้สร้างข่าวลือเรื่องอัคคีภัย ได้แก่บรรดาคนทรงเจ้า ที่อาศัยความศรัทธาของราษฎรเป็นเครื่องมือกระจายข่าวลือจากคำพยากรณ์ของตน โดยมุ่งหวังวัตถุประสงค์บางประการ เช่น ทรัพย์สินเงินทอง หรือแม้แต่การขัดขวางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเมือง ซึ่งปรากฏในปี พ.ศ. 2313
บรรดาคนจีนที่อาศัยบริเวณศาลเจ้าพ่อเสือ ที่ถนนบำรุงเมืองได้ให้คนทรงเจ้าพยากรณ์เหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ เพื่อขัดขวางการขยายถนนและปรับปรุงตึกแถวบริเวณถนนบำรุงเมือง เหตุการณ์นี้ยุติลงเมื่อรัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินผืนใหม่ตรงถนนเฟื่องนครแลกกับที่ดินของศาลเจ้าเดิม
รัฐให้ความสำคัญกับบรรดาคนทรงเจ้าที่มักปล่อยข่าวลือก่อนเกิดเหตุไฟไหม้อยู่เสมอ เพราะนอกจากจะข่มขู่ให้ราษฎรหวาดกลัวแล้ว คนกลุ่มนี้ยังอยู่ในกลุ่มผู้ต้องสงสัยคดีลอบวางเพลิงอยู่ด้วยเนื่องจาก “เมื่อกลัวจะมิสมคำดังว่า ก็คิดอ่านการทุจริตทิ้งไฟประกอบเหตุ”
เหตุไฟไหม้จึงมักเกิดจริงตามคำทำนายอยู่เสมอกระทบต่อการปกครองในศูนย์กลางแห่งอำนาจของรัฐ เพราะว่า “ครั้นเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้ว ก็ยังมีข่าวเจ้าเข้าทรงที่ตำบลโน้นตำบลนี้บอกเหตุการว่าเพลิงจะไหม้ตำบลโน้นตำบลนี้ต่อไปอีก จนราษฎรชาวร้านชาวบ้านเปนที่หวาดหวั่น พากันรักษาบ้านเรือนการซื้อขายก็ไม่เปนปรกติ” เช่น ในปี พ.ศ. 2446 เกิดคำพยากรณ์ว่าจะมีไฟไหม้ที่ตึกแถวบริเวณเสาชิงช้า ราษฎรบางรายถึงกับอพยพหลบหนี จากรายงานดังนี้
“พวกที่อยู่แถวนั้นเล่ากันต่อๆ มาว่า โหรทูลเกล้าถวายคำทำนายว่า เพลิงจะไหม้อย่างใหญ่ที่ตำบลแถวถนนเสาชิงช้าในวันแรม 2 ค่ำ หรือ 3 ค่ำ จะไล่เอาตัวโหรผู้ทำนายหรือได้ความมาแต่ใครก็เอาตัวตนไม่ได้ เปนแต่ชาวร้านพูดกันต่อๆ กันมา อำแดงไผ่ผู้ขายผ้าอยู่ที่สี่กั๊กเสาชิงช้า เปนผู้มีบุตรชายอยู่คนเดียว คนใช้มีอยู่น้อย ไม่วางใจเกรงว่าถ้ามีเหตุเกิดเพลิงไหม้ขึ้นจริงจะขนของไม่ทัน จึ่งได้เก็บเอาผ้ายกไหมของสำหรับขายดีๆ เข้าไปฝากไว้ในพระราชวัง”
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากบรรดาคนทรงเจ้าทำให้รัฐได้ออกประกาศห้ามไม่ให้ทรงเจ้าขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2433 ระบุให้หน่วยงานนี้มีหน้าที่จับกุมคนทรงเจ้ารวมไปถึงบรรดาผู้ร้ายลอบวางเพลิง ซึ่งจะได้รับโทษอย่างหนักตั้งแต่โบยตั้งแต่ 30 ที ถึง 50 ที ไปจนถึงประหารชีวิตสำหรับคนร้ายวางเพลิง ต่อมาได้มีประกาศในลักษณะเดียวกันในปี พ.ศ. 2434 กำหนดโทษเพิ่มเติมด้วยการปรับเป็นเงินจำนวน 20 บาท สำหรับเจ้าของโรงเรือนที่ให้บรรดาคนทรงเจ้าใช้ประกอบพิธี
อันเป็นการสะท้อนถึงปัญหาจากคนทรงเจ้าที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของกรุงเทพฯ และยังเห็นถึงอำนาจของรัฐที่เข้าควบคุมวิถีชีวิตและความเชื่อของราษฎรที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐผ่านการปฏิบัติงานของกองตระเวนในการควบคุมพฤติกรรมของราษฎรที่ใช้พื้นที่เมืองให้เกิดความสงบสุขโดยทั่วกัน
การเกิดเหตุไฟไหม้ในกรุงเทพฯ ได้สะท้อนภาพของวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของราษฎรในยุคที่กรุงเทพฯ ก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองพาณิชยกรรม ซึ่งปรากฏภาพของความขัดแย้งเรื่องเงินตรา การดิ้นรนในการดำรงชีวิต และความแตกต่างด้านสถานภาพทางสังคม ขณะเดียวกันการเกิดเหตุไฟไหม้ยังได้สร้างโอกาสให้รัฐในการจัดการพื้นที่เมืองด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งการควบคุมการก่อสร้าง การดูแลเรื่องเชื้อเพลิง หรือแม้แต่การควบคุมเรื่องความเชื่อที่จะกระทบต่อความไม่สงบเรียบร้อยในเมืองหลวง อันแสดงถึงบทบาทด้านการปกครองของรัฐสมัยใหม่ที่มีต่อราษฎร
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่” เขียนโดย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี. ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ล่าสุดเมื่อ 22 พฤษภาคม 2563