
ผู้เขียน | ชิษณุพงศ์ แจ่มปัญญา |
---|---|
เผยแพร่ |
เคยสงสัยหรือไม่ว่า พระมหากษัตริย์ในสมัยก่อนนั้นโปรดพระกระยาหารใดเป็นพิเศษ? แม้อาหารของชาววังเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าเป็นอาหารที่มีความพิถีพิถันในการปรุงอย่างมาก หรือเป็นอาหารที่มีวัตถุดิบหายากที่ไม่สามารถหารับประทานได้ง่าย แต่พระกระยาหารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นั้นแตกต่างออกไป เพราะพระองค์นั้นโปรดพระกระยาหารธรรมดา ๆ โดยเฉพาะที่ปรุงด้วยวัตถุดิบอย่าง ปลาทู และ กะปิ
จากหนังสือ “กระยานิยาย” ของ ส.พลายน้อย ได้เล่าเกี่ยวกับเรื่องที่รัชกาลที่ 5 โปรดเสวยกะปิไว้ว่า ครั้งหนึ่ง หม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงทำ “กะปิพล่า” ถวายพระองค์ครั้งหนึ่ง ครั้นเมื่อเสวยแล้วเสร็จ รัชกาลที่ 5 ทรงขอเสวยซ้ำในวันรุ่งขึ้นและยังพระราชทานสร้อยข้อมือให้กับหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล พร้อมมีพระราชดำรัสว่า “ข้าได้กินน้ำพริกของเจ้า ทำให้ข้ารอดตายไปได้”
นอกจากกะปิพล่าแล้ว รัชกาลที่ 5 ยังโปรดข้าวคลุกกะปิอีกด้วย ในคราวเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 ขณะเสด็จฯ นิวัตพระนคร พระองค์มีพระราชดำรัสว่าทรงพระสุบินถึงข้าวคลุกกะปิของเสด็จยาย (สมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร) จึงทรงมีรับสั่งให้ข้าราชบริพารจัดเตรียมกะปิและวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อที่จะทรงปรุงข้าวคลุกกะปิด้วยพระองค์เอง
นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 โปรดเสวยปลาทูอีกด้วย ในบทความของ บุญมี พิบูลย์สมบัติ เรื่อง “ข้าวต้มสามกษัตริย์” ในหนังสือ “พระปิยมหาราชกับเมืองเพชร” ว่าด้วยเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จไปเมืองเพชรบุรี ในฤดูกาลของปลาทู ทรงมีรับสั่งให้ข้าราชบริพารจัดเตรียมเครื่องครัว วัตถุดิบต่าง ๆ และปลาทู เพื่อที่จะทรงปรุงพระกระยาหารกลางวันของพระองค์
พระองค์ทรงจริงจังกับปลาทูอย่างมาก ทรงพิถีพิถันในการปรุง และคัดสรรผู้ที่จะปรุงปลาทูอีกด้วย พระองค์จะโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมเอิบ หนึ่งในเจ้าจอมก๊กออ เป็นผู้ปรุงปลาทู เพราะว่าท่านชำนาญการทอดปลาทูให้มีรสชาติอร่อยจนทำให้พระองค์โปรดเสวยปลาทูของเจ้าจอมเอิบมากเป็นพิเศษ

สุดท้ายนี้ วัตถุดิบพื้น ๆ ของคนทั่วไปอย่างปลาทู หรือ กะปิที่หารับประทานได้ทั่วไปนี้ เป็นถึงสิ่งที่ทำไปปรุงพระกระยาหารโปรดของรัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุผลที่ว่าหากนำไปประกอบอาหารแล้วจะมีรสชาติอย่างที่คนไทยคุ้นลิ้น คือ เปรี้ยว เค็ม หวาน แทรกด้วยความรู้สึกที่เผ็ดร้อน และอาหารไทยก็ดึงรสชาติของวัตถุดิบเหล่านี้ออกมาอย่างเต็มที่ อย่างกะปิที่ทำจากเคย (กุ้งตัวเล็ก) ก็สามารถดึงรสของกุ้งเพื่อสร้างความอร่อยให้กับอาหาร ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง ทำให้อาหารไทยเป็นที่โปรดปรานของผู้คนมากมาย และเป็นพระกระยาหารโปรดของพระมหากษัตริย์อีกด้วย
อ้างอิง :
กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. (2558). เจ้าจอมก๊กออ. สำนักพิมพ์อมรินทร์
ส.พลายน้อย. (2541). กระยานิยาย. สำนักพิมพ์มติชน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน 2562