ทำไม “รัชกาลที่ 5” ถึงทรงเป็นผู้มีอัจฉริยภาพด้านอาหาร ?

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เวลาไปร้านอาหาร เรามักจะเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” (รัชกาลที่ 5) ติดอยู่บนผนังเสมอ ที่โดดเด่นและเห็นอยู่บ่อยครั้งจะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ทรงทอดปลาทู หรือ เสวยพระกระยาหารร่วมกับพระเจ้าลูกยาเธอ 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทอดปลาทู

ส่วนหนึ่งที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ อาจเป็นเพราะเจ้าของร้านน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวไทย และเพื่อต้องการแสดงความจงรักภักดี ทั้งอาจมุ่งหวังให้พระองค์เกื้อหนุนให้ร้านขายดี แต่ที่จริงแล้วอีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ “รัชกาลที่ 5” ทรงได้ชื่อว่าเป็นผู้มีพระอัจฉริยภาพด้านอาหารอย่างสูง

พระอัจฉริยภาพของพระองค์ในเรื่องอาหารเรียกได้ว่าเป็นที่โจษจัน เพราะพระองค์ทรงพิถีพิถันเรื่องอาหารการกินอย่างมาก เช่นตอนที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ถึงอาหารที่พระองค์ทรงปรุง แม้จะมีเครื่องประกอบไม่ครบว่า “—พ่อตำน้ำพริก ขาดน้ำตาล ใช้น้ำตาลกรวดแทน ช่างประดักประเดิดจริง ๆ แก้อย่างไร มันปร่าอยู่นั่นเอง ถ้าเป็นที่บางกอกก็โทษถึงไม่เสวย”

แสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันและเอาพระทัยใส่เรื่องอาหารของรัชกาลที่ 5 อย่างเต็มเปี่ยม

แม้แต่ “ปลาทูทอด” เมนูที่ใครก็คิดว่าทำง่ายกินง่าย เพียงเอาปลาทูไปทอดในน้ำมันให้สุกก็เป็นอันใช้ได้ แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจำเพาะเจาะจงให้ “เจ้าจอมเอิบ” เจ้าจอมในพระองค์ ผู้มีความสามารถในการทอดปลาทูได้ถูกพระราชหฤทัย เป็นผู้ทอดถวาย

เรื่องนี้ถึงขั้นมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ สั่งให้รับเจ้าจอมเอิบออกไปทอดปลาทู เมื่อมีพระราชประสงค์จะเสวยพระกระยาหารแบบปิคนิคที่พลับพลาทุ่งพญาไท ว่า… “—เรื่องทอดปลาทู ข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้ว ข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้จัดรถให้นางเอิบออกไปทอดปลา—”

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีความสามารถเรื่องการทำอาหารเป็นเลิศ มีบางครั้งที่ทรงประกอบอาหารด้วยพระองค์เอง และทรงประยุกต์จากวัตถุดิบที่มีอยู่ให้เป็นอาหารรสชาติเยี่ยมได้อย่างดียิ่ง 

อย่างเมื่อเสด็จประพาสต้น ครั้งหนึ่งโปรดทรงเรือฉลอมประพาสปากอ่าวแม่กลอง ทรงซื้อกุ้งปลาที่จับได้ตามละมุ (โป๊ะเล็ก ๆ ที่ทำไว้สำหรับจับปลาตามชายทะเล) และโปรดต้มข้าวต้มในเรือด้วยพระองค์เอง ซึ่งรสชาติข้าวต้มในครั้งนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงขั้นทรงออกพระโอษฐ์ออกมาว่า “—ตั้งแต่ฉันเกิดมา ไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยเหมือนวันนั้นเลย—”

ครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทำ “ข้าวคลุกกะปิ” ด้วยพระองค์เอง เนื่องจากทรงเบื่อพระกระยาหารฝรั่ง แม้ว่าวัตถุดิบจะไม่ได้มีพร้อมเหมือนประทับที่สยามก็ตาม

พระองค์ยังทรงประยุกต์อาหารอิตาลีให้กลายเป็นอาหารไทยแสนอร่อย อย่างที่ทรงว่าไว้ว่า “—กินเข้าเย็นวันนี้ มีมักกะโรนีเส้นย่อมๆ เขาทำไม่ได้ใส่มะเขือเทศ เรียกลูบริอลิตาเลียน เหมือนก๋วยเตี๋ยว เรียกมะนาวและน้ำตาลพริกป่นมาเติมอร่อย จนตากัปตันเองลอง เลยสั่งให้ทำมาบ่อยๆ—”

จากตัวอย่างที่ยกมา คงทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่า “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงมีพระอัจฉริยภาพรอบด้าน ทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน ไปจนถึงเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องใดเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

“พระอัจฉริยภาพด้านอาหารในรัชกาลที่ 5” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ตุลาคม 2552.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2567