“ห้ามเจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี” ความเชื่อสมัยรัชกาลที่ 5 นี้มีที่มาจากไหน?

รัชกาลที่ 5 ประกอบ วันหยุดราชการ ความเชื่อสมัยรัชกาลที่ 5
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ คราวเสด็จตรวจราชการเมืองนครพนม พ.ศ. 2449 (ภาพจาก“เทศาภิบาล”สนพ.มติชน)

เมืองสุพรรณบุรี เป็นเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่ทำไมในอดีตสืบมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงมีความเชื่อว่า ห้ามเจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี ความเชื่อสมัยรัชกาลที่ 5 นี้มีที่มาจากไหน?

ความเชื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ห้ามเจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี  

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ต้องเสด็จไปตรวจความเรียบร้อยยังหัวเมืองต่างๆ

Advertisement
กรมดำรง ตรวจราชการหัวเมือง ความเชื่อสมัยรัชกาลที่ 5
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการเมืองอุบลราชธานี

ใน พ.ศ. 2435 เมื่อเสด็จตรวจเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย เมืองตาก แล้วเสด็จกลับทางเมืองกำแพงเพชร ทรงแวะพักที่เมืองอ่างทอง 2 วัน รับสั่งให้เจ้าเมืองและกรมการเมืองเตรียมหาม้าไว้เป็นพาหนะ และหาคนหาบหามสิ่งของสัมภาระต่างๆ เพื่อเดินทางบกไปยังเมืองสุพรรณบุรี

แต่ พระยาอินทรวิชิต เจ้าเมืองอ่างทอง ซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกับกรมดำรง พยายามขัดขวางไม่ให้เสด็จ อ้างว่าการเดินทางจากเมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณบุรีนั้นลำบาก ไม่มีที่พักแรม ท้องทุ่งบางแห่งที่ต้องผ่านก็แห้งแล้งร้อนจัด ส่วนบางแห่งก็มีโคลนเฉอะแฉะ

ทว่ากรมดำรงไม่ทรงเลิกล้มความตั้งใจ เพราะทรงผ่านความยากลำบากในการเดินทางตรวจหัวเมืองมามาก กระทั่งพระยาอินทรวิชิตสารภาพว่า ที่พยายามขัดขวางไม่ให้กรมดำรงเสด็จเมืองสุพรรณบุรี เพราะเกรงจะมีอันตราย เนื่องจากคติความเชื่อว่า “ห้ามเจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี”

ผู้หญิงชาวแสก เมืองนครพนม กรมดำรง ตรวจราชการ ความเชื่อสมัยรัชกาลที่ 5
ผู้หญิงชาวแสก (พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร) เมืองนครพนม กำลังเล่นรำกระทบไม้ ในพิธีถวายต้อนรับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คราวเสด็จตรวจราชการมณฑลอีสาน พ.ศ. 2449 (ภาพเก่าจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เมื่อกรมดำรงทรงซักถามถึงสาเหตุ เจ้าเมืองอ่างทองก็ไม่สามารถทูลตอบได้ เป็นแต่เพียงทูลว่าเป็นความเชื่อที่สืบมาแต่โบราณ เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้านาย กรมดำรงจึงทรงอธิบายไปว่า

“ฉันคิดว่าเทพารักษ์ที่มีฤทธิเดชถึงสามารถจะให้ร้ายดีแก่ผู้อื่นได้ จะต้องได้สร้างบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ถึงปานนั้น ก็การสร้างบารมีนั้นจำต้องประกอบด้วยศีลธรรมความดี ถ้าปราศจากศีลธรรมก็หาอาจจะเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ได้ไม่ เพราะฉะนั้นฉันเห็นว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรีคงอยู่ในศีลธรรม รู้ว่าฉันไปเมืองสุพรรณบุรีเพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน คงจะกลับยินดีอนุโมทนาด้วยเสียอีก”

ในที่สุด กรมดำรงก็เสด็จยังเมืองสุพรรณบุรีจนได้ แม้ระหว่างทางจะเจอสภาพภูมิประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางดังที่พระยาอินทรวิชิตทูลไว้ก็ตาม

ที่เมืองสุพรรณบุรี กรมดำรงทรงพบเรื่องแปลกๆ เรื่องหนึ่ง คือ พระยาสุนทรสงคราม เจ้าเมืองสุพรรณบุรี เก็บทรัพย์สมบัติออกจากเมืองสุพรรณบุรีไปก่อนจะเสด็จถึง

กรมดำรงทรงทราบสาเหตุต่อมาว่า เป็นเพราะพระยาสุนทรสงครามประพฤติผิดคิดมิชอบด้วยการรีดไถ กดขี่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำความเดือดร้อนให้ราษฎร จนราษฎรหลายรายทนไม่ไหวต้องยื่นเรื่องกล่าวโทษ

เป็นอันว่า กรมดำรงทรงทำลายความเชื่อนี้อย่างราบคาบ เพราะหลังจากเสด็จเยือนเมืองสุพรรณบุรีแล้ว ก็ยังทรงปลอดภัยดี ไม่มีอันตรายเกิดขึ้น

ทั้งต่อมาเมื่อกรมดำรงกราบบังคมทูลเชิญรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี พระองค์ก็ทรงตอบรับ โดยที่พระองค์ก็ทรงทราบถึงความเชื่อนั้นด้วย 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567