เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 ผู้ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนคำเรียก “เจ้าจอมมารดา” ในรัชกาลก่อน

กรมดำรง กับ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 มัคคุเทศก์คนแรกของไทย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเจ้าจอมมารดาชุ่ม

“เจ้าจอมมารดา” คือสตรีสามัญชนที่เป็นพระภรรยาในพระมหากษัตริย์ และมีประสูติกาลพระราชโอรสหรือพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ ในอดีตเมื่อสิ้นรัชกาล การเรียกชื่อเจ้าจอมมารดาจำเป็นต้องเปลี่ยน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มี เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 ที่ทำให้ธรรมเนียมโบราณเรื่องการเรียกขานชื่อเจ้าจอมเปลี่ยนไป

ธรรมเนียมโบราณ เรียกขานเจ้าจอมมารดา 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม อธิบายเรื่องนี้จากประสบการณ์ส่วนพระองค์ ไว้ใน “ความทรงจำ” ว่า

หลังเสร็จสิ้นงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการประจำพระองค์ก็ต้องเปลี่ยนฐานะไปตามกาล เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 พระมารดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน

เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 พระมารดา กรมดำรง
เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4

“ตอนนี้น่าสงสารแม่ เมื่อถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ กับหีบหมากลงยาสำหรับยศเจ้าจอมมารดา และพานทองเครื่องยศที่เป็นพระสนมเอก เปลี่ยนเครื่องยศเป็นหีบหมากทองเหมือนอย่างท้าวนาง ทั้งถูกลดผลประโยชน์ที่เคยได้พระราชทานน้อยลงครึ่งค่อน

ใช่แต่เท่านั้น ชื่อที่เคยเรียกว่า ‘เจ้าจอมมารดาชุ่ม’ ก็ต้องเปลี่ยนเป็น ‘ชุ่มเจ้าจอมมารดา’ หมายความว่าเจ้าจอมมารดาเป็นม่าย ที่จริงก็ไม่เป็นการลดยศศักดิ์ แต่เพราะไม่เคยตกยาก พวกเจ้าจอมมารดาก็พากันโทมนัสรู้สึกเหมือนกับว่าถูกถอดทั่วไป

จนทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยตรัสเล่าแก่ฉันเมื่อภายหลังว่า ครั้งนั้นทรงสงสารเจ้านายพี่น้องกับเจ้าจอมมารดาที่ต้องลำบากยากจน จึงตรัสขอให้รัฐบาลจ่ายเงินกลางปีแก่พระเจ้าพี่น้องเธอ พระองค์ชายปีละ ๒,๔๐๐ บาท พระองค์หญิงปีละ ๑,๖๐๐ บาท

แต่นั้นมา ล่วงมาอีกสัก ๒๕ ปี ยังทรงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง ด้วยทรงพระกรุณาแม่ฉันเป็นต้นเหตุ ควรจะเล่าไว้ให้ปรากฏ”

ความข้างบนทำให้เห็นว่า ก่อนหน้ารัชกาลที่ 5 เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว การเรียกเจ้าจอมมารดาก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย คือ เรียกขานชื่อก่อน แล้วจึงตามด้วยคำว่า “เจ้าจอมมารดา”

เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 ผู้ทำให้ธรรมเนียมโบราณเปลี่ยนไป 

การเรียกขานเจ้าจอมมารดาแบบปัจจุบัน มีที่มาจากเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประชวร คือ เมื่อ พ.ศ. 2437 ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เกิด “ไข้ส่า” เป็นโรคระบาดขึ้นในกรุงเทพมหานคร มีผู้เจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระองค์เองด้วย

อาการของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่หนักถึงขั้นวิกฤต แต่วันหนึ่งขณะขึ้นบรรทมบนเตียงพับ ซึ่งโปรดให้มีผู้กางถวายไว้ ผู้กางกลับไม่กางขาเตียงให้เรียบร้อย เป็นผลให้ทรงพลัดตกจากเตียง

ความทราบถึงพระกรรณรัชกาลที่ 5 ไปว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประชวรอาการหนักถึงขั้นดิ้นพลัดตกเตียง พระองค์ทรงตกพระราชหฤทัย และทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระมารดาในกรมดำรง

เมื่อพระองค์ทรงผนึกซองพระราชหัตถเลขา แล้วจะทรงสลักหลังซองว่า “ถึงชุ่มเจ้าจอมมารดา” ซึ่งเป็นการเรียกเจ้าจอมมารดาในรัชกาลก่อนตามธรรมเนียมโบราณ รัชกาลที่ 5 ทรงนึกสงสาร จึงทรงเขียนลงไปว่า “ถึงเจ้าจอมมารดาชุ่ม”

จากนั้น ทรงมีพระราชดำรัสสั่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง ให้เปลี่ยนระเบียบเรียกเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ล่วงแล้ว ให้ใช้คำว่าเจ้าจอมมารดานำหน้าชื่อ และให้เติมลำดับรัชกาลต่อท้าย เช่น เจ้าจอมมารดาชุ่ม รัชกาลที่ 4 เป็นต้น และให้ใช้เป็นประเพณีสืบมา

“เมื่อแม่ได้รับลายพระราชหัตถเลขาเชิญมาให้ฉันอ่านด้วยความปีติยินดี แต่ทั้งตัวท่านและฉันไม่ได้สังเกตที่ทรงเปลี่ยนคำสลักหลังซอง เมื่อฉันเขียนจดหมายสนองลายพระราชหัตถ์จึงกราบบังคมทูลแต่อาการให้สิ้นพระราชวิตก แต่มิได้กล่าวถึงเรื่องชื่อมารดา

เมื่อฉันหายเจ็บเข้าไปเฝ้า ตรัสถามว่า ‘สังเกตชื่อแม่ของเธอที่ฉันสลักหลังซองหรือเปล่า’ แล้วจึงดำรัสเล่าเรื่องให้ฟังดังแสดงมา” กรมดำรง ทรงเล่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, ความทรงจำ. พระนคร : เจริญธรรม, 2494


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2567