ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ตำนาน “แม่นาก พระโขนง” เป็นเรื่องเล่าอมตะของคนไทยที่ร่ำลือกันมาหลายยุคหลายสมัย รายละเอียดแต่ละฉบับอาจแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนหนึ่งมักมีเอ่ยถึง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พระผู้ใหญ่ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยกันว่า พระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เริ่มถูกเชื่อมโยงเข้ากับ “ผีชาวบ้าน” ได้อย่างไร
เรื่องเล่าเหนือธรรมชาติในไทยที่เป็นชิ้นคลาสสิก ซึ่งแทบทุกสมัยก็ยังหยิบยกมาพูดถึงเสมอคือเรื่อง “แม่นาก พระโขนง” แม้ว่าเรื่องราวจะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม
ต้นตอของเรื่องราวนี้ เอนก นาวิกมูล ผู้ค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายด้าน รวบรวมข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับแม่นาก และเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “เปิดตำนานแม่นากพระโขนง” โดยต้นตำรับประวัติของ”แม่นาก” ที่เชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดเป็นฉบับ นายกุหลาบ (ก.ศ.ร. กุหลาบ เกิดสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2377 ถึงแก่กรรมสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2464) เขียนลงใน สยามประเภท ฉบับมีนาคม ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2422) เป็นการเขียนตอบผู้อ่านที่เขียนคำถามในรูปแบบโคลงสี่สุภาพมาถามผู้รอบรู้เรื่องเก่า
นายกุหลาบเขียนคำตอบเป็นร้อยแก้วความยาวหน้าครึ่ง ใจความว่า พระศรีสมโภช (บุศย์) ผู้สร้างวัดมหาบุศย์ เล่าเรื่อง “อำแดงนากพระโขนง” ถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (วัดโพธิ์) เสด็จอุปัชฌาย์ของนายกุหลาบ เรื่องผีแม่นากตามข้อเขียนของนายกุหลาบ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2367-2394)
เรื่องราวของนายกุหลาบสะท้อนว่า แม่นากมีตัวตนจริง แต่ผีที่เล่าลือกันนั้นเป็นผีปลอม เนื่องจากบุตรของนายชุ่ม-อำแดงนาก หวงทรัพย์ของบิดา กลัวบิดาจะมีภรรยาใหม่ จึงทำอุบายใช้คนไปขว้างปาชาวเรือตามลำคลองริมป่าช้าที่ฝังศพอำแดงนาก
แต่ข้อมูลจากหลักฐานตามคำของนายกุหลาบ ก็ยังไม่อาจปักใจเชื่อได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดเหตุผีแม่นาก
เมื่อพิจารณาจากพระนิพนธ์ของ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เรื่อง “ชีวิตและงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” ที่เล่าว่า ช่วงที่กรมพระยาดำรงฯ ยังเป็นนายทหารรักษาวังหลวง (ประมาณ ใกล้ๆ พ.ศ. 2420) สมเด็จฯ กับเจ้าพี่เจ้าน้องเคยลองถามคนเข้าออกประตูวังว่า ในบรรดารายชื่อ “ท่านขรัวโต (สมเด็จพุฒาจารย์), พระพุทธยอดฟ้าฯ รัชกาลที่ 1, จำไม่ได้ว่าใคร และอีนากพระโขนง” ระหว่าง 4 ท่านนี้รู้จักใครบ้าง
คนกลับรู้จัก “อีนากพระโขนง” มากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่าคนรู้จักแม่นากกันมานานพอสมควรแล้ว
ส่วนคำถามว่า แม่นาก กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร เอนกเขียนอธิบายไว้ว่า หนังสือชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่เขียนเมื่อ พ.ศ. 2473 โดย มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ
เนื้อหาตอนหนึ่งอ้างอิงมาจากคำบอกเล่าของเจ้านายหม่อมราชวงศ์วังหลังที่ไม่ปรากฏนาม เล่าให้พระยาทิพโกษาว่า พักหนึ่งสมเด็จฯ ท่านทำอะไรแปลกๆ อยู่กรุงเทพฯ ไม่มีเวลาว่างสักวัน ผู้คนไปมาไม่ขาดสาย ต้องเอาปัสสาวะสาดกุฏิบ้าง ทาหัวบ้างจนหัวเหลือง และยังไปพักผ่อนในป่าช้าผีดิบวัดสระเกศ
เมื่อครั้งนางนากพระโขนงตายทั้งกลม ปีศาจของนางกำเริบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รู้เรื่อง ท่านลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์ ตกค่ำก็ไปนั่งหน้าปากหลุม เรียกนางนากขึ้นมาสนทนา เรื่องราวจากนั้นก็เป็นไปตามที่ทุกท่านเล่าต่อกันมาคือ พระพุฒาจารย์เจาะกระดูกหน้าผากนางนาก ขัดเกลาเป็นมัน นำมาวัดระฆัง ลงยันต์เป็นอักษรไว้ตลอด เจาะเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ปีศาจในพระโขนงก็หายกำเริบ
ส่วนปั้นเหน่งนั้น เล่าต่อกันมาว่า สมเด็จฯ มอบให้หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์
เนื้อเรื่องเหล่านี้เป็นการอ้างอิงคำบอกเล่าจากเจ้านายหม่อมราชวงศ์วังหลัง ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่อาจหาหลักฐานมายืนยันได้ ยังมีวิจารณ์กันไปต่างๆ นานา บางท่านว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นพระผู้ใหญ่มาก การข้องเกี่ยวกับผีชาวบ้านอาจเป็นไปได้ยาก และท่านไม่น่ายุ่งเกี่ยวกับไสยศาสตร์ขนาดเอาหน้าผากแม่นากมาคาดเอว
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาที่พระยาทิพโกษานำเรื่องแม่นากมาเขียนก็ห่างไกลเหตุการณ์มากแล้ว เขียนเมื่อ พ.ศ. 2473 แต่ความเกี่ยวข้องระหว่าง แม่นาก กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็เป็นด้วยการบอกเล่าประการนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- ผัว “แม่นาก” ไม่ได้ชื่อ “ชุ่ม” หรอกหรือ? ปัญหาเรื่องชื่อ “นายมาก” ผัวแม่นากพระโขนง
- คุณไสย ความรู้และเครื่องมือกำจัดศัตรคู่อาฆาตสมัยโบราณ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เอนก นาวิกมูล. เปิดตำนานแม่นากพระโขนง. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549
ชมรายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน แม่นาคพระโขนง LOVE STORY ผีกับคน “ขวัญ” ในโลกต่างมิติ ออนแอร์ 28 มกราคม 2564
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2561