ย้อนรอย “น้ำพริกปลาทู” เมนูคุ้นเคยคู่ครัว ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคำตอบฮิตเวทีนางสาวไทย

ปลาทู หลวงมัศยจิตรกร
ภาพวาดปลาทูฝีมือหลวงมัศยจิตรกร (ภาพจาก “ภาพปลา” ในอนุสรณ์งานพระราชทาน หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันท์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 17 เมษายน 2508

ไขปริศนา ทำไม “น้ำพริกปลาทู” ถึงเป็นคำตอบยอดฮิตในการประกวดเวที “นางสาวไทย”?

น้ำพริกปลาทู เป็นเมนูยอดฮิตของคนไทยไม่น้อย โดยคนไทยกิน “ปลาทู” กันมานาน ถ้าถามว่าตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่เอกสารเก่าสุดที่ค้นพบในเวลานี้ที่บันทึกเกี่ยวกับปลาทู คือ หนังสืออักขราภิธานศรับท์ ฉบับหมอบรัดเล พิมพ์เมื่อปี 2416 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) ที่อธิบายลักษณะของปลาทูว่า “ปลาทู, เป็นปลาทะเลน้ำเค็มมีเกล็ด, ตัวมันกว้างศักสองนิ้ว, ยาวศักสิบนิ้ว”

ส่วนภาพวาด “ปลาทู” ภาพแรก น่าจะเป็นภาพที่เขียนโดย หลวงมัศยจิตรกร ผู้ช่วย ดร. สมิท (Dr. H. M. Smith) ผู้เชี่ยวชาญที่รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งให้เป็นที่ปรึกษากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) เพื่อสำรวจพันธุ์ปลาต่างๆ ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม

จึงพอสรุปได้ว่า คนไทยทั่วไปรู้จัก ปลาทู อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

แต่การบริโภคปลาทูสดๆ ยังคงอยู่ในวงเฉพาะผู้อาศัยอยู่เมืองชายฝั่งทะเลหรือพื้นใกล้เคียง ส่วนผู้ที่อยู่ลึกเข้าไปตอนในของแผ่นดิน คงบริโภคเป็นปลาทูเค็ม เพราะการขนส่งยังไม่ดีนัก จนกระทั่งปี 2504 มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก เกิดนโยบายส่งเสริมการประมงเพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออก ทำให้มีการลงทุนในการทำประมง เอกชนเริ่มมีเครื่องมือลากอวนที่ทันสมัย บวกกับการคมนาคมขนส่งที่สะดวกขึ้น และอุตสาหกรรมห้องเย็นที่พัฒนามากขึ้น การบริโภคปลาทูสด ตลอดจนอาหารทะเลสดๆ ชนิดอื่นในพื้นที่ห่างไกลชายทะเล จึงค่อยๆ เกิดขึ้น

แต่เมื่อเทียบกับอาหารทะเลส่วนใหญ๋ในเวลานั้นก็ยังมีราคาแพง เว้นแต่ “ปลาทู” ที่มีราคาถูก

นั่นทำให้ ปลาทู กลายเป็นอาหารบ้านๆ เป็นอาหารของคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นอาหารของคนรายได้น้อยอยู่ช่วงหนึ่ง (ก่อนที่ปลาทูจะกลายเป็นอาหารราคาแพงในปัจจุบัน) เมนูเกี่ยวกับปลาทูที่นิยมกันมากที่สุดเห็นจะเป็น น้ำพริกปลาทู ทำให้สมัยหนึ่ง มันเป็นคำตอบที่สาวงามเวทีประกวด “นางสาวไทย” เมื่อ 30-40 ปี ใช้กัน เมื่อพิธีกรถามว่าอาหารที่ชอบคืออะไร พวกเธอก็จะตอบว่า น้ำพริกปลาทู เพื่อแสดงว่ามีวิถีชีวิตเรียบง่าย เหมือนกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ความอร่อยของน้ำพริกปลาทู ทำให้มันเป็นที่รู้จักและมีการนำมาแต่งเป็นบทเพลงในยุคสมัยที่ต่างกัน

ปลาทู และน้ำพริกในโปสเตอร์รณรงค์ให้คนไทยกินกับข้าวให้มากขึ้น ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เพลงแรกคือ เพลงน้ำพริกปลาทูไทย ขับร้องโดย มีศักดิ์ นาครัตน์ นักร้องและนักแต่งเพลงแปลง ทำนองล้อจากเพลงสุกี้ยากี้ของญี่ปุ่น เพลงนี้น่าจะมีอายุประมาณ 40-50 ปี เนื้อเพลงว่า

“โอ้ยอดน้ำพริกปลาทูไทย อร่อยเพียงไหนเชิญชิมซิ ช่างเด็ดดีแท้ไม่เคยแพ้ ของไทยแท้รสแซ่บดี สุกียากี้ มีดีแค่ไหน ไม่พึ่งของไทยรสดีเลิศลอย

ไม่เชื่อลองลิ้ม เชิญชิมซิ จะต้องร้องซี้ว่า…อร่อย ช่างเด็ดดีนัก หากได้ลิ้ม แล้วต้องยิ้มว่าเลิศลอย เฝ้าคอยแต่มอง มองแต่น้ำพริก ล่ออีกหนเดียว เฮ้อ.. เป็นติดใจ

จะให้แซ่บอีหลี ผักจิ้มมีสิ..ยอดกว่าใคร ได้ยอดผักจิ้มไซร้ ประเดี๋ยวใจอ้าวข้าวหมดชาม

โอ้ยอดน้ำพริกปลาทูไทย ทั่วบ้านเรือนไหนใครก็ตาม หากขาดน้ำพริก ต้องหลีกหนี เฮ้อ.. อย่างนี้ไม่ได้ความ ต้องตามบ้านฉันเจอกันไม่เว้น เปิดตู้เห็นมีน้ำพริกถ้วยเดียว…”

อีกหนึ่งเพลงชื่อ เพลงน้ำพริกปลาทู ขับร้องโดย สามารถ พยัคฆ์อรุณ มีเนื้อร้องว่า

“ดีใจได้เกิดมาชาติหนึ่ง ถึงเรามันไม่ดีเท่าไหร่ รอดตัวไม่เคยอดตาย ขอบใจข้าวแดงแกงร้อน เงินทองก็ยังพอหาได้ น้อยไปก็ยังพอมีอยู่ ไม่มีสเต๊กสตู ปลาทูน้ำพริกยังมี

ตัวของตัวก็แค่นี้ ก็ดีพอได้ ได้พออยู่ไป คนไหนใครระดับไหน ไม่มอง ไม่มองก็ปล่อยเขาไป ตัวของตัวก็แค่นี้ ก็ดีพอได้ ได้พออยู่ไป ตัวของเรา ก็เป็นเรื่องของเรา กินข้าวหม้อใครหม้อมัน โฮ …

แสนจะดีใจได้เกิดมาชาติหนึ่ง ถึงเรามันไม่ดีเท่าไหร่ รอดตัวไม่เคยอดตาย ขอบใจข้าวแดงแกงร้อน ไม่มีสเต๊กสตู ปลาทูน้ำพริกยังมี

แพงไม่แพงก็อิ่มท้องเท่ากัน สำคัญที่ยังได้กิน กินข้าวแกงก็มีวิตามิน ถูกลิ้นอร่อยเหมือนกัน แพงไม่แพงก็อิ่มท้องเท่ากัน สำคัญที่ยังได้กิน ของของเรา ไม่ต้องขอเขากิน เอ้ากินน้ำพริกปลาทู

ถึงตรงนี้ ไม่ต้องพูดถึงอย่างอื่นแล้ว ไปเอาข้าวมากินกันดีกว่า แต่อย่าลืมยกน้ำพริกปลาทูมาด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. “วิกฤตอาหารโลก ระเบิดสงครามชิงน่านน้ำ ตามรอยปลาทูสู่โครงการฟื้นฟูทะเลไทย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2539

หลวงมัศยจิตรการ. ภาพปลา อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) ณ เมรุวัดเพทศิรินนทราวาส 17 เมษายน 2508.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2563