เปิดปฏิบัติการ “อ่าวหมู” สหรัฐอเมริกาบุกคิวบา หวังล้ม “ฟิเดล กัสโตร” แต่พ่ายไม่เป็นท่า

ประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) แห่งคิวบากล่าวสุนทรพจน์รำลึกถึงการบุกโจมตีอ่าวหมูของคิวบา (CUBA-CASTRO-BAHIA DE COCHINOS / AFP)

ลาตินอเมริกาถือเป็นภูมิภาคที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเปรียบเสมือน “สวนหลังบ้านของสหรัฐอเมริกา (America’s Backyard)” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีพรมแดนหรืออาณาเขตใกล้กับสหรัฐอเมริกา ทำให้คิวบาที่เป็นเกาะขนาดเล็กในทะเลแคริบเบียน แต่กลับมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองของโลกเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในยุคสงครามเย็น

สหรัฐอเมริกาพยายามจะโค่นล้มรัฐบาลคิวบาหลากหลายวิธี ทั้งการสนับสนุนกองกำลังต่อต้านนอกคิวบาในปฏิบัติการรุกรานอ่าวหมู (Bay of Pigs Invasion) ค.ศ. 1961, การคว่ำบาตรทางการค้า, การลอบทำลายทางเศรษฐกิจ, การลอบสังหารฟิเดล กัสโตร ซึ่งมีการอ้างว่าอาจจะมากถึง 638 ครั้ง และการเผชิญหน้าที่นำไปสู่สถานการณ์ที่ตึงเครียดที่สุดคือ “วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis)” ค.ศ. 1962 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกือบนำพาโลกเข้าสู่หายนะจากสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต

“CIA” กับบทบาทการแทรกแซงการเมืองในคิวบา และ การรุกรานอ่าวหมู

หลังจากการปฏิวัติคิวบาโค่นล้มประธานาธิบดีฟูลเฆนซิโอ บาติสตา (Fulgencio Batista) ได้ใน ค.ศ. 1959 ฟิเดล กัสโตร (Fidel Castro) ได้จัดตั้งรัฐบาลผสมปกครองประเทศและอ้างว่ายึดหลักประชาธิปไตย ตั้งชาวคิวบาสายเสรีนิยมดำรงตำแหน่งสำคัญ รัฐบาลคิวบาให้การยอมรับนับถือสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำรัฐอเมริกัน รวมถึงพยายามเอาใจด้วยการจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายจากการเวนคืนที่ดินเป็นของรัฐจากนายทุนชาวอเมริกัน แต่ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มีท่าทีต่อต้านและกล่าวหาว่ารัฐบาลคิวบาเป็นคอมมิวนิสต์หัวรุนแรง

คิวบาได้มีความพยายามขอกู้ยืมเงินจากสหรัฐอเมริกา แต่ถูกปฏิเสธจึงหันไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตแทน ซึ่งทางรัฐบาลโซเวียตของนิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ได้รีบตอบตกลงให้ความช่วยเหลือคิวบาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1960 ทำให้คิวบาและสหภาพโซเวียตลงนามข้อตกลงทางพาณิชย์โดยคิวบาจะส่งน้ำตาลให้ปีละ 5 ล้านตัน แลกกับน้ำมันและเครื่องจักรอุตสาหกรรมจากสหภาพโซเวียต

นอกจากนี้ยังมีการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยให้กองทัพคิวบา และให้คิวบากู้ยืมเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหภาพโซเวียตยังขู่ว่าถ้าสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซงคิวบาจะตอบโต้ด้วยอาวุธที่ร้ายแรง รัฐบาลอเมริกาจึงลดโควตาน้ำตาลคิวบาที่ส่งออกให้กับสหรัฐฯ และเลิกซื้อในปีถัดมา

สหรัฐอเมริกาหวาดวิตกถึงการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในลาตินอเมริกาจึงดำเนินนโยบายต่างประเทศไปเยือนอาร์เจนตินา บราซิล ชิลี และอุรุกวัย ทางคิวบาได้ออกมาโจมตีประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) ว่าเป็น “นักเลงอันธพาล” วันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1960 ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์อนุมัติโครงการปฏิบัติการโค่นล้มระบอบกัสโตรโดยลับ (Program of Covert Action Against the Castro Regime) มีรหัสว่าปฏิบัติการพลูโต (Operation Pluto) ซึ่งรับผิดชอบโดย CIA ที่เคยประสบความสำเร็จในปฏิบัติการสนับสนุนการรัฐประหารรัฐบาลของ จาโคโบ อาร์เบนซ์ (Jacobo Árbenz) ประธานาธิบดีกัวเตมาลาที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยม ในปี ค.ศ. 1954 มาแล้ว

CIA ขึ้นตรงกับประธานาธิบดีเพื่อดำเนินปฏิบัติการในรูปแบบต่างๆ ทั้งการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงสร้างโฆษณาชวนเชื่อโจมตีรัฐบาลคิวบา จัดตั้งสถานีวิทยุสวอน (Radio Swan) บนเกาะสวอน ในทะเลแคริบเบียน (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของฮอนดูรัส)

นอกจากนี้ได้มีการฝึกการรบแบบจรยุทธ์ให้กับชาวคิวบาคนที่ต่อต้านรัฐบาลกัสโตรในต่างแดน โดยมีเซฟเฮาส์อยู่ที่ไมอามีและปานามา พร้อมกันนี้ CIA ได้ก่อตั้งและสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงให้แก่กลุ่มกบฏที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาเอสกัมบรัย (Escambray) ของคิวบา เมื่อคิวบาทราบเรื่องจึงจัดตั้งกองกำลังชาวนา จนสามารถจับกุมฝ่ายกบฏและยึดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจาก CIA มาได้เป็นจำนวนมาก

เมื่อการสนับสนุนกองกำลังกบฏภายในประเทศให้ต่อสู้ไม่ได้ผล CIA จึงปรับเปลี่ยนยุทธวิธีเป็นการยกพลขึ้นบกเพื่อยึดหัวหาด โดยใช้กำลังพลประมาณ 1,500 คน อีกทั้งยังมีการก่อตั้งกองทัพอากาศให้กับกบฏชาวคิวบาโดยใช้เครื่องบินรบรุ่น Douglas B-26 เพราะเป็นเครื่องบินรบที่กองทัพคิวบาก็มีเหมือนกันจึงเหมาะกับการแฝงตัวอย่างมาก

กลางปี ค.ศ. 1960 CIA ย้ายฐานฝึกกองกำลังต่อต้านไปที่ประเทศกัวเตมาลา ซึ่งรู้จักกันในชื่อ แคมป์แทรกซ์ (Camp Trax) ที่นี่ได้มีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านที่มีชื่อว่า กองพล 2506 (Brigade 2506) ซึ่งเป็นกองกำลังที่มีบทบาทมากที่สุดในการรุกรานอ่าวหมู ค.ศ. 1961 ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ย้ายฐานการฝึกไปที่นิการากัวเพื่อให้การลำเลียงกำลังพลบุกคิวบานั้นง่ายกว่าและข่าวเรื่องฐานทัพในกัวเตมาลาได้ถูกเปิดโปงโดยสำนักข่าว Tass ของสหภาพโซเวียต

ในสมัยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้  (John F. Kennedy) ผู้รับงานสานต่อจากไอเซนฮาวร์ เขาได้รับการยืนยันจาก CIA เรื่องการบุกอ่าวหมูว่าจะประสบความสำเร็จถ้าได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาจนกลุ่มต่อต้านสามารถยึดหัวหาดและรวมตัวกับกองกำลังกบฏได้ ประธานาธิบดีเคนเนดี้เห็นชอบปฏิบัติการนี้ มีการกำหนดวันปฏิบัติการคือวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1961

ตามกำหนดการ CIA จะส่งกองทัพอากาศที่มีเครื่องบินรบจำนวน 22 ลำโจมตีกองทัพอากาศคิวบาและฐานทัพทหารราบในวันที่ 15 เมษายน แต่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ตัดสินใจขอสั่งลดจำนวนเครื่องบินเหลือเพียง 8 ลำเท่านั้น ในปฏิบัติการโจมตีก่อนยกพลขึ้นบก สหรัฐอเมริกาได้รับรายงานว่ากองทัพอากาศของกลุ่มต่อต้านได้ทำลายคลังสรรพวุธของกองทัพอากาศ ลานบิน คลังน้ำมัน และเครื่องบินรบจนเกือบหมดกองทัพคิวบา

การรายงานนี้ส่งผลให้ทำเนียบขาวสั่งยุติปฏิบัติการของกองทัพอากาศในวันที่ 16 และ 17 เมษายน ค.ศ. 1961 ลงทันที แต่นั่นคือการรายงานที่ผิดพลาด เพราะในความเป็นจริงมีรายงานจากหน่วยข่าวกรองและเครื่องบินสอดแนมว่ามีเครื่องบินคิวบาถูกทำลายแค่ 5 ลำเท่านั้น แต่ประธานาธิบเคนเนดี้ได้ตัดสินใจยกเลิกการใช้กองกำลังทางอากาศคุ้มกัน เพราะเกรงว่าจะเป็นการละเมิดข้อตกลงขององค์การรัฐอเมริกันว่าจะไม่มีการใช้กองกำลังทางการทหารรุกรานกันอย่างโจ่งแจ้ง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการกลายเป็นข้ออ้างให้สหภาพโซเวียตเข้ามาให้การสนับสนุนทางการทหารกองทัพคิวบาตอบโต้

ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ลงนามในคำสั่งปิดล้อมทางทะเลของคิวบา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1962 (CUBA-USA-USSR-MISSILE CRISIS / AFP)

นี่เป็นการตัดสินใจที่นำไปสู่ความล้มเหลวของปฏิบัติการยกพลขึ้นบกเป็นอย่างยิ่ง ในคืนวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1961 กองเรือยกพลขึ้นบกที่นำพากองพล 2506 ซึ่งมีกำลังพลประมาณ 1,500 คน สหรัฐอเมริกาได้นำเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Essex และเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ USS Boxer จอดอยู่ห่างจากคิวบา 80 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศ นักบินอเมริกันต้องพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะกับกองทัพอากาศคิวบา รวมทั้งการเข้าใกล้แผ่นดินคิวบาไม่เกิน 25 กิโลเมตร

ในเวลาเที่ยงคืน หน่วยทำลายใต้น้ำ 2 ทีมได้ลักลอบเข้าไปปักสัญญาณบอกตำแหน่งสำหรับการยกพลขึ้นบก แต่แผนการผิดพลาดเพราะสัญญาณไฟได้สว่างขึ้นทำให้กองทัพคิวบาทราบว่ามีผู้บุกรุกจึงได้รายงานไปยังศูนย์บัญชาการ ฝ่ายต่อต้านจึงรีบเปิดปฏิบัติการยกพลขึ้นบกที่หาดฆิรอน (Giron) ทันที แต่กองทัพคิวบาที่ทราบข่าวการบุกล่วงหน้าจากหน่วยข่าวกรองของสหภาพโซเวียตจึงได้มีการเตรียมการตั้งรับเอาไว้อย่างดี กองพล 2506 ถูกปิดล้อมเอาไว้โดยขาดเสบียงและการสนับสนุนจากกลุ่มกบฏภายในประเทศ

ในเช้าวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1961 กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้รับโทรเลขจากสถานทูตในกรุงมอสโกว่าให้สหรัฐอเมริกาที่อยู่เบื้องหลังการรุกรานอ่าวหมูยุติปฏิบัติการ มิเช่นนั้นสหภาพโซเวียตจะเข้ามาช่วยเหลือคิวบาในทันที สหรัฐอเมริกาจึงไม่ส่งกองกำลังทหารของตนเข้าไปช่วย จนทำให้ปฏิบัติการรุกรานอ่าวหมูในครั้งนี้ล้มเหลวลงไป กองพล 2506 ถูกปิดล้อมเอาไว้ได้พ่ายแพ้ย่อยยับจนมีผู้เสียชีวิต 114-118 คน ถูกจับเป็นเชลยศึก 1,179-1,202 คน

ความล้มเหลวในปฏิบัติการรุกรานอ่าวหมูซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก CIA กลายเป็นความสำเร็จอันงดงามของฟิเดล กัสโตร ทำให้คะแนนความนิยมของเขาสูงขึ้นในฐานะวีรบุรุษผู้ปกป้องประเทศจากการรุกรานที่ได้รับการสนับสนุนมหาอำนาจของภูมิภาคและของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติการที่ล้มเหลวในครั้งนี้มาจากการที่สหรัฐอเมริกาประมาทคิวบามากเกินไป โดนเฉพาะอย่างยิ่งการตัดการคุ้มกันทางอากาศซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการรักษาความลับของปฏิบัติการที่สำคัญขนาดนี้เอาไว้ได้ไม่ดีนัก ปัญหาเรื่องของข่าวสารที่ผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และข้อผิดพลาดในการเลือกจุดยกพลขึ้นบกที่มีภูมิประเทศไม่เหมาะกับการยกพลขึ้นบกมากนัก

หลังจากความล้มเหลวในการรุกรานอ่าวหมู สหรัฐอเมริกาได้ใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อจัดการคิวบาทั้งการคว่ำบาตรคิวบาทางด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1961 ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้อนุมัติปฏิบัติการมองกูส (Operation Mongoose) เป็นปฏิบัติการก่อวินาศกรรมของ CIA โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายล้างเศรษฐกิจของชาวคิวบา โดยหวังให้เกิดจลาจลภายในประเทศจากการลุกฮือของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

นายพลเอ็ดเวิร์ด แลนส์เดล (Edward Lansdale) เป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติการนี้ ในปี ค.ศ. 1962 CIA ได้ส่งหน่วยก่อวินาศกรรมแทรกซึมเพื่อไปทำลายล้างจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางด้านเศรษฐกิจเช่น โรงงานน้ำตาล โรงกลั่นน้ำมัน ถนน สะพาน ทางรถไฟ โรงไฟฟ้า เครือข่ายสื่อสาร และคลังสินค้าทางการเกษตร นอกจากนี้ยังมีการก่อวินาศกรรมนอกแผ่นดินคิวบาเช่นการเจือปนน้ำตาลที่ส่งออกไปต่างประเทศ หรือการลอบจมเรือสินค้าของคิวบา

แต่ปฏิบัติการนี้นอกจากจะไม่ส่งผลให้ชาวคิวบาลุกฮือต่อต้านรัฐบาลซ้ำยังเป็นการสร้างกระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกามากขึ้นทำให้ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) สั่งยุติปฏิบัติการในปี ค.ศ. 1964

 


อ้างอิง :

หนังสือ

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองสหรัฐอเมริกา : แนวพินิจทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2548

เดวิดสัน, เจมส์ เวสต์. สหรัฐอเมริกา : ประวัติศาสตร์(ไม่รู้จบ)แห่งเสรีภาพและความเท่าเทียม. แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป, 2564

นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์. ปฏิวัติคิวบา. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป, 2562

โบเยอร์, พอล. ประวัติศาสตร์อเมริกา : ความรู้ฉบับพกพา. แปลโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป, 2561

สัญชัย สุวังบุตร. ยุโรปในสงครามเย็น ค.ศ. 1945-1991. กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์, 2558

สมร นิติทัณฑ์ประภาศ. สหรัฐอเมริกาในโลกปัจจุบัน (ค.ศ.1945-1980). กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2531

อรพินท์ ปานนาค. ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 . กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2558

เว็บไซต์

https://www.jfklibrary.org/learn/about-jfk/jfk-in-history/the-bay-of-pigs

https://en.wikipedia.org/wiki/Bay_of_Pigs_Invasion

https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/rfk-operation-mongoose/

https://en.wikipedia.org/wiki/Operation_Mongoose

https://en.wikipedia.org/wiki/Cuban_Missile_Crisis

https://www.history.com/topics/cold-war/cuban-missile-crisis

https://www.britannica.com/event/Cuban-missile-crisis

https://www.jfklibrary.org/learn/about-jfk/jfk-in-history/cuban-missile-crisis

https://en.wikipedia.org/wiki/Partial_Nuclear_Test_Ban_Treaty

https://en.wikipedia.org/wiki/Strategic_Defense_Initiative

https://en.wikipedia.org/wiki/Assassination_attempts_on_Fidel_Castro


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2565