คลองพระโขนง คลอง [หนึ่ง] ที่คนรู้จักมากที่สุดในไทย

คลองพระโขนง บริเวณ หน้า วัดมหาบุศย์
คลองพระโขนงบริเวณหน้าวัดมหาบุศย์ ภาพนี้ เอนก นาวิกมลเป็นผู้ถ่ายเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2532

ในบรรดาคลองทั่วเมืองไทยที่มี หรือเคยมีแต่ตื้นเขินใช้การไม่ได้แล้ว “คลองพระโขนง” ต้องติดลำดับต้นของคลองที่มีผู้รู้จักมากที่สุดในประเทศคลองหนึ่ง สาเหตุในเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะคลองพระโขนงเป็นคลองเก่าแก่ หรือเป็นเส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ

หากเป็นเพราะเป็นเรื่องราวของ “แม่นาค” ที่เล่าลือ, บอกต่อ รวมทั้งฉายเป็นภาพยนตร์ ฯลฯ มาอย่างยาวนาน ผู้คนมักกล่าวชื่อ “คลองพระโขนง” เสมือนหนึ่งเป็นส่วนขยายชื่อต่อท้าย “แม่นาค” ว่า “แม่นาคพระโขนง” อยู่เสมอๆ

เช่นนี้ ชื่อ “คลองพระโขนง” จึงถูกกล่าว และเป็นที่รู้จักกว้างขวาง

ส. พลายน้อย หรือ สมบัติ พลายน้อย เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน “แม่น้ำลำคลอง” (มติชน, 2555) ว่า

“ที่กล่าวว่าคลองพระโขนงขึ้นชื่อลือชามากที่สุด ก็เพราะในคลองนี้มี วัดมหาบุศย์ เป็นวัดสำคัญ ตามประวัติว่า ‘มหาบุศย์’ เปรียญธรรม 5 ประโยค วัดราชบุรณราชวรวิหาร ได้มาเยี่ยมญาติโยมในคลองพระโขนง ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธา จึงนิมนต์ให้อยู่สร้างวัด ท่านก็ไม่ขัดข้อง เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงเรียกกันว่า ‘วัดมหาบุศย์’

ส่วนผู้ที่ไม่ทราบประวัติก็แต่งเรื่องขึ้น อย่างนายช่วงแต่งนิราศ คลองประเวศ ก็แต่งว่า

‘ได้ยินข่าวท่านผู้เฒ่าเล่าสืบมา   ว่าบุตราเที่ยวเล่นเลยหายไป

เที่ยวค้นคว้าหาจบไม่พบปะ   จะเลยละก็ไม่สิ้นความสงสัย

เที่ยวค้นค้นจนพบลูกสายใจ   เห็นอยู่ในวัดนี้จงวิจารณ์

จึงให้นามอารามมาหาบุตร   มาเสื่อมทรุดโทรมหมดโบสถ์วิหาร

เหลือแต่ชื่อกับอิฐเป็นประธาน   ชาวเราท่านจึงได้เรียกต่อกันมา

ตามกลอนนี้เห็นได้ชัดว่าแต่งเรื่องเข้าหาชื่อวัด เพราะนายช่วงไม่ทราบเรื่องเดิม ส่วนทางวัดก็เขียนขยายความต่อไปอีกว่า ‘วัดมหาบุศย์ ประชาชนนิยมเรียกอีกนามหนึ่งว่า วัดแม่นาคพระโขนง’ 

คลองพระโขนงเป็นคลองเก่า ยิ่งมีเรื่องผีนางนาคเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ยิ่งทำให้คลองพระโขนงโด่งดังมากกว่าคลองอื่นๆ ที่ไม่มีเรื่องแปลกประหลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง”

แล้วคลองพระโขนงที่ว่าอยู่ตรงไหน? มีมาแต่เมื่อใด? สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 33 เรื่องที่ 3 คลอง บันทึกไว้ว่า

“คลองพระโขนง อยู่ในเขตพระโขนง และส่วนหนึ่งของเขตประเวศ กรุงเทพฯ ขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ใกล้กับบริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ ไปต่อกับคลองประเวศบุรีรมย์ ขุดขึ้นในรัชกาลที่ 3 ผู้ดำเนินการขุดคือ พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต บุนนาค) เริ่มขุดเมื่อ พ.ศ. 2380 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2383 ยาว 362 เส้น 5 วา (14.5 กิโลเมตร)”

ส่วนทำไมจึงเรียก “แม่นาค [คลอง] พระโขนง” ไม่เรียกว่า “แม่นาค [วัด] มหาบุศย์” บ้าง อันนี้ยังจำกัดด้วยข้อมูล แต่ถ้าท่านผู้อ่านจะช่วยแถลงไขก็เป็นเรื่องน่ายินดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2565