ผู้เขียน | นายคีรี คีรีวัฒน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) ค.ศ. 1962 เป็นเหตุการณ์ที่ทั้ง 2 มหาอำนาจโลกได้เล็งหัวรบนิวเคลียร์ใส่เมืองสำคัญต่อกัน โดยสหภาพโซเวียตติดตั้งขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ที่มีพิสัยครอบคลุมเมืองสำคัญเกือบทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ทาง สหรัฐอเมริกา ได้ตั้งขีปนาวุธจูปิเตอร์(Jupiter) ขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยปานกลางติดหัวรบนิวเคลียร์ที่ตุรกีไว้ก่อนก่อนหน้าในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1962 โดยเล็งไปที่เมืองสำคัญของ สหภาพโซเวียต เช่นเดียวกัน
ซึ่งเหตุการณ์ความขัดแย้งนี้อาจบานปลายขยายกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ซึ่งนี่อาจจะเป็นจุดจบของมวลมนุษยชาติหลายล้านชีวิตก็เป็นได้ ชาวโลกได้เห็นถึงอานุภาพของอาวุธนิวเคลียร์ที่ถูกใช้ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพสหรัฐอเมริกาทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมา (Hiroshima) และ นางาซากิ (Nagasaki) ของญี่ปุ่นในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 129,000-226,000 คน แต่อาวุธนิวเคลียร์หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นได้มีการพัฒนาอานุภาพการทำลายล้างให้สูงขึ้นเป็นอย่างมาก
ระเบิดปรมาณูที่ใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีพลังงานเท่ากับระเบิด TNT 15 กิโลตัน (หมายความว่าต้องมีระเบิด TNT 15,000 ตัน) แต่ระเบิดปรมาณูที่มีในยุคสงครามเย็นช่วง ค.ศ. 1962 มีขนาด 15-50 เมกะตัน (เมกะตัน เท่ากับระเบิด TNT หนึ่งล้านตัน) ทางสหรัฐอเมริกามีแผนการว่าจะใช้ระเบิดปรมาณูจำนวน 3,423 ลูกหากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งจะแผ่กัมมันตภาพรังสีเจือปนชั้นบรรยากาศเป็นมลพิษที่ทำลายสิ่งมีชีวิตทั้งโลก
แม้แต่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ยังส่ายหน้าให้กับแผนการนี้ ทางสหภาพโซเวียตได้มีการทดลองเพิ่มประสิทธิภาพอาวุธนิวเคลียร์ในช่วง ค.ศ. 1961 มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์บนชั้นบรรยากาศ ทำให้ประธานาธิบดีเคนเนดี้ต้องออกมาเตือนไม่ให้มีการทดลองเพราะจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกและขู่ว่าถ้ารัฐบาลครุสชอฟไม่หยุดสหรัฐอเมริกาจะทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์บนชั้นบรรยากาศบ้างในต้นปี ค.ศ. 1962 หลังจากการรุกรานอ่าวหมู
รัฐบาลคิวบาได้ขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตให้ส่งกำลังคุ้มครองคิวบาจำนวน 43,000-45,234 คน รวมทั้งอนุญาติให้ใช้คิวบาเป็นฐานติดตั้งขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ ซึ่งสหภาพโซเวียตเองก็ต้องการที่จะตอบโต้สหรัฐอเมริกาให้ถอนขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ออกจากตุรกีด้วยเช่นกัน จึงแอบลักลอบขนขีปนาวุธมายังคิวบาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1962 เป็นต้นมา
เหตุการณ์ความตึงเครียดได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1962 เครื่องบินลาดตระเวน U-2 ของสหรัฐอเมริกาตรวจพบฐานยิงขีปนาวุธของสหภาพโซเวียตในคิวบาโดยมีเป้าหมายเล็งไปที่สหรัฐอเมริกา รายละเอียดของอาวุธนิวเคลียร์ที่สหภาพโซเวียตติดตั้งในคิวบาประกอบด้วยขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยกลาง (MRBM) รุ่น R-12 จำนวน 36 ลูก มีพิสัยไกล 1,700-2,000 กิโลเมตร สามารถโจมตีได้ถึงนิวยอร์ก, อิลลินอยส์, เท็กซัส และ ขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยปานกลาง (IRBM) รุ่น R-14 จำนวน 24 ลูก พิสัยไกล 3,500-4,000 กิโลเมตร โจมตีได้เกือบทุกรัฐในสหรัฐอเมริกาไปถึงแคนาดา และไปไกลถึงทวีปอเมริกาใต้บริเวณตอนเหนือของประเทศโคลัมเบียและเวเนซุเอลา
วันที่ 16 ตุลาคม ประธานาธิบดีเคนเนดี้โกรธจัดกับเรื่องที่ได้ทราบจึงจัดตั้ง คณะกรรมการบริหารสภาความมั่นคงแห่งชาติ (The Executive Committee of the National Security Council : EXCOMM) มีประธานาธิบดีและสมาชิกอีก 12 คน ในการประชุมมีการหารือถึงวิธีการตอบโต้สหภาพโซเวียตโดยมีทางเลือกคือการโจมตีทางอากาศต่อคิวบาเพื่อทำลายขีปนาวุธและฐานยิงทั้งหมดแต่ปัญหาคือไม่ทราบจำนวนและตำแหน่งขีปนาวุธที่แน่นอนในคิวบาอาจทำให้ถูกตอบโต้ได้ในทันที ทางที่สองคือการปิดล้อมคิวบาทางทะเลสกัดกั้นเรือของสหภาพโซเวียตไม่ให้เข้ามายังคิวบาได้ ทางสุดท้ายคือการเจรจาขอให้สหภาพโซเวียตถอนขีปนาวุธออกจากคิวบาแลกกับการที่สหรัฐอเมริกาจะถอนขีปนาวุธออกจากตุรกี
ผลคือการเลือกแนวทางการปิดล้อมทางทะเล ต่อมาในวันที่ 22 ตุลาคม ประธานาธิบดีเคนเนดี้แถลงการณ์ต่อสาธารณะผ่านทางโทรทัศน์เรื่องของการติดตั้งขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ในคิวบาและเล็งมาที่เมืองสำคัญของสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวอเมริกันและชาวโลกในห้วงเวลานั้นเกิดความวิตกกังวลต่อหายนะของโลกที่จะเกิดขึ้นจากการทำ สงครามนิวเคลียร์ (The Nuclear Missile War) มีการคำนวณว่าขีปนาวุธสามารถยิงใส่วอชิงตัน ดี.ซี และนิวยอร์กภายในเวลา 10 นาที และขีปนาวุธหนึ่งลูกสามารถสังหารผู้คนได้ไม่ต่ำกว่า 6 แสนชีวิต
วันที่ 24 ตุลาคม รัฐบาลอเมริกาได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ครุสชอฟเองก็มีความกังวลว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์จึงเรียกประชุมสภาโซเวียตมีมติเสนอข้อต่อรองการถอนขีปนาวุธของทั้ง 2 ชาติซึ่งได้รับการรับรองโดยสภาโซเวียต ซึ่งทางรัฐบาลอเมริกาก็รับทราบ
ในวันที่ 27 ตุลาคม เป็นวันที่ตึงเครียดมากที่สุดเรียกกันว่า วันเสาร์แห่งความมืดมิด (Black Saturday) เรดาห์ของโซเวียตพบเครื่องบิน U-2 ของสหรัฐอเมริกาจึงตัดสินใจยิงจนตก ความตึงเครียดได้เกิดขึ้นอีกครั้ง EXCOMM มีมติให้สหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการสั่งโจมตีทางอากาศขนานใหญ่ แต่เคนเนดี้ไม่เห็นด้วยเพราะนั่นจะยิ่งทำให้ทางสหภาพโซเวียตตอบโต้อย่างรุนแรงที่สุด ซึ่งตรงกับที่กองทัพโซเวียตเตรียมตอบโต้หากถูกโจมตีทางอากาศด้วย เทคนิกี (Tekhniki) ซึ่งเป็นรหัสที่ใช้เรียกขีปนาวุธติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของโซเวียต
ทั้ง 2 ชาติได้ยื่นข้อตกลงเพื่อให้ความตึงเครียดที่จะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ยุติลงโดยมีข้อเสนอให้สหภาพโซเวียตถอนขีปนาวุธออกจากคิวบาและกับการยกเลิกการกักกันทางทะเลและให้สัญญารับรองว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่รุกรานคิวบา ในช่วงค่ำ โรเบิร์ต เคนเนดี้ (Robert Kennedy) น้องชายประธานาธิบดีและรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมได้เข้าพบกับ อนาโตลี โดบรินิน (Anatoy Dobrynin) เอกอัครราชทูตสหภาพโซเวียตประจำสหรัฐอเมริกาว่าจะมีการถอนขีปนาวุธจูปิเตอร์หลังเหตุการณ์นี้ 4-5 เดือน แต่ขอให้เป็นข้อตกลงโดยลับ
ส่งผลให้เวลาเก้าโมงเช้าของวันที่ 28 ตุลาคม ครุสชอฟตัดสินใจสั่งถอนขีปนาวุธออกจากคิวบา สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลคิวบาเป็นอย่างมาก ครุสชอฟได้ถอนขีปนาวุธออกไปจนหมดสิ้น สหรัฐอเมริกาได้แถลงการณ์ว่าสหภาพโซเวียตได้ถอนขีปนาวุธทั้งหมดออกจากคิวบาและสหรัฐอเมริกาขอประกาศยกเลิกการกักกัน ทำให้ความตึงเครียดเรื่องสงครามนิวเคลียร์ที่จะนำไปสู่วันโลกาวินาศได้สิ้นสุดลง

ประธานาธิบดีเคนเนดี้รักษาคำพูดด้วยการถอนขีปนาวุธจูปิเตอร์ที่ตุรกีในเดือนเมษายน ค.ศ. 1963 เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตที่จะรักษาโลกใบนี้เอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป
แต่เหตุการณ์นี้กลับทำให้จีนซึ่งติดพันสงครามกับอินเดียในช่วงเวลาเดียวกันจึงไม่ได้มาเข้าร่วมในความขัดแย้งนี้ เกิดความไม่พอใจสหภาพโซเวียตที่ยอมโอนอ่อนเป็นการทำลายเกียรติภูมิของชาติคอมมิวนิสต์เป็นอย่างมาก และดูถูกว่าสหภาพโซเวียตเป็นพวก ลัทธิแก้ (Revisionism) ทำให้จีนและสหภาพโซเวียตเริ่มมีความขัดแย้งกันนับแต่นั้นมา จีนได้เร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเพื่อป้องกันตนเองจากความขัดแย้งกับมหาอำนาจ
บทส่งท้าย
หลังจากที่วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบาได้สิ้นสุดลง บทบาทของคิวบาในการเมืองระดับโลกก็ค่อยๆ ลดลงไป แต่สหรัฐอเมริกายังคงลักลอบแทรกแซงการเมืองภายในคิวบาจากการลอบสังหารฟิเดล กัสโตรหลายครั้งจนมีการยุติปฏิบัติการลงหลังสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) และการปกครองของคิวบาก็ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของตระกูลกัสโตรมาจนถึงปัจจุบัน
วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบาประเทศต่างๆในโลกได้ตระหนักถึงความน่าสะพรึงของเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์มากยิ่งขึ้น สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตได้มีการลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในบรรยากาศ อวกาศ และใต้น้ำ (Treaty Banning Nuclear Weapon Tests in the Atmosphere, in Outer Space and Under Water) ในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1963 นานาประเทศทั่วโลกรวม 80 ประเทศร่วมลงนาม ยกเว้นฝรั่งเศสและจีนที่ปฏิเสธ
อย่างไรก็ดีความตึงเครียดได้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1984 เมื่อประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ได้อนุมัติโครงการการริเริ่มการป้องกันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Defense Initiative : SDI) หรือที่มีอีกชื่อว่า โครงการสตาร์วอร์ (Star Wars program) เกิดจากประธานาธิบดีเรแกนเกิดความหวดกลัวสงครามนิวเคลียร์จึงสร้างอาวุธป้องกันจากอวกาศเพื่อให้สหรัฐอเมริกาสามารถสกัดขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตและสามารถยิงขีปนาวุธใส่ได้ก่อน
แม้นักวิทยาศาสตร์อเมริกันจะไม่ได้ทุ่มเทเพื่อโครงการนี้มากนักเนื่องจากต้องใช้งบประมาณและระยะเวลาเป็นอย่างมาก แต่โครงการนี้ก็เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีเรแกนอวดอ้างและสร้างความไม่พอใจให้กับสหภาพโซเวียต ทำให้ผู้นำอย่างยูริ อันโดรปอฟ (Yuri Andropov) ตัดสินใจสร้างโครงการแบบเดียวกันตอบโต้ ซึ่งโลกได้เข้าสู่ความตึงเครียดเรื่องการเกิดสงครามนิวเคลียร์รวมถึงสงครามอวกาศอีกครั้ง แต่โครงการนี้ได้ถูกยุบเลิกลงหลังจากการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น แต่ทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียยังคงพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารด้านการป้องกันตนเองทางอวกาศมาจนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดปฏิบัติการ “อ่าวหมู” สหรัฐอเมริกาบุกคิวบา หวังล้ม “ฟิเดล กัสโตร” แต่พ่ายไม่เป็นท่า
- “จักรวรรดิสหรัฐอเมริกา” ผงาดในศึกชิง “คิวบา” จากสเปน สงครามที่พลิกโฉมสหรัฐฯ สู่มหาอำนาจ
อ้างอิง :
หนังสือ
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา : แนวพินิจทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2548
เดวิดสัน, เจมส์ เวสต์. สหรัฐอเมริกา : ประวัติศาสตร์(ไม่รู้จบ)แห่งเสรีภาพและความเท่าเทียม. แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป, 2564
นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์. ปฏิวัติคิวบา. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2562
โบเยอร์, พอล. ประวัติศาสตร์อเมริกา : ความรู้ฉบับพกพา. แปลโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป, 2561
สัญชัย สุวังบุตร. ยุโรปในสงครามเย็น ค.ศ. 1945-1991. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์, 2558
สมร นิติทัณฑ์ประภาศ. สหรัฐอเมริกา ในโลกปัจจุบัน (ค.ศ.1945-1980). กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2531
อรพินท์ ปานนาค. ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 . กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2558
เว็บไซต์
https://www.jfklibrary.org/learn/about-jfk/jfk-in-history/the-bay-of-pigs
https://en.wikipedia.org/wiki/Bay_of_Pigs_Invasion
https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/rfk-operation-mongoose/
https://en.wikipedia.org/wiki/Operation_Mongoose
https://en.wikipedia.org/wiki/Cuban_Missile_Crisis
https://www.history.com/topics/cold-war/cuban-missile-crisis
https://www.britannica.com/event/Cuban-missile-crisis
https://www.jfklibrary.org/learn/about-jfk/jfk-in-history/cuban-missile-crisis
https://en.wikipedia.org/wiki/Partial_Nuclear_Test_Ban_Treaty
https://en.wikipedia.org/wiki/Strategic_Defense_Initiative
https://en.wikipedia.org/wiki/Assassination_attempts_on_Fidel_Castro
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2565