พระกระยาหาร รัชกาลที่ 5 เสวยร่วมกับชาวบ้านครั้งเสด็จประพาสต้น มีเมนูอะไรบ้าง?

พระกระยาหาร รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น
รัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาสต้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยความเป็นอยู่ของราษฎร และทรงหาวิธีเพื่อให้ทราบถึงวิถีชีวิตพสกนิกรของพระองค์ หนึ่งในนั้นคือ การเสด็จประพาสต้น ซึ่งพระองค์ทรงร่วมเสวยพระกระยาหารกับชาวบ้านอย่างไม่ทรงถือพระองค์ แล้วพระกระยาหาร รัชกาลที่ 5 เสวยร่วมกับชาวบ้าน มีเมนูอะไรบ้าง?

พระกระยาหาร รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ประทับนั่งขวาสุด) ขณะเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 พ.ศ. 2449 ที่เมืองกำแพงเพชร

รัชกาลที่ 5 กับการเสด็จประพาสต้น

การเสด็จประพาสต้น เป็นการเสด็จเพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถ โดยไม่มีการจัดการรับเสด็จเป็นทางราชการ ไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่พอพระราชหฤทัยจะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น

Advertisement

รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น 2 ครั้ง

ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม ถึง 7 สิงหาคม พ.ศ. 2447 รวมระยะเวลา 25 วัน พระองค์เสด็จฯ ยังเมืองต่างๆ อาทิ ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ฯลฯ

ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม ถึง 29 สิงหาคม พ.ศ. 2449 รวมระยะเวลา 34 วัน คราวนี้พระองค์เสด็จฯ ยังเมืองต่างๆ เช่น นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย กล่าวถึงเรื่องนี้ในบทความ “รัชกาลที่ 5 ปลอมพระองค์เสด็จประพาสต้นแต่-คนจำได้ เพราะพระบรมรูป” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2546 ตอนหนึ่งว่า

การเสด็จประพาสต้นครั้งแรก รัชกาลที่ 5 ทรงสำราญพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ พระองค์ทรงสามารถประทับปะปนกับราษฎรโดยที่ราษฎรไม่รู้ตัว ทำให้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่และทุกข์สุขที่แท้จริงของพสกนิกรในพระองค์

มีเหตุการณ์หนึ่งที่เล่าสืบกันมา กรณี “นายช้าง” บ้านบางหลวงอ้ายเอียง พระนครศรีอยุธยา ซึ่งต้อนรับรัชกาลที่ 5 ด้วยเข้าใจว่าพระองค์เป็นขุนนางคนหนึ่ง

เรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นว่า

“ดูท่าทางนายช้าง เห็นจะรู้จักผู้ลากมากดี กว้างขวาง พอเห็นพวกเราก็ไม่ต้องไต่ถามว่าใครเป็นใคร เข้าใจเอาทีเดียวว่าเราเป็นพวกขุนนางที่ตามเสด็จมาข้างหลัง บอกว่าเสด็จไปเมื่อสักครู่นี้เอง เชิญให้พวกเราเข้าไปนั่งบนแคร่ในโรงยาว หาน้ำร้อนน้ำชามาตั้ง แล้วเข้าไปนั่งเคียงบ่าเคียงไหล่สนทนากับพระเจ้าอยู่หัว มิได้มีความรู้สึกและสงสัย”

อย่างไรก็ดี ในการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 ราษฎรพยายามสืบทราบว่าพระองค์เสด็จฯ ยังที่ใด เพื่อจะได้เข้าเฝ้าชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด ทำให้การเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ กระทั่งทรงยกเลิกการเสด็จประพาสต้นในที่สุด

พระกระยาหาร รัชกาลที่ 5
สภาพบ้านเมืองสมัยรัชกาลที่ 5 ในภาพคือคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณสะพานเจริญสวัสดิ์ (จากหนังสือ แม่น้ำลำคลอง)

พระกระยาหาร รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสต้น

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ กล่าวถึงพระกระยาหาร รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสต้น ไว้ในหนังสือ “ตำรับสร้าง(รส)ชาติ” ว่า

ครั้งแรก พระองค์เสวยพระกระยาหารสำรับชาวบ้าน 3 มื้อ คือ มื้อแรกที่บ้านยายผึ้ง หม้อข้าวกับกระบะไม้ไผ่ใส่ชามกะลา มีผักกาดผัดหมู ปลาเค็ม น้ำพริก มื้อ 2 เจ้าคุณสุนทรเทศาเมืองนครปฐมแกงไก่มาเข้าร่วมสำรับกับพระองค์ และมื้อที่ 3 ที่บ้านนายช้างกับยายพลับ ซึ่งไม่ได้ระบุอาหาร แต่ยายพลับได้เข้าร่วมทำครัวกับคนของรัชกาลที่ 5 ด้วย

ส่วนการเสด็จประพาสต้นอีกครั้งในอีกราว 2 ปีถัดมา คือ พ.ศ. 2449 มีบันทึกพระกระยาหารไว้ 3 มื้อเช่นกัน คือ มื้อแรกชาวบ้านทำขนมจีนกับหมี่เลี้ยงที่พระราชวังบางปะอิน มื้อ 2 ยายพลับกับลูกสาวทำแกงบะฉ่อกับแกงไก่เลี้ยง และมื้อที่ 3 ภรรยาข้าราชการและผู้ดีในเมืองกำแพงเพชรทำสำรับเลี้ยงหลายสิบสำรับ

จะเห็นได้ว่า พระกระยาหาร รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นนั้น เป็นอาหารที่ราษฎรกินกันโดยทั่วไป และหลายเมนูก็ยังนิยมแพร่หลายมาถึงปัจจุบันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “รัชกาลที่ 5 ปลอมพระองค์เสด็จประพาสต้นแต่-คนจำได้ เพราะพระบรมรูป”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2546.

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. ตำรับสร้าง(รส)ชาติ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2567