ห้วยซับเหล็ก ทะเลสาบบรงบุลเยแห่งสยาม

พระราชวังสมเด็จพระนารายณ์ เมืองลพบุรี

ซับเหล็ก เป็นแหล่งน้ำใสสะอาดในป่าลึกด้านทิวเขาพระพุทธบาท น้ำ ณ ที่นั้นถูกทดมาใช้ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดุจเดียวกับพระราชวังแวร์ซายส์ สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อาศัยน้ำจากทะเลสาบรงบุลเย (ออกเสียงตามคำบอกเล่า ที่ถูกต้องคือ ร็องบุยเยท์- Rambouillet)

ซับเหล็กวันนี้ เป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่เพื่อใช้ในการเกษตร แต่ทะเลสาบรงบุลเยตัวจริงในฝรั่งเศสกลายเป็นทะเลตื้นเขินไปแล้วตามธรรมชาติ แวร์ซายส์วันนี้อาศัยน้ำจากทะเลสาบเพียซแทน

ซับเหล็กอยู่ไกลจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือวังนารายณ์ ลพบุรี ราว 8-10 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออก

ซับเหล็ก เป็นทั้งชื่อ บึง น้ำซับ และภูเล็กๆ เรียกว่า เขาซับเหล็ก หมู่เดียวกับเขาทอง เขาลอมข้าว และเขาไร่ทุ่ง ใกล้เขตเขาพระพุทธบาทไม่ไกลจากเขาถ้ำคูหา เขาจีนแล เขาหนอกวัว เขาพระพุทธ และเขาเอราวัณ กั้นกลางด้วยป่าโปร่งและป่าทึบ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ชุกชุมด้วยสัตว์ป่า จึงเสด็จมาจับช้างป่าอยู่เนืองๆ ยังมีร่องรอยของตำหนักพักร้อนริมบึงน้ำซับที่กลายมาเป็นอ่างเก็บน้ำอยู่วันนี้

ในโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งโดย หลวงมโหสถ บทหนึ่งความว่า

มีสินธสายสีตซึ่ง   ชลใส

เติมแต่เศขรใน   ซอกชั้น

พุพวยหลั่งลงไหล   เซงซ่าน

วางท่อทางด้นนั้น   สู่ท้องวังเวียน ฯ

สายน้ำใสสะอาดดังกล่าวชวนให้เข้าใจได้ว่า คือน้ำซับจากห้วยซับเหล็กนี่เอง น้ำซับจะไหลลงธารผ่านหมู่บ้านชื่อท่าเดื่อเก่ากับท่าเดื่อใหม่ แล้วผ่านเลยเป็นลำคลองมาถึงบ้านท่าศาลา ผ่านภูเขาลูกเล็กๆ ชื่อเขาหนีบและเขาสระบัว

จากบ้านท่าศาลานี้เอง โดยฝีมือของวิศวกรการประปาสองคน เป็นชาวอิตาเลียนคนหนึ่ง และชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง ได้วางท่อประปาดินเผาขนาดใหญ่ตรงมายังบ้านหนองหูช้าง ปัจจุบันเรียกบ้านหัวช้าง อยู่ริมถนนพหลโยธิน ห่างจากอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์ฯ ณ วงเวียนเทพสตรี ราว 2 กิโลเมตร มีผู้พบท่อประปาใกล้โรงเรียนบ้านหัวช้าง (ปัจจุบันเรียกไทยรัฐวิทยา) แรกๆ ยังมีน้ำไหลพอสมควร (ไม่แน่ใจในขณะนี้) จากโรงเรียนบ้านหัวช้าง ชวนให้เข้าใจว่าท่อประปาถูกวางตรงเข้าสู่พระราชวังเลยทีเดียว โดยผ่านวงเวียนเทพสตรี ตรงไปยังวงเวียนศรีสุริโยทัย และผ่านเข้าไปในสถาบันราชภัฏเทพสตรีถึงสวนราชาริมวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และสู่อ่างเก็บน้ำใหญ่ ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ใกล้ๆ หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง

จากนั้นจึงต่อท่อยกไปทําน้ำพุที่ตึกรับแขกเมืองและตรงสู่พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ที่ฐานพระที่นั่งนั้น ยังปรากฏท่อประปาดินเผาส่งน้ำทั่วตัวอาคารและบริเวณ และน่าจะโดยรอบพระราชวังด้วย บางทีจะต่อไปยังบ้านหลวงราชทูต (ฝรั่งเศส) และบ้านพระยาวิชาเยนทร์ และอาจรวมบ้านขุนนางอื่นๆ ด้วย เช่น บ้านพระเพทราชา เป็นต้น

ด้วยซับเหล็กเป็นที่สูง แรงส่งของน้ำจากท่าศาลา-หนองหูช้างเข้าสู่พระราชวังจึงมีความแรงมาก วิศวกรจึงสร้างปล่องสูงรักษาระดับน้ำและคลายแรงกดดันลงเป็นระยะๆ ยังเหลือให้เห็นอยู่ 2 แห่ง คือ ในสถาบันราชภัฏเทพสตรีแห่งหนึ่ง กับในสวนราชาอีกแห่งหนึ่ง และน่าจะมีอีก 2-3 แห่ง เช่น ที่บริเวณวงเวียนศรีสุริโยทัย (สระแก้ว) คลองชลประทาน และบริเวณอาคารอำเภอเมืองลพบุรี

ความแยบยลและเทคโนโลยีการประปาสมัยพระนารายณ์มหาราช ค่อนข้างท้าทายผู้สนใจค้นคว้าหารายละเอียดอย่างเป็นพิเศษอย่างน้อยๆ การวางผังเครือข่ายท่อส่งจ่ายน้ำไปยังที่ต่างๆ ทำอย่างไร และวิธีหรือกลไกใดจึงเป็นน้ำพุพวยพุ่งสวยอยู่ ณ สระที่ตึกรับแขกเมือง สระน้ำใหญ่สี่สระ มุมพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ กับภูน้ำตกเล็กๆ หรือเขามอด้านเหนือพระที่นั่งนั้น เป็นต้น

ปล่อยสูงคลายแรงกดของน้ำ (ซ้าย) ที่บริเวณสถาบันราชภัฏเทพสตรี (ขวา) บริเวณใกล้วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี

แท้จริงแล้ว ความพยายามจะทดน้ำจากซับเหล็กเข้ามาใช้ในพระราชวังได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้หลายปีแต่ไม่สำเร็จ ในจดหมายเหตุของแชร์แวสระบุไว้ตอนหนึ่ง “…ทางด้านซ้ายมือเป็นอ่างเก็บน้ำใหญ่ ซึ่งจ่ายน้ำไปทั่วพระราชฐาน เป็นผลงานของชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งกับชาวอิตาเลียนคนหนึ่งซึ่งมีความรู้ในการจ่ายทดน้ำเหนือกว่าชาวต่างประเทศหลายคนที่ได้ร่วมมือกันกับคนสยามที่เก่งๆ มาเป็นเวลาตั้งสิบปีแล้ว ยังทำได้ไม่สำเร็จ…”

วิศวกรชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียนดังกล่าวมิได้ระบุชื่อว่าเป็นผู้ใด บางทีจะเป็นนักบวชในคริสต์ศาสนานิกายหนึ่งก็ได้ แต่ทั้งคู่ก็ได้รับพระราชทานรางวัลอย่างงามจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ

“พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานรางวัลให้คุ้มแก่ที่เขาทั้งสองได้ทำงานสนองพระกรุณาธิคุณตามพระราชประสงค์ของในหลวงที่ทรงต้องการให้มีน้ำใช้ในพระตำหนัก…” จดหมายเหตุของแชร์แวส ระบุ

ในพระตำหนักหรือในพระราชวังน่าจะมีความจำเป็นต้องใช้ปริมาณมากเกินกว่าจะอาศัยบ่อหรือสระได้ เมืองลพบุรีหรือละโว้ในช่วงฤดูแล้งขาดน้ำมาก เพราะเป็นที่สูง “…ขาดแต่น้ำดีๆ ในชั่วระยะ 4 หรือ 5 เดือนในปีหนึ่งๆ ในฤดูน้ำลด เพราะม้าและช้างที่ลงอาบทำให้สกปรกจนใช้ดื่มไม่ได้ ต้องอาศัยพึ่งบ่อหรือที่เก็บไว้เมื่อคราวน้ำท่วมในโอ่งดินใหญ่แล้วกรองเสียให้ใส…”

ครั้งเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 4 เสด็จลพบุรี ยังต้องอาศัยน้ำสระใหญ่อยู่ในทุ่งพรหมาสตร์ ด้านเหนือวัดเกาะแก้ว (วัดมณีชลขัณฑ์) เรียกกันว่า “สระเสวย” อยู่จนทุกวันนี้ ส่วนน้ำที่เก็บไว้เมื่อคราวน้ำท่วมนั้น ชาวบ้านนิยมตักเก็บไว้ในช่วงน้ำทรงเดือนสิบสอง ก็คืนลอยกระทงนั่นแหละ เมื่อเดือนเพ็ญตรงศีรษะจะเป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี ชาวบ้านจะตักน้ำเก็บใส่ตุ่มโดยพายหรือแจวเรือออกไปไกลกลางทุ่งข้าว ตักน้ำ ซึ่งมีเงาสะท้อนของเดือนเพ็ญเก็บไว้ดื่ม ดุจดื่มน้ำกวนด้วยแสงจันทร์ย่อมให้ความรู้สึกฉ่ำชื่นที่ไม่ธรรมดา

น้ำใสจากซับเหล็กถูกใช้จ่ายไปเพื่อการบริโภคและอุปโภคส่วนพระองค์โดยตรงแล้ว ยังถูกใช้ไปเพื่อราชองครักษ์ ช้าง ม้า พระที่นั่ง และเพื่อพระราชอุทยาน ไม้ดอกไม้ประดับตามพระราชนิยมต่างๆ

“นอกจากในพระนครหลวงแล้วก็ไม่มีที่ใดงดงามเท่า ที่นี่มีอุทยานและทางเดินเล่นที่งดงามเท่าๆ กัน ชีวิตที่นี่มีความสมบูรณ์พูนสุขเป็นอันมาก” และ “ห่างออกไปสักสามสิบก้าว มีอุทยานแบ่งออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสสี่ช่องหรือแปลงอยู่ตรงหน้าพระตำหนักอันงดงามหลังหนึ่ง มีสายน้ำพุทุ่งโดยรอบ…มีสวนรุกขชาติเล็กๆ เป็นสัดส่วน” บริเวณนี้คือ ตึกรับแขกเมืองและใกล้ๆ กันคือ ตึกพระเจ้าเหา อันล้วนประดับประดาด้วยพรรณไม้ต่างๆ สวยงาม

(ในสายตาของนิโกลาส์ แชร์แวส อันต่างจากเดอ ลาลูแบร์ ราชทูตผู้ซึ่งบันทึกบริเวณนี้ไว้เช่นกัน แต่เป็นไปในเชิงดูแคลนว่าไม่งดงามเท่าที่ควร และอะไรๆ ในสายตาของท่านทูตรายนี้ล้วนโน้มเอียงไปทางลบแทบทั้งหมด เหตุที่เป็นเช่นนั้น น่าจะเป็นเพราะ เดอ ลาลูแบร์ไม่ค่อยจะลงรอยกับวิชาเยนทร์ สมุหนายกใหญ่ของไทย โดยฝ่ายไทยแสดงอำนาจเหนือกว่า โดยพลันที่ทูตผู้นี้มาถึงปากน้ำไทย ส่วนเดอ ลาลูแบร์ย่อมถือตนว่าเป็นทูตจากประเทศที่ยิ่งใหญ่กว่า ใหญ่เจอใหญ่ ไม่มีใครยอมใคร ภาระทูตการเมืองยุคนั้นก็ยุ่งอยู่มิใช่น้อย)

อย่างไรก็ดี เฉพาะพระราชอุทยานและสวนดอกไม้ในพระราชวัง ซึ่งมีโดยประมาณอย่างน้อยๆ ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมด ย่อมต้องใช้น้ำเป็นอันมาก การทดน้ำจากห้วยซับเหล็กจึงจำเป็นอย่างยิ่งและคุ้มค่ามากทีเดียว

คำถามก็คือ ทำไมไม่ทดน้ำในทะเลชุบศรเข้ามาใช้ในพระราชวัง ทำไมต้องซับเหล็กซึ่งอยู่ไกลกว่ามาก ลงทุนสูง

คำตอบโดยข้อสมมติฐาน การทดน้ำจากทะเลชุบศร น่าจะมีความยากในเทคนิคการประปาประการหนึ่งด้วย ทะเลชุบศรอยู่ระดับเดียวกับพระราชวัง และระดับน้ำจะต่ำกว่า ทั้งยังไม่มีปริมาณเพียงพอในห้วงฤดูแล้งอีกด้วย อันเป็นห้วงเวลาที่น้ำจำเป็นอย่างมาก อีกประการหนึ่ง น้ำจากทะเลชุบศร เหมาะที่จะใช้ในกิจจำเป็นอื่นๆ เช่น เพื่อกองทัพช้างซึ่งค่อนข้างจะใหญ่โตมาก กับใช้ในพระราชอุทยานนอกเมืองอย่างน้อยสองแห่ง น้ำจากทะเลชุบศรนำมากักเก็บในสระแก้วคูเมืองและบริเวณที่ลุ่ม-ลา บาส วิล ใกล้ประตูเพนียด ก็ค่อนข้างจะเกินพอแล้ว และที่สำคัญอีก ประการหนึ่งก็คือ น้ำจากซับเหล็กเป็นน้ำซับใสสะอาด-เป็น “สินธุสายสีตซึ่ง ชลใส”-ใสกว่าน้ำในทะเลชุบศร ซึ่งหน้าร้อน แล้งน้ำ น้ำก็ขุ่นข้น เทียบน้ำซับเหล็กไม่ได้เลยทั้งความใสสะอาดและรสชาติด้วย

ซับเหล็กวันนี้ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ มีคันดินแข็งแรงกั้นจากตีนเขาซับเหล็กตรงไปยังตีนเขาถ้ำคูหา สามารถเก็บกักน้ำซับและรับน้ำฝนจากเขาซับเหล็กและเขาตองได้เต็มที่ และทดน้ำส่งไปเลี้ยงพืชไร่ในนิคมสร้างตนเองและบริเวณข้างเคียงอีกอเนกอนันต์ นอกจากนั้นภูมิทัศน์บริเวณคันดินอีกด้านก็สวยงามด้วยพืชไร่และทุ่งดอกทานตะวัน โดยมีฉากหลังเป็นป่า-เขาจีนแล เขาหนอกวัว เขาพระพุทธ และเขาตะกร้าที่ชวนชม อีกด้วย

ห้วยซับเหล็กจึงเป็น “รงบุลเย” แห่งสยามโดยสมบูรณ์ ทั้งๆ ที่ “รงบุลเย” ตัวจริงในฝรั่งเศสตื้นเขินไปหมดแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 25 กรกฎาคม 2565