แม่นาก กลายเป็นหนังเมื่อใด เปิดเส้นทางผีอมตะ สู่แฟนตาซี ถึงฉบับคลาสสิก “นางนาก” 2542

ตำนานแม่นากแห่งทุ่งพระโขนงเป็นที่กล่าวขานนานนับร้อยปี ว่ากันว่าเป็นเรื่องที่เกิดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเก่าที่สุดเท่าที่พบคือ หนังสือพิมพ์สยามประเภท ฉบับมีนาคม ร.ศ. 118 หรือ พ.ศ. 2442 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เขียนโดย ก.ศ.ร. กุหลาบ (อ่านเพิ่มเติม : “ผีแม่นากพระโขนง” อุบายของบุตรที่มิอยากให้บิดามีเมียใหม่ ?) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ “คลาสสิก” มากเรื่องหนึ่งและอยู่คู่สังคมไทยมายาวนานมาก จนถูกนำไปผลิตเป็นสื่อรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภาพยนตร์ ละครเวที ละครเพลง ละครโทรทัศน์ นิยาย เรื่องสั้น ฯลฯ ตำนานแม่นากคงปรากฏให้เห็นในสังคมไทยผ่านสื่อต่าง ๆ แทบทุกปีก็ว่าได้

แต่ก่อนที่จะพาไปดูตำนานแม่นากในโลกภาพยนตร์นั้น ขอแจ้งให้ทราบว่า แม่นาก นั้นเดิมทีสะกดด้วย ก.ไก่ ตามที่คุณเอนกแสดงความเห็นไว้ว่า นาก เป็นโลหะที่นำมาทำเครื่องประดับ แต่ นาค เป็นชื่องูใหญ่ ดังนั้นคนโบราณน่าจะชื่อนากมากกว่า ทั้งนี้ นาค ที่สะกดด้วย ค.ควาย พึ่งจะมานิยมหลัง พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา ดังนั้นผู้เขียนจึงขอใช้คำว่า นาก ในบทความนี้ แต่ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ใช้คำว่า นาค กันเสียหมด เว้นแต่ภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” ที่สะกดด้วย ก.ไก่ เพียงเรื่องเดียว

แม่นากก่อน พ.ศ. 2500

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับแม่นากที่เก่าแก่ที่สุดน่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง นางนาคพระโขนง เข้าฉายเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นภาพยนตร์เงียบ ขาวดำ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ไม่ปรากฏรายละเอียดของภาพยนตร์เรื่องนี้มากนัก ทราบเพียงว่าแต่งบทประพันธ์โดย . วุธาทิตย์ สร้างโดย ... อนุศักดิ์ หัสดินทร์ และต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ภาพยนตร์เรื่องนี้นำมาฉายซ้ำที่ศาลาเฉลิมบุรี ปรากฏโฆษณาบนหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ใช้ชื่อว่า “NANG NARK”

พ.ศ. 2480 แม่นากปรากฏบนจอภาพยนตร์อีกครั้งในชื่อเรื่อง “นางนาคคืนชีพ” สร้างโดย อบ โหมดประดิษฐ์  ปรากฏเค้าเรื่องบนหนังสือพิมพ์รายวัน “ศรีกรุง” ความว่า “นางนาคพระโขนง เท่าที่ทราบกันแต่เพียงว่า ได้ถูกถ่วงน้ำและหายสาบสูญไปนั้น บัดนี้นางนาคได้กลับคืนชีพมาอีก และหนีจากถ่วงน้ำมาแผลงฤทธิ์ ดุร้าย น่าหวาดเสียว น่าตื่นเต้น และแสดงอภินิหาร ร้ายกาจกว่าเก่าหลายสิบเท่า” 

ต่อมาเรื่องราวของแม่นากกลับสู่จอภาพยนตร์อีกครั้ง ชื่อว่า นางนาคพระโขนง ตอนใหม่” แต่ครั้งนี้ฉายประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ลูกกำพร้า ภาค 2” ซึ่งเข้าฉายวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 ที่ศาลาเฉลิมบุรี ผลิตภาพยนตร์โดยบริษัทศรีบูรพาภาพยนตร์ สร้างโดย สดศรี บูรพารมณ์ เป็นภาพยนตร์ขาวดำ ฟิล์ม 35 มม. กระทั่งทั่วโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างหนักโดยเฉพาะฟิล์ม 35 มม. ขาดตลาด จึงต้องนำฟิล์ม 16 มม. ออกมาใช้ผลิตภาพยนตร์แทน ส่งผลให้แม่นากร้างจอภาพยนตร์ไปกว่า 7 ปี

แม่นากกลับมาอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่อง นางนาคพระโขนง ภาคพิเศษ” คาดว่าเข้าฉายเมื่อ พ.ศ. 2489 เป็นภาพยนตร์ขาวดำ ผลิตจากฟิล์ม 16 มม. ผลิตภาพยนตร์โดยบริษัทสหายภาพยนตร์ สร้างโดย หนุ่ม เต็งบุญชู ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ปรากฏรายชื่อนักแสดง ได้แก่ สำราญ เทวะสันต์, สมนึก ศรีเอี่ยม, สวง รอดพ่าย, อาสา งามวัฒน์, เฉย สนธิวงษ์, ถวิล งามวัฒน์, แดง สาตร์ประสิทธิ์, หนุ่ม เต็งบุญชู, ประชุม พวงน้อย แต่ไม่ได้ระบุว่าใครรับบทเป็นใคร 

โปสเตอร์ “แม่นาคพระโขนง” ฉบับ พ.ศ. 2502 สร้างโดย เสน่ห์ โกมารชุน

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากลำดับถัดมาคือเรื่อง “ลูกนางนาคพระโขนง” เข้าฉายวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 ฉายที่ศาลาเฉลิมโลก โดยคาดว่าน่าจะเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี ในปีถัดมา ภาพยนตร์เรื่อง “วิญญาณรักของนางนาค” คาดว่าเข้าฉายวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากเรื่องแรกที่ปรากฏผู้รับบท นาก คือ ไพบูลย์ เกษมวัน ส่วนธงชัย นิลกนิษฐ์ รับบท มาก ผลิตภาพยนตร์โดยบริษัทราชวัตรภาพยนตร์ สร้างโดย ไพรัช สังวริบุตร กำกับโดย รังษี เสวิกุล 

เรื่องย่อ “วิญญาณรักของนางนาค” พ.ศ. 2494 สรุปได้ว่า นากกับมาก เป็นคู่รักแห่งทุ่งพระโขนง แต่ทั้งสองถูกกีดกันจากกำนันผู้เป็นลุงของมากที่พยายามจับคู่ให้มากแต่งงานกับเฮียง ลูกสาวของเถ้าแก่เฮง ขณะที่เถ้าแก่เฮงเองก็หมายปองจะเอานากเป็นภรรยา แต่แผนการไม่สำเร็จ มากและนากอยู่กินกันจนนากตั้งครรภ์ กำนันกับเถ้าแก่เฮงไม่ละความพยายามจึงวางแผนส่งมากไปเป็นทหารเกณฑ์ กระทั่งกลางดึกคืนหนึ่ง นากเจ็บท้องหนัก พยายามออกไปขอความช่วยเหลือแต่ขาดใจตายเสียก่อน รุ่งเช้าชาวบ้านนำศพไปฝังใต้ต้นตะเคียนคู่ ในป่าช้าวัดมหาบุศย์ แต่เมื่อมากกลับมาเยี่ยมครอบครัว เขาหารู้ไม่ว่านากที่ยืนรออยู่ริมตลิ่งนั้นมิใช่ภรรยาคนเดิมอีกต่อไป

ต่อมาบริษัทศรีบูรพาภาพยนตร์ผลิตภาพยนตร์เรื่องใหม่ชื่อ “นางนาคพระโขนง” ฉายวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 ที่ศาลาเฉลิมบุรี ยังคงกำกับโดยสดศรี บูรพารมณ์เช่นเดิม แต่ครั้งนี้เป็นภาพยนตร์สี ฟิล์ม 16 มม. ถัดมามีภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับแม่นากฉบับใหม่ชื่อว่า นางนาคพระโขนง” เข้าฉายวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ที่ศาลาเฉลิมบุรี ปรากฏรายชื่อนักแสดงคือ ทิดทุ้ย, ลุงเฉย สนธิวงศ์, สวัสดิ์ อนุวงศ์ และสุพร จวงจันทร์ แต่ไม่ระบุว่ารับบทเป็นใคร

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากเรื่องสุดท้ายก่อนเข้าสู่ พ.ศ. 2500 คือเรื่อง นางนาคพระโขนงคืนชีพ” ซึ่งฉายพร้อมกับภาพยนตร์อีก 2 เรื่องคือระบำผีและเทพธิดาดำ ฉายพร้อมกันภายใต้ชื่อเรื่องว่า “สามชาติ” เป็นภาพยนตร์ผลิตด้วยฟิล์ม 35 มม. เข้าฉายเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 ที่ศรีราชาวงศ์ ผลิตภาพยนตร์โดยบริษัทเนรมิตรภาพยนตร์ แสดงโดย เสน่ห์, เสี่ยล้อต๊อก, ชูศรี, ล้อต๊อกน้อย แต่ไม่ได้ระบุว่าใครรับบทเป็นใคร ปรากฏเค้าเรื่องลงโฆษณาบนนิตยสารผดุงศิลป์ ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2499 ว่าหวาดเสียว ตื่นเต้น สนุกสนานด้วยอภินิหารแบบใหม่” 

ฉะนั้น ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากบนจอภาพยนตร์ ตั้งแต่อดีตถึง พ.ศ. 2500 ผลิตเป็นภาพยนตร์แล้วทั้งสิ้น 9 เรื่อง

แม่นากยุคความแปลกใหม่

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากในยุคหลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ถือเป็นยุครุ่งเรืองของแม่นากช่วงหนึ่งก็ว่าได้ โดยเฉพาะเรื่อง “แม่นาคพระโขนง” พ.ศ. 2502 เป็นภาพยนตร์ที่โด่งดังมากในช่วงเวลานั้น ซึ่งทำให้ เสน่ห์ โกมารชุน ดาราหนังไทย ผู้สร้าง และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้โด่งดังมาก รวมถึง ปรียา รุ่งเรือง นักแสดงผู้รับบท นาก ก็ได้รับความนิยมอย่างล้มหลามเช่นกัน จนเธอได้รับบท นาก ในภาพยนตร์อีกสองเรื่องถัดมาคือ “วิญญาณรักแม่นาค” พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นภาคต่อจากฉบับ พ.ศ. 2502 และ “แม่นาคคะนองรัก” พ.ศ. 2511 โดยก่อนหน้านี้ก็มีการผลิตภาพยนตร์ “แม่นาคคืนชีพ” พ.ศ. 2503 ที่นำแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์ และวิไลวรรณ วัฒนพาณิช รับบท นาก

(ซ้าย) โปสเตอร์ภาพยนตร์ “แม่นาคคืนชีพ” ฉบับ พ.ศ. 2503, (ขวา) โปสเตอร์ภาพยนตร์ “วิญญาณรักแม่นาค” ฉบับ พ.ศ. 2505 (ภาพจากหนังสือเปิดตำนานแม่นากพระโขนง ของคุณเอนก นาวิกวิมูล, สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

จนถึงช่วงเวลานี้ เรื่องราวของแม่นากถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์มากหลายสิบเรื่อง โดยแต่ละเรื่องกลับมีบทภาพยนตร์ลักษณะเหมือน ๆ กัน ดำเนินเรื่องไปในทิศทาเดียวกันซ้ำ ๆ จนนำมาสู่การพลิกแพลงนำเรื่องราวของแม่นากมาเล่าแบบใหม่ ให้แปลกและแหวกแนวกว่าเดิม อย่างภาพยนตร์เรื่อง “แม่นาคพระนคร” เข้าฉายเมื่อ พ.ศ. 2513 นำแสดงโดยนักแสดงภาพยนตร์แห่งยุคคือ มิตร ชัยบัญชา รับบท มากศิริ และอรัญญา นามวงศ์ รับบท นาก

ผู้เขียนได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ “แม่นาคพระนคร” พ.ศ. 2513 ที่มีการตีความแม่นากแบบใหม่ ใส่ความตลกเข้าไป เล่าเรื่องแม่นากที่แหวกแนวมากเรื่องหนึ่ง เพราะแทนที่จะดำเนินเรื่องในอดีต กลับดำเนินเรื่องในช่วงเวลาร่วมสมัย เรื่องมีอยู่ว่า พ่อและแม่ของนากในชาติปัจจุบันได้ทอดแหติดหม้อใบหนึ่งที่ขังวิญญาณนากไว้ กระทั่งวิญญาณนากหลุดออกมาจากหม้อสำเร็จ เรื่องนี้ทราบถึงยมบาล ท่านจึงตามตัวนากไปนรก

นากลงมายังนรกเพื่อให้พญายมราชตัดสินชี้ความ แต่เมื่อสมุห์บัญชีตรวจสอบแล้วพบว่านากควรหมดอายุขัยเมื่ออายุ 80 ปี แต่เธอเสียชีวิตเมื่ออายุ 18 ปีเท่านั้น ดังนั้น พญายมราชจึงมอบกายทิพย์ให้แก่นากให้เธอมีร่างกายเช่นมนุษย์แต่มีอิทธิฤทธิ์เหมือนอมนุษย์ เมื่อนากกลับสู่โลกมนุษย์ วันหนึ่งนากถูกรถยนต์ของมากศิริชน เขาประกอบอาชีพแพทย์จึงพาเธอไปรักษา และนับแต่นั้นมาทั้งสองก็ตกหลุมรักกัน วันหนึ่งมากศิริถูกนำตัวมารักษาหัวหน้าแก๊งอันธพาล แต่เขาไม่สามารถรักษาให้หายได้จึงถูกจับตัวไว้ นากมาช่วยหนีออกจากที่คุมขัง แต่ถูกไล่จนมุมขึ้นมาที่ดาดฟ้า มากศิริต่อสู้กับคนร้ายจนพลัดตกตึก ในจังหวะนั้นเองนากได้ยืดแขนอันยาวเหยียดไปช่วยมากได้ทัน

โปสเตอร์ภาพยนตร์ “แม่นาคพระนคร” พ.ศ. 2513 (ภาพจากเว็บไซต์ หอภาพยนตร์ องค์การมหาชน)

มากศิริป่วยจับไข้หัวโกร๋นเพราะทราบความจริงว่านากเป็นผีจึงหนีไปปฏิบัติธรรมถือศีลภาวนาที่วัด ขณะที่นากถอดใจเรื่องความรักจึงกลับไปอยู่ในนรก เวลาผ่านไป มากศิริไม่สามารถทนอยู่โดยปราศจากนากได้ เขากินยานอนหลับกว่า 300 เม็ด และในที่สุดจึงได้ลงไปพบนากในนรก พญายมราชไม่สามารถให้ทั้งสองครองรักกันในนรกได้ ท่านจึงบันดาลให้ทั้งสองกลับไปเป็นมนุษย์และให้ครองรักกันบนโลกมนุษย์ตามปรารถนา

“แม่นาคพระนคร” พ.ศ. 2513 เป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ที่พยายามตีความเรื่องราวของแม่นากแบบใหม่ไม่ให้ซ้ำจำเจแบบเดิม ๆ จากนั้นมาภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากก็ผลิตเรื่องราวที่แปลกใหม่เรื่อย ๆ ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากเรื่องถัด ๆ มาคือ แม่นาคพระโขนง” พ.ศ. 2516 สร้างและกำกับภาพยนตร์โดย สุริยน ดวงทองดี นำแสดงโดย สุภัค ลิขิตกุล รับบท นาก และยอดชาย เมฆสุวรรณ รับบท ทิดมาก, “แม่นาคอาละวาด” พ.ศ. 2516, “แม่นาคอเมริกา” พ.ศ. 2518

และ “แม่นาคบุกโตเกียว” พ.ศ. 2519 ที่มีข้อความบนโปสเตอร์ว่า “เสนอพฤติการณ์ตอนใหม่ ยิ่งใหญ่…ฮาเด็ดขาด ประกาศสัญชาติและเชื้อชาติแม่นาคไทย ถ่ายทำและเทคนิคในมหานครโตเกียว” อำนวยการสร้างโดย สามารถ ชิโนทัย นำแสดงโดย อุเทน บุญยงค์ และภาวนา ชนะจิต ต่อมามีภาพยนตร์เรื่อง “แม่นาคพระโขนง” พ.ศ. 2521 และ “นางนาค ภาคพิสดาร” พ.ศ. 2528 ซึ่งแต่ละเรื่องก็พยายามหาความแปลกใหม่ให้เป็นเอกลักษณ์เพื่อดึงดูดผู้ชมให้ตีตั๋วเข้ามาดูภาพยนตร์

ทั้งนี้ พ.ศ. 2521 มีภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากเข้าฉาย 2 เรื่อง เป็นภาคต่อกัน ภาคแรกใช้ชื่อว่า “แม่นาคพระโขนง” ส่วนภาค 2 ใช้ชื่อว่า “วิญญาณรักแม่นาคพระโขนง” ทั้งสองเรื่องนำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และได้ปรียา รุ่งเรือง กลับมารับบทแม่นากอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น ปรียา รุ่งเรือง จึงถูกจารึกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ว่าเป็นผู้รับบทแม่นากมากที่สุดถึง 5 เรื่อง

(ซ้าย) โปสเตอร์ภาพยนตร์ “แม่นาคคะนองรัก” พ.ศ. 2511, (ขวา) โปสเตอร์ภาพยนตร์  “แม่นาคพระโขนง” พ.ศ. 2521 (ภาพจากหนังสือเปิดตำนานแม่นากพระโขนง ของคุณเอนก นาวิกวิมูล, สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)

ภาคแรกนั้นมีเค้าเรื่องว่า นากและมากเป็นคู่รักกัน เมื่อมากไปรบ นากก็คลอดลูกตาย ชาวบ้านนำศพไปฝังรอมากกลับมาจึงค่อยเผาศพ แต่ไม่ได้ส่งข่าวไปแจ้งมาก คืนหนึ่งหมอผีขุดศพนากขึ้นมาหวังทำน้ำมันพราย ผีนากจึงฆ่าหมอผีแล้วออกอาละวาดไปทั่ว เมื่อมากกลับมาพระโขนงก็อยู่กินกันฉันสามีภรรยากับนากโดยหารู่ไม่ว่านากตายไปแล้ว จนสุดท้ายเมื่อทราบความจริงก็หนีนากไป ส่วนนากก็ถูกหมอผีจับลงหม้อถ่วงน้ำ ภาคต่อมาเล่าเรื่องต่อจากภาคที่แล้ว เรื่องมีอยู่ว่าตายายคู่หนึ่งเก็บหม้อใบนั้นได้แต่เผลอทำแตก ผีนากจึงออกมาอาละวาดอีกครั้ง ยิ่งทราบว่ามากไปรักกับหญิงคนหนึ่งชื่อชลนารถก็หมายจะฆ่ามากเพื่อให้มาอยู่กับตน สุดท้ายผีนากได้ต่อสู้กับเณรรูปหนึ่ง แต่สู้ไม่ได้จึงพ่ายแพ้ และจำต้องถูกกักไว้ในศาลเพื่อคอยช่วยเหลือคนยากไร้ เป็นการชดใช้เวรกรรมที่ได้ออกฆ่าผู้คนไปเสียมาก

ต่อมามีภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากเรื่องอื่น ๆ อีกเช่น แม่นาค 30″ พ.ศ. 2530, “แม่นาคอาละวาด” พ.ศ. 2532 บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ รับบท มาก ชุติมา นัยนาสุทิศา รับบทนาก, “แม่นาคคืนชีพ” พ.ศ. 2533, “แม่นาคเจอผีปอบ” พ.ศ. 2535, “แม่นาคพระโขนง” พ.ศ. 2537

“แม่นาคอาละวาด” พ.ศ. 2532 สรุปเค้าเรื่องได้ว่า นากคลอดลูกตาย แต่ถูกนักเลงคนหนึ่งเชิญหมอผีมาปลุกวิญญาณให้ขึ้นมาอาละวาดก่อกวนชาวพระโขนง เมื่อมากกลับมาก็อยู่กินกับนากตามปกติ แต่เมื่อทราบความจริงก็หนีไป ขณะที่นากถูกหมอผีจับลงหม้อถ่วงน้ำ เหตุเหมือนจะจบลงด้วยดี แต่ในคืนวันที่มากแต่งงานกับหญิงคนรักคนใหม่ชื่อเรวดี ตายายคู่หนึ่งได้หม้อนั้นมาแล้วทำแตก นากจึงออกอาละวาดหมายจะฆ่าเรวดี แต่เมื่อเรวดีหนีจากพระโขนงไป นากจึงขอร้องให้มากแต่งงานกับสร้อยซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของนากแทน มากรับปาก ดังนั้น นากจึงจากไปโดยดี

“แม่นาคคืนชีพ” พ.ศ. 2533 สรุปเค้าเรื่องได้ว่า หลายร้อยปีหลังจากแม่นากตาย ได้มีการสร้างศาลถวายที่วัดมหาบุศย์ มารุต (มากกลับชาติมาเกิด) ได้ตกหลุมรักผู้หญิงคนหนึ่งชื่อนวลนภา แต่เกิดเหตุคนร้ายลอบทำร้ายมารุต โชคดีที่แม่นากมาช่วยได้ทันแล้วพามารุตไปที่บ้านร้างแห่งหนึ่ง แต่แม่นากก็แปลงร่างเป็นนวลนภา ซึ่งแท้จริงแล้วนวลนภาเป็นส่วนบุญส่วนหนึ่งของแม่นากที่ได้กลับมาเกิดในชาตินี้ก่อน มารุตหลงรักนวลนภาตัวปลอมและพาเข้าไปอยู่ในบ้าน แต่เมื่อความแตกแม่นากก็กลับไปอยู่ที่ศาลตามเดิม และเมื่อมารุตบวชให้แม่นาก แม่นากจึงได้ไปเกิดใหม่อีกครั้ง

และนับตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2500 จนถึงก่อน พ.ศ. 2540 มีการผลิตภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากแล้วทั้งสิ้น 17 เรื่อง

แม่นากยุคทราย เจริญปุระ

หลังร้างจอภาพยนตร์ไปกว่า 5 ปี นับตั้งแต่ “แม่นาคพระโขนง” ฉบับ พ.ศ. 2537 ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากกลับมาอีกครั้งในชื่อ นางนาก” เมื่อ พ.ศ. 2542 ผลิตภาพยนตร์โดยบริษัทไทย เอ็นเตอร์เทนเมนต์ กำกับภาพยนตร์โดย นนทรีย์ นิมิบุตร นำแสดงโดย ทราย เจริญปุระ รับบท นาก และวินัย ไกรบุตร รับบท มาก การกลับมาของแม่นากครั้งนี้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เพราะเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูงมากในสมัยนั้น จนสามารถทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาท นับเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ทำร้ายได้ถล่มทลายขนาดนี้

“นางนาก” พ.ศ. 2542 ทราย
เจริญปุระ รับบท นาก

ไม่เพียงแต่ประสบผลสำเร็จเรื่องรายได้เท่านั้น “นางนาก” ยังกวาดรางวัลสุพรรณหงส์ พ.ศ. 2542 มากถึง 7 รางวัล ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม และแต่งหน้ายอดเยี่ยม ความนิยมภาพยนตร์เรื่องนี้ยังส่งผลไปถึงวงการบันเทิงอื่น ๆ เช่นวงการละครก็รีบออกมาขานรับกระแส เตรียมสร้างเป็นฉบับละครก็มี นิยายก็มีแต่เรื่องของแม่นาก ลิเกก็ยังเล่นเรื่องแม่นาก เพลงลูกทุ่งก็ร้องเรื่องแม่นาก กระแสแรงจนถึงขั้นที่เครื่องเซ่นไหว้ศาลแม่นากล้นวัดมหาบุศย์เลยทีเดียว

ปรากฏการณ์ “นางนาก” ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ “ขึ้นหิ้ง” อีกเรื่องหนึ่งของไทย และสร้างมาตรฐานใหม่ให้ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากเรื่องต่อ ๆ มา ที่ต้องพยายามหาวิธีเล่าเรื่องแม่นากแบบใหม่ เพราะหากจะเล่าแบบเดิมนั้นคงหนีไม่พ้นการถูกนำไปเปรียบเทียบกับแม่นากฉบับทราย เจริญปุระแน่นอน จะเห็นว่าภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากต่อมาได้พยายามตีความใหม่ ใส่ลูกเล่นบางอย่าง และพยายามสร้างสรรค์ไม่ให้ซ้ำกับแนวทางเดิมแทบทั้งสิ้น ภาพยนตร์แม่นาคลำดับถัดมาเช่นเรื่อง “แม่นาคพระโขนง” พ.ศ. 2547 ที่ใช้บทดั้งเดิมของเสน่ห์ โกมารชุนมาทำซ้ำอีกครั้ง, นาค” พ.ศ. 2551 ที่ผลิตเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน, “แม่นาค 3D” พ.ศ. 2555, “พี่มาก..พระโขนง” พ.ศ. 2556 และ “ม.6/5 ปากหมาท้าแม่นาค” พ.ศ. 2557

ถึงปัจจุบันนี้ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแม่นากผลิตมาแล้วกว่า 32 เรื่อง ตอกย้ำถึงความนิยมของคนไทยต่อเรื่องราวของแม่นาก และสะท้อนความ “คลาสสิก” ของอมตะตำนานรักแห่งทุ่งพระโขนงได้เป็นอย่างดี

 

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : 

นางนากพระโขนง : ตายเพราะอะไร

ผัว “แม่นาก” ไม่ได้ชื่อ “ชุ่ม” หรอกหรือ? ปัญหาเรื่องชื่อ “นายมาก” ผัวแม่นากพระโขนง

เผย “แม่นากพระโขนงที่สอง” ฉบับพระราชนิพนธ์ร. 6 ผีมาเพราะผัวอยากมีเมียใหม่?

“แม่นาก” ผีชาวบ้านเริ่มเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พระผู้ใหญ่ได้อย่างไร


อ้างอิง :

เอนก นาวิกวิมูล. (2549). เปิดตำนานแม่นากพระโขนง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน.

วิชุดา ปานกลาง. (2539). การวิเคราะห์การถ่ายทอดความหมายเรื่อง “ผี” ในภาพยนตร์ไทยเรื่อง “แม่นาคพระโขนง” พ.ศ. 2521-2532. วิทยานิพนธ์ (นศ.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). (2557). ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2470-2499. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ขอบคุณข้อมูลภาพยนตร์จากเพจ Thai Movie Posters


เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 25 กรกฎาคม 2562