ผู้เขียน | หนุ่มบางโพ |
---|---|
เผยแพร่ |
เขต “บางซื่อ” เป็นเขตหนึ่งของกรุงเทพฯ ทิศเหนือติดจังหวัดนนทบุรี ทิศตะวันติดเขตจตุจักร ทิศใต้ติดเขตดุสิต ทิศตะวันตกติดเขตบางพลัดและบางกรวย
คำว่า “บาง” หมายถึงทางน้ำเล็ก ๆ ในภาษามอญโบราณหมายถึง “ปาก” ส่วนคำว่า “ซื่อ” หมายถึง “ตรง” สันนิษฐานว่า “บางซื่อ” อาจหมายถึงแนวคลองที่ผ่านย่านนี้ ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างตรง
อย่างไรก็ตาม มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวข้องกับย่านบางซื่อว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอู่ทองทรงหนีโรคห่าลงมา ทรงให้นำทองที่บรรทุกมาไปซ่อนที่บริเวณ “บางซ่อน” ต่อมามีผู้มาสอบถามคนกลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มนั้นได้บอกที่ซ่อนทอง คนทั้งหลายจึงเห็นว่า คนเหล่านี้มีความซื่อสัตย์ จึงเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “บางซื่อ”
แม้จะเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน แต่คำว่า “บางซื่อ” ก็ปรากฏชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยปรากฏใน “นิราศพระบาท” ของสุนทรภู่ ซึ่งแต่งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ความว่า “…ถึงบางซื่อชื่อบางนี้สุจริต เหมือนซื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร มิตรจิตขอให้มิตรใจจร ใจสมรขอให้ซื่อเหมือนชื่อบาง…”
โดยเมื่อ พ.ศ. 2448 บางซื่อเป็นอำเภอชั้นนอก ขึ้นกระทรวงนครบาล ต่อมา พ.ศ. 2481 ยุบอำเภอบางซื่อ แล้วโอนตำบลสามเสนใน ตำบลถนนนครไชยศรี ไปขึ้นอำเภอดุสิต และโอนตำบลสามเสนนอกไปขึ้นอำเภอบางกะปิ จวบจนถึง พ.ศ. 2532 ได้แบ่งพื้นเขตดุสิต ตั้งเป็นเขตบางซื่อ
ปัจจุบันเขตบางซื่อมี 2 แขวง คือ แขวงบางซื่อ และแขวงวงศ์สว่าง
สำหรับบริเวณแขวงบางซื่อมีย่านหนึ่งชื่อว่า “บางโพ” ปรากฏความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เมื่อ “องเชียงสือ” หรือจักรพรรดิซา ล็อง แห่งเวียดนาม ได้หนีออกไปจากกรุงเทพฯ ประจวบกับครั้งนั้น องโหเดืองดึ๊ก และองทงยุงยาน สองพี่น้องได้พาครอบครัวมาทางเมืองลาวเพื่อตามหาองเชียงสือ ดังนั้น รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า องเชียงสือนั้นให้ไปอาศัยอยู่ตอนล่างใกล้ทะเล จึงหนีไปได้โดยสะดวก ส่วนญวนพวกนี้ควรให้ไปอยู่เสียตอนบน (หมายถึงทางตอนเหนือของพระนคร) ถึงคิดหนีออกไปก็จะลำบากและไม่สะดวก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ญวนทั้งสองนำครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่บางโพ ซึ่งในบริเวณแถบบางโพยังคงหลงเหลือวัดทางฝ่ายอนัมนิกายคือ “วัดอนัมนิกายาราม”
ใน “นิราศภูเขาทอง” ของสุนทรภู่ เมื่อท่านได้ล่องเรือมาที่บางโพ ได้กล่าวว่าญวนบางโพมีอาชีพขายกุ้งขายปลา ความว่า “…ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์ ร่มนิโรธรุกขมูลให้ภูลผล ขอเดชะอานุภาพพระทศพล ให้ผ่องพ้นไภยพาลสำราญกาย ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสพรั่ง มีของขังกุ้งปลาไว้ค้าขาย ตรงน่าโรงโพงพางเขาวางราย พวกหญิงชายพร้อมเพรียงมาเมียงมอง…”
สำหรับแขวงวงศ์สว่างนั้น คำว่า “วงศ์สว่าง” เป็นชื่อถนนที่ตัดผ่านย่านนี้ สันนิษฐานว่าได้ชื่อมาจากนามสกุลของนายช่างที่ทำการตัดถนนดังกล่าว
นับได้ว่า “บางซื่อ” เป็นอีกย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีความเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 200 ปี
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. “กรุงเทพฯ กรุงธนฯ มีภูมิสถาน ชื่อบ้านนามเมือง”. (ดรีม แคทเชอร์, 2556)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2566