ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2541 |
---|---|
ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
เผยแพร่ |
ในหนังสือชุดผี ในละครวิทยุ ในลิเก ในเพลงทรงเครื่อง ในหนังสือนิยายภาพ และในภาพยนตร์กี่รุ่นๆ ที่เคยดูๆ กันมา กล่าวตรงกันว่าแม่นากพระโขนงมีผัวชื่อมาก เมื่อแม่นากคลอดลูกตายทั้งกลมแล้วก็กลายเป็นผีเฮี้ยน หลอกหลอนชาวบ้านตลอดจนพระเณรย่านพระโขนงจนคนหวาดกลัวไปทั่วทั้งตำบล
แม้เวลาล่วงเลยมาร้อยกว่าปี เรื่องราวของแม่นากก็ยังคงอยู่คู่สังคมไทย วัดมหาบุศย์อันเป็นที่ฝังศพแม่นาก มีคนไปกราบไหว้ศาลแม่นากกันอย่างไม่ขาดสาย ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไปเยี่ยมวัดแม่นากสามหนสี่หน แต่แม่นากมีผัวชื่อมากจริงๆ หรือ?
ผัวแม่นากไม่ได้ชื่อชุ่มหรอกหรือ?
แม่นากถูกสมมติให้มีผัวชื่อมากตั้งแต่เมื่อไร ใครเป็นคนเอาชื่อนายมากไปมอบให้แม่นากหรือ?
แม่นากอาจจะเคยมีตัวตนจริงๆ อาจจะเคยเป็นผีที่ดุร้ายจริงๆ แต่ท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนขอเสนอว่าชื่อนายมากเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2455 หรือเมื่อต้นสมัยรัชกาลที่ 6 หรือเมื่อ 86 ปีมานี้นับจากปี พ.ศ. 2541
เรื่องเกิดขึ้นได้อย่างไร
ถ้าเชื่อตามที่นายกุหลาบ คนเก่าคนแก่ซึ่งเขียนถึงแม่นากพระโขนงเป็นคนแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผัวที่แท้จริงของแม่นากชื่อชุ่มต่างหากเรื่องนี้ผู้เขียนพบในหนังสือสยามประเภทตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน นายกุหลาบเขียนในสยามประเภทฉบับวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม ร.ศ. 118 พ.ศ. 2442 ว่า อำแดงนากเป็นบุตรขุนศรี นายอำเภอบ้านอยู่ปากคลองพระโขนง
“เปนภรรยานายชุ่ม ตัวโขนทศกรรฐ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอจ้าวฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี อำแดงนากมีครรภ์ คลอดบุตรถึงอนิจกรรม นายชุ่ม ทศกรรฐ์สามี นำศพอำแดงนากภรรยาไปฝังที่ป่าช้าวัดมหาบุดๆ นี้ พระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณ เปนผู้สร้างวัดมหาบุดแต่ท่านยังเปนมหาบุดในรัชกาลที่ 3…” (มีไมโครฟิล์มในหอสมุดแห่งชาติ ดูรายละเอียดในหนังสือแกะรอยเรื่องเก่า ของเอนก นาวิกมูล)
นายกุหลาบเขียนไว้เมื่อเกือบครบศตวรรษดังนี้ สรุปว่าสามีของแม่นากชื่อชุ่ม เป็นตัวโขนเล่นบททศกัณฐ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 แม้แต่ลูกคนที่หนึ่งของแม่นากที่ชื่อนายแบนก็ยังเคยมาบวชที่วัดโพธิ์
ต่อไปลองอ่านหนังสือทวีปัญญา จะพบว่าในเรื่องสั้น “นากพระโขนงที่สอง” ที่ ร.6 สมัยยังทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทรงนิพนธ์ในฉบับแรกสุดเมื่อเดือนเมษายน ร.ศ. 123 พ.ศ. 2447 (ใช้นามแฝง “นายแก้วนายขวัญ”) ปลายสมัย ร.5 สมมติให้นางนากมีผัวชื่อโชติ เป็นกำนัน นี่แสดงว่าถึง พ.ศ. 2447 แล้วชื่อนายมากก็ยังไม่ปรากฏ
ชื่อนายมากเริ่มปรากฏเมื่อไร
เท่าที่ผู้เขียนพยายามสืบค้นชำระมานาน เชื่อว่าชื่อนายมากเริ่มปรากฏเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ต้นราชสกุลวรวรรณ เจ้าของโรงละครปรีดาลัย ทรงนิพนธ์เรื่อง “อีนางพระโขนง” เป็นละครร้อง และตีพิมพ์บทละครนั้นออกสู่สาธารณชนเมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ตรงกับ ร.ศ. 131 หรือ พ.ศ. 2455
หนังสือบทละครร้องเรื่อง “อีนากพระโขนง” ที่ผู้เขียนค้นพบเมื่อวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2536 พิมพ์ปกง่ายๆ ว่า
“บทลครร้องเรื่องอีนากพระโขนง (ว่าเปนเรื่องจริง) หมากพญา รจนาสำหรับลครในปรีดาลัย ร,ศ, ๑๓๑”
หมากพญา หรือกรมพระนราฯ ทรงกำหนดให้ตัวละครมี 10 ตัว มีชื่อและอายุดังต่อไปนี้
“๑. นายมาก อายุ ๓๕ สามีอำแดงนาก เปนคนซื่อๆ
๒. ทิดทุ้ย อายุ ๓๘ เกลอนายมาก ขี้เมา
๒. ตาหมี อายุ ๖๘ เก่าๆ เขลาๆ
๔. ตาเทิ่ง อายุ ๕๐ สัปะเร่อ
๖. ตาปะขาวเม่น อายุ ๖๕ ผู้มีวิชาอาคม
๗. สามเณรเผือก อายุ ๑๘ ศิษย์ขรัวเต๊ะเจ้าเวทมนต์
๘. อำแดงนาก อายุ ๓๒ ภรรยานายมาก เปนคนดี
๙. ยายม่วง อายุ ๖๐ ภรรยาตาหมี เท่อๆ
๑๐. ยายโม่ง อายุ ๕๑ หมอพดุงครรภ์”
เห็นหรือไม่ว่า ชื่อนายมากเพิ่งปรากฏขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2455 และเมื่อละครปรีดาลัยเล่นเรื่องอีนากพระโขนงที่โรงละครตรงแพร่งนรานั้น มหาชนได้ไปดูไปชมกันมากมาย กระทั่งที่สุดชื่อนายมากก็โด่งดังติดปากจนทุกคนเชื่อว่าผัวแม่นามชื่อมากจริงๆ
หลัง พ.ศ. 2455 ไม่ว่าบทกลอน บทภาพยนตร์ นิยายภาพ ลิเก หรือการแสดงใดๆ ผัวของแม่นากมีชื่อว่ามากมาตลอดไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ว่ากันว่าทุกวันนี้ ลูกหลานของแม่นากก็ยังคงมีกระเส็นกระสายอยู่ แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยเจอตัวและสอบถามเรื่องนี้จากลูกหลานแม่นากเลย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ธันวาคม 2561