ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หลายครั้งข่าวลือคือข่าวลวง ที่สร้างความตระหนกตกใจให้ผู้คนอย่างหนัก หนึ่งในกรณีนี้คือในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีข่าวชุมชนจีนจะเกิดเหตุร้าย เกี่ยวพันกับการย้าย “ศาลเจ้าพ่อเสือ” จากถนนบำรุงเมือง ไปอยู่ที่ถนนตะนาว
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีกรณีที่คนทรงเจ้าอาศัยความศรัทธาของราษฎร ใช้ “คำพยากรณ์” เป็นตัวแพร่กระจายข่าวลือ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางประการ
เนื่องจากยุคนั้น มีการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมตะวันตก ต่อเนื่องจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขยายพื้นที่และเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะการขยายถนน ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “ความทรงจำ” ตอนหนึ่งว่า
“…ในรัชกาลก่อนได้ทำถนนเจริญกรุงให้เป็นทางใช้รถและสร้างตึกแถวทั้งสองฟากทำนองเดียวกัน แต่ถนนบำรุงเมืองมีตึกและร้านเรือนราษฎรตั้งค้าขายมากอยู่แล้ว สองฟากถนนมิได้เป็นที่ว่างเหมือนอย่างถนนเจริญกรุง
การที่ขยายถนนจะต้องรื้อตึกเรือนของเดิมมาก จึงโปรดฯ ให้ว่ากล่าวกับเจ้าของที่ ใครจะปลูกตึกแถวเองตามแบบหลวงก็ได้ หรือมิฉะนั้นก็จะออกเงินพระคลังข้างที่สร้างตึกแถว และจะเก็บค่าเช่าใช้จนคุ้มต้นเงินก่อนจึงคืนให้เจ้าของเดิม”
ย้ายศาลเจ้าพ่อเสือ
“กรมดำรง” ทรงเล่าต่อว่า การขยายถนนบำรุงเมืองครั้งนั้น มีศาลเจ้าของชาวจีนเป็นตึกใหญ่ตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง เรียกกันว่า “ศาลเจ้าพ่อเสือ” อยู่ในพื้นที่ส่วนที่จะขยายถนน รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานที่หลวงแห่งหนึ่งริมถนนเฟื่องนคร เพื่อเป็นที่ตั้งของศาลนี้ และจะสร้างศาลใหม่พระราชทานแทนศาลเดิม
อย่างไรก็ตาม มีชาวจีนส่วนหนึ่งไม่พอใจจะให้ย้าย คิดอุบายให้เจ้ามาเข้าคนทรง พูดจาพยากรณ์ว่าหากย้ายจะเกิดภัยอันตรายต่างๆ จนเกิดความหวาดหวั่นในหมู่ชาวจีนสำเพ็ง และขอแห่เจ้าเพื่อความสบายใจ รัชกาลที่ 5 ก็ทรงโปรดให้จัดการแห่ตามประสงค์ และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ซึ่งกรมดำรงก็เสด็จไปดูการแห่ด้วยเช่นกัน
กรมดำรงทรงเล่าใน “ความทรงจำ” อีกว่า กระบวนที่แห่นั้นเป็นอย่างจีน มีธงทิว ล่อโก๊ (วงดนตรีบรรเลงในพิธีต่างๆ ของชาวจีน) มีคนทรงเจ้าแต่งตัวใส่เสื้อกั๊ก นุ่งกางเกง และโพกหัวสีแดง นั่งบนเก้าอี้หามมาในกระบวน 2-3 คน บางคนเอาเข็มเหล็กแทงแก้มทะลุเข็มคาหน้ามาให้คนเห็น บางคนบันดาลให้คนหามเก้าอี้เดินโซเซไม่ตรงถนน เมื่อมาถึงพระที่นั่ง รัชกาลที่ 5 ตรัสสั่งให้ตำรวจเข้าหามเจ้าโซเซ หามไปได้ตรงๆ คนดูก็สิ้นเลื่อมใส
“เมื่อเสร็จการแห่แล้วโปรดฯ ให้กรมเมืองประกาศว่า ถ้าเจ้ายังขืนพยากรณ์เหตุร้าย จะเอาผิดกับคนทรง ในไม่ช้าเจ้าเสือเข้าคนทรงอีก แต่คราวนี้ประกาศว่าที่จะโปรดฯ ให้ย้ายศาลไปสร้างใหม่นั้นเป็นการดีนัก เจ้าพอใจมาก ศาลเจ้าเสือยังอยู่ริมถนนเฟื่องนคร ใกล้วัดมหรรณพ์ฯ จนทุกวันนี้”
ศาลเจ้าพ่อเสือ จึงย้ายจากถนนบำรุงเมือง ไปตั้งอยู่ถนนเฟื่องนคร หรือ “ถนนตะนาว” เช่นที่เห็นในปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “เยาวราช” พิพิธภัณฑ์ (มี) ชีวิตจีนโพ้นทะเล
- “เจ๊สัวเนียม” เศรษฐีจีนเจ้าของตำนาน ยก “ตลาดเก่า” เยาวราช ให้ลูกสาว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา, ความทรงจำ. พระนคร : เจริญธรรม, 2494
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2567